14 ก.ย. 2023 เวลา 06:48 • ประวัติศาสตร์

ซางยาง นักปฏิรูปแห่งแคว้นฉิน

ซางยาง (商鞅) (ช่วงชีวิตระหว่าง 390-338 ปี ก่อน ค.ศ.) สมุหนายกผู้มีชื่อเสียงของแคว้นฉิน (秦) ในช่วงยุครณรัฐ หรือยุคจั้นกว๋อ (戰國)
ผู้ซึ่งเราต่างรับรู้กันในเรื่องชื่อเสียงของนักปกครองและปฏิรูปที่ทำให้แคว้นฉินกลายเป็นแคว้นที่ยิ่งใหญ่เวลาไม่กี่ปี ก่อนที่ฉินจะรวมแผ่นดินได้ในเวลาต่อมา
เดิมซางยางชื่อว่า เว่ยยัง (衛鞅) หรือ กงซุนยัง (公孫鞅) แต่ชื่อซางยางที่เราคุ้นเคยแท้จริงแล้วได้รับภายหลังจากที่สร้างคุณประโยชน์ใหญ่หลวงให้กับแคว้นฉินจนได้รับตำแหน่งชางจวุน(商君) (ปกครองดินแดน Shangzhou 商州,มณฑลส่านซี ปัจจุบัน)
เว่ยยังเป็นเชื้อสายของผู้ปกครองแคว้นเหว่ย หรือ เว่ย(เล็ก)(衛) ได้ร่ำเรียนวิชาจากอาจารย์ชือเจี่ยว(尸佼) (ca. 390-330 BCE) ในวิชากฎหมายเป็นสำคัญ
เมื่อ 365 ปี ก่อนคริสตกาล เว่ยยังได้เดินทางมายังแคว้นเว่ย( WEI 魏,)(คนและแคว้นกับเหว่ย บ้านเกิด) และได้เข้าทำงานในสังกัดของกงซูจั๋ว(公叔痤) หัวหน้าที่ปรึกษา หรือกุนซือใหญ่แห่งแคว้นเว่ย และเนื่องจากแคว้นเว่ยแห่งนี้มีแนวคิดและการปฏิบัติของแม่ทัพอู๋ฉี่(吳起) และนักกฎหมายอย่างหลี่คุย (李悝) สองแนวคิดนี้ต่างเน้นไปที่การรวมอำนาจรัฐและการประกาศใช้กฎหมายตามแนวคิดฝ่าจิ้ง เว่ยยังจึงเรีียนรู้จากวิธีการแนวใหม่นี้
เว่ยยังเป็นที่ชื่นชอบของกงซูจั๋ว เพราะมีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ จนกงซูจั๋วได้แนะนำกับเว่ยฮุ่ยหวาง(魏惠王) (r. 371-335)ให้ใช้งานเว่ยยัง หากไม่ใช้งานจงสังหารทิ้ง เพราะหากแคว้นอื่นได้ตัวไป จะเป็นภัยต่อแคว้นเว่ย
และแล้วเว่ยฮุ่ยหวางผู้ซึ่งพลาดการใช้งานซุนปินมาก่อนหน้านี้ก็พลาดคนดีไปอีกหนึ่งคน เว่ยยังตัดสินใจเดินทางไปยังแคว้นฉิน เข้าทำงานกับ ฉินเซี่ยวกง (秦孝公) (r. 362-338) แต่การที่จะเข้าทำงานกับฉินเซี่ยวกงในฐานะคนต่างแคว้นนั้นช่างยากนัก จนได้รับความช่วยเหลือจากจิ่งเจียน(景監)
จิ่งเจียนได้แนะนำให้ได้มีโอกาสได้เข้าสนทนากับฉินเซี่ยวกง ในที่สุด 356 ปี ก่อนคริสตกาล เว่ยยังได้มีโอกาสเข้าสนทนากับฉินเซี่ยวกงในเรื่องของ “วิถีแห่งกษัตริย์ ”หวางเต้า (wangdao /王道) และ "วิธีแห่งจักรพรรดิ" ตี้เต้า(didao/ 帝道) แต่เรื่องราวเหล่านี้ไม่เป็นที่สนใจของฉินเซี่ยวกงนัก กระทั่งเมื่อพูดถึง เรื่องราวของการทำให้แคว้นเข้มแข็งขึ้น กลับได้รับความสนใจจากฉินเซี่ยวกงเป็นที่สุด และรับเว่ยยังก็ได้เข้าทำราชการในตำแหน่งขุนนางระดับ 10 โจ๋ซู่ฉาง(左庶長) หรือ จอซูเจียง ในวรรณกรรมเลียดก๊ก ฉบับจีนฮกเกี้ยน
เพื่อให้ชาวฉินเชื่อว่าเว่ยยังเป็นคนพูดจริงทำจริง เว่ยยังประกาศว่าจะให้รางวัลแต่ผู้ที่แบกขอนไม้ใหญ่ไปยังอีกประตูเมืองด้านหนึ่งได้ เมื่อมีผู้สงสัยและไม่เชื่อว่าจะได้รางวัลจริง เว่ยยังก็เพิ่มเงินรางวัลให้เรื่อย ๆ สุดท้ายมีผู้อาสายกและทำได้จริง เว่ยยังก็ให้รางวัลตามที่ประกาศ นับแต่นั้นชาวแคว้นฉินก็เชื่อว่าเว่ยยังคนนี้ “พูดจริงทำจริง”
สิ่งแรกที่เว่ยยังปฏิรูปคือการแบ่งบ้านให้ออกเป็นหมู่หน้าหมู่สิบ เพื่อคอยสอดส่องป้องกันภัยรวมถึงการรายงานความผิดของบ้านในหมู่ ส่งเสริมการแยกครอบครัวและมีบุตร ครอบครัวใดมีบุตรชายที่เติบใหญ่ที่ยังไม่แยกบ้านให้เก็บภาษีสองเท่า บ้านใดทำผลผลิตได้มากได้รับรางวัล ทหารรับบำเหน็จตามความชอบ การทะเลาะวิวาทส่วนตัวมีความผิดใหญ่หลวง
ยกเลิกระบบขุนนางที่สืบต่อทางสายเลือด (世卿) รวมถึงเงินเดือนที่ส่งผ่านมายังผู้สืบทอด (世祿) ราชนิกูลต่าง ๆ ก็อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และต้องสร้างความชอบทางการทหาร ไม่มีสิทธิใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือยเช่นเดิม ซึ่งนี้เป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลเก่าอย่างมาก
350 ปี ก่อน คริสตกาล หลังการปฏิรูปขั้นแรก เว่ยยังได้รับการเลื่อนขั้นเป็นขุนนางระดับ 16 ต้าเหลียงจ้าว(大良造) การปฏิรูปขั้นที่สองคือการปฏิรูประบบที่ดินระบบเก่า จิ่งเถียน (井田) โดยการจัดสรรที่ดินใหม่ (阡陌) แบ่งแคว้นออกเป็นจังหวัด หรือ จวิ้น (郡) และอำเภอ หรือ เซี่ยน (縣) แต่ส่วนกลางยังมีอำนาจบริหาร ปรับเปลี่ยนมาตรชั่ง ตวง วัด ให้เป็นมาตรฐาน
ทางด้านกฎหมายเว่ยยังใช้แนวคิดบังคับใช้กฎนิติรัฐอย่างที่หลี่คุยพยายามทำตามแนวคิด ฝ่าจิ้ง(法經) ตำราล้าสมัยบางเล่มถูกยกเลิก
ย้ายเมืองหลวงจากเมืองยง(雍) (เฟิ่งเฉียง 鳳翔, ส่านซี) ไปยังเสียนหยาง(咸陽)ทั้งด้วยเหตุผลด้านทำเลที่ตั้งที่ง่ายต่อการป้องกันข้าศึก และการต้องการรื้อถิ่นฐานของแหล่งอิทธิพลเดิม
การปฏิรูปของซางยางคือการเน้นบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม การให้รางวัลและลงโทษ เพื่อความเข้มแข็งของรากฐานเศรษฐกิจและการทหาร
341 ปี ก่อนคริสตกาล เว่ยยังได้ชื่อเป็นซางยางหลังจากที่ได้ตำแหน่งซางจวุน หลังจากที่สร้างผลงานอย่างโดดเด่น รวมถึงการนำทัพชนะแคว้นเว่ย ยึดดินแดนมาได้ 15 หัวเมือง
338 ปี ก่อนคริสตกาล ฉินเซี่ยวกงทิวงคต ฉินฮุ่ยเหวินหวาง(秦惠文王)ขึ้นครองแคว้นฉิน ฉินฮุ่ยเหวินหวางผู้นี้ได้กรับการสนับสนุนจากขุนนางเก่าที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปของเว่ยยาง เมื่อครั้งหนึ่งเว่ยยังเคยลงโทษ กงจื่อเฉียน(公子虔) และกงซุนเจี่ย(公孫賈)พระอาจารย์ของฉินฮุ่ยเหวินหวางสมัยเป็นรัชทายาท
ซางยางถูกกล่าวหาข้อหาขบถ ขณะหลบหนี ซางยางไม่สามารถเข้าพักในโรงเตี๊ยมและเข้าอาศัยบ้านชาวบ้านได้ เพราะไม่มีหนังสือประจำตัว อันเป็นกฎหมายที่เขาได้สร้างขึ้นเอง ซางยางถูกจับในข้อหาขบถ และถูกประหารโดยวิธีการ ห้าม้าแยกร่าง (車裂) รวมถึงการล้างบางครอบครัวทั้งหมดของซางยาง
แต่อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา ฉินฮุ่ยเหวินหวางก็ยังคงใช้ระบบการปกครองและบริหารบ้านเมืองของซางยางอยู่
สามารถรับฟังเรื่องราวของซางยางแบบละเอียดในแบบฉบับของเลียดก๊ก ฉบับจีนกลาง อันเล่าเรื่องราวอิงฉบับแปลในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ในช่องยูทูป วณิพก ยกมาเล่า หรือตามลิ้งค์ด้านล่างได้ครับ
โฆษณา