Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Zero to Profit
•
ติดตาม
14 ก.ย. 2023 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
3 ขั้นตอนเช็กเงินสด ถ้าทำได้ เงินไม่หายแน่
ทำธุรกิจถ้าไม่มีเงินสด ก็เท่ากับเหนื่อยฟรี
ทุกวันนี้เพื่อนๆ ที่ทำธุรกิจเคยสงสัยกันไหมว่าทำงานแทบตายทำไมเงินสดไม่พอสักที่
ไปถามนักบัญชีเค้าก็บอกว่าก็ไปเช็กงบกระแสเงินสดสิ แต่งบนี้นักบัญชีเองก็ทำไม่เป็นเหมือนกัน อ่าว แล้วเจ้าของกิจการอย่างชั้นจะทำยังไงดีล่ะ
แต่อย่าเพิ่งท้อใจไปนะคะ เพราะแม้ว่าเราจะไม่มีงบกระแสเงินสดอันหรูหรา ก็ไม่ใช่ว่าเราจะบริหารเงินสดในธุรกิจไม่ได้เลยซะทีเดียว
ในวันนี้ Zero to Profit จะชวนทุกคนมาลองทำความเข้าใจเรื่องเงินเข้า-ออก จากนั้นไปเรียนรู้วิธีบริหารเงินสดแบบบ้านๆ แต่ใช้ได้ผลมาแล้วหลายธุรกิจค่ะ
สิ่งต้องรู้เกี่ยวกับเงินเข้า เงินออกของธุรกิจ
เริ่มต้น เรามาตั้งสติกันหน่อยว่าเราต้องรู้อะไรก่อนจะไปบริหารจัดการเงินสด
อันดับแรกเลย เราต้องรู้ว่าจะเช็กเงินเข้าและเงินออกของธุรกิจได้จากไหน
บางคนมีเงินเข้า-ออกหลายช่องทาง เช่น
• เงินโอน
• เงินสดหน้าร้าน
• เงินรับผ่านบัตรเครดิต
• เงินที่เข้ามาในบัญชีของหุ้นส่วน
ทั้งหมดนี้ ต้องเข้าถึงได้และเอาข้อมูลมารวมไว้ในที่เดียวเพื่อลงบัญชีค่ะ
แบ่งประเภทเงินเข้า-เงินออก
ถ้าเรารู้แล้วว่าจะหาข้อมูลเงินเข้าและออกได้จากช่องทางไหนบ้าง ทีนี้เราลองมาวิเคราะห์กันต่อค่ะ ว่าเงินเข้าและออกนั้นแบ่งเป็นประเภทอย่างไรได้บ้าง
1. การดำเนินงานทั่วไป
ประเภทแรก เงินเข้าออกจากการดำเนินงานทั่วไป ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงเลยกับธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าเปิดร้านขายถุงเท้า ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เงินที่เข้ามาและออกไป ก็น่าจะมาจากกิจกรรมเหล่านี้
เงินเข้า
ขายของหน้าร้าน 30,000
รับเงินจากการขายเชื่อ 20,000
รับเงินจาก Shopee, Lazada 5,000
รับเงินจากลูกค้า Preorder สินค้า 1,000
เงินเข้า จำนวน 56,000
เงินออก
ซื้อถุงเท้าจากเมืองจีน 25,000
ค่าขนส่ง 2,000
ค่าจ้างลูกน้องเฝ้าร้าน 3,000
ค่าเช่าร้าน 5,000
ค่าน้ำ ค่าไฟ 100
ค่ายิงแอดโฆษณา 200
เงินออก จำนวน 35,300
จากนั้นอยากให้เพื่อนๆ ลองใส่ข้อมูลจำนวนเงินลงไป แล้วเปรียบเทียบกันดูสักหน่อยว่าเดือนนี้มีจำนวนเงินเข้ามากกว่าเงินออกอยู่หรือเปล่า ถ้ายังมากกว่าอยู่ แปลว่า สภาพคล่องจากการดำเนินงานยังดีอยู่ค่ะ
2. การลงทุน
ถัดมาเป็นเงินเข้าออกประเภทที่ 2 ที่เรียกว่า "การลงทุน"
การทำธุรกิจทุกคนย่อมหวังที่จะเติบโต สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้มากขึ้นทุกวันๆ จริงไหมคะ ทีนี้ถ้าดำเนินงานวันต่อวันแบบเดิมๆ ก็คงไม่ทำให้ธุรกิจขยาย
เติบโตได้แน่นอน ดังนั้น การลงทุนจึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เพิ่มเข้ามาในธุรกิจ และเจ้าของธุรกิจเองก็ต้องใส่ใจเกี่ยวกับกระแสเงินสดเข้าและออกด้วย
ยกตัวอย่าง เจ้าของร้านถุงเท้าร้านเดิม ที่เคยขายของอยู่ในตลาดจังหวัดนครปฐมแค่ 1 สาขา ตอนนี้เริ่มคิดว่าธุรกิจอยู่ตัวแล้ว เลยอยากเปิดเพิ่มอีก 1 สาขาในห้างประจำจังหวัด
เงินเข้าและเงินออกจากการลงทุนครั้งนี้มีอะไรบ้าง เราก็ลองมาใส่ข้อมูลในตารางนี้กัน
เงินเข้า : ไม่มี
เงินออก
ค่ามัดจำค่าเช่าสาขา 2 จำนวน 15,000
ค่าตกแต่งร้าน จำนวน 20,000
ค่าเงินประกันมิเตอร์น้ำ ไฟ จำนวน 1,000
