20 ต.ค. 2023 เวลา 10:00 • ความคิดเห็น

มรณสติ ความตายรำลึก

หลังจากเราพูดถึงคัมภีร์มรณญาณสูตรไป เราได้เข้าสู่หัวเรื่องของความตายอย่างใกล้ชิดมากขึ้นแล้ว คราวนี้เรามาลองดูเรื่องของความตายที่พระพุทธศาสนาสอนเราบ้างดีกว่าครับ เชิญพบกับ มรณสติ การรำลึกถึงความตาย Enjoy ครับ
มรณสติ คือการใช้สติระลึกถึงความตาย เพื่อให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท รู้คุณค่าของวันเวลา และเป็นขั้นต้นของการวิปัสสนา (อนิจจานุปัสสนา) โดยความตายทางพระพุทธศาสนา มีดังนี้
สมุจเฉทมรณะ คือการขาดจากวัฏสังสารหรือพระนิพพาน
ขณิกมรณะ คือการเกิดและดับของรูปนาม เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ความคิดแต่ละเรื่อง
สมมติมรณะ คือคำสมมติไว้ใช้เรียก เช่น ต้นไม้ตาย รถตาย
กาลมรณะ คือความตายเมื่อถึงเวลา
สิ้นบุญ หมดเหตุปัจจัยที่ทำให้อายุสืบต่อ เช่นการตายขณะที่ร่างกายแข็งแรง
สิ้นอายุ ถึงกำหนดของอายุขัยหรือตายเพราะโรคภัย
อกาลมรณะ คือความตายเมื่อไม่ถึงเวลา มีกรรมเข้ามาตัดรอน ฆ่าตัวตาย หรือตายโหง
คนทั่วไปเมื่อนึกถึงความตายจะมีอารมณ์ต่าง ๆ มากมายเข้ามาในจิตใจ และยังขึ้นอยู่กับบุคลที่ถึงแก่อาสัญกรรมด้วย โดยจะมีความโศกเศร้าเมื่อคนที่รักลาจากไป มีความยินดีเมื่อคู่เวรคู่อาฆาตลับลา มีความรู้สึกเฉย ๆ เมื่อคนทั่ว ๆ ไปตายลง และคงมีความหวาดกลัวเมื่อถึงเวลาของ “ตนเอง”
ในเมื่อพูดถึงมรณสติแล้ว ก็ควรจะสอนถึงวิธีเจริญมรณสติด้วย
คือการบริกรรมว่า มรณัง ภวิสสติ ความตายจักมี การระลึกถึงความตายอย่างมีสติจะช่วยให้นิวรณ์สงบ สามารถระลึกถึงความตาย 8 ประการ คือ “ปรากฏเหมือนเพชฌฆาต” “วิบัติจากสมบัติ” “โดยนำไปเปรียบเทียบ” “เป็นสาธารณแก่หมู่หนอน” “อายุทุพลภาพ” “โดยไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่มีการต่อรอง” “ไม่มีกำหนดอายุกาล” “โดยว่าอายุเรานั้นมีเพียงเล็กน้อย”
นี่แหละครับคือการเจิญมรณสติ และทางพุทธศาสนาจึงบอกว่าอานิสงส์การเจริญมรณสติคือ “เป็นผู้ไม่ประมาท” “สามารถปล่อยวางภพภูมิได้” “ไม่เกิดความเสียดายในชีวิต” “เป็นผู้ติเตียนบาป” “ไม่มากด้วยการสะสม “พร้อมสละไม่หวงของ” “สำคัญหมายว่าสิ่งต่าง ๆ ไม่เที่ยง” “ย่อมเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ ทำให้เกิดทุกข์” “ไม่กลัวความตาย” “ตายอย่างมีสติ” “หากยังไม่บรรลุ เมื่อตายย่อมเข้าสู่สุคติ” นั่นเองครับ
ถ้าชอบก็ฝากกดไลก์👍 กดแชร์➡ กดติดตาม🔁 ไว้ด้วยนะครับ🙏🙏🙏
โฆษณา