เกษตรกร ขอรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาหมูราคาตก-ลดราคาอาหารสัตว์ หลังบริษัทผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ในประเทศ ขายต่ำกว่าราคาหน้าเขียง
วันที่ 21 กันยายน 2566 กลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตก ยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เพราะประสบปัญหาการแข่งขันด้านราคากับบริษัทผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ในประเทศ ที่ขายถูกกว่าราคาหน้าเขียง
นายเดือนเด่น ยิ้มแย้ม รองประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้เลี้ยงหมูรายย่อยทั่วประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการที่บริษัทผู้เลี้ยงหมูบางราย ขยายการทำตลาดขายปลีก มาลงตลาดระดับล่างแข่งกับเขียงหมูในชุมชนระดับตำบลและกำหนดราคาขายถูกกว่ามาก จึงขอให้ ณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ดูแลราคาขายให้มีเสถียรภาพมากกว่าปัจจุบัน
ด้าน นายวิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ระบุว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ขั้นตอนการศึกษาต้นตอของปัญหา เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง จากนั้นนำเขาสู่ที่ประชุมเป็นผู้พิจารณา หากเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า จะมีโทษทางอาญา
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง รมว.เกษตรและสหกรณณ์ มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ หรือ "พิกบอร์ด" ชุดใหม่ โดยให้ผู้แทนเกษตรกรรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วม
ขณะที่ นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรฯ ออกแนวทางการแก้ปัญหาทุนใหญ่ในประเทศ โดยเร็วๆ นี้จะหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และผู้ประกอบการรายใหญ่ ขอความร่วมมือเน้นผลิตเพื่อส่งออก เปิดทางรายย่อยจำหน่ายในประเทศ โดยข้อมูลจากกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยระบุว่า ที่ผ่านมาสัดส่วนการเลี้ยงหมูในประเทศ แบ่งเป็นผู้เลี้ยงรายย่อยร้อยละ 80 ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่มีสัดส่วนร้อยละ 20 แต่ปัจจุบันผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยทั่วประเทศประสบปัญหาต้นทุน จึงมีบางส่วนเลิกอาชีพ คงเหลือสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 50 จากจำนวนผู้เลี้ยงทั้งหมด
ขณะที่ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ในพื้นที่ ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง กล่าวว่า ราคาหมูหน้าฟาร์มเหลือประมาณ กก.ละ 60 บาท แต่ราคาขายที่คุ้มทุน จะต้องไม่ต่ำกว่า กก.ละ 75 บาท ซึ่งหมูแต่ละตัวมีต้นทุนค่าอาหารประมาณ 6,200 บาท ไม่นับรวมค่าลูกหมู ไม่รวมค่าแรงงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ขณะนี้ ขาดทุน ประมาณ 2,000 บาท/ตัว ทำให้เกษตรกรจำนวนมากต้องเลิกเลี้ยง