15 ก.ย. 2023 เวลา 02:57 • ท่องเที่ยว

ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี (หลังเก่า)

ฉันชอบเดินทางทางน้ำ ด้วยบริการเรือด่วนเจ้าพระยา ทุกครั้งที่มีโอกาส .. ด้วยเหตุทีสะดวก ง่าย และเป็นการเดินทางที่ราคาถูก (สำหรับฉัน)
ทุกครั้งที่มาถึงท่าน้ำนนทบุรี .. ฉันมักจะทึ่งกับความสวยงามของอาคารเก่าหลังหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณท่าน้ำนนท์ใกล้กับหอนาฬิกา
ศาลากลางหลังเก่าจังหวัดนนทบุรี .. ที่นี่เป็นอาคารไม้สักเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากมาย สร้างขึ้นร่าว ปี พ.ศ. 2453 โดยกระทรวงยุติธรรม
พื้นที่ตั้งของศาลากลางแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่แบ่งมาจากที่ดินที่จัดซื้อเพื่อเตรียมการสร้างเรือนจำมหันตโทษ (เรือนจำกลางบางขวาง) เดิมที่มีจุดประสงค์ให้พื้นที่ส่วนนี้สร้างเป็นโรงเรียนกฎหมาย แต่เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีบุคลากรจึงได้ใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชวิทยาลัยแทน
.. โดยเดิมทีในสมัยนั้น ตั้งใจให้เป็นโรงเรียนกฎหมาย แต่เกิดอุปสรรคบางประการปีต่อมาจึงเปิดเป็นโรงเรียนราชวิทยาลัย ตามรูปแบบคิงส์คอลเลจ (King’s College) ประเทศอังกฤษ
สร้างแล้วเสร็จและเปิดทำการสอนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2454 และราวปี พ.ศ. 2468 ได้เลิกกิจการไป
ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 – 2535 อาคารหลังนี้จึงได้เป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดนนทบุรี หลังจากนั้นอาคารหลังนี้ได้ใช้เป็นที่ตั้งวิทยาลัยมหาดไทย พ.ศ.2551 และในปัจจุบันนี้อาคารศาลากลางจังหวัดนนทบุรี (หลังเก่า) ที่มีอายุกว่า 100 ปี ได้มีบางส่วนจัดเป็น “พิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี”
ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี (หลังเก่า) ตัวอาคารสร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก .. ตัวอาคารหันหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักเมื่อร้อยกว่าปีก่อน
ตัวอาคารมีพื้นที่รวม 2 ไร่ 2 งาน 51 ตารางวา .. เป็นอาคาร 2 ชั้นก่ออิฐถือปูน มีอาคารรวม 7 หลัง การวางวผังอาคาร เป็นการวางให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบลานกว้าง
แต่ละอาคารเชื่อมต่อกันด้วยระเบียงทางเดินที่สร้างด้วยไม้ยื่นออกมารอบอาคารเพื่อป้องกันแสงแดดสาดส่อง
ด้วยคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนอาคารหลังนี้เป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2524
ส่วนประกอบอาคารตามแบบโคโลเนียลของศาลากลางนนทบุรีหลังเก่า
หลังคา : หลังคาของอาคารเป็นทรงสูง มีที่ว่างใต้หลังคาเพื่อลดความร้อนจากแสงอาทิตย์ โดยมีทั้งทรงปั้นหยาและทรงจั่วตัดที่มีการตัดมุมด้านบนของหน้าจั่วเพื่อประโยชน์ในการระบายน้ำฝน
คันทวย : คันทวยรับกันสาดทำด้วยไม้เป็นรูปบบเรขาคณิต เรียบง่าย แข็งแรง ช่วยค้ำยันรับน้ำหนักกันสาด และเป็นเครื่องประดับเพิ่มความงดงามให้กับตัวอาคารอาคาร
กันสาด : กันสาดตรงด้านบนของระเบียงทางเดิน ทำเป็นบานเกล็ดไม้ ซึ่งนอกจากข่วยป้องกันความร้อนจากแสงแดดไม่ให้กระทบกับผนังอาคารแล้ว ยังทำให้อากาศร้อนจากตัวอาคารถ่ายเทออกไปได้ง่าย
ราวระเบียง : ราวระเบียงทำด้วยไม้เป็นลวดลายแบบตะวันตกที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 6 ช่วงบนเป็นลายกากบาทในช่องสี่เหลี่ยมแบบเรขาคณิต ช่วงล่างแต่งด้วยไม้ระแนงแนวตั้งเว้นช่องว่างสลับกัน
ประตู หน้าต่าง และช่องระบายอากาศ : ปรตูทำเป็นบานลูกฟัก ส่วนหน้าต่างเป็นบานเกล็ด ด้านบนของกรอบประตูหน้าต่างมีช่องระบายอากาศเป็นแผ่นไม้ฉลุลายแบบเรียบง่าย ช่วยถ่ายเทอากาศภายในห้อง
บันได : บันไดสร้างไว้ด้านหลังของตัวอาคาร ยื่นออกไปนอกแนวระเบียงทางเดิน มีหลังคาเอียงลาดขนานกับตัวบันได การวางบันไดไว้ด้านนอกอาคารแสดงถึงแนวคิดที่ได้รับมาจากสถาปัตยกรรมแบบไทย
โฆษณา