29 ธ.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

แอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ค: เจ้าชายผู้อื้อฉาว

นานมาแล้ว...เมื่อปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) ได้มีผู้มีสามารถบันทึกภาพของชายคนหหนึ่งขณะเดินออกมาจากบ้านพักหรูของนายเจฟฟรีย์ เอปสตีนในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งนายเจฟฟรีย์ เอปสตีนนี้เคยถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานชักชวนผู้เยาว์ไปค้าประเวณี เมื่อปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551)
ในเวลาต่อมาภาพดังกล่าวก็ได้ถูกเผยแพร่โดยหนังสือพิมพ์สำนักหนึ่ง ซึ่งเผยให้เห็นว่า ชายที่เดินออกมาจากบ้านพักหรูย่านแมนฮัตตันของนายเอปสตีนในช่วงเวลาเดียวกัน ก็คือ “ดยุคแห่งยอร์ค”
ดยุคแห่งยอร์ค มีพระนามเต็มว่า “แอนดรูว์ อัลเบิร์ต คริสเตียน เอ็ดเวิร์ด” ประสูติเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร กับเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ
ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารจากวิทยาลัยราชนาวีบริแทนเนีย (Britannia Royal Naval College) ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร ทรงเคยร่วมรบและรับราชการในกองทัพเรือ ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ในองค์กรด้านการบินและราชนาวี รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวกับผู้พิการทางการได้ยินและผู้พิการทางการมองเห็น ตลอดจนทรงเป็นองค์ประธานของสมาคมป้องกันการทารุณกรรมเด็กแห่งชาติ (London Society for the Prevention of Cruelty to Children; LSPCC) และทรงเป็นหัวหน้าคณะการค้า สหราชอาณาจักร โปรดทรงกีฬาว่ายน้ำและกีฬาที่ใช้ลูกบอลเกือบทุกประเภท
ด้านชีวิตครอบครัว ทรงอภิเษกสมรสกับ ซาราห์ เฟอร์กูสัน เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529) ได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเป็น “ดยุคแห่งยอร์ค” มีพระธิดา 2 พระองค์ คือ เจ้าหญิงเบียทริซ และเจ้าหญิงยูจีนี่แห่งยอร์ค
ต่อมาในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2535) เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ค ตัดสินพระทัยหย่าร้างกับซาราห์ ดัชเชสแห่งยอร์ค ซึ่งได้มีการหย่ากันอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539)
(จากซ้ายไปขวา) ซาราห์ ดัชเชสแห่งยอร์ค, เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ค, สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ (ภาพ: People.com)
หมายเหตุ: ได้อ้างอิงพระอิสริยยศตามเกณฑ์การเทียบราชาศัพท์และพระเกียรติยศราชสำนักยุโรปกับไทย (https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1355288584576191&type=3) โดย เพจ Royal World Thailand - รอยัล เวิลด์ ประเทศไทย
กลับมาที่ความอื้อฉาวที่เกิดขึ้นกันต่อ...
ปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ในเอกสารคดีแพ่งของศาลที่ฟ้องร้องต่อนายเอปสตีนนั้นได้มีพระนามของดยุคแห่งยอร์กปรากฏอยู่ด้วย โดยหนึ่งในโจทก์ผู้ฟ้องร้องนายเอปสตีน คือ นางสาวเวอร์จิเนีย โรเบิร์ตส์ ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนนามสกุลเป็น “จุฟเฟร” ระบุว่า
เธอถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับดยุคแห่งยอร์ค 3 ครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) ตอนนั้นเธอมีอายุได้ 17 ปี และปี ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) ในกรุงลอนดอน นครนิวยอร์ก และที่เกาะส่วนตัวของนายเอปสตีนในทะเลแคริบเบียน ซึ่งรู้จักกันในหมู่มหาเศรษฐี ผู้มีกะตังค์ล้นฟ้าว่า “เกาะพวกรักเด็ก” (Paedophile island)
ภาพมุมสูงของเกาะพวกรักเด็ก หรือ Paedophile island (ภาพ: The Telegraph)
เดลีเมล (Daily Mail) เคยรายงานเกี่ยวกับ “เกาะสวาท” แห่งนั้นว่า “มีสมาชิกชุมชนจำนวนมากต่างเชื่อกันว่า มหาเศรษฐีอเมริกันได้ซ่อนบรรดาเหยื่อเด็กหญิงไว้ที่ห้องใต้ดินซึ่งอยู่ด้านใต้ของวัดโดมทอง และส่วนอื่น ๆ บนเกาะ”
โดยตามกฎหมายของตามกฎหมายรัฐฟลอริดาในขณะนั้น (ปี 2001) ถือว่าเธอยังเป็นผู้เยาว์ เพราะมีอายุเพียงแค่ 17 ปี ทำให้ดยุคแห่งยอร์ค ต้องเผชิญการฟ้องร้องคดีแพ่งในสหรัฐฯ มาโดยตลอด และดยุคแห่งยอร์ค ก็ยืนกรานที่จะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหามาโดยตลอดเช่นกัน
ดยุคแห่งยอร์ค กับเวอร์จิเนีย โรเบิร์ตส์ พร้อมด้วยกิสเลน แม็กซ์เวลล์ ที่บ้านของกิสเลน แม็กซ์เวลล์ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) (ภาพ: The Telegraph)
ในปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) ดยุคแห่งยอร์ค ได้ประทานสัมภาษณ์ครั้งแรกผ่านในรายการ นิวส์ไนท์ (News Night) ทางบีบีซี (BBC) หลังจากที่พระองค์ทรงตกเป็น “เป้า” ในการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากกรณีที่ยังทรงคบค้าสมาคมกับบุคคลอย่างนายเอปสตีน แม้หลังจากเขาได้ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดทางเพศในปี 2008 แล้วก็ตาม
ในช่วงหนึ่งของการประทานสัมภาษณ์ ได้ทรงยอมรับกับเอมิลี เมตลิส ผู้ดำเนินรายการของบีบีซีว่า ทรงเสียพระทัยกับการไปบ้านพักของนายเอปสตีนในตอนนั้น ซึ่งพระองค์ก็ยังโกรธพระองค์เองอยู่ไม่หาย เพราะไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมในฐานะสมาชิกแห่งพระราชวงศ์ ซึ่งต้องพยายามปฏิบัติและรักษามาตรฐานอย่างสูงสุด แต่พระองค์ก็ทรงทำให้ราชวงศ์ต้องมาผิดหวัง
ช่วงหนึ่งของการประทานสัมภาษณ์รายการ นิวส์ไนท์ (News Night) ทางบีบีซี (BBC) โดยมีเอมิลี เมตลิส เป็นผู้ดำเนินรายการ เมื่อปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) (ภาพ: The Independent)
ส่วนในเรื่องของการตัดสินพระทัยไปยังที่แห่งนั้น (บ้านของผู้กระทำผิดทางเพศ) ดยุคแห่งยอร์ค ประทานตอบกับผู้ดำเนินรายการว่า มันสะดวกที่จะไปที่นั่น ซึ่งตอนนั้นพระองค์เองก็ไม่ได้คิดว่า สิ่งที่พระองค์ทำเป็นสิ่งที่ผิด แต่พอได้มาตกตะกอนทางความคิดแล้วจึงมารู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่ถูกต้อง แต่การตัดสินใจของพระองค์ในตอนนั้นมาจากพระอุปนิสัยของส่วนพระองค์ที่เป็น “คนซื่อ” จนเกินไป
จนมาถึง “ไคลแม็กซ์” ของการสัมภาษณ์ เมื่อผู้ดำเนินรายการทูลถามถึงเรื่องของจุฟเฟร หรือเวอร์จิเนีย โรเบิร์ตส์ที่อ้างว่า เคยไปรับประทานอาหารค่ำ เต้นรำ และมีเพศสัมพันธ์กับพระองค์ที่บ้านพักพระสหายคนหนึ่งของพระองค์ในย่านเบลกราเวีย กลางกรุงลอนดอน ดยุคแห่งยอร์ค ตอบในทำนองว่า “จำไม่ได้” เมื่อทรงถูกถามย้ำอีกครั้ง ดยุคแห่งยอร์คก็ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “ไม่”
หลังจากการประทานสัมภาษณ์ครั้งนั้น กระแสโจมตีทวีมากขึ้น ความกังขายังคงเป็นที่ถกเถียง จึงทำให้ในปีนั้น ดยุคแห่งยอร์ค ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้เป็นพระราชมารดาในการละเว้นการประกอบพระกรณียกิจ
