2 ธ.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์

หากย้อนกลับไปในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ยังมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น กล่าวได้ว่า เดือนธันวาคมเป็นเดือนที่ค่อนข้างจะสำคัญอย่างมากทั้งในส่วนของภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายพระพรชัยมงคลแด่พระองค์ท่าน นอกจากการประดับประดาด้วยประทีปโคมไฟ พร้อมด้วยแท่นประดิษฐานพระบรมรูปในแต่ละพระราชอิริยาบถ รวมถึงเครื่องราชสักการะ มีพานพุ่มทอง พานพุ่มเงิน และพานกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพตามที่ต่าง ๆ แล้ว
การประดับประดาด้วยประทีปโคมไฟต่าง ๆ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558 บริเวณถนนราชดำเนินกลาง (ภาพ: Step Thailand Photo)
เนื่องในวันสำคัญดังกล่าวของแต่ละปี ทางสำนักพระราชวังก็ได้มีการออกหมายกำหนดการต่าง ๆ ได้แก่ วันที่ 4 ธันวาคม พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่าง ๆ ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ นิสิตนักศึกษา พ่อค้า ประชาชน และผู้แทนมูลนิธิ สมาคม สโมสร องค์กรต่าง ๆ เฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่าง ๆ ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ นิสิตนักศึกษา พ่อค้า ประชาชน และผู้แทนมูลนิธิ สมาคม สโมสร องค์กรต่าง ๆ เฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2549 (ภาพ: Pinterest ของ sugarcane)
การเสด็จออกมหาสมาคม ในช่วงเช้าวันที่ 5 ธันวาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง เวลาบ่ายเป็นการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคลจากบรรพชิตจีน ญวน ทรงบูชาพระพุทธรูปสำคัญ ทรงบูชาเทพยดานพเคราะห์ พระราชทานราชสังคหวัตถุแก่ผู้สูงอายุฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สถาปนาสมณศักดิ์พระสงฆ์ ทรงบูชาเทพยดานพเคราะห์ และเจริญพระพุทธมนต์การพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
การเสด็จออกมหาสมาคม รับการถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553 (ภาพ: Facebook Fanpage ของ We love Thai Royal Family)
การพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 (ภาพ: คลังภาพสำนักพระราชวัง)
วันรุ่งขึ้น 6 ธันวาคม เป็นการพระราชกุศลเลี้ยงพระ และสดับพระธรรมเทศนามงคลวิเศษกัณฑ์หนึ่งตามราชประเพณี ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย รวมถึงในวันที่ 7 หรือ 8 ธันวาคม พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะทูตานุทูตต่างประเทศและผู้แทนฝ่ายกงสุล เฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา รวมถึงงานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติ ณ ทำเนียบรัฐบาล
การพระราชกุศลเลี้ยงพระ และสดับพระธรรมเทศนามงคลวิเศษ เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2550 (ภาพ: คลังภาพสำนักพระราชวัง)
และอีกหนึ่งพิธีสำคัญ ซึ่งจัดขึ้นโดยกองทัพไทย เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี ได้แก่ พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ในวันที่ 2 ธันวาคม ณ ลานพระราชวังดุสิต
พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อต้องการให้ทหารของกรมทหารหน้าและกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ที่ได้รับการปฏิรูปตามแนวพระราชดำริมีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งจมี่นไวยวรนาถ (เจิม แสง-ชูโต) ผู้บังคับการกรมทหารหน้าในขณะนั้น มีความคิดที่จะให้กองทหารหน้าได้ถวายความซื่อสัตย์ภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์
จมี่นไวยวรนาถ (เจิม แสง-ชูโต) ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี” (ภาพ: Facebook Fanpage ของ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี)
จึงริเริ่มพระราชพิธีถือน้ำพระพิฒน์สัตยาประจำเดือนสำหรับทหารขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2423 – 2430 แต่พิธีดังกล่าวก็เลิกไปในปี พ.ศ. 2431 เนื่องจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขธรรมเนียมกำหนดอายุไพร่หลวงรับราชการใหม่ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2431 ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเวลาที่ไพร่ต้องเข้ามารับราชการไปจากการเข้าเดือนออกเดือน คงเหลือแต่การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาสำหรับทหารที่เข้ามารับราชการใหม่และนายทหารที่ได้รับตำแหน่งใหม่
ต่อมาการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ได้มีการรื้อฟื้นขึ้นใหม่ โดยโปรดให้ประกอบเป็นพระราชพิธีเนื่องในการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีแก่ทหารและตำรวจ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง (ภาพ: หนังสือ ลักษณะไทย เล่ม 2 : ภูมิหลัง)
ต่อมาในช่วงการปฏิรูปกองทัพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2435 นอกจากการออกพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร เพื่อเรียกเกณฑ์มาฝึกอย่างทหารอาชีพ รวมถึงการทดลองจัดตั้งกิจการทหารในบางมณฑล ซึ่งสำเร็จลุล่วงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นั้น
