19 ก.ย. 2023 เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ย้อนรอยเส้นทาง "พรอนงค์ บุษราตระกูล" ก่อนขึ้นแท่น เลขาฯ ก.ล.ต. คนที่ 13

"พรอนงค์ บุษราตระกูล" กับเส้นทางสู่ เลขาฯ ก.ล.ต. คนที่ 13 กว่าจะเสนอชื่อใช้เวลา 2 รัฐบาล รวมระยะเวลา 7 เดือน นับตั้งแต่วันปิดรับผู้สมัครคัดเลือก ลุ้นคุณสมบัติยันโค้งสุดท้าย จนเข้ารับตำแหน่ง
ประเด็นการแต่งตั้ง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ถือว่ามีระยะเวลายาวนาน หลังจากการหมดวาระลงของ "นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล" เลขาธิการฯ คนก่อนหน้า ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566
ท่ามกลางกระแสข่าวมากมาย ในการสรรหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่ง เลขาฯ ก.ล.ต. บนสถานการณ์ในตลาดทุนที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก จากยุครัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ก้าวพ้นการเลือกตั้งสู่ยุค นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ที่นำมาสู่มติคณะรัฐมนตรีในการแต่งตั้ง "นางพรอนงค์ บุษราตระกูล" ขึ้นดำรง ตำแหน่งเลขา ก.ล.ต. คนที่ 13 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ใช้ระยะเวลาล่วงเลยกว่า 7 เดือน หากนับจากวันที่ปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 กว่าจะได้ผู้ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน
รวมทั้งเส้นทางที่ผ่านมา ในการสรรหาเลขาฯ ก.ล.ต. ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมีกระแสข่าวการปัดตกรายชื่อผู้เข้ารับคัดเลือกเลขา ก.ล.ต. คนใหม่ทั้ง 2 ราย ทั้งในส่วน "รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล" เลขาฯคนปัจจุบัน และ "วรัชญา ศรีมาจันทร์" ผู้ท้าชิงในขณะนั้น
ที่ว่ากันว่ามีการเสนอชื่อมาก่อนหน้าที่กระทรวงการคลัง สมัยของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่การเสนอชื่อต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่ง 1 ใน 2 บุคคลที่เสนอมา ก็ยังถูกกระแสข่าวว่าผู้ลงสมัครอาจไม่ผ่านคุณสมบัติจึงต้องเข้ากระบวนการสรรหาใหม่
ซึ่งครั้งหนึ่ง "นางพรอนงค์" เคยออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อสั้นๆ ในช่วงกระแสข่าวเรื่องคุณสมบัติ ว่า "การเข้ามาสมัครคัดเลือก เลขาฯ ก.ล.ต. มั่นใจว่า มีคุณสมบัติครบถ้วนทุกอย่างตามที่มีการระบุไว้ในหลักเกณฑ์การสมัครทุกประการ ทั้งตามเงื่อนไขข้อ 2 และข้อ 3 (ข้อมูลเพิ่มเติมของผู้สมัคร) และเชื่อมั่นในระบบสอบทาน และผ่านคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งเกณฑ์ข้อ 2 และข้อ 3 ในการสมัครคัดเลือกเลขาฯ ก.ล.ต."
ประวัติ "รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล"
ก่อนเข้ารับตำแหน่ง เลขาฯ ก.ล.ต. ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการกำกับดูแลกิจการ อาจารย์ประจำภาควิชาการเงินและการธนาคาร
และยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ถึง 2 วาระ ประกอบด้วย วาระแรกวันที่ 8 เม.ย. 2557 ถึง 24 ก.ค. 2561, วาระที่ 2 ตั้งแต่ 25 ก.ค. 2561 ถึง 19 ก.ค. 2564
นอกจากนี้ ยังมีประสบการณ์ด้านการบริหารทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง และการตรวจสอบภายในให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งเคยทำงาน ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ สำนักงาน ก.ล.ต. ในช่วงที่ผ่านมา
ประวัติการศึกษา
ปี 2532 - ปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจการจัดการเชิงปริมาณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี 2534 - ปริญญาโท สาขาวิชาระบบสารสนเทศทางการจัดการ มหาวิทยาลัยดัลลัส สหรัฐอเมริกา
ปี 2540 - ปริญญาเอก สาขาบริหารธุรกิจ การเงิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี 2545 - CERTIFIED INTERNAL AUDITOR (CIA), สถาบันระหว่างประเทศ ผู้ตรวจสอบบัญชี, สหรัฐอเมริกา
ปี 2556 - CHARTERED FINANCIAL ANALYST (CFA), ประเทศไทย
ถือได้ว่าเรื่องราวที่ผ่านมาเป็นการคัดเลือก เลขาฯ ก.ล.ต. ที่ยาวนานกว่า 7 เดือน ใน 2 รัฐบาล บนกระแสข่าวมากมายตลอดเส้นทาง แต่จนถึงวันนี้ก็สามารถผ่านการคัดเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติจนได้รับตำแหน่งในที่สุด ยุครัฐบาล "เศรษฐา1" ที่มีการเสนอชื่อและที่ประชุม ครม. พิจารณาอนุมัติในการประชุม ครม. นัดที่ 2 (18 ก.ย. 66) ที่ผ่านมานั่นเอง
จากนี้ไปคงต้องมาติดตามผลงานการกำกับดูแลของเลขาฯ ก.ล.ต. คนใหม่ป้ายแดง เนื่องจากความท้าทายยังมีอยู่มาก ท่ามกลางปัญหาของตลาดทุนไทย ที่ยังมีหลายปมต้องเข้ามาคลี่คลาย และกำกับดูแล
โฆษณา