ซึ่งพระองค์ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาต แต่เรื่องนี้ก็ยังคงไม่ห่างหายไปจากสังคม เพราะมีเสียงที่ต้องการเรียกร้องให้พระองค์ออกมาให้ปากคำในคดีแพ่ง โดยคำให้การของพระองค์นอกจากจะมีความเกี่ยวข้องกับคดีแล้ว ยังจะเป็นการสร้างความ “กระจ่างแจ้งแจ่มภพสบสมัย” ให้คลี่คลายต่อสังคมอีกด้วย
หลังจากต้องเผชิญกับมรสุมที่ห้อมล้อมจากความอื้อฉาวมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี จนเมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ทางสำนักพระราชวังบั๊คกิ้งแฮมได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีของดยุคแห่งยอร์ค ว่า
“สมเด็จพระราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เรียกคืนพระยศทางทหารและองค์กรต่าง ๆ ในพระอุปถัมภ์ ดยุคแห่งยอร์คจะทรงยุติการปฎิบัติพระกรณียกิจและจะส่งต่อสู้คดีในชั้นศาลในฐานะพลเรือนทั่วไป”
แถลงการณ์สำนักพระราชวังบั๊คกิ้งแฮม เกี่ยวกับการเรียกคืนพระยศทางทหารและองค์กรต่าง ๆ ในพระอุปถัมภ์ รวมถึงการยุติการปฎิบัติพระกรณียกิจของดยุคแห่งยอร์ค เมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) (ภาพ: Facebook ของ The Royal Family)
พร้อมกันนี้ แหล่งข่าวในสำนักพระราชวังเผยว่า ดยุคแห่งยอร์ค จะทรงยุติการใช้พระอิสริยยศ His Royal Highness หรือ HRH ที่แสดงถึงความเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงด้วย แต่พระสถานะของพระองค์ก็ยังคงอยู่ในฐานะสมาชิกพระราชวงศ์ และยังดำรงพระยศดังเดิมทุกประการ
แต่ถึงอย่างนั้น ทางผู้พิพากษาศาลนิวยอร์กได้ปฏิเสธคำร้องจากทีมทนายความของดยุคแห่งยอร์ค ที่ขอให้ยกฟ้องคำฟ้องของจุฟเฟร และคาดว่าการพิจารณาคดีนี้จะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2022 ขณะที่ทางสำนักพระราชวังบั๊กกิ้งแฮมระบุว่า จะไม่แสดงความคิดเห็นต่อคดีความที่กำลังเดินอยู่นี้
จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ได้รับการตอบรับส่วนใหญ่ไปในทางที่ดีจากสาธารณชนกับการตัดสินพระราชหฤทัยของสมเด็จพระราชินีนาถ ซึ่งบอกเลยว่า แม้จะเป็นที่สมควรในทางกระบวนการยุติธรรมแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่สร้างความหนักพระราชหฤทัยของผู้เป็นแม่ไม่ใช่น้อย
ถือเป็นวิกฤติครั้งสำคัญอีกหนหนึ่งของราชวงศ์วินด์เซอร์ ซึ่งต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่าศตวรรษ นับตั้งแต่ที่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 มีพระบรมราชโองการเลิกใช้พระอิสริยยศที่เกี่ยวเนื่องกับทางเยอรมัน รวมไปถึงราชสกุลแซ็กซ์-โคบวร์กและโกธา และสถาปนาเป็นราชวงศ์ “วินด์เซอร์” เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460) จึงทำให้เห็นว่าบางครั้ง “หน้าที่” กับ “หัวใจ” สองสิ่งนี้ก็ไม่สามารถไปด้วยกันได้ตลอดรอดฝั่งเสมอไป ได้อย่างย่อมมีเสียอย่างเป็นธรรมดาของโลก
ภาพการ์ตูนเชิงล้อเลียนที่พยายามสื่อถึงการเลิกใช้พระอิสริยยศที่เกี่ยวเนื่องกับทางเยอรมัน และสถาปนาเป็นราชวงศ์ “วินด์เซอร์” ตามพระบรมราชโองการของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460) (ภาพ: Wikipedia)
แม้ในเวลาต่อมา จะมีการระบุว่า ผู้พิพากษาศาลสหรัฐ มีคำสั่งยกฟ้องคดีแพ่ง เนื่องจากดยุคแห่งยอร์ค ได้มีการตกลงกันได้นอกศาล โดยทรงยอมความ ด้วยการ “จ่ายเงิน” ให้แก่เวอร์จิเนีย จุฟเฟร และมูลนิธิของเธอโดยไม่ระบุจำนวนเงิน แม้จะถูกมองว่า เป็นวิธีที่ขาดความโปร่งใสในกระบวนการทางยุติธรรมก็ตาม
อนึ่ง ได้มีการคาดการณ์กันว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ดยุคแห่งยอร์ค ในฐานะ “ลูกรัก” แต่ถึงอย่างไร ทางกระทรวงการคลังของอังกฤษได้ออกมายืนยันว่า ไม่มีการนำเงินภาษีประชาชนมาใช้ไกล่เกลี่ยคดีแต่อย่างใด
นอกจากจะเป็นเรื่องที่สร้างความหนักพระราชหฤทัยให้กับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ท่ามกลางงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ตั้งแต่วันแรก จนกระทั่งการเฉลิมฉลองต่าง ๆ ได้เสร็จสิ้นลงไปอย่างสวยงามแล้ว แต่ก็นำมาซึ่งความสั่นคลอนให้กับภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรไม่ใช้น้อยเลยทีเดียว
งานแสดงคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี (Platinum Jubilee) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ณ บริเวณหน้าพระราชวังบั๊คกิ้งแฮม กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร (ภาพ: Vogue)
จึงทำให้สมาชิกพระราชวงศ์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยพอพระทัยเท่าไรนัก ดังเช่น เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระราชินีนาถ พระเชษฐา (พี่ชาย) ของดยุคแห่งยอร์ค กับเจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ ผู้เป็นพระราชนัดดา (หลาน) พระโอรสในเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์
จนเป็น “ข่าวลือ” มาจากข้างในราชสำนักว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และเจ้าชายวิลเลียม ได้เสด็จไปเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุมัติไม่ให้ดยุคแห่งยอร์ค ร่วมในพระราชพิธีฉลองเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศสูงสุดแห่งการ์เตอร์ (The Most Noble Order of the Garter)
เนื่องจากทรงให้ความสำคัญต่อภาพลักษณ์ของดยุคแห่งยอร์ค เจ้าฟ้าผู้เต็มไปด้วยความอื้อฉาว ความเป็นอาชญากรทางเพศ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างร้าวลึกต่อภาพรวมของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เพิ่งประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี (Platinum Jubilee)
“มีท่านอา ไม่มีหม่อมฉัน”
นั่นคือคำขาดจากเจ้าชายวิลเลียม ที่ได้กราบบังคมทูลถอนพระองค์ หากว่าดยุกแห่งยอร์ค ยังคงได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้าร่วมพระราชพิธีนั้นอยู่
สุดท้าย ในพระราชพิธีฉลองเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศสูงสุดแห่งการ์เตอร์ ประจำปี 2022 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ณ วิหารเซนต์จอร์จ พระราชวังวินด์เซอร์ มณฑลเบิร์กเชียร์ ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร ก็ไม่ปรากฏว่ามีภาพของดยุคแห่งยอร์ค ทรงเข้าร่วมพระราชพิธีดังกล่าวแต่อย่างใด แม้พระองค์ยังคงสถิตอยู่ในลำดับที่ 9 แห่งการสืบราชสันตติวงศ์ และสมาชิกแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศสูงสุดแห่งการ์เตอร์ก็ตาม
ส่วนหนึ่งของพระราชพิธีฉลองเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศสูงสุดแห่งการ์เตอร์ ประจำปี 2022 (พ.ศ. 2565) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ณ วิหารเซนต์จอร์จ พระราชวังวินด์เซอร์ มณฑลเบิร์กเชียร์ ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร (ภาพ: USA Today)
เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรคตในวันที่ 8 กันยายน 2022 พระสถานะของดยุคแห่งยอร์คก็อยู่ในช่วงของการ “ถูกแขวน” ไว้ไม่ให้มีบทบาทใด ๆ กระทั่งภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ผ่านพ้นไปแล้ว พระสถานะของดยุคแห่งยอร์คก็ถูกบีบลง ๆ เรื่อย ๆ
ดยุคแห่งยอร์ค ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) ณ มหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร (ภาพ: iNews)
นอกจากการถูกตัดเงินอุดหนุนประจำปีมากที่สุดแล้ว ยังถูกบังคับให้ออกจากพระตำหนักรอยัลลอดจ์ ในเขตพระราชวังวินด์เซอร์ เพื่อไปอยู่พระตำหนักเล็ก ๆ ขนาด 5 ห้องนอนอย่างตำหนักฟร็อกมอร์ คอทเทจ ในเขตพระราชวังวินด์เซอร์ ซึ่งเป็นที่ประทับเก่าของเจ้าฟ้าชายแฮร์รี และเมนแกน ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกส์ เนื่องจากเป็นจุดอ่อนบั่นทอนเสถียรภาพของสถาบัน ซึ่งเมล ออน ซันเดย์ (Mail on Sunday) อ้างถึงแหล่งข่าวใกล้ชิดกับคยุคแห่งยอร์คว่า ทรงปฏิเสธที่จะเก็บกระเป๋าย้ายออก
ตำหนักฟร็อกมอร์ คอทเทจ ในเขตพระราชวังวินด์เซอร์ มณฑลเบิร์กเชียร์ ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร (ภาพ: The Sun)
ขณะเดียวกัน ทางเดอะ เทเลกราฟ (The Telegraph) ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวใกล้ชิดพระราชวงศ์ว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงยืนกรานจะไม่ปล่อยให้พระอนุชาของพระองค์ต้องเป็นคนไร้บ้านหรือถังแตกแน่นอน ซึ่งอันที่จริงแล้ว ได้ทรงช่วยดยุคแห่งยอร์คไว้หลายครั้ง รวมถึงทรงออกค่าใช้จ่ายด้านการรักษาความปลอดภัยให้พระอนุชาหลังถูกถอดยศทหาร
แม้จะมีพระบรมราโชบายในการตัดลดจำนวนพระราชวงศ์ที่ทรงงานอย่างเป็นทางการ เพื่อให้รัฐบาลถวายการดูแลเรื่องงบประมาณให้เหลือแต่ผู้ที่มีความสำคัญต่อการสืบสันตติวงศ์เท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะรัดเข็มขัดและปฏิรูปราชวงศ์ขนานใหญ่ เช่นที่พระองค์ทรงตั้งพระราชปณิธานเอาไว้ก่อนการเสวยราชย์
สำหรับคนไทย สิ่งที่ได้จากการรับรู้ข่าวสารเรื่องนี้ นอกจากเราจะได้ “รับรู้” ถึงสาระเรื่องราว ยิ่งด้วยมีระบอบการปกครองที่คล้ายคลึงกัน (เว้นแต่ในทางปฏิบัติที่ยังไม่ค่อยเข้ารูปเข้ารอยเสียเท่าไร) หากจะพิจารณาให้เห็นถึงความจริงแล้ว ก็คงจะหนีไม่พ้นในของเรื่องของ “มนุษยธรรม” ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน ต่อให้มียศถาบรรดาศักดิ์สูงเท่าไรมาก็ตาม ความมีมนุษยธรรมคือสิ่งที่ทุกคนพึงมี
เพราะทุกคนต่างเกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกันหมด ต่อให้ร่างกายจะครบหรือไม่ครบ 32 ประการก็ตาม หากมโนสำนึกได้รับการอบรมบ่มนิสัย ตลอดจนได้รับการฝึกจิตฝึกใจมาอย่างดีแล้ว คำว่ามนุษยธรรมย่อมจะเกิดขึ้นและมีขึ้นอยู่ในจิตใจของทุก ๆ คน
ไม่เช่นนั้นแล้ว กรรมหรือการกระทำต่าง ๆ ที่ได้ก่อเอาไว้ก็จะสะท้อนกลับมาหาตัวเองอย่างแน่นอนไม่ว่าช้าหรือเร็ว เฉกเช่นที่เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ค ทรงได้รับมาโดยตลอด รวมถึงตอนที่กำลังอัญเชิญพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จากพระราชวังโฮลีรูด ไปยังมหาวิหารเซนต์ไจลส์ เมืองเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2022 ที่จู่ ๆ ชายหนุ่มรายหนึ่งได้แหวกฝูงชน ซึ่งกำลังเฝ้ารอเฝ้าขบวนพระบรมศพอยู่ แล้วร้องตะโกนก่นด่าด้วยเสียงอันดังขึ้นว่า “แอนดรูว์ เฒ่าจิตป่วย”