ด้วยปริมาณทหารที่เพิ่มมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงริเริ่มการปลุกฝังอุดมการณ์ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ขึ้น โดยโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีตรึงหมุดและพระราชทานธงชัยเฉลิมพล (หรือธงไชยเฉลิมพล) รวมถึงพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลขึ้น เพื่อให้ทหารได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี
โดยธงชัยเฉลิมพล เป็นธงประจำกองทัพในเวลาไปราชการสงครามและสำหรับพระราชทานให้กับกองทหาร เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นจอมทัพไทย เสมือนหนึ่งว่าได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับเป็นหลักชัยอยู่ท่ามกลางเหล่าทหารทั้งปวง
หากจะพิจารณาในอีกทางหนึ่ง การได้ถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล ก็เปรียบเสมือนหนึ่งการได้ถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งพิธีดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2442 แต่ก็ได้ถูกระงับไปหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
ธงจุฑาธุชธิปไตย ธงชัยเฉลิมพลผืนแรกของประเทศไทย ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างขึ้น เพื่อพระราชทานแก่กองทัพสยาม (ภาพ: Facebook Fanpage ของ โคตรทหาร)
อนึ่ง ในช่วงที่คณะราษฎรกำลังมีบทบาททางการเมือง ได้มีการยกรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญของชาติ ส่งผลให้สาระของการถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา ไม่ใช่เพียงแค่การถวายความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์เพียงอย่างเดียว
กระทั่งภายหลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 การปกครองระบอบประชาธิปไตยยังคงอยู่ เพิ่มเติมเพียงแค่การนำสถาบันพระมหากษัตริย์กลับมาอยู่ในกระแสหลักอีกครั้ง แต่ที่มา “พีค” สุด เป็นในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ภาพ: ศิลปวัฒนธรรม)
เพื่อให้สอดรับกับเจตนารมย์ที่จะพิทักษ์รักษา และเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่เคารพสักการะ สนับสนุนบทบาทองค์พระประมุขและการเป็นจอมทัพไทย
นอกจากการนำฐานความผิดที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไปเหมารวมกับความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ เช่น การฝักใฝ่ในแนวคิดหรือลัทธิคอมมิวนิสต์แล้ว ได้มีการการรื้อฟื้นพิธีกรรมต่าง ๆ อันเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์กลับขึ้นมาใหม่
รวมถึงพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ โดยรวมเอาพระราชพิธีตรึงหมุดและพระราชทานธงไชยเฉลิมพล พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงไชยเฉลิมพล สมัยรัชกาลที่ 5 กับพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงไชยเฉลิมพล ยุคคณะราษฎรเข้าไว้ด้วยกัน
ก่อนหน้านั้น ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อครั้งกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ได้สถาปนามาครบ 85 ปี ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้มีบัญชาให้กองทัพภาคที่ 1 ดำเนินการจัดงานวันราชวัลลภขึ้นที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และให้มีการสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ณ ลานพระราชวังดุสิต โดยใช้กำลังพลสวนสนามเฉพาะแต่ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เท่านั้น
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานด้วย แล้วหลังจากนั้นพิธีนี้ก็ได้ว่างเว้นไปอีกหลายปี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระดำเนินตรวจพลสวนสนามในพิธีวันราชวัลลภ ณ ลานพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 (ภาพ: Facebook Fanpage ของ เพราะที่นี่คือแผ่นดินของพ่อ)
กระทั่งเมื่อการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป 13 ประเทศ ในปี พ.ศ. 2503 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสร็จสิ้นลง แล้วได้เสด็จนิวัตพระนคร ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2504 นอกจากงานสมโภชเนื่องในโอกาสดังกล่าว พร้อมกับการจัดพิธีสวนสนาม “วันพระบารมีปกเกล้า” ของทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ ที่ไม่ใช่เฉพาะแต่หน่วยทหารรักษาพระองค์ขึ้นในวันที่ 21 มกราคม 2504 แล้ว
ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงตรวจพลสวนสนาม ในงานสวนสนาม “วันพระบารมีปกเกล้า” ณ ถนนราชดำเนินกลาง ช่วงบริเวณวงเวียน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2504 บนนิตยสาร สยามนิกร ฉบับภาพเสด็จนิวัตพระนคร (ภาพ: Facebook Fanpage ของ readtheroom.bkk)
