Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อาจวรงค์ จันทมาศ
•
ติดตาม
8 ต.ค. 2023 เวลา 05:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ไดโนเสาร์คืออะไร? แตกต่างจากสัตว์เลื้อยคลานอย่างไร?
ไดโนเสาร์คืออะไร?
แตกต่างจากสัตว์เลื้อยคลานอย่างไร?
(เรียบเรียงโดย ดร.ศิตะ มานิตกุล)
แม้ว่าเราจะคุ้นภาพของไดโนเสาร์ในสื่อต่าง ๆ แต่เชื่อเถอะว่าสัตว์ดึกดำบรรพ์บางตัวที่ท่านคุ้นหน้าคุ้นตานั้นแท้จริงแล้วมิใช่ไดโนเสาร์! แล้วนักบรรพชีวินวิทยากำหนดนิยามของสัตว์ที่เรียกว่าไดโนเสาร์ไว้อย่างไรกันนะ?
1
เมื่อราว 250 ล้านปีก่อน หลังจากโลกได้ผ่านการสูญพันธุ์ครั้งที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา สัตว์บกที่เคยครอบครองโลกก่อนหน้านี้กว่า 70% ถูกกวาดล้างอย่างสิ้นเชิง เป็นอันจบสิ้นมหายุคแรกที่เรียกว่า พาลีโอโซอิกที่มีมาอย่างยาวนาน โลกได้เข้าสู่มหายุคที่สองที่เรียกว่า มีโซโซอิก (ประกอบด้วย 3 ยุคที่เราคุ้นชื่อกันดีคือ ไทรแอสซิก จูแรสซิก และครีเทเชียส)
เมื่อแผ่นดินไร้ผู้ครองบัลลังก์ วิวัฒนาการจึงเริ่มทำหน้าที่ของมันอีกครั้งเพื่อสร้างผู้ปกครองคนใหม่ สัตว์กลุ่มหนึ่งที่มีช่องเปิดช่องเปิดของกระดูกขมับสองช่องได้ถือกำเนิดขึ้นมา สัตว์กลุ่มนี้เรียกว่าอาร์โคซอร์ (Archosaur)
1
อาร์โคซอร์ (Archosaur) ที่มา : dreamstime.com
ในเวลาต่อมาอาร์โคซอร์ได้วิวัฒน์จนกลายเป็นสัตว์สองสาย สายแรกคือ ครูโรทาร์ซี (Crurotarsi) หรืออาร์โคซอร์สายจระเข้ กับสายที่สองคือ เอวีเมตาทาร์ซาเลีย (Avemetatarsalia) หรืออาร์โคซอร์สายไดโนเสาร์ และสัตว์เลื้อยคลานบินได้ที่เรียกว่า เทอโรซอร์ จนถึงตอนนี้เราจะเห็นแล้วว่าจระเข้และไดโนเสาร์เป็นญาติกัน
ครูโรทาร์ซี (Crurotarsi) หรืออาร์โคซอร์สายจระเข้ ที่มา : wikipedia.org
เอวีเมตาทาร์ซาเลีย (Avemetatarsalia) หรืออาร์โคซอร์สายไดโนเสาร์ ที่มา : dinopedia.fandom.com
เทอโรซอร์ (Pterosaur) ที่มา : wikipedia.org
หลักฐานของฟอสซิลบ่งชี้ว่าพวกมันอุบัติขึ้นมาไล่เลี่ยกัน และชิงดีชิงเด่นกันความเป็นใหญ่ในระบบนิเวศของมหายุคมีโซโซอิกมาโดยตลอด แม้ว่าหลังหมดสิ้นมหายุคมีโซโซอิกเมื่ออุกกาบาตพุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อน และเข้าสู่มหายุคที่สามที่เรียกว่า ซีโนโซอิก อันเป็นช่วงเวลาที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลายเป็นผู้ปกครองโลกแล้ว อาร์โคซอร์ทั้งสองสายก็ยังมีลูกหลานที่ฝ่าวิกฤติการสูญพันธุ์และหลงเหลือรอดมาได้คือเหล่าจระเข้และนกนั่นเอง
กลับมาที่นิยามของสัตว์ที่เรียกว่า ไดโนเสาร์ หลังจากคำว่า Dinosaur ถูกบัญญัติโดยเซอร์ริชาร์ด โอเวน ในปีค.ศ. 1842 นักชีววิทยาและนักบรรพชีวินวิทยาจำนวนมากได้พยายามหาคำจำกัดความของสัตว์ที่เรียกว่าไดโนเสาร์
เซอร์ ริชาร์ด โอเวน (Sir Richard Owen KCB) ที่มา : wikipedia.org
แน่นอนว่าสัตว์ที่เป็นไดโนเสาร์นั้นต้องเป็นสัตว์ในกลุ่มอาร์โคซอร์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ สัตว์เลื้อยคลานกลุ่มอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเต่า กิ้งก่าและงู สัตว์เลื้อยคลานทะเลชนิดต่าง ๆ เช่นพลีซิโอซอร์ (นึกถึงพีซุเกะ จากโดราเอม่อนเดอะมูฟวี่ ตอนไดโนเสาร์ของโนบิตะ)
