22 ก.ย. 2023 เวลา 06:42 • ข่าวรอบโลก

จรวดกองกำลังอวกาศสหรัฐฯ เจาะบรรยากาศโลกชั้นบนเป็นรูโหว่

การปล่อยจรวดนำส่งดาวเทียมสอดแนมของกองกำลังอวกาศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยต่อบรรยากาศโลก เพราะการเผาไหม้เชื้อเพลิงปริมาณมหาศาล ทำให้บรรยากาศชั้นบนหรือไอโอโนสเฟียร์ (ionosphere) เกิดแหว่งเป็นรูโหว่ชั่วคราว
บริษัทไฟร์ฟลาย แอโรสเปซ (Firefly Aerospace) กิจการขนส่งอวกาศของเอกชน เป็นผู้รับสัมปทานจากกองกำลังอวกาศสหรัฐฯ ให้ดำเนินการปล่อยจรวดอัลฟา (Alpha) ของทางบริษัทขึ้นสู่ห้วงอวกาศ เพื่อติดตั้งดาวเทียมสอดแนม Victus Nox ในวงโคจรรอบโลก
ในครั้งนี้ทางบริษัทสามารถดำเนินการปล่อยจรวดได้สำเร็จ ภายในระยะเวลาเพียง 27 ชั่วโมง หลังได้รับคำสั่งจากกองกำลังอวกาศสหรัฐฯ ซึ่งถือว่ารวดเร็วเป็นประวัติการณ์ จนสร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนในวงการสำรวจอวกาศกันเป็นอย่างมาก
ในขณะที่ยิงปล่อยจรวดขึ้นจากฐานทัพอวกาศแวนเดนเบิร์กในรัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้คนบนพื้นโลกสามารถสังเกตเห็นกลุ่มควันขนาดยักษ์ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ขับดันจรวดได้ จากระยะไกลกว่า 1,600 กิโลเมตร
เมื่อกลุ่มควันจางหายไป สิ่งที่เหลือทิ้งไว้บนท้องฟ้าคือแถบเรืองแสงสีแดงจาง ๆ อันเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าได้เกิดรูโหว่ขึ้นในบรรยากาศชั้นบนของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงบริเวณที่เป็นก๊าซมีประจุหรือไอโอโนสเฟียร์ ซึ่งอยู่ที่ระดับความสูงระหว่าง 80-645 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก
จรวดอัลฟาของบริษัท Firefly Aerospace นำส่งดาวเทียม Victus Nox ขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก
สาเหตุที่ทำให้เกิดรูโหว่ดังกล่าวขึ้น เป็นเพราะการเผาไหม้เชื้อเพลิงของจรวดขั้นที่สอง ระหว่างที่พุ่งทะยานไปถึงส่วนกลางของชั้นไอโอโนสเฟียร์ ซึ่งอยู่ที่ระดับความสูง 200-300 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไอน้ำในควันไอเสียของจรวด จะทำให้อะตอมออกซิเจนที่มีประจุกลับมาจับตัวกัน หรือรวมตัวกันเป็นโมเลกุลของก๊าซออกซิเจนอีกครั้ง โดยกระบวนการดังกล่าวจะมีการปลดปล่อยพลังงานออกมาจำนวนหนึ่ง จนมองเห็นเป็นแสงสีแดงบนท้องฟ้า คล้ายกับปรากฏการณ์แสงเหนือ-แสงใต้ หรือออโรรา (aurora)
อย่างไรก็ตาม รูโหว่ในบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้คนบนโลกหรือสิ่งแวดล้อมของโลก เนื่องจากรูโหว่ชนิดนี้จะปิดลงได้เองเมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง หลังก๊าซออกซิเจนแตกตัวเป็นไอออนหรืออะตอมที่มีประจุไฟฟ้าอีกครั้ง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จรวดทำให้เกิดรูโหว่ในบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ โดยเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา จรวดฟอลคอน 9 (Falcon 9) ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ได้ทำให้เกิดแถบสีแดงฉานบนท้องฟ้าของรัฐแอริโซนามาแล้ว
ส่วนดาวเทียมสอดแนม Victus Nox ซึ่งชื่อภาษาละตินของมันมีความหมายว่า “พิชิตราตรี” จะทำหน้าที่สอดส่องความเคลื่อนไหวในห้วงอวกาศใกล้โลก เพื่อเตือนให้กองกำลังอวกาศสหรัฐฯ ได้รับทราบถึงภัยคุกคามที่อาจมีขึ้น
โฆษณา