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีบัญชาให้กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ จัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ขึ้นในวันที่ 5 ธันวาคม 2504 เนื่องโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา แล้วนับแต่นั้นมา ก็ได้มีการจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นประจำทุกปี ณ ลานพระราชวังดุสิต
แต่เนื่องจากในระหว่างวันที่ 4 – 6 ธันวาคม เป็นห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชกรณียกิจมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนในวันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี จนในปี พ.ศ. 2541 ได้เปลี่ยนมาเป็นวันที่ 2 ธันวาคม
ลำดับพิธีหลัก ๆ เริ่มจากที่บริเวณสนามเสือป่า ได้มีการยิงพลุสัญญาณพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. สก. พร้อมด้วยควันสีสายรุ้ง จากนั้นทหารรักษาพระองค์ทั้ง 4 กรม 12 กองพัน เดินแถวพร้อมกันออกจากจุดรวมพลบริเวณถนนราชดำเนินนอก มายังลานพระราชวังดุสิต เสร็จแล้วตั้งแถวรอรับเสด็จ ขณะเดียวกันพระบรมวงศานุวงศ์ทยอยเสด็จพระราชดำเนินยังพลับพลาที่ประทับ
ส่วนหนึ่งของพลุสัญญาณพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. สก. และควันสีสายรุ้งที่ถูกยิงขึ้น พร้อมกับการที่ทหารรักษาพระองค์ทั้ง 4 กรม 12 กองพัน เดินแถวพร้อมกันออกจากจุดรวมพล ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2550 (ภาพ: Albums by Patrick LEPETIT)
กรมนักเรียนนายร้อย รักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 1 ใน 12 กองพันสวนสนาม เดินแถวเข้ามายังลานพระราชวังดุสิต เพื่อเข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2550 (ภาพ: Blogger ของ crma052)
จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร โดยรถยนต์พระที่นั่งออกทางประตูทวยเทพสโมสร ผู้บังคับกองผสมสั่งถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเพลงสรรเสริญพระบารมี
ผู้บังคับกองผสมวิ่งไปยังต้นแถว แล้วกราบบังคมทูลพระกรุณาอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจพลสวนสนาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชประทับยืน ทรงพระคทาตรวจพลสวนสนาม นำโดยนายทหารราชองครักษ์เชิญธงชัยพระครุฑพ่าห์ และธงชัยราชกระบี่ยุทธ์ ตามเสด็จด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ระดับผู้บัญชาการ เสนาธิการทหารทั้งสามเหล่าทัพ และผู้บังคับกองผสม วงดุริยางค์บรรเพลงมาร์ชธงไชยเฉลิมพล แล้วเสด็จขึ้นประทับยังพระที่นั่งชุมสาย บนพลับพลาที่ประทับ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงตรวจพลสวนสนาม ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2550 (ภาพ: Blogger ของ crma052)
หมู่เชิญธงชัยเฉลิมพลทั้ง 12 กองพันเข้าประจำยังหน้าพลับพลาที่ประทับ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาชัย เสร็จแล้ว นายทหารชั้นผู้ใหญ่ นำโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล แล้วทูลเกล้าฯ ถวายพานดอกไม้ธูปเทียนแพ
จากนั้น นำทหารรักษาพระองค์ถวายสัตย์ปฏิญาณตน จบแล้ว ผู้บังคับกองผสมสั่งถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารปืนใหญ่ยิงสลุตเฉลิมพระเกียรติ 21 นัด พร้อมกับปล่อยลูกโป่งสีและแพรถวายพระพรออกมาจากสนามเสือป่า
ลูกโป่งสีและแพรถวายพระพรที่ถูกปล่อยออกมาจากสนามเสือป่า ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2550 (ภาพ: Blogger ของ crma052)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราโชวาท เสร็จแล้ว ผู้บังคับกองผสมสั่งถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเพลงสรรเสริญพระบารมี จากนั้น หมู่เชิญธงชัยเฉลิมพลกลับเข้าประจำยังแถว วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชธงไชยเฉลิมพล
เสร็จแล้ว ผู้บังคับกองผสมสั่งปรับแถวเพื่อการสวนสนาม จากนั้น ทหารรักษาพระองค์ทั้ง 4 กรม 12 กองพันสวนสนามผ่านหน้าพลับพลาที่ประทับ โดยวงดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชราชวัลลภ
ทหารรักษาพระองค์ 4 กรม 12 กองพัน และ 1 กองพันทหารม้า สวนสนามในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2550 (ภาพ: Blogger ของ crma052)
จากนั้น กองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ ได้ทำการสวนสนามผ่านพลับพลาที่ประทับ วงดุริยางค์บรรเพลง King Cotton เพื่อให้สอดคล้องกับการเดินของม้า เสร็จแล้ววงดุริยางค์ที่สลับเป็นสีธงชาติแปรขบวนแถวมายังหน้าพลับพลาที่ประทับ เพื่อขับร้องเพลงถวายพระพร
กองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็น 1 กองพันทหารม้า กำลังเดินสวนสนามผ่านพลับพลาที่ประทับ ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2550 (ภาพ: Blogger ของ crma052)
จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินกลับ โดยผู้บังคับกองผสมสั่งถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารรักษาพระองค์เปล่งเสียงถวายพระพร “ทรงพระเจริญ” 3 ครั้ง
เมื่อถึงเวลาอันสมควร ผู้บังคับกองผสมสั่งเลิกแถว วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสยามานุสสติ
อ้างอิง:
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#ทหารรักษาพระองค์
โฆษณา