15 ธ.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

สังข์: ตำนานแห่งมงคล

ต้อง “กราบเรียน” ทุกท่านไว้เบื้องต้นก่อนนะครับว่า เรื่องที่จะนำเสนอต่อทุกท่านจากนี้ไปนั้น แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ใครหลาย ๆ คนได้เคยนำเสนอไปแล้ว แต่...แอดมินมีอะไรมากกว่านั้น เพื่อให้ได้มุมมองหลาย ๆ ด้าน ไม่เฉพาะแต่ “ความเชื่อ ความศรัทธา” เพียงอย่างเดียว จึงกลายมาเป็นเรื่องราวในครั้งนี้เกี่ยวกับ “หอยสังข์” นั่นเองครับ
สำหรับสังข์ คือ หอยทะเลกาบเดี่ยวชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเปลือกค่อนข้างหนา ก้นหอยสั้น วงเกลียวสุดท้ายมีขนาดใหญ่ บริเวณขอบด้านนอกของช่องเปลือกแผ่ออก มีชนิดสีและลวดลายที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสังข์มีหลายวงศ์ด้วยกัน เช่น วงศ์หอยสังข์มงคล (Turbinellidae) วงศ์หอยสังข์แตร (Family Ranellidae) แล้วในหอยสังข์แต่ละชนิดก็จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามแต่ถิ่นที่พบเจอ ตั้งแต่มหาสมุทรอินเดียมาจนถึงมหาสมุทรแอตแลนติก โดยจะพบในเขตร้อน เช่น สังข์อินเดีย สังข์ศรีลังกา สังข์สุวรรณภูมิ เป็นต้น
หอยสังข์ในวงศ์หอยสังข์มงคล (Turbinellidae) (ภาพ: Wikipedia)
นอกจากนั้น สังข์ ยังเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศในน้ำ เช่น หอยสังข์แตรจะคอยทำหน้าที่สร้างความสมดุลในระบบนิเวศตามแนวปะการัง โดยจะกินดาวหนามเป็นอาหาร ถ้าหากหอยสังข์แตรมีจำนวนที่น้อยลงไปเมื่อไร ดาวหนาวจะมีการขยายเผ่าพันธุ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อแนวปะการัง เพราะดาวหนามกินปะการังเป็นอาหารหลัก ทำให้ขาดทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลบางชนิดที่เป็นสัตว์ทางเศรษฐกิจ และจะทำให้พื้นที่ป้องกันชายฝั่งเกิดการพังทลาย ซึ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูถึงหลายปีด้วยกัน
หอยสังข์แตร จะกินดาวหนามเป็นอาหาร เพื่อป้องกันการขยายพันธุ์ที่อาจจะส่งผลเสียต่อแนวปะการัง (ภาพ: เพจ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)
สังข์ นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ธรรมชาติแล้ว หากสังเกตดูดี ๆ แล้วจะพบว่า เป็นหอยชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างค่อนข้างจะมีสัดส่วนงดงาม ยิ่งได้มีการขัดสีฉวีวรรณด้วยแล้ว ก็จะทำให้สังข์เป็นหอยที่มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น มนุษย์จึงได้มีการนำหอยสังข์มาใช้เป็นประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งเครื่องประดับ ภาชนะ หรือแม้แต่การเป็นแตรสัญญาณในการออกศึก และเครื่องเป่าในงานพิธีมงคล
รวมทั้ง “ของมงคล” ที่อ้างอิงไปถึงตำนานเทพเจ้าในทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กล่าวคือ เมื่อครั้งที่พระอิศวรได้สร้างเขาพระสุเมรุเสร็จแล้ว พระองค์จึงมีประกาศิตให้พระพรหมธาดาขึ้นไปเป็นใหญ่ในพรหมโลก เป็นเหตุให้พระพรหมองค์หนึ่งเกิดจิตริษยา จึงได้จุติลงมาเป็น “สังข์อสูร” หรือสังขรอสูร อยู่ใต้เขาพระสุเมรุ เบียดเบียนไม่ให้อยู่เป็นปกติสุขและคอยจ้องทำร้ายพระพรหมธาดา