ระหว่างการอัญเชิญพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จากท้องพระโรง พระราชวังฮอลิรู้ดเฮาส์ ไปประดิษฐาน ณ มหาวิหารเซนต์ไจลส์ กรุงเอดินเบอระ ประเทศสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร ก่อนอัญเชิญกลับไปประดิษฐาน ณ พระราชวังบั๊คกิ้งแฮม กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) (ภาพ: VOA News)
นอกจากนั้น การแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ การฟ้องร้องอย่างตรงไปตรงมา แม้อีกฝ่ายจะเป็นชนชั้นสูงก็ตาม ถือเป็นสิทธิอย่างหนึ่งที่ประชาชนพึงปฏิบัติได้ เพราะทุกคนต่างล้วนเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ต่อให้เป็นถึง “สมมติเทพ” ก็คือคน คือมนุษย์อย่างเรา ๆ เหมือน ๆ กัน
รวมถึงเรื่องราวนี้ยังทำให้คนเราได้พิจารณาถึงการกระทำของตนที่เปรียบดัง “ดาบสองคม” อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสามารถยับยั้งความชั่วร้ายและทำลายคนรอบข้างได้เหมือนกัน หากคนเราขาดซึ่งความตระหนักในหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีต่อส่วนรวม ทั้งในทางตรงและทางอ้อม
และที่สำคัญ เรื่องบางเรื่องเป็นเพียงแค่ข้อเท็จจริง ซึ่งเราก็ไม่รู้อยู่ดีว่า เบื้องลึกความจริงที่แท้...เป็นอย่างไร คงไม่ได้มีเพียง “หนึ่งเดียวเท่านั้น” อย่างที่ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน กล่าวเอาไว้ทุกครั้งก่อนเข้าเรื่องเป็นแน่นอน ไม่เช่นนั้นแล้วจะมีเรื่องราวที่ยังคงเป็นปริศนาเกิดขึ้นมาทั่วทุกมุมโลกได้อย่างไร
ดังนั้น ในฐานะผู้รับสาร สิ่งที่พอทำได้คือ การรับรู้อย่างมีวิจารณญาณ “ฟังหูไว้หู” เป็นการดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม “ความลับไม่มีในโลก” ต่อให้ต้องปิดไปนานเท่าไร สุดท้ายแล้วเรื่องราวนั้น ๆ ก็ต้องถูกเปิดเผยออกมาอยู่ดี เป็นธรรมดาของโลกใบนี้ที่ยากต่อการหลีกเลี่ยงได้จริง ๆ ...
อ้างอิง:
  • InPics&Clips: FBI บุกค้นเกาะส่วนตัวสุดหรูกลางทะเลแคริบเบียนของ "เอ็พสตีน"ลือหึ่ง! เหยื่อเด็กล่วงละเมิดถูกซ่อนไว้ในห้องใต้ดินใต้วัด โดย MGR Online (https://mgronline.com/around/detail/9620000076975)
  • คลิปหนุ่มป่วน ตะโกนใส่หน้าเจ้าชายแอนดรูว์ ‘เฒ่าจิตป่วย’ ขณะอัญเชิญพระบรมศพควีน โดย มติชนออนไลน์ (https://www.matichon.co.th/foreign/news_3560291)
  • เจ้าชายแอนดรูว์ ทรงงดปฏิบัติพระกรณียกิจหลังบทสัมภาษณ์บีบีซีสร้างข้อกังขามากขึ้น โดย BBC News ไทย (https://www.bbc.com/thai/international-50493875)
  • เจ้าชายแอนดรูว์ ทรงยอมรับ “ทำผิด” และทำราชวงศ์ “ผิดหวัง” กรณีพัวพัน เจฟฟรีย์ เอปสตีน โดย BBC News ไทย (https://www.bbc.com/thai/international-50447538)
  • เจ้าชายแอนดรูว์ ถูกถอดยศทหาร หลังเผชิญคดีล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ โดย BBC News ไทย (https://www.bbc.com/thai/international-59988451)
  • เจ้าชายแอนดรูว์ยอมจ่าย ปิดคดีฉาวละเมิดทางเพศ โดย ไทยรัฐออนไลน์ (https://www.thairath.co.th/news/foreign/2337552)
  • พระบรมวงศ์ทรงรอเสียบพระกรณียกิจแทนเจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ โดย เพจ Royal World Thailand - รอยัล เวิลด์ ประเทศไทย (https://www.facebook.com/royalworldthailand/photos/a.928648563906864/4446126582159027/)
  • วารสาร “สารคดี” ปีที่ 22 ฉบับที่ 257 กรกฎาคม 2549
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#เจ้าชายแอนดรูว์ #ดยุคแห่งยอร์ค
โฆษณา