29 ก.ย. 2023 เวลา 11:01 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เกิดอะไรขึ้นกับOR ?

นักลงทุนถอดใจ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เหตุโตช้ากว่าที่คาดหวังหลังผ่านไปกว่า 2 ปีกำไรยังอยู่ที่เดิม ล่าสุดราคาทรุดแตะระดับไอพีโอที่ 18 บาท มาร์เก็ตแคปวูบกว่า 1.6 แสนล้านบาท แถมรายย่อยหายไปกว่า 2 แสนราย ขณะที่เทรด P/E สูงกว่าคู่แข่ง 17 โบรกฯ เสียงแตก มีทั้งแนะนำ "ซื้อ" - "ถือ" - "ขาย" ประเมินราคาเหมาะสม 17.50 - 29.50 บาท
.
วานนี้ราคาหุ้น OR ลงไปทำจุดต่ำสุดใหม่ตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่ 18 บาท หรือลงไปเท่ากับราคาจองซื้่อไอพีโอเมื่อต้นปี 64 !!! ก่อนที่วันนี้จะมีแรงซื้อเด้งกลับมาได้เล็กน้อยวันนี้่ โดยปิดที่ 18.70 บาท เพิ่มขึ้น 3.31% จากวันก่อนหน้า
.
ย้อนกลับไปดูการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น OR สามารถเรียกได้ว่าเป็นขาลงตลอดทาง เพราะทำผลงานได้ดีเพียงแค่ช่วงเดือนแรกที่เข้าเทรดเท่านั้น (ซื้อขายวันแรก 11 ก.พ.64) โดยเคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดถึง 36.50 บาท หลังจากนั้นปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทลายทุกแนวรับและราคาเหมาะสมจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์
2
.
หากดูที่ผลตอบแทนราคา ปิดปีแรก +50% จากราคาไอพีโอ พอปี 65 กลายเป็น -11.85% เทียบกับราคาสิ้นปี 64 และปีนี้ทรุดไปแล้วถึง 21.42% เทียบกับราคาปิดสิ้นปี 65
.
ในแง่ของผู้ที่ลงทุนระยะยาวกับหุ้นตัวนี้ สำหรับใครที่จองซื้อไอพีโอ และถือยาวจนถึงตอนนี้ กำไรจะหดหายไปเกือบเกลี้ยง แต่หากจองซื้อไม่ได้ แล้วเข้าที่ราคาเปิดตอนเทรดวันแรก 26.50 บาท แถมถือยาวมาถึงวันนี้ (เพราะหวังว่าจะเป็นหุ้นที่เติบโต) จะขาดทุนไปกว่า 30% แล้วนะครับ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงผู้ที่เข้าซื้อตอนราคาช่วงพีกระดับเกิน 30 บาท เรียกว่าขาดทุนมโหฬารเลยทีเดียว
1
.
OR จัดว่าเป็นหุ้นไอพีโอในตำนานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะเปิดให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้มีส่วนร่วมในการจองซื้อ และด้วยชื่อเสียงของธุรกิจปั๊ม ปตท. ซึ่งเป็นอันดับ 1 ของประเทศอยู่แล้ว ทำให้มีผู้สนใจจองซื้อหุ้นกว่า 5 แสนคน เฉลี่ยได้รับการจัดสรรประมาณรายละ 4,400 หุ้น คิดเป็นเงินเฉลี่ยรายละ 79,200 บาท คิอดดูว่าผลจากความนิยมในหุ้น OR ทำให้มีนักลงทุนหน้าใหม่เข้าตลาดหุ้นเป็นล้านบัญชี จากก่อนหน้านั้นมีการเปิดพอร์ตเฉลี่ยปีละ 2.4 แสนบัญชีเท่านั้น
.
อย่างที่กล่าวไปแล้วในช่วงต้นว่าในรอบ 1 เดือนแรกที่ OR เข้าเทรด ราคาอยู่ในทรงขาขึ้น ผู้ที่ไม่ได้จองซื้อหุ้นก็กระโดดเข้ามากันเป็นแถว ยิ่งสัปดาห์แรกมูลค่าการซื้อขายต่อวันมหาศาลระดับ 2.4 หมื่นล้านบาท (สูงสุด 2 วันแรก 4.7 หมื่นล้านบาท และ 3.9 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ) โดยปิดปี 64 มูลค่าการซื้อขายของ OR อยู่ที่เฉลี่ย 1,859 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่ปี 65 เหลือเพียง 577 ล้านบาทต่อวัน และล่าสุดปีนี้อยู่ที่ 399 ล้านบาทต่อวัน สะท้อนความนิยมที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
1
.
