19 ก.ย. 2023 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

รู้หรือไม่!! รายได้จากแหล่งไหน ที่ต้องเสียภาษี

เชื่อว่าหลายคนคงอาจจะเคยสงสัยว่ารายได้จากแหล่งใดบ้างที่จะต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รายได้ของเราเข้าเกณฑ์เสียภาษีหรือไม่ วันนี้เราจะมาพูดถึงหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้ของประเทศไทย เพื่อให้เพื่อนๆ หายสงสัยกัน และจะได้คำนวณภาษีเงินได้ของตัวเองได้อย่างถูกต้อง
โดยในโพสนี้ จะโฟกัสที่การตอบว่า “รายได้จากแหล่งไหนบ้างที่ต้องเสียภาษี” สำหรับเพื่อนๆ คนไหนที่สงสัยประเด็นไหน อยากได้ข้อมูลอื่นเพิ่มเติม หรือไม่แน่ใจว่ารายได้ลักษณะนี้ของตัวเองต้องนำไปเสียภาษีมั้ย สามารถทัก Inbox หรือพิมพ์ในคอมเม้นท์ใต้โพสนี้ได้เลยค่ะ พวกเรายินดีให้คำปรึกษา ^^
ตามหลักทั่วไปของการจัดเก็บภาษีเงินได้ของรัฐ จะมีอยู่ 3 หลักการ โดยในแต่ละประเทศก็จะใช้หลักการจักเก็บภาษีที่แตกต่างกัน
1. หลักแหล่งเงินได้ (Source Rule)
2. หลักถิ่นที่อยู่ (Residence Rule)
3. หลักสัญชาติ (Nationality Rule)
ซึ่งประเทศไทยจะใช้ หลักแหล่งเงินได้ และ หลักถิ่นที่อยู่
ในขณะที่สหรัฐฯ จะใช้ หลักสัญชาติ
หลักแหล่งเงินได้
หมายถึง ถ้าเรามีเงินได้ในประเทศไหน ก็ต้องมีหน้าที่เสียภาษีให้กับประเทศนั้น หรือให้เข้าใจง่ายๆ คือ เงินได้ที่เกิดจากแหล่งในประเทศ
โดยเงินได้ที่เกิดขึ้นในไทยต้องมีแหล่งที่มาจากเกณฑ์ต่อไปนี้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง
- หน้าที่งาน ที่ทำในประเทศไทย
- กิจการ ที่ทำในประเทศไทย
- กิจการของนายจ้างในประเทศไทย
- ทรัพย์สิน ที่อยู่ในประเทศไทย เช่น ดอกเบี้ย, เงินปันผล, ค่าเช่า ฯลฯ
เช่น Mr.A เปิดร้านอาหารในประเทศไท,นายจ้างที่ไทยส่งไปทำงานที่ต่างประเทศ, นักร้องต่างประเทศมาเล่นคอนเสิร์ตในไทย, คนต่างชาติมีบ้านอยู่ที่ไทยและปล่อยเช่า ค่าเช่านั้นก็จะต้องนำไปเสียภาษี
ซึ่งหลักแหล่งเงินได้ จะไม่คำนึงว่าเงินได้นั้นจ่ายในประเทศหรือนอกประเทศ และไม่คำนึงว่าผู้มีเงินได้นั้นจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม (ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติใดก็ตาม)
สรุปสั้นๆ เพียงแค่เราทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีรายได้ในไทย ก็นับว่าต้องเสียภาษีทั้งนั้น
หลักถิ่นที่อยู่
หมายถึง ถ้าเราเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศนั้น ก็ต้องมีหน้าที่เสียภาษีให้กับประเทศนั้น
เมื่อเรามีรายได้ที่เกิดขึ้นนอกประเทศไทยก็อาจต้องเสียภาษีให้ไทย ไม่ว่าเงินได้จะมาจาก
- หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ หรือ
- กิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือ
- ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า เงินปันผล
และต้องเข้าองค์ประกอบทั้ง 2 ประการ คือ
1. เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีนั้น (นับตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม) รวมทั้งหมดถึง 180 วัน
2. นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้น
ล่าสุด ทางกรมสรรพากรได้แจ้งแนวทางปฏิบัติใหม่สำหรับเงินได้จากต่างประเทศ หากนำเงินได้เข้าไทยในปีภาษีใดก็ตาม จะต้องนำเงินได้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีในปีนั้นๆ โดยจะเริ่มใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป (การตีความเดิมคือ ถ้านำเงินได้ที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศเข้ามาในไทยข้ามปี ไม่ต้องเสียภาษี)
เช่น
เราทำงานมีรายได้ที่ประเทศสิงคโปร์ 2 เดือน และนำรายได้นั้นกลับเข้ามาในไทยด้วย หลังจากนั้นกลับมาทำงานต่อที่ไทยอีก 10 เดือน >> ในกรณีนี้ เราจะต้องเสียภาษีเงินได้ในไทยด้วย
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ อาจมีหลายคนคิดว่า ในบางกรณีเช่นเรามีเงินได้จากต่างประเทศแล้วนำเงินได้นั้นเข้าประเทศไทยในปีเดียวกันก็จะต้องเสียภาษีถึง 2 ต่อ (เสียภาษีเงินได้ในประเทศนั้นและเสียภาษีในไทยอีก) แบบนี้ดูเป็นการเสียภาษีซ้อนรึป่าว
ซึ่งจริงๆ แล้ว จะมีกฎหมายชนิดหนึ่งที่เรียกว่า อนุสัญญาภาษีซ้อน เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ 2 ประเทศที่เจรจากันเพื่อขจัดการเก็บภาษีเงินได้ซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างประเทศ ทั้งนี้ จะต้องเช็ครายละเอียดเงื่อนไขอีกครั้งว่ามีการยกเว้นภาษีอย่างไรบ้าง รวมถึงแต่ละประเทศก็มีข้อตกลงที่แตกต่างกัน
#เทคนิค เช็คว่ารายได้ของเราต้องเสียภาษีหรือไม่?
1. ดูหลักเกณฑ์หลักแหล่งเงินได้ก่อน >> ถ้าเข้าเกณฑ์ ต้องเสียภาษี (โดยไม่สนว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในประเทศไทยหรือไม่)
2. ถ้าไม่เข้าเกณฑ์หลักแหล่งเงินได้ ให้ดูว่า เข้าหลักถิ่นที่อยู่หรือไม่ (เงินได้จากนอกประเทศ) เป็นผู้ที่อยู่ในไทยถึง 180 วันในปีภาษีนั้น หรือไม่ >> ถ้าอยู่ในไทยถึง 180 วัน ต้องเสียภาษีเงินได้จากต่างประเทศที่นำเข้าประเทศไทย
ติดตาม Cashury ผ่านช่องทางอื่นๆ ได้ที่
โฆษณา