11 ต.ค. 2023 เวลา 10:41 • การศึกษา

เรื่องเล่าของ "ภาษีหัก ณ ที่จ่าย"

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไม่ใช่ภาษีสุดท้ายเสมอไป หากพลั้งเผลอไม่ยื่นรายการอาจถูกเรียกเก็บเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มย้อนหลังได้
Aj.Noky
ผู้เขียนเคยอ่านข่าวสกู๊ปสั้น ๆ สกู๊ปหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่ามีคนได้รางวัลชิงโชคมูลค่าหลายล้านบาท ตอนรับรางวัลได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ เวลาล่วงเลยผ่านไปหลายปี คนนั้นถูกสรรพากรประเมินว่าไม่ยื่นรายการเงินได้ดังกล่าวในปีภาษีที่มีเงินได้ ทำให้บุคคลนั้นต้องชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวนมาก สำหรับผู้เขียนแม้ข่าวนี้จะเป็นสกู๊ปสั้น ๆ แต่เป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับประชาชนคนหนึ่งที่ได้ลาภลอยและลาภลอยนั้นมีภาระภาษีตามมาด้วย
...คำถามคือประชาชนทั่วไปจะรู้หรือไม่ว่าในสถานการณ์เช่นนั้นต้องทำอย่างไรบ้างกับเงินได้ดังกล่าว...
ผู้เขียนจึงเห็นควรเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อให้ความรู้พื้นฐานง่าย ๆ เกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องและไม่ต้องแบกรับทุกขภาพภายหลังดังเช่นบุคคลที่เป็นข่าวข้างต้น
ผู้มีเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อมีเงินได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดจะมีหน้าที่ยื่นรายการเงินได้ฯ นั้น (ประมวลรัษฎากร มาตรา 56) เมื่อยื่นแล้วจะต้องเสียภาษีหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า เงินได้พึงประเมินทั้งหมด เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และหักค่าลดหย่อนแล้วเหลือเป็นเงินได้สุทธิเท่าใด
เงินได้บางประเภทที่ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย จะต้องนำมายื่นรายการตามที่กล่าวข้างต้นหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าภาษีที่ถูกหักไว้นั้นมีกฎหมายยกเว้นให้ไม่ต้องยื่นรายการแล้วหรือไม่ ถ้ามีกฎหมายยกเว้นไว้ให้ ภาษีที่ถูกหักไว้นั้นก็นับว่าเป็นภาษีสุดท้าย (Final Tax) แต่ถ้าไม่มีกฎหมายยกเว้นไว้ให้ ภาษีที่ถูกหักไว้นั้นจะยังไม่ใช่ภาษีสุดท้าย ทำให้ผู้มีเงินได้ยังคงมีหน้าที่นำเงินได้นั้นไปยื่นรายการเพื่อเสียภาษีอีก
กฎหมายที่กำหนดให้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้บางประเภทถือเป็นภาษีสุดท้ายโดยไม่ต้องนำไปคำนวณเพื่อยื่นรายการอีกนั้น ได้แก่ ประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (3) ถึง (7) ตัวอย่างเช่น เงินได้ที่เป็นดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ไปแล้ว (ประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (3) หรือ เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกที่ถูกหักภาษีตามมาตรา 48 (4) (ก) แล้ว เป็นต้น
เงินได้จากการชิงโชคตามเนื้อหาในข่าวตอนต้นที่ผู้เขียนกล่าวถึง ไม่ปรากฏอยู่ในมาตรา 48 ส่วนใดเลย ฉะนั้น ผู้รับเงินได้ดังกล่าวจึงยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นรายการเพื่อเสียภาษีอยู่ แม้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้นั้นแล้วก็ตาม
โฆษณา