หัวโขนรูปสังข์อสูร หรือสังขรอสูร (ภาพ: กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม)
วันหนึ่งพระพรหมธาดาได้นำเอาคัมภีร์พระเวท พระธรรมศาสตร์ทั้งปวงลงมาเพื่อถวายพระอิศวรไว้สำหรับโลก แต่เกิดร้อนพระวรกายจึงเสด็จลงสรงน้ำที่ฝั่งพระมหาสมุทร โดยเอาคัมภีร์นั้นวางไว้เหนือฝั่งข้างพระองค์
ปรากฏว่า สังข์อสูรเห็นเช่นนั้น จึงได้ใช้ให้ผีเสื้อน้ำไปขโมยคัมภีร์พระเวทมา แล้วก็กลืนลงท้องไป เมื่อพระพรหมธาดากลับขึ้นมาแล้วเมื่อไม่เห็นคัมภีร์ จึงได้เสด็จไปเฝ้าพระอิศวร
เมื่อพระอิศวรได้ส่องญาณทราบความจริงแล้ว จึงได้เชิญพระนารายณ์ลงไปปราบสังข์อสูรเพื่อนำเอาคัมภีร์กลับมา พระนารายณ์จึงแปลงกายเป็นปลากรายทองนามว่า “มัสยาวตาร” ลงไปไล่สังหารผีเสื้อน้ำและต่อสู้กับสังข์อสูร
จนสุดท้ายก็ได้รับชัยชนะ ครั้นแล้วพระนารายณ์ได้แปลงกายกลับมาเป็น “พระผู้มีสี่กร” เช่นเดิมแล้ว จึงได้ทำการยื่นพระหัตถ์ล้วงหยิบเอาคัมภีร์ออกมาจากปากของสังข์อสูร แล้วสังหารเสีย ปากสังข์จึงกลายเป็นรอยนิ้วพระนารายณ์ถึงทุกวันนี้
ประติมากรรมมัตสยาวตาร (ภาพ: Moca Bangkok)
ยังมีอีกตำนานหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวพันกันกับเทพเจ้าแห่งช้าง 2 องค์ คือ พระพิฆเนศวร และพระโกญจนาเนศวร โดยตำนานกล่าวไว้ว่า ในสมัยไตรดายุค (ยุคที่ 2 ตามคติพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งเป็นยุคที่ธรรมะและอายุของมนุษย์ลดลงเหลือ 3 ใน 4 ส่วนเมื่อเทียบกับในสมัยกฤดายุค) พระนารายณ์ได้กระทำเทวฤทธิ์ให้เกิดเป็นดอกบัว 8 กลีบ 172 เกสร ที่ผุดขึ้นมาจากพระอุทร (ท้อง) แล้วจึงได้นำดอกบังดังกล่าวไปถวายแด่พระอิศวร ซึ่งพระอิศวรก็ได้ทำการแบ่งเกสรดอกบัวออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 เป็นของพระองค์
ส่วนที่ 2 เป็นของพระพรหม
ส่วนที่ 3 เป็นของพระนารายณ์
ส่วนที่ 4 เป็นของพระอัคนี
เพื่อให้เทพแต่ละองค์นำไปบันดาลให้เกิดเป็นช้าง 4 ตระกูล คือ อิศวรพงศ์ พรหมพงศ์ วิษณุพงศ์ และอัคนิพงศ์ พร้อมกับให้สร้างเป็นพระเวท 4 ประการ สำหรับหมู่ชนทั้งหลายใช้ในการปราบช้างทั้ง 4 ตระกูลในโลก
แล้วพระอิศวรจึงให้พระอัคนีกระทำเทวฤทธิ์บังเกิดเป็นเปลวเพลิงออกมาจากช่องพระกรรณ (หู) ทั้งสองข้าง และท่ามกลางเปลวเพลิงนั้น ช่องพระกรรณทางด้านขวาก็บังเกิดเป็นเทวกุมารมีพระพักตร์เป็นช้าง พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถซ้ายทรงดอกบัว มีพญานาคนามว่า “อุรเคนท์” เป็นสายสังวาล ทรงพระนามว่า “ศิวบุตรพิฆเนศวร” หรือพระพิเนก
ประติมากรรมพระพิเนก หรือพระพิฆเนศวร (ภาพ: ฐานข้อมูลพระเมรุมาศ และองค์ประกอบพระเมรุมาศ)
ส่วนด้านซ้ายก็บังเกิดเป็นเทวกุมารมีพระพักตร์เป็นช้างสามเศียร มีหกพระกร โดยพระกรทั้งสองได้บังเกิดเป็นช้างเผือกข้างละ 3 ตระกูล คือ ช้างเผือกเอก โท และตรี แล้วพระกรขวาเป็นพลาย (ช้างตัวผู้) ส่วนอีก 2 พระกรบังเกิดเป็นสังข์ทักษิณาวรรต (หรือ ทักขิณาวัฏ หมายถึง สังข์ที่มีลักษณะปากเปิดออกทาขวาหรือเวียนขวา) และ สังข์อุตราวัฏ (หมายถึง สังข์ที่มีลักษณะปากเปิดออกทาซ้ายหรือเวียนซ้าย) ทรงพระนามว่า “โกญจนาเนศวร” หรือพระพินาย
ประติมากรรมพระพินาย คือพระโกญจนาเนศวร (ภาพ: ฐานข้อมูลพระเมรุมาศ และองค์ประกอบพระเมรุมาศ)
จากตำนานทั้งสองที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้สังข์ถูกจัดอยู่ในฐานะ “ของมงคล” ตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ผู้ที่ได้นำสังข์ ซึ่งเชื่อว่า มีรอยนิ้วพระหัตถ์แห่งองค์พระนารายณ์ประทับอยู่นั้น ไปใช้ในการหลั่งน้ำ หรือเป่าแล้วก็จะพบแต่สิ่งที่ดีงาม
อนึ่ง ในประเทศอินเดียถือว่า หอยสังข์เป็นเครื่องหมายของพระลักษมี ผู้เป็นเทพีแห่งโภคทรัพย์ และเวลาเป่าก็จะมีเสียงที่คล้ายกับคำว่า “โอม” ซึ่งเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ ขณะเดียวกันในอินเดีย ได้มีการแบ่งสังข์ออกเป็นสีต่าง ๆ ตามแต่ละวรรณะ ประกอบด้วย
วรรณะพราหมณ์ ใช้สังข์สีขาว
วรรณะกษัตริย์ ใช้สังข์สีแดง สีน้ำตาลหรือสีชมพู
วรรณะแพศย์ ใช้สังข์สีเหลือง
วรรณะศูทร ใช้สังข์สีเทาหรือสีดำ
จึงปรากฏการสร้างสังข์เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญตามเทวรูปต่าง ๆ เช่น พระนารายณ์ พระลักษมี พระพิฆเนศ และการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งในทางราชสำนักและราษฎร
ประติมากรรมพระนารายณ์ (ภาพ: ฐานข้อมูลพระเมรุมาศ และองค์ประกอบพระเมรุมาศ)
ในทางราชสำนัก มีทั้งสังข์สำหรับเป่าและรดน้ำ โดยสังข์เป่าก็จะให้ชาวพนักงาน หรือพราหมณ์ประจำราชสำนักทำการเป่าพร้อมกับเครื่องประโคมอื่น ๆ เช่น แตร ปี่ กลองชนะ ประกอบพระราชพิธีและบอกเป็นสัญญาณต่าง ๆ เช่น การแห่นำในริ้วขบวนพระอิสริยยศ การเตรียมความพร้อมขบวนศึก เพื่อประกาศศักดาและความมีชัย
ส่วนสังข์รดน้ำ ใช้ในการหลั่ง เพื่อสักการบูชาแด่ปูชนียวัตถุสถานที่สำคัญ ตลอดจนพระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ในแต่โอกาสเพื่อความเป็นสิริมงคล เช่น พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระราชพิธีสถาปนาพระราชวงศ์ พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ เป็นต้น
สำหรับสังข์ หรือ “พระมหาสังข์” ที่ใช้งานพระราชพิธี ที่สำคัญต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา มีทั้งหมด 16 องค์ โดยที่เป็นพระมหาสังข์ทักขิณาวัฏ (สังข์เวียนขวา) 7 องค์ และพระมหาสังข์อื่น ๆ ที่เป็นสังข์อุตราวัฏ (สังข์เวียนซ้าย) ประกอบด้วย
- พระมหาสังข์ทักขิณาวัฏ (ทักษิณาวรรต) สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สำหรับบรรจุน้ำพระพุทธมนต์ สรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีปราบดาภิเษกของพระองค์ และเป็นราชประเพณีสืบมาที่ว่า ห้ามิให้สตรีจับต้อง