1
พลีซิโอซอร์ (plesiosaurus) ที่มา : dinosaurpictures.org
หรือเหล่าซีแนปซิด (synapsid) อันเป็นกลุ่มของสัตว์ที่ดูคล้ายสัตว์เลื้อยคลานที่มีช่องเปิดกระดูกขมับใต้เพดานกะโหลกหนึ่งช่อง เช่น ไดเมโทรดอน (Dimetrodon) ที่มีกระโดงอยู่บนหลัง แม้จะดูคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน แต่ซีแนปซิดกลับมีความใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมากกว่า ด้วยเหตุนี้ สัตว์พวกนี้จึงตกจากนิยามของไดโนเสาร์ไปทั้งสิ้น
ไดเมโทรดอน (Dimetrodon) ที่มา : jurassicpark.fandom.com
มาพิจารณาในหมู่มวลอาร์โคซอร์ด้วยกัน ขาหลังของไดโนเสาร์เชื่อมต่อกับเบ้าของสะโพกในลักษณะตั้งตรง เหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม นับเป็นหนึ่งในความโดดเด่นด้านวิวัฒนาการ ทำให้พวกมันประสบความสำเร็จเหนือกว่าสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อเรามองจากมุมด้านบน ขาของไดโนเสาร์จะไม่กางออกข้างลำตัวแบบสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มอื่น มันจึงเคลื่อนไหวได้รวดเร็วและคล่องตัวกว่า อีกทั้งยังเพิ่มสมรรถนะในการรองรับน้ำหนักได้ดีกว่าด้วย (ดังนั้น อาร์โคซอร์สายจระเข้ก็ไม่ใช่ไดโนเสาร์)
1
อย่างไรก็ตาม คุณลักษณะนี้นับเป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์กลุ่มไดโนเสาร์ แต่ใดๆ ในชีววิทยาล้วนมีข้อยกเว้น เพราะอาร์โคซอร์สายจระเข้บางชนิดก็ได้วิวัฒน์มีขาเหยียดตรงใต้ลำตัวเหมือนไดโนเสาร์เช่นกัน อีกหนึ่งลักษณะที่ช่วยในการนิยามไดโนเสาร์ได้ดีคือกระดูกสองชิ้นบริเวณข้อเท้า ประกอบด้วย กระดูกตาตุ่ม (astragalus) และกระดูกส้นเท้า (calcaneum) ในอาร์โคซอร์สายจระเข้นั้น กระดูกทั้งสองจะมีขนาดใกล้เคียงกันทำให้ไม่ค่อยมีความยืดหยุ่นเท่าที่ควรระหว่างเคลื่อนไหว
ในขณะที่ไดโนเสาร์จะมีกระดูกตาตุ่มที่ใหญ่กว่ากระดูกส้นเท้า กระดูกข้อเท้าทั้งสองชิ้นเชื่อมต่อกัน รวมถึงเชื่อมกับกระดูกหน้าแข้งและกระดูกน่องอย่างแนบแน่น ทำให้เกิดระนาบของข้อพับ ส่งผลให้ข้อเท้าบิดไปข้างหน้าและข้างหลังได้อย่างเต็มที่ซึ่งช่วยสนับสนุนการยืนตัวตรง และการเพิ่มความเร็วขณะดินหรือวิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนี่คือกุญแจความสำเร็จของอาร์โคซอร์สายไดโนเสาร์ และยังเป็นปรากฏมาจนถึงนกในปัจจุบันอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์อื่น ๆ ที่ช่วยให้การนิยายสัตว์ที่เรียกว่าไดโนเสาร์ชัดเจนขึ้น แต่เราอาจจะต้องใช้เวลาในการเล่าที่นานกว่านี้ รวมถึงมีศัพท์เฉพาะอีกมหาศาลที่จะปรากฏออกมาแต่อย่างน้อยก็หวังว่าเมื่อคุณอ่านมาถึงตรงนี้ จะช่วยให้คุณแยกเหล่าสัตว์ดึกดำบรรพ์ได้ถูกต้องมากขึ้นว่าตัวใดใช่หรือไม่ใช่ไดโนเสาร์
1
อ้างอิง
Brusatte, S.L. Dinosaur Paleobiology. Wiley-Blackwell. 2012. 352 pp. doi: 10.1002/9781118274071
https://www.nhm.ac.uk/discover/what-are-dinosaurs.html
7 บันทึก
18
7
18
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย