9 ต.ค. 2023 เวลา 11:15 • ข่าวรอบโลก

ไทยเตรียมอพยพแรงงานหนีภัยสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เร่งขอความช่วยเหลือปล่อยผู้ถูกลักพาตัว

ชั่วโมงนี้ทั่วโลกต่างจับตาดูสถานการณ์ความรุนแรงจากข้อพิพาทระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า 75 ปี จนบรรยากาศความขัดแย้งได้ยกระดับเป็นภาวะสงครามในช่วงเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมา เบื้องต้นคาดว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 700 ราย ถูกลักพาตัวไม่ต่ำกว่า 100 ราย และบาดเจ็บกว่า 2,200 ราย จากการรายงานอย่างเป็นทางการโดยอิสราเอลเมื่อช่วงเช้าวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความเป็นห่วงต่อพี่น้องชาวไทยซึ่งอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุบริเวณฉนวนกาซา ยืนยันว่ารัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการช่วยเหลือ นอกจากนั้นยังประณามการโจมตีอิสราเอล ว่าเป็นการโจมตีที่ไร้มนุษยธรรมอันเป็นเหตุให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก พร้อมสั่งการไปยัง พลอากาศเอกพันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้เตรียมเครื่องบิน Airbus A340 และ C-130 เพื่ออพยพคนไทยออกจากอิสราเอลทันที
เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายในเวทีระหว่างประเทศมองว่าเป็น ‘การก่อการร้าย’ ตามหลักการของสหประชาชาติที่ว่า “การกระทำใดที่ก่อให้เกิดความสูญเสีย หรือบาดเจ็บสาหัสต่อพลเรือน หรือใครก็ตามที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในสงคราม หรือติดอาวุธ ไม่ว่าจะด้วยเจตนาทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อขู่ขวัญประชาชน หรือต่อต้านรัฐบาล หรือหน่วยงานสากล นับว่าเป็นการก่อการร้าย” หลายฝ่ายจึงเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั้งสองฝ่าย
ส่วนสถานการณ์ชุมชนชาวไทยในอิสราเอล นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โพสต์ข้อความเมื่อเวลา 18.25 น. วันที่ 8 ตุลาคม 2566 กล่าวถึงผลสรุปการประชุม Rapid Response Center (RRC) ระบุว่า “มีคนไทยในอิสราเอลประมาณ 30,000 คน และได้รับรายงานว่ามีคนไทยเสียชีวิต 12 คน ยืนยันจากทางการอิสราเอลแล้ว 2 คน ส่วนอีก 10 คน ได้รับข้อมูลจากนายจ้าง โดยยังไม่มีชื่อ และต้องรอตรวจสอบจากทางการอิสราเอล นอกจากนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 คน สาหัส 2 คน และถูกลักพาตัว 11 คน”
จากรายงานการประชุม RRC นายจักรพงษ์ยังกล่าวว่า “ไทยวางตัวเป็นกลางต่อปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยสนับสนุนแนวทางสองรัฐ (two-state solution) ขอให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างยั่งยืนและสันติ และประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยมิได้เจาะจงกลุ่มใด”
ในที่ประชุมยังมีการพูดคุยเรื่องแนวทางการช่วยเหลือชาวไทย ดังนี้
  • 1.
    อพยพคนไทยจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย
  • 2.
    แสวงหามิตรประเทศในการอพยพคนไทย
  • 3.
    กองทัพอากาศพร้อมอพยพภายใน 24 ชั่วโมง
นอกจากนั้นยังมีการประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ กับผู้แทนปาเลสไตน์ เพื่อขอความเห็นใจในการปล่อยตัวคนไทยที่ถูกลักพาตัว ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ต่อมานางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 9 ตุลาคม ว่า ขณะนี้กองทัพอิสราเอลเริ่มอพยพคนไทยไปพื้นที่ปลอดภัยและกำลังรอยืนยันรายชื่อผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ ส่วนคนไทยผู้แจ้งขอกลับไทยมีจำนวน 1,099 คน และมีผู้ที่ยังไม่ได้แจ้งกลับอีก 22 คน ซึ่งกำลังเร่งประสานงานเพิ่มเติม
ทางด้านนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย ยืนยันมีความพร้อมรับคนไทยกลับบ้านทันทีที่น่านฟ้าอิสราเอลอนุญาตให้เข้าพื้นที่ได้ เชื่อว่ามีกำลังมากพอจะรับคนไทยกลับทั้งหมดด้วยเครื่องบินที่เตรียมไว้ 6 ลำ มากกว่า 500 คนต่อเที่ยว แต่ถ้าหากไม่พอก็ได้วางแผนเช่าเหมาลำเครื่องบินพาณิชย์เอาไว้อีกทาง และหากไม่สามารถเข้าน่านฟ้าอิสราเอลได้ ก็จะใช้วิธีลำเลียงผ่านประเทศข้างเคียง
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอิสราเอลเป็นไปด้วยดีเสมอมา โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ​มีการตั้งสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2501 และมีการก่อตั้งหอการค้าไทย-อิสราเอล เมื่อ พ.ศ. 2533 ขณะเดียวกัน ในปี 2555 ประเทศไทยเองก็ประกาศรับรองสถานะความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็น 1 ใน 128 ประเทศที่ลงมติเพิกถอนการรับรองนครเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ในที่ประชุมสหประชาชาติปี 2560 โดยไทยยึดหลักสองรัฐมาตลอด
โฆษณา