พระมหาสังข์ทักขิณาวัฏ (ภาพ: หนังสือ ราชาศัพท์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคงเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554)
- พระมหาสังข์เพชรใหญ่ (ทักษิณาวรรต) สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สร้างขึ้นไว้ประจำถาดสรงพระพักตร์ และยังใช้สำหรับสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าในแต่ละรัชกาลต่อ ๆ มา
ถาดสรงพระพักตร์​พร้อมขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา และพระมหาสังข์เพชรใหญ่ สำหรับทอดเป็นเครื่องบรมราชอิสริยราชูปโภคในงานพระราชพิธี (ภาพ: หนังสือ พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี Royal Ceremonies for the Rattanakosin Bicentennial)
- พระมหาสังข์เพชรน้อย (ทักษิณาวรรต) ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด ใช้สำหรับประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ในพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงฤดู และทรงใช้สังข์นี้บรรจุน้ำพระพุทธมนต์ที่สรงจากพระแก้วมรกตนั้น หลั่งที่พระเศียรของพระองค์ แล้วหลั่งพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปที่มาเข้าเฝ้าฯ ในพระราชพิธี
ถาดสรงพระพักตร์ สำหรับเครื่องทรงพระเครื่องใหญ่ ประกอบด้วยพระมหาสังข์เพชรน้อย ผอบทองคำสำหรับบรรจุเส้นพระเจ้าเหนือมะกรูดฝานเป็นแว่นวางบนใบบัว (ภาพ: Facebook Fanpage ของ พิกุลบรรณศาลา)
นอกจากนี้ ยังใช้ในการสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเป็นพระมหาสังข์สำหรับสมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมวงศ์ ชั้นสยามมกุฎราชกุมาร และสยามบรมราชกุมารี ทรงใช้หลั่งน้ำพระราชทานในพระราชพิธีมงคลต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีอภิเษกสมรส เป็นต้น
- พระมหาสังข์เดิม (อุตราวัฏ) เป็นสังข์ของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ในรัชกาลที่ 1 ทรงใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลต่อ ๆ มา ทรงใช้สำหรับหลั่งน้ำพระราชทานแก่หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง ราชสกุลและราชนิกุล เช่น งานมงคลสมรสพระราชทาน หรือการเข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบถวายบังคมลาไปปฏิบัติราชการ ณ ต่างประเทศ
พระมหาสังข์เดิม (ภาพ: หนังสือ ราชาศัพท์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคงเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554)
- สังข์นคร (อุตราวัฏ) เป็นสังข์ที่เจ้าพระยานครศรีธรรมราช เชิญมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในรัชสมัยต่อ ๆ มา ถือเป็นราชประเพณีที่ใช้สำหรับรดน้ำพระราชทานแก่ข้าราชการทั่วไปที่เข้าเฝ้าฯ เช่น กราบถวายบังคมลาไปเป็นเอกอัครราชทูต หรือหลั่งน้ำพระราชทานแก่พระยาแรกและเทพีคู่หาบทอง คู่หาบเงิน ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นต้น
สังข์นคร (ภาพ: หนังสือ ราชาศัพท์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคงเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554)
- สังข์ข้างที่ เป็นสังข์ซึ่งใช้ประจำ ณ พระราชฐานที่ประทับ สำหรับรดพระราชทานในกรณีเป็นปกติส่วนพระองค์โดยไม่มีหมายกำหนดการเวลาให้เข้าเฝ้าฯ รวมถึงรดแก่คู่บ่าวสาว ซึ่งขอรับการสมรสพระราชทาน
สังข์ข้างที่ โถเจิม และใบมะตูม สำหรับเป็นชุดเครื่องเจิม พร้อมด้วยเงินขวัญถุง พระราชทานแก่คู่สมรส (ภาพ: อธิ สีหวงศ์ - WordPress.com)
- สังข์พิธีของหลวง (อุตราวัฏ) เป็นสังข์ที่อยู่ในหมวดเครื่องพระมูรธาภิเษก ซึ่งใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วย พระมหาสังข์ทอง พระมหาสังข์นาก พระมหาสังข์เงิน พระมหาสังข์งา และพระมหาสังข์สัมฤทธิ์ รวมถึงพระมหาสังข์ทักขิณาวัฏด้วย
สังข์พิธีของหลวง โถเจิม และใบมะตูม สำหรับเป็นชุดเครื่องเจิม (ภาพ: หนังสือ ราชาศัพท์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคงเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554)
- พระมหาสังข์พิธีพราหมณ์ (ทักษิณาวรรต) เป็นของหลวงที่มีมาแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สำหรับพราหมณ์ใช้ถวายน้ำเทพมนต์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีต่าง ๆ
พระมหาสังข์พิธีพราหมณ์ (ภาพ: Facebook Fanpage ของ พิกุลบรรณศาลา)
- พระมหาสังข์ประจำพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (ทักษิณาวรรต) สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายเป็นพุทธบูชาสำหรับสรง โดยเฉพาะเวลาที่มีการเปลี่ยนเครื่องทรงตามฤดูกาล ประดิษฐานอยู่หน้าบุษบกพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต
พระมหาสังข์ประจำพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (ภาพ: Pantip)
- พระมหาสังข์ทักษิณาวรรตสำหรับพราหมณ์ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สำหรับพราหมณ์ใช้เป่านำเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีปราบดาภิเษกและพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลต่อ ๆ มา มี 2 องค์
พระมหาสังข์ทักษิณาวรรตสำหรับพราหมณ์เป่า (ภาพ: หนังสือ ราชาศัพท์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคงเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554)
ส่วนราษฎรทั่วไป พิธีมงคลที่สามารถเห็นการใช้สังข์ได้ทั่วไปนั้น คือ พิธีมงคลสมรส หรืองานแต่งงาน สำหรับการหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ หรือรดน้ำสังข์ เพื่อเป็นการอวยพรแก่เจ้าบ่าวเจ้าสาว โดยผู้ที่สามารถใช้สังข์ในการรดน้ำแก่บ่าวสาวได้ มักเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่าบ่าวสาว แต่ในปัจจุบันไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็สามารถรดน้ำสังข์อวยพรแก่คู่บ่าวสาวได้
พิธีซัดน้ำในวันแต่งงานสมัยโบราณ จากละครโทรทัศน์เรื่อง บุพเพสันนิวาส (ภาพ: Sanook)
ลำดับขั้นตอนในการรดน้ำสังข์นั้น เริ่มจากผู้ที่ได้ทำการสวมมงคลแฝดให้กับบ่าวสาว ซึ่งเป็นได้ทั้งประธานในพิธีที่เชิญมา หรือผู้อาวุโสภายในครอบครัวของแต่ละฝ่าย ไล่ลำดับลดหลั่นกันไป จากนั้นจึงตามด้วยญาติผู้ใหญ่ พี่สาว พี่ชาย รวมถึงแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน
การหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ หรือรดน้ำสังข์ที่มือของคู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงาน (ภาพ: Happy Wedding)
นอกจากนั้น หอยสังข์ก็ได้ปรากฏตามเรื่องราวต่าง ๆ ที่ปรากฏในสังคม เห็นได้ชัดสุด คงไม่พ้นจากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เรื่อง สังข์ทอง ที่มีการวางตัวให้ตัวละครเอกอย่าง “พระสังข์” ซึ่งมีฐานะเป็นถึงพระราชโอรสของท้าวพระยามหากษัตริย์อาศัยอยู่ในหอยสังข์ เป็นที่กำบังกายมาตั้งแต่เกิด เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้มีบุญญาธิการ
แล้วในพงศาวดารหลายเรื่อง ก็มีการกล่าวถึงหอยสังข์ เช่น การใช้เปลือกหอยสังข์มาทำเป็นผังสำหรับสร้างเมืองของหริภุญไชย (หริภุญชัย) หรือที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ เมื่อแรกสถาปนากรุงศรีอยุธยาที่บริเวณหนองโสน ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ผู้เป็นปฐมกษัตริย์ ความว่า
...ศักราชปี 713 ปีขาลโทศก วันศุกร์ขึ้นหกค่ำเดือนห้าเพลาสามนาฬิกาห้าบาท สถาปนากรุงศรีอยุธยา ชีพ่อพราหมณ์ได้ตั้งพิธีกลบบัตรได้สังข์ทักษิณาวัตรใต้ต้นหมันใบหนึ่ง
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงถือเป็นศุภนิมิต จึงโปรดให้สร้างปราสาทขึ้นเพื่อประดิษฐานสังข์ดังกล่าว พร้อมกับเริ่มสร้างเมืองรายรอบบริเวณที่ขุดพบสังข์นั้น และได้ปรากฏการผูกรูปสังข์ประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้า ภายในปราสาทใต้ต้นหมัน ขึ้นเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในเวลาต่อมา
รวมถึงการถูกกำหนดให้เป็น “มงคลที่ 3” ในบรรดา “อัฏฐพิธมงคล” หรือมงคล 8 ประการ ซึ่งเชื่อว่าสามารถขับไล่วิญญาณชั่วร้าย ขจัดภัยธรรมชาติ และสัตว์มีพิษได้ และการใช้เป็นอัตราเงินในสมัยโบราณ เรียกว่า “เบี้ย พดด้วง” ซึ่งทั้งคนไทยและคนจีนใช้มาเป็นเวลานานหลายศตวรรษ เพราะหอยสังข์นั้น คงจะเป็นวัตถุที่สวยงามและมีค่ามากที่ชาวทะเลสามารถหาได้
ด้วยเหตุทั้งหลายนั้น ทำให้ผู้คนทั้งหลายต่างมีความนิยมชมชอบในการแสวหาและนำสังข์ที่มีลักษณะพิเศษ เช่น สังข์ทักขิณาวัฏ (ทักษิณาวรรต) สังข์อุตราวัฏ มาไว้ในครอบครอง ตลอดจนการใช้เป็นองค์ประกอบในพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อบังเกิดให้มีแต่สิ่งดีงาม ความเป็นสิริมงคลทั้งหลาย เสมือนหนึ่งการได้รับประทานพรและปกป้องจากสรรพภัยทั้งปวงโดยพระผู้เป็นเจ้า ตามคติความเชื่อที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่อดีตจนมาถึงทุกวันนี้
อ้างอิง:
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#หอยสังข์ #พระมหาสังข์
โฆษณา