จากหุ้นที่เคยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) สูงสุดถึง 3.8 แสนล้านบาท ณ 28 ก.ย.66 เหลือเพียง 2.17 แสนล้านบาท เท่านั้น หายไปกว่า 1.6 แสนล้านบาท
.
ขณะที่จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย จากช่วงแรกที่เข้าตลาดมีถึง 5.25 แสนราย ณ วันปิดสมุด 1 มี.ค.66 เหลือเพียง 3.2 แสนรายเท่านั้น นักลงทุนรายใหญ่หรือเซียนหุ้นชื่อดังที่เคยถือก็ไม่ปรากฏอยู่ใน 10 อันดับแรกแล้ว น่าจับตาว่าการปิดสมุดรอบถัดไปจะเหลือผู้ถือหุ้นรายย่อยเท่าไหร่ เพราะมีแรงขายออกมาอย่างต่อเนื่องขนาดนี้
1
.
ในแง่ผลประกอบการ OR รายได้เติบโตทุกปี โดยปี 63 อยู่ที่ 4.33 แสนล้านบาท, ปี 64 อยู่ที่ 5.15 แสนล้านบาท, ปี 65 อยู่ที่ 7.93 แสนล้านบาท โดย 6 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 3.87 แสนล้านบาท
.
แต่กำไรกลับทำได้เพียงระดับประคองตัว โดยปี 63 ทำได้ 8.79 พันล้านบาท, ปี 64 ทำได้ 1.15 หมื่นล้านบาท, ปี 65 ทำได้ 1.04 หมื่นล้านบาท โดย 6 เดือนแรกปีนี้ทำได้ 5.73 พันล้านบาท
.
อย่างไรก็ตาม OR ถือว่ามีฐานะการเงินดี เพราะหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (D/E) ต่ำเพียง 0.99 เท่า ขณะที่ ณ สิ้นงบไตรมาส 2/66 มีเงินสดสุทธิระดับ 2.07 หมื่นล้านบาท และมีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ แม้จะไม่ใช่หุ้นที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) สูงก็ตาม
1
.
ด้านอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) ณ ราคาปิด 18.70 บาท มีระดับ P/E อยู่ที่ 39.45 เท่า สูงกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ณ ราคาปิด 41 บาท มีระดับ P/E เพียง 9.19 เท่า หรือ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) ณ ราคา 9.35 บาท มีระดับ P/E ที่ 27.78 เท่า
.
"จักรพงศ์ เชวงศรี" ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย ระบุว่า สาเหตุที่ราคาหุ้น OR ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เพราะการเติบโตไม่เป็นไปตามที่คาดหวังของนักลงทุน จึงมีแรงขายออกมา โดยช่วงก่อนไอพีโอมีธุรกิจของ OR มีการขยายตัวเชิงรุกทั้งจำนวนปั๊มและร้านอเมซอน แต่หลังจากไอพีโอกลับชะลอตัวลง สะท้อนจากสิ้นปี 64 มีจำนวนปั๊ม ปตท.
อยู่ที่ประมาณ 2,000 สาขา แต่ ณ ไตรมา 2/66 เพิ่มมาเป็น 2,183 สาขา ทั้งที่ผ่านไปแล้วกว่า 2 ปี ตกปีละไม่ถึง 100 สาขา หรือ ร้านอเมซอน ก่อนไอพีโออยู่ที่ประมาณ 3,300 สาขา แต่ปัจจุบันมีเพิ่มมาเป็น 4,000 สาขา
เพิ่มมาเพียงปีละประมาณกว่า 300 สาขาเท่านั้น กลายเป็นว่าการเติบโตดี ๆ ที่นักลงทุนคาดหวัง โดยเฉพาะธุรกิจ Non-Oil เพื่อมาดึงมาร์จิ้นขึ้น ไม่เป็นไปตามที่คิด ขณะที่การซื้อกิจการต่าง ๆ ที่ทำมาต่อเนื่อง ก็เป็นดีลขนาดเล็ก และยังไม่มีนัยสำคัญที่จะกระตุ้นการเติบโตได้
.
ดังนั้น กลไกของตลาดก็เริ่มทำงาน เพราะธรรมชาติของหุ้นที่ถูกคาดหวังมาก ๆ แต่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ราคามักจะถูกปรับลงตามความผิดหวังนั้นเอง
2
.
ด้าน "สุวัฒน์ สินสาฎก" CFA, FRM, ERP กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟ เอส เอส อินเตอร์เนอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินว่า OR ถือเป็นหุ้นที่มีอดีตที่เป็นของดี แต่ยังไม่เห็นภาพของอนาคตที่ชัดเจน แม้จะมีการลงทุนต่อเนื่องกระจายในหลากหลายธุรกิจ แต่ยังไม่เห็นมีการลงทุนไหนเข้ามาสร้างกำไรเพิ่มเข้ามาได้อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ในไลน์ธุรกิจหลักก็ขยายตัวน้อยเกินไป นักลงทุนจึงถอดใจและมีแรงขายออกมา
.
"ถ้าหุ้นจะกลับไป Perform อีกครั้ง OR ต้องต่อยอดจากสิ่งที่ซื้อมาให้ได้ดี เช่น นำธุรกิจโอ้กะจู๋เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงการขยายธุรกิจต้องทำในเชิงรุกเหมือนครั้งก่อนขายไอพีโอ ขณะเดียวกันอาจจะต้องลดการมาร์เก็ติ้งลง เพราะกดมาร์จิ้น ซึ่ง OR นำเข้าน้ำมันมาแพง แถมโดนกดราคาดีเซล แต่ดันใช้จ่ายโปรโมชั่นหรือมาร์เกตติ้งเยอะ ทำให้กินมาร์จิ้นของนอนออยล์พอสมควรเลย ตรงนี้เป็นจุดที่เขาต้องแก้ไข OR เข้าตลาดมากว่า 2 ปีแล้ว
แต่การเติบโตยังไม่เห็นความชัดเจนเลย นักลงทุนจึงเลิกหวัง เพราะผิดหวัง หากยังไม่แก้ไขไม่ใช่ตลาดหุ้นจะไม่รอแล้วนะ ตลาดธุรกิจของ OR ก็อาจจะไม่รอด้วย คิดดูว่าอีก 5 ปี EV จะเติบโตแค่ไหน ดีมานด์น้ำมันจะหายไปแค่ไหน หรือสมมติว่า บางจากรวมเอสโซ่ แล้วไปสร้างแบรนด์กาแฟที่ทำได้ระดับเดียวกับ อเมซอน ขึ้นมา ทีนี้เหนื่อยแน่ ผมกำลังจะบอกว่า OR ตอนนี้ อยู่ในจุดที่วัดใจผู้บริหารว่าท่านจะเอายังไง ผ่านมากว่า 2 ปี แต่ยังไม่เห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเลย"
.
ด้านผลประกอบการถ้าปีนี้ยังได้กำไรไม่ถึง 1.3 - 1.5 หมื่นล้านบาท ลำบากแน่ เพราะผ่านมาหลายปีแล้ว ยังไม่เข้าที่เข้าทางที่จะสร้างกำไรอย่างมีนัย หากช้านักลงทุนก็จะถอดใจกับหุ้น OR ไปเรื่อย ๆ แน่นอน"
.
ส่วน บทวิเคราะห์ บล.ทรีนิตี้ ระบุว่า การที่หุ้น OR ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เกิดจากตลาดกังวลการแทรกแซงค่าการตลาด เพราะตอนนี้ราคาน้ำมันเป็นเทรนด์ขาขึ้น การลดภาษีของกรมสรรพสามิตอาจจะไม่เพียงพอในการตรึงราคาน้ำมันตามนโยบายรัฐ สุดท้ายอาจจะมีการเข้าไปแทรกแซงค่าการตลาดในที่สุด
2
.
ทั้งนี้เมื่อสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ (IAA Consesus) ณ 29 ก.ย.66 พบว่า มีบทวิเคราะห์ทั้งสิ้น 17 โบรกเกอร์ โดย 10 แห่งแนะนำ "ซื้อ" ราคาเหมาะสม 24 - 29.50 บาท โดยประเมินว่าราคาปัจจุบันปรับตัวลดลงมากแล้ว ทำให้มีอัพไซด์ระดับ 30 - 50% เลยทีเดียว และราคาหุ้นรับข่าวปัจจัยลบไปค่อนข้างมากแล้ว ระยะกลางยาวมีโอกาสเติบโตจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ตอนนี้ถือเป็นจังหวะสะสมหุ้นได้
.
ขณะที่ 5 โบรกเกอร์แนะนำ "ถือ" ราคาเหมาะสม 19.6 - 26 บาท โดยประเมินว่าระยะสั้นยังไม่ใช่จังหวะที่น่าลงทุนเพิ่ม เพราะกำไรครึ่งปีหลังมีแนวโน้มลดลง และยังถูกกดดันจากนโยบายพลังงานของรัฐบาล
.
อย่างไรก็ตามมี 2 โบรกเกอร์ (ธนชาต-ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี) แนะนำ "ขาย" ราคาเหมาะสม 17.50 - 21.50 บาท
.
หนึ่งเองครับ ^^
.
#OR
.
"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" มีข่าว มีโอกาส...
2
โฆษณา