9 ต.ค. 2023 เวลา 07:00

"ครอบครองปรปักษ์" กฎหมายที่เจ้าของที่ดินต้องรู้ ก่อนสูญเสียที่ดิน

"ครอบครองปรปักษ์" ข้อกฎหมายที่เจ้าของที่ดินต้องรู้ ก่อนถูกแย่งกรรมสิทธิ์ แม้เป็นเจ้าของตามโฉนดอย่าชะล่าใจ ทำความรู้จักข้อกฎหมายเพื่อป้องกันการถูกแย่งครอบครองปรปักษ์
"การครอบครองปรปักษ์" ถือเป็นข้อกฎหมายที่มีความสำคัญอีกข้อหนึ่ง ทั้งกับผู้ที่มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ แล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้เข้าไปดูแล วันดีคืนดีอาจเสียที่ดินผืนนั้นไปให้กับผู้ที่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินของตนเอง หรือผู้ที่เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้อื่นในระยะเวลานาน จนต้องการแย่งครอบครองปรปักษ์ที่ดินแปลงนั้น คดีความเรื่องการแย่งครอบครองปรปักษ์ จึงมักมีอยู่เสมอๆ ฐานเศรษฐกิจ ไขข้อข้องใจในประเด็น "การครอบครองปรปักษ์"
"การครอบครองปรปักษ์" คืออะไร
"การครอบครองปรปักษ์" ถูกกำหนดอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ป.พ.พ.) มาตรา 1382 ใจความว่า “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของคนอื่นไว้โดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ครอบครองติดต่อกัน 10 ปี หรือสังหาริมทรัพย์ครอบครองติดต่อกัน 5 ปี ถือว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์” แต่การได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ไม่ได้ได้มาโดยอัตโนมัติ ยังจะต้องมีเงื่อนไข และกระบวนการอีกหลายข้อ
เงื่อนไข และหลักเกณฑ์ในการได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์
1.ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น โดยมีการเข้าไปยึดถือใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน ที่ดินของผู้อื่น
2.ทรัพย์สินที่ครอบครองต้องเป็นทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์ ถ้าเป็นที่ดินก็ต้องเป็นที่ดินมีโฉนดเท่านั้น และหากที่ดินดังกล่าวทางราชการเพิ่งจะออกโฉนดที่ดิน ให้นับเวลาครอบครองเมื่อมีโฉนดที่ดินเป็นต้นไป ส่วนที่ดินมือเปล่า ได้แก่ ที่ดินตาม ส.ค.1 หรือ น.ส.3 หรือ น.ส. 3 ก. หรือไม่มีหลักฐานใดเลย จะมีได้เพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น
3.ต้องเป็นการครอบครองโดยความสงบ ระหว่างที่ครอบครองอยู่ต้องไม่เกิดการขับไล่ ฟ้องร้องหรือโต้เถียงกรรมสิทธิ์ต่อกัน
4.ต้องเป็นการครอบครองโดยเปิดเผย ไม่ได้มีการปิดบังอำพราง หรือซ่อนเร้นเข้ายึดถือครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น
5.ต้องเป็นการครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เช่น ต้องมีการทำประโยชน์ใช้สอยทรัพย์สินนั้น, มีการขัดขวางห้ามบุคคลอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้น และไม่เป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิ หรือยอมรับอำนาจกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์นั้นด้วย
6.ระยะเวลาในการได้กรรมสิทธิ์ ต้องเป็นการครอบครองโดยความสงบ และโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ ต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ เช่น ทรัพย์สินอื่นที่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ ต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี
7.แม้กฎหมายจะไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้ครอบครองจะต้องกระทำด้วยความสุจริตก็ตาม แต่การใช้สิทธิครอบครองปรปักษ์ต้องมาด้วยมือที่สะอาด ไม่มีเจตนาลักทรัพย์ บุกรุก ฉ้อโกง เป็นต้น
ขั้นตอน การได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์
1. ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้มีคำสั่งให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ พร้อมแสดงพยานหลักฐาน
2. ก่อนศาลจะพิจารณา ศาลจะมีหมายส่งไปยังเจ้าของที่ดิน ที่มีชื่อในกรรมสิทธิ์ดังกล่าว เพื่อให้มาคัดค้าน และศาลจะมีคำสั่งให้ผู้กล่าวอ้างการครอบครองปรปักษ์ดำเนินการเกี่ยวกับการรังวัดที่ดินพิพาท เพื่อประกอบการพิจารณา
กรณีไม่มีผู้คัดค้าน ศาลอาจจะมีคำสั่งให้บุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์
1
3. ผู้ได้สิทธิ์ต้องนำคำสั่งศาลไปติดต่อกรมที่ดินเพื่อขอเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นได้
ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของข้อกฎหมาย การครอบครองปรปักษ์ คือ ต้องการให้เจ้าของที่ดินใช้ประโยชน์ในที่ดินให้คุ้มค่า ไม่ปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า จึงลงโทษเจ้าของที่ไม่ใส่ใจในที่ดินของตนเองโดยการที่ หากมีคนอื่นมาครองครองที่ดินดังกล่าวเป็นระยะเวลารวม 10 ปี แล้ว คนที่ครอบครองนั้นก็จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินไปทันทีตามกฎหมาย แม้ที่ดินนั้นจะมีเจ้าของโฉนดอยู่ก็ตาม
ที่มา สำนักงานกิจการยุติธรรม
โฆษณา