29 ก.ย. 2023 เวลา 13:00 • ความคิดเห็น

สรุป 11 บทเรียนการเงิน “เงินน้อยก็รวยได้ ล้มเหลวก็สำเร็จได้”

โดย มาดามฟินนี่ ผู้เชี่ยวชาญการให้ความรู้การจัดการเงิน และเจ้าของเพจ MadamFinney
ถ้าใครสงสัยว่า การลงทุน คือต้องเริ่มต้นด้วยเงินจำนวนเยอะๆ แล้ววัดความสำเร็จด้วยผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่หรือไม่? คำตอบคือ “ไม่เสมอไปครับ” เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินทุนมาก่อน บางคนก็เพิ่งมาเริ่มต้นด้วยตัวเอง ซึ่งจุดเริ่มต้นแบบนี้ ไม่ใช่เครื่องการันตีว่าคุณจะเป็นนักลงทุนที่ไม่ประสบความสำเร็จ
ชวนอ่าน 11 บทเรียนจากการลงทุนในแบบที่พอดีกับตัวเอง โดย มาดามฟินนี่ เจ้าของเพจ MadamFinney
“เงินน้อยก็รวยได้ ผิดพลาดแล้วก็เรียนรู้ได้ ล้มเหลวได้ก็สำเร็จเป็น”
✅1. เริ่มต้นจากการเล่นหุ้นและกองทุนรวม “ด้วยจำนวนเงินเล็กๆ ”
“ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีต้นทุนเป็นเงินก้อนโตจากที่พ่อแม่สร้างไว้ให้ แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะนำมาสร้างความสำเร็จให้ชีวิต”
มาดามฟินนี่ เริ่มต้นชีวิตการลงทุนหลังจากทำงานได้สัก 1-2 ปี ด้วยการเล่นหุ้นและกองทุนรวมจากจำนวนเงินเล็กๆ อาศัยการเรียนรู้ที่ค่อยๆ เกิดจากประสบการณ์ที่สะสมมาเรื่อยๆ และไต่ระดับจากการลงทุนด้วยเงินหลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่น
✅2. ลงทุน “ในสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง”
ก่อนเริ่มลงทุน มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือ ต้องรู้จักไลฟ์สไตล์ของตัวเอง หากคุณเป็นคนที่ไม่ชอบติดตามข่าวสาร หรือเกาะติดตลาดหุ้นตลอดเวลาอย่างมาดามฟินนี่ ก็เน้นหากองทุนที่ศึกษาครั้งเดียวแล้วอยู่กับมันไปยาวๆ เช่น กองทุนรวมที่เกาะกับดัชนีตลาด ที่สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษี และยัง ได้ผลตอบแทนหลายต่ออีกด้วย
✅3. ลงทุน “ไม่หวือหวา เน้นผลระยะยาว”
“ไม่มีการลงทุนครั้งไหนที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จที่สุด” มาดามฟินนี่ กล่าว
สำหรับคนที่เน้นการลงทุนระยะยาวแบบมาดามฟินนี่ ความสำเร็จของมันก็คือการเติบโตที่มีทั้งขึ้นๆ ลงๆ เพราะฉะนั้น ความสำเร็จมันก็จะไม่ได้ออกมาในทางที่หวือหวาเหมือนนักลงทุนที่เน้นการซื้อขายแบบเก็งกำไร
✅4. “อารมณ์” ชนวนที่ทำให้พอร์ตการลงทุนติดลบ
มาดามฟินนี่หยิบยกตัวอย่างง่ายๆ ด้วยเรื่องใกล้ตัวเราทุกคนเลยก็คือ การช้อปปิ้ง เวลาที่อยากได้อะไรสักอย่างแล้วรู้ทั้งรู้ว่ามันยังไม่จำเป็น แต่แรงขับเคลื่อนที่ทำให้ต้องจ่ายก็คือ อารมณ์ของเรา ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับการเล่นหุ้น ที่มีทั้งตัวเลขขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ ณ จุดที่ต้องกดซื้อหรือขาย อารมณ์จะเข้ามามีผลเป็นอย่างมาก จนกระทั่งกำหนดชะตาชีวิตได้เลยว่า สิ่งที่เลือกไปมันถูกต้องหรือไม่
✅5. “บัตรเครดิต” หลุมพลางที่มองข้าม จนทำให้ติดลบ
บางครั้งคุณอาจจะคิดว่า คุณทำทุกอย่างได้ดีแล้ว มีทั้งเงินเก็บ เงินลงทุน และประกัน แต่ในส่วนค่าใช้จ่ายที่มันเกินกำลัง แล้วใช้บัตรเครดิตเข้ามาช่วยจุนเจือในส่วนนี้ คุณอาจจะลืมไปว่าเงินจำนวนนั้น มันไม่ใช่เงินของคุณ แต่เป็นเงินของบัตรเครดิต ดังนั้น ต่อให้มีเงินเก็บ เงินลงทุน เงินประกัน มันก็อยู่ส่วนเดิม แต่หนี้ก็มีอยู่ด้วย
✅6. “เมื่อถึงจุดที่หมุนเงินไม่ทัน” นั่นคือปัญหา
“เมื่อถึงจุดที่หมุนเงินไม่ทัน นั่นคือปัญหา และความไม่พอใจที่จะอยู่ในปัญหา ก็คือแรงผลักดันให้ต้องคิดหาวิธีแก้ไขปัญหา” มาดามฟินนี่ กล่าว
คุณจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีปัญหาจนกระทั่งคุณหมุนเงินไม่ได้อีกแล้ว พอถึงจุดนั้น ถึงจะคิดได้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้สามารถลดหนี้ลงได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็น ปรับโครงสร้างหนี้ หารายได้เพิ่ม หรือลดรายจ่าย เพื่อบรรเทาภาระที่หนักอึ้ง และเพิ่มสภาพคล่องได้มากขึ้น
✅7. ก่อหนี้ได้ “ก็ต้องปลดมันได้”
เมื่อมีอำนาจในการใช้เงิน สิ่งที่เกิดขึ้นได้ก็คือ การก่อหนี้ ซึ่งแน่นอนว่ามันง่ายกว่าการปลดหนี้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน เข้าใจในธรรมชาติของการใช้เวลาในการปลดหนี้ ไม่ว่าจะเป็นขั้นต่ำ ตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน 10 เดือน จนนับหน่วยเป็นปีก็ตาม
✅8. “วิกฤตเกิดได้หลายครั้ง” และต้องเรียนรู้จากมัน
มาดามฟินนี่เผยว่า ก่อนที่จะได้มาเป็นมาดามฟินนี่ ก็ผ่านวิกฤตมาแล้วหลายครั้ง ทั้งที่เกิดจากปัญหาการจัดการเงินไม่เป็น เป็นหนี้บัตรเครดิตรุงรัง ผ่านจุดที่ดีที่สุดในชีวิตด้วยการเป็นผู้ประกอบการ แต่ก็บริหารผิดพลาด เหนือสิ่งอื่นใดคือ ทุกๆ ครั้งที่เกิดวิกฤต ก็ยังสามารถลุกได้เร็ว เรียนรู้จากความผิดพลาด และต้องเก่งขึ้นจากการล้มทุกครั้ง
✅9. “ลงทุนในสิ่งที่รู้” เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยง
นักลงทุน ไม่ว่าจะลงทุนอย่างเดียว หรือหลายอย่าง ก็มักจะลงทุนในสิ่งที่รู้ทั้งนั้น แต่คำว่า “รู้” นั้น หมายถึง ต้องรู้ลึกและรู้มากกว่าคนทั่วไป เพื่อที่จะทำให้ตัวเองมีลู่ทางทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดี สามารถจัดการกับความเสี่ยงได้ รวมถึงเวลาและความทุ่มเท ที่ต้องมีร่วมด้วยเช่นกัน
✅10. การลงทุน “ไม่มีใครคอยบอกตลอด”
“สิ่งที่นักลงทุนคนอื่นๆ เผยให้เห็น มันเป็นเพียงแค่เสี้ยวเดียว แต่ไม่ใช่ทั้งหมด” ดังนั้น ในฐานะที่คุณเป็นเจ้าของเงิน จึงจำเป็นอย่างมากที่จะเป็นผู้รู้ด้วยตัวเอง เพราะคงไม่ได้มีใครมาคอยชี้นำ หรือบอกตลอดเวลา แม้กระทั่งตอนที่คุณตัดสินสินใจจะซื้อขายหุ้นสักตัว
✅11. เก็บเงินด้วยแนวคิด “6 JARS”
เมื่อมีรายได้ ก็ควรเรียนรู้ที่จะ “เก็บ” ก่อน “จ่าย” ซึ่งถ้าทำงานประจำ ก็อาจจะเก็บในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนที่เหลือให้จัดทำงบประมาณและแบ่งไว้เป็นสัดส่วน แล้วจัดการด้วยหลัก 6 JARS คือ แบ่งเป็นรายจ่ายจำเป็น ออมสั้น ออมยาว เก็บบางส่วนเพื่อพัฒนาตัวเอง ใช้เพื่อความสุขตัวเอง และแบ่งปันให้ผู้อื่น โดยหลักการนี้ ก็ถือว่าเป็นหลักการที่ดี มีความยืดหยุ่นในแบบที่พอสมควร และทำให้เราเฉลี่ยความสุขไปได้ทั้งวันนี้และอนาคต
รับชมรายการ : https://www.youtube.com/watch?v=tErbFcaxfk4...
#aomMONEY #พนิดาชูกุล #มาดามฟินนี่ #MadamFinney #ข้อคิด #บทเรียนลงทุน #เริ่มต้นลงทุน
โฆษณา