7 ต.ค. 2023 เวลา 09:10 • ศิลปะ & ออกแบบ

ความลับของแอปเปิลสีเขียวในภาพ “The Son of Man” โดย เรอเน มากริต

The Son of Man(1964), René Magritte
ภาพ The Son of Man นี้เมื่อมองแวบแรกก็ดูเหมือนจะเป็นภาพวาดที่ค่อนข้างเรียบง่าย แต่ก็น่าฉงนอย่างยิ่ง เหนือเส้นขอบฟ้าช่วงเวลากลางวัน ท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเทาด้วยกลุ่มก้อนเมฆที่ล่องลอยมาบดบังทัศนียภาพ ชายคนหนึ่งแต่งกายอย่างเป็นทางการด้วยชุดสูทสีเข้ม ผูกเนคไทสีแดง สวมหมวกกลมทรงสูง เขายืนแข็งทื่อวางแขนขนาบข้างลำตัว แต่หากสังเกตให้ดีจะพบว่าข้อศอกด้านซ้ายของเขานั้นบิดไปอีกทาง
The Son of Man(1964), René Magritte
แท้จริงแล้วภาพนี้เป็นภาพเหมือนตัวเขาเอง แต่มากริตนั้นไม่ประสงค์จะวาดภาพหน้าตัวเองลงไป ทำให้สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของภาพคือแอปเปิลสีเขียวที่บดบังใบหน้าของเขาอยู่ แต่เหตุใดเขาจึงเลือกใช้แอปเปิลนั้นน่าจะเป็นปัญหาที่น่าฉงนที่สุด
ชุดสูท และหมวก
หากพิจารณาตามสัญญะที่ปรากฏในภาพ คงหนีไม่พ้นเรื่องวิกฤตตัวตนที่เกิดขึ้นกับคนที่พยายามทำตัวให้เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในสังคม ชุดสูทนั้นเป็นสิ่งที่แสดงถึงการยึดมั่นในมาตรฐาน และความคาดหวังของสังคม จนในบางครั้งอาจทำให้เราสูญเสียความเป็นปัจเจกบุคคลไป เช่นเดียวกันกับหมวกกลมทรงสูงซึ่งเป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ของชนชั้นกลางที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม สะท้อนให้เห็นว่ายิ่งเราปฏิบัติตามมาตรฐานทางสังคมมากแค่ไหนสิ่งนั้นจะมีอิทธิพลต่ออัตลักษณ์ของเรามากเท่านั้น
แอปเปิลสีเขียว
นักวิชาการบางคนตีความภาพแอปเปิลไปในบริบททางศาสนา ด้วยชื่อของภาพ “The Son of Man” นี้อาจเกี่ยวโยงไปถึงความสัมพันธ์ของพระเยซูคริสต์กับมวลมนุษยชาติ แอปเปิลยังมีความสำคัญทางเทววิทยาอย่างมีนัยสำคัญจากเรื่องราวของอาดัมกับเอวาตามที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล ผลแอปเปิลจึงหมายถึงการล่อลวง ความรู้ และการล่มสลายของมนุษยชาติ อันเป็นผลมาจากการท้าทาย และความผิดบาปของอาดัมกับเอวา
ใบหน้าที่ถูกปกปิดสะท้อนถึงตัวตนที่แท้จริงของเราที่ถูกซ่อนไว้ภายใต้หน้ากาก และสร้างอีกตัวตนหนึ่งขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แอปเปิลที่บดบังใบหน้าของเขายังเน้นย้ำประเด็นเกี่ยวกับข้อจำกัดของการรับรู้ และธรรมชาติที่ท้าทายความเข้าใจของมนุษย์ ความปรารถนาของมนุษย์ที่อยากจะเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ความอยากรู้ในเรื่องที่ถูกปกปิดไว้
อย่างไรก็ตามแม้จะมีข้อสันนิษฐานเรื่องสัญลักษณ์ที่ได้ปรากฏในภาพ หรือหลายคนเชื่อว่าผลงงานของเขามีความหมายแฝงทางศาสนา แต่ตัวศิลปินเองกลับไม่ได้นิยามความหมายใด ๆ ให้กับภาพนี้ และเขายังเปิดกว้างต่อการตีความตามประสบการณ์ของผู้ชม
เรอเน มากริต (René Magritte) เป็นศิลปินตัวเต็งของศิลปะลัทธิเหนือจริง (Surrealism) สัญชาติเบลเยี่ยม แม้เขาจะเริ่มต้นอาชีพศิลปินด้วยผลงานศิลปะแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ แต่มากริตกลับโด่งดังด้วยผลงานแบบศิลปะเหนือจริงหลังจากที่ศึกษาการวาดภาพแนวนี้มาหลายปี ภาพ The Son of Man เป็นหนึ่งในผลงานที่โด่งดังที่สุดของศิลปะลัทธิเหนือจริง ภาพนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับสื่อหลากหลาย ทั้งวงการศิลปะ การ์ตูน และสื่อโฆษณาในเวลาต่อมา
-ซับศิลป์-
ที่มา
โฆษณา