พอแบ่งประเภทเงินเข้าออกจากการลงทุนมาแล้ว จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าเงินลงทุนนั้น มีทั้งหมด 36,000 บาท ซึ่งมีแต่เงินออกยังไม่มีเงินเข้ามา เพราะอาจจะเป็นช่วงเริ่มต้น
หลักการสำคัญของเงินสดออกประเภทเงินลงทุนนี้ คือ ก่อนจ่ายออกไป ต้องรู้นะคะว่าจะได้เงินกลับมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น สุดท้ายก็ได้รายได้จากการดำเนินงานกลับมาแบบ 2 เท่าตัว หรือ แม้ร้านนี้จะเจ๊ง ก็ยังคืนของ คืนที่ ได้เงินมัดจำกลับมาส่วนหนึ่งไม่ใช่หายไปทั้งหมด 100%
3. การจัดหาเงิน
นอกจากเงินสดเข้าออกจากการดำเนินงาน และการลงทุนแล้ว มีเงินเข้าออกอีกประเภทนึงที่ขาดไม่ได้ ก็คือ เงินเข้าออกจากการจัดหาเงิน
การจัดหาเงินคืออะไร? อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ แบบนี้ค่ะ ก็คือ เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืม หรือเอาเงินมาใส่ในธุรกิจเพิ่มนั่นแหละค่ะ
ปกติแล้วธุรกิจจะมีเงินเข้าได้จาก 2 ทาง คือ กู้เงินคนอื่น หรือ เจ้าของลงเงินเอง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีเงินออกไปจากธุรกิจด้วย ได้แก่ ดอกเบี้ยเงินกู้ การชำระเงินต้น การจ่ายเงินปันผลให้เจ้าของ
ยกตัวอย่าง เจ้าของร้านถุงเท้ารายนี้ มีเงินเข้า เงินออกจากเรื่องอะไรบ้าง ลองมาดูในตารางกัน
เงินเข้า
ยืมเงินนอกระบบ 5,000
เงินส่วนตัวลงทุนเพิ่ม 5,000
เงินออก
จ่ายเงินต้น 5,000
จ่ายดอกเบี้ย 3,000
จากตารางนี้ แม้ว่าเงินจะเข้ามากกว่าเงินออกก็จริง แต่ถ้าคิดตามดีๆ เงินที่เข้ามา 10,000 บาทนั้นมีแค่เงินต้นล้วนๆ แต่เงินออกไป มีทั้งต้นและดอก และที่สำคัญยังไม่ได้รวมเงินปันผลที่จะจ่ายในอนาคต แปลว่า เงินออกจากกิจกรรมนี้ ถ้าไม่บริหารให้ดี อาจเสียตังค์ฟรี เป็นดอกเบี้ยทุกๆสิ้นเดือน
สรุปเงินเข้าออก
เอาล่ะ พอเข้าใจวิธีการแบ่งประเภทเงินเข้าออกแล้วว่ามีทั้งหมด 3 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็มีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ทีนี้ลองสรุปเงินเข้าและออกสำหรับเดือนนี้มาด้วย เพื่อจะได้เห็นภาพรวมว่าเงินเข้าและออกหักกลบกันแต่ละกิจกรรมเป็นเท่าใด และสุทธิแล้วมีเงินเข้ามากกว่าหรือน้อยกว่าเงินออกในแต่ละเดือน
กิจกรรมดำเนินงาน เงินเข้า-เงินออก 20,700
กิจกรรมลงทุน เงินเข้า-เงินออก -36,000
กิจกรรมจัดหาเงิน เงินเข้า-เงินออก 2,000
จากตัวอย่างนี้ เราเห็นชัดเลยว่าเงินสดในเดือนนี้ติดลบ สาเหตุมาจากการลงทุนในร้านสาขา 2 ซึ่ง ในอนาคตเราก็ต้องบริหารจัดการเงินให้ดี เพื่อให้เงินที่ลงทุนไปนั้นได้ผลลัพธ์กลับมาเป็นเงินสุทธิจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นนั่นเองค่ะ
โดยสรุปแล้ว ถ้าเราเข้าใจว่าธุรกิจมีกระแสเงินสดเข้าและออกจากอะไรบ้าง และลองเปรียบเทียบกันเป็นประจำว่าเรายังมีเงินสดเข้า มากกว่า เงินสดออกอยู่ไหมในแต่ละกิจกรรม เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ทุกคนบริหารจัดการเงินสดได้ดีขึ้นค่ะ
การวางแผนเงินสดเป็นเรื่องสำคัญสุดๆ สำหรับธุรกิจ ถ้าใครยังไม่เคยลองวางแผน อย่าลืมใช้วิธีการนี้เป็นตัวช่วยนะคะ
ทำธุรกิจแล้ว อยากรู้เงินเข้าออกอยู่ตลอด ปรึกษาปัญหาบัญชี ติดต่อ
Line: @zerotoprofit หรือ
https://lin.ee/36U1ks0Y
ติดตาม Zero to Profit ได้ที่
Website:
https://zerotoprofit.co
Facebook:
https://www.facebook.com/ZerotoprofitTH
3 บันทึก
2
1
3
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย