14 ก.ย. 2023 เวลา 04:32 • ท่องเที่ยว

วัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร .. เกาะเกร็ด นนทบุรี

วัดปรมัยยิกาวาส … พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 51 ม.7 ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด นนทบุรี เป็นวัดเก่าแก่อายุมากกว้า 200 ปี เดิมชื่อ “วัดปากอ่าว” คนมอญเรียกว่า “เพี๊ยะมุเกี๊ยะเติ้ง” เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ถูกทิ้งร้างหลังจากเสียกรุงครั้งที่ 2
เมื่อปี พ.ศ. 2317 ชาวรามัญที่อพยพมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่
ต่อมาในปี พ.ศ. 2417 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 .. ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐินที่วัดนี้ พระองค์เห็นว่าวัดอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัด และสร้างศาสนสถานขึ้นใหม่ โดยรักษารูปแบบมอญไว้
.. เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สนองพระคุณสมเด็จพระเจ้าบรมอัยยิกาเธอกรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร ผู้ทรงอภิบาลพระองค์มาแต่ทรงพระเยาว์ และได้ พระราชทานนามวัดว่า "วัดปรมัยยิกาวาส" ซึ่งมีความหมายว่า "วัดของพระบรมอัยยิกา"
การเดินทางไปเกาะเกร็ด เพื่อชมสถานที่ที่น่าสนใจต่างๆนั้น ทำได้โดยการใช้บริการของเรือข้ามฟาก
… เมื่อเรือเข้าไปใกล้จะเห็น รูปหม้อน้ำเครื่องปั้นดินเผาอันเลื่องชื่อของเกาะ รวมถึง ภาพเจดีย์เอียงที่โด่งดัง
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดปรมัยยิกาวาส มีอาทิ เช่น
พระอุโบสถ … โบสถ์ของวัดปรมัยยิกาวาสไม่ใหญ่โตนัก แต่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางศิลปะและประวัติศาสตร์ … ด้านหน้าพระอุโบสถมีเสาศิลา จารึกประวัติการบูรณะวัดเป็นภาษาไทยเสาหนึ่ง และเป็นภาษามอญอีกเสาหนึ่ง มีซุ้มเสมาใหญ่ฐานกว้าง 2 วา 4 เหลี่ยม อยู่ในมุมทั้ง 4 ทิศ
หน้าบันพระอุโบสถประดับตราพระเกี้ยว ซึ่งเป็นตราในรัชกาลที่ 5
บานประตูทำด้วยเหล็กชั้นดีจากยุโรป มีลวดลายสวยงาม .. บานประตู บานหน้าต่างภายในโบสถ์ประดับลวดลายปูนปั้น เป็นงานศิลปะผสมกันระหว่างตะวันออกกับตะวันตกที่หาชมได้ยากตามวัดทั่วๆไป
พระประธานที่วัดปรมัยยิกาวาส เป็นฝีพระหัตถ์ของ “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐานวรการ” ผู้สร้างพระสยามเทวาธิราช
รัชกาลที่ 5 ทรงยกย่องว่าพระประธานองค์นี้งามด้วยฝีพระพักตร์ดูมีชีวิตชีวาเหมือนคนจริง … มองไปมองมาคล้ายองค์พระจะมีชีวิต แย้มพระโอษฐ์ทักทาย
ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นฝีพระหัตถ์ “หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย” พระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม … ภาพเล่าเรื่องธุดงค์ 13 และพุทธประวัติ โดยเฉพาะพุทธภารกิจหลังตรัสรู้ (พระพุทธจรรยา ) โดยไม่ได้เน้นเรื่องของปาฏิหารย์ ไม่มีเรื่องราวเชิงปรัมปรา แต่เป็นการออกปฏิบัติพุทธกิจกับพระสาวกเป็นหลัก
ภาพจิตรกรรมเหนือช่องหน้าต่าง 11 ภาพ .. เป็นภาพเขียนแบบประเพณีนิยม เริ่มจากซ้ายมือพระประธา ตอนพระพุทธเจ้าออกปฏิบัติพุทธกิจพร้อมเหล่าพระสาวก ตรงข้ามพระประธาน เขียนมารผจญ ต่อด้วยพุทธกิจ ไปจนถึงตอนท้ายเรื่องที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปเมือง ปาวา ฉันสุกรมัทวะของนายจุนทะ อันเป็นการเสวยภัตตาหารครั้งสุดท้าย .. จบด้วยภาพเสด็จปรินิพพานที่ด้านสกัดหลังแต่มีฉัตรบังทำให้มองไม่ค่อยเห็น
ภาพระหว่างช่องหน้าต่างเป็น ภาพธุดงถวัตร 13 เขียนผลักระยะใกล้ไกลแบบตะวันตก .. เป็นภาพพระวินัยของพระสงฆ์เกี่ยวกับผ้าจีวร 2 บท เกี่ยวกับภัตตาหาร 5 บท เสนาสนะ 5 บท และเกี่ยวกับความเพียง 1 บท เช่น ปังสุกูลิกังคะ ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร .. เตจีวริกังคะ การถือครองผ้าเพียง 3 ผืนเป็นวัตร .. ปิณฑปาตปาติกังคะ ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร .. ปัตติปิณฑิกังคะ ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร เป็นต้น
ธุดงควัตร 13 ... เป็นหนึ่งในงานจิตรกรรมที่พบได้ในวัดสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเขียนไว้ที่วิหารพระศาสดา วัดบวรนิเวศ อุโบสถวัดมกุฏกษัตริยาราม แต่วัดเหล่านี้เป็นวัดสำคัญจึงเขียนแอบไว้เป็นเพียงภาพเล็กๆ ซึ่งเชื่อว่าเป็นการลองเขียนของช่างก่อนที่ไปเขียนภาพเต็มที่วัดอื่น
ภาพมารผจญ .. ไม่ได้เน้นความเคลื่อนไหวที่รุนแรงเหมือนที่เราพบที่วัดแห่งอื่น และแตกต่างกันที่อารมณ์ของภาพ รวมถึงขนาดที่ไม่ใหญ่โต
เพดาน .. ภาพลวดลายวิจิตร งามละมุนตามาก
บานประตูของพระอุโบสถ .. ตกแต่งภายในด้วยลายปูนปั้นแบบตะวันตก เป็นภาพตราสัญลักษณ์ของ รัชกาล ที่ 5 มีลักษณะของศิลปะตะวันออกผสมกลมกลืนกับตะวันตกอย่างงดงาม
นอกจากนี้รัชกาลที่ 5 ยังทรงรับสั่งให้ริเริ่มการสวดมนต์เป็นภาษามอญ และปัจจุบันวัดแห่งนี้เป็นวัดเดียวที่มีการเก็บพระไตรปิฎกภาษามอญเอาไว้
“วิหารพระพุทธไสยาสน์” … ตุ้งอยู่ด้านข้างโบสถ์
เป็นที่ตั้งของวิหารพระนอน ขนาดยาว 9.5 เมตรพระพักตร์ไปทางตะวันออก พระเศียรอยู่ทางทิศใต้ พระกรรณเป็นขมวดแบบพระพุทธรูปลาว
นับเป็นพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่เป็นที่สามในอำเภอปากเกร็ด สร้างโดยพระสุเมธาจารย์ (เถ้า) เจ้าอาวาสองค์แรก นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปแกะสลักประดิษฐานอยู่ด้านในซ้าย-ขวาอย่างละองค์
ภาพจิตรกรรมประดับเพดาน เป็นภาพตราปฐมจุลจอมเกล้า
"พระนนทมุนินท์" .. เป็นพระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง 1 เมตร สูง 1.65 เมตร หล่อด้วยโลหะ พระศาสนโสภณ (อ่อน) เจ้าคณะมณฑลกรุงเทพสร้างเป็นพระพุทธรูปประจำเมืองนนทบุรี พระยาราชสงครามเป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ด้านใต้พระวิหารพระพุทธไสยาสน์
นอกจากนี้โดยรอบระเบียงยังมีพระพุทธรูปปางสมาธิจำนวน 46 องค์
“พระมหารามัญเจดีย์” … ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดฯให้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2421 เป็นเจดีย์แบบรามัญ ซึ่งจำลองมาจากเจดีย์มุเตา เมืองหงสาวดี ประเทศพม่า
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จฯมาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากอินเดีย ที่เจดีย์องค์นี้ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 4 ขึ้น 13 ค่ำ ปีวอก พ.ศ. 2427 เวลา 17.15 น. และพระราชทานนามว่า “พระมหารามัญเจดีย์”
“เจดีย์มุเตา” … ตั้งอยู่บริเวณหัวแหลมของเกาะเกร็ด เป็นเจดีย์ทรงรามัญสีขาว มีผ้าแดง ผูกบนยอดเจดีย์ ซึ่งกล่าวกันว่าผ้าแดง คือ สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของวัฒนธรรมรามัญ เป็นศิลปะแบบมอญแท้
พระเจดีย์ทรงมอญแท้เป็นพระเจดีย์จำลองมาจากหงสาวดี ก่อนที่จะถูกพม่าแต่งเติมจนทำให้พระเจดีย์มุเตาองค์ เดิมที่เมืองหงสาวดีกลายเป็นเจดีย์ทรงมอญผสมพม่าในปัจจุบัน
“พระเจดีย์มุเตา” .. เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ฐานแปด เหลี่ยมย่อมุม ยอดเจดีย์มีฉัตรทรงเครื่อง 5 ชั้น อย่างมอญ สูง 1 วา ตั้งอยู่หัวมุมเกาะเกร็ด สร้างโดยชาวมอญที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ปลายกรุงศรีอยุธยา อายุราว 300 ปี
ภายในบรรจุพระธาตุเป็นที่เคารพสักการะ ของชาวไทยเชื้อสายมอญ เดิมเป็นเจดีย์ที่สร้างตั้งตรง ต่อมาน้ำเซาะตลิ่งพัง จึงทำให้เจดีย์ทรุดตัวและเอียงลงเมื่อ ประมาณปี พ.ศ. 2434
ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ได้สร้างเขื่อนไม้และเขื่อนปูน แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ได้รับงบประมาณจากกรมการศาสนาและได้มีผู้มีจิตศรัทธา ได้ซ่อมแซมเขื่อนคอนกรีตถาวร ปัจจุบันได้เสริมความแข็งแรงและยึดฐานไว้อย่างแน่นหนา กรมศิลปากรอนุญาตให้ซ่อมตัวพระเจดีย์เชิงอนุรักษ์ในสภาพเอียงไว้ พระเจดีย์มุเตาหรือเรียกกันว่าเจดีย์เอียงองค์นี้ จึงเป็นสัญลักษณ์ของเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่เผยแพร่ไปทั่วโลก”
ทางราชการโดยกรม ศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ปี 2478
โฆษณา