13 ต.ค. 2023 เวลา 00:00 • ท่องเที่ยว

การเดินทางสู่ Den Bao Ha Temple

ประเทศเวียดนาม มีพื้นที่เป็นแนวยาวคล้ายตัว S มีพื้นที่ประมาณ 331,690 ตารางกิโลเมตร (คิดเป็น 65% ของพื้นที่ประเทศไทย) ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของคาบสมุทรอินโดจีน พื้นที่ประมาณ 75% ของประเทศ ประกอบด้วยภูเขาและป่าไม้
พื้นที่เราเดินทางท่องเที่ยวครั้งนี้ คือบริเวณเวียดนามตอนเหนือ เลียบพรมแดนจีน-เวียดนาม ซึ่งเป็นพื้นที่แบบ Karst หมายถึงภูมิประเทศแบบหินปูน – สูงๆ ต่ำๆ เป็นภูเขชาสูง หน้าผาสูงชัน ยอดแหลม ตะปุ่มตะป่ำ มักพบรอยแตกกว้างซึ่งพัฒนาเป็นถ้ำอยู่ทั่วไป .. ที่ราบเพื่อการตั้งถิ่นฐาน อยู่อาศัย ทำการเพาะปลูก และการปศุสัตว์ โดยทั่วไปจะเป็นส่วนที่เป็นเหมือนหลุมยุบระหว่างภูเขา (ที่ราบระหว่างภูเขา) อาจจะกว้างมาก หรือแค่ที่ราบเล็กๆ ก็ได้
เส้นทางที่เราใช้จึงเป็นเส้นทางที่ตั้งต้นจากที่ราบแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเมืองและชุมชน แล้วขับรถวกเวียน ผ่านโค้งหักศอก โค้งแล้ว โค้งเล่า ขึ้นไปบนภูเขา หลังจากนั้นจะต้องขับรถลงเขาอีกครั้ง เพื่อมายังเมืองเป้าหมายหรือเมืองถัดไป ซึ่งจะใช้เวลามากถึง 5-7 ชั่วโมง .. เป็นอย่างนี้ตลอดทริป และเราจะเห็นภูเขามากมายซ้อนกันเป็นทะเลภูเขา อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะหันไปทางทิศใด
การท่องเที่ยวในพื้นที่ของเวียดนามตอนเหนือ จึงต้องมีรถที่มีสภาพดีเยี่ยม คนขับรถชำนาญเส้นทางเป็นอย่างดี รวมถึงมีทักษะความช่ำชองที่ยอดเยี่ยม การตัดสินใจที่ดี ในการขับรถบนเส้นทางสูงชันและแคบมากบนภูเขา .. ส่วนผู้โดยสาร ก็ต้องมีร่างกายและสุขภาพที่ดีระดับหนึ่ง เตรียมยาแก้เมารถและยาสามัญอื่นๆ สิ่งที่คุณต้องการที่เหลือก็มีเพียงรองเท้าผ้าใบ และใจถึงๆเท่านั้น ในการเดินทางบนเส้นทางนี้
เมื่อได้ชมกับความงดงามของนาขั้นบันไดที่ มูกางจ๋ายแล้ว เราแวะพักค้างคืนที่ Ngoc Ann Hotel บนเส้นทาง Than Uyen-Moung Than
หลังเช้าที่สดใสด้วยไอหมอก เรารับประทานอาหารเช้าแบบเวียดนามที่ดูเหมือนหลายคนจะคุ้นเคย นั่นคือ เฝอ หรือก๋วยเตี๋ยวนั่นเอง .. เส้นเฝอที่นี่ จะมี 2 แบบ คือ เส้นแบน เรียกว่า เฝอ .. ส่วนเส้นกลมเหมือนขนมจีน เรียกว่า บุ๋น
.. เนื้อสัตว์ เลือกได้ว่า จะเป็นหมู ปลา หมูห่อใบชะพลูทอด หรือเต้าหู้ .. โดยรวมแล้วรสชาติใช้ได้
หลังทานอาหารเช้า เราเริ่มออกเดินทางอีกครั้ง โดยหวังว่าเราจะสามารถไปถึงตลาดชาวเขาเปี่ยมสีสัน บัคฮา ได้ทันเวลาก่อนที่ตลาดจะวายในช่วง 14 น.
.. เริ่มต้นการเดินทาง เราผ่านบ้านเรือนของชาวบ้าน ที่มีราบสีเขียว และแน่นอน มันคือนาข้าวที่อุดมสมบูรณ์ของชาวเวียด
.. เราแวะถ่ายรูปทุ่งนา ที่มีฉากหลังเป็นภูเขา และซอกหลืบสีน้ำเงิน-ฟ้าที่สวยมาก
เมื่อเดินทางต่อมาในระยะทางไม่กี่ร้อยเมตร และผ่านโค้งของภูเขา เราก็ต้องจอดรถรอ ด้วยเหตุที่ถนนถูกปิด มีการขุดย้ายดินบนไหล่เขา คงเพื่อสร้างถนนเพิ่มเติม .. ไกด์บอกว่าการปิดถนนเกิดขึ้นได้เป็นประจำ โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า และผู้ใช้ถนนไม่ว่าจะด้วยพาสหนะแบบไหน ก็ไม่มีทางเลือกนอกจาก รอ รอๆๆๆ ซึ่งครั้งนี้เรารับทราบว่า ต้องรออย่างน้อย 2 ชั่วโมง
เราฆ่าเวลาด้วยการถ่ายภาพ .. ภูมิประเทศแถวนี้สวยค่ะ
เรายืนอยู่บนไหล่ทางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูเขา ด้านล่างเป็นหุบเขาที่เขียวขจีด้วยป่าไม้ ดูจะอุดมสมบูรณ์มากทีเดียว
มองขึ้นไปด้านบนจากไหล่ทาง .. ป่าสนชนิดหนึ่ง ลำต้นตั้งตรง แข่งกันชูยอดเบียดแทรกขึ้นไปยังท้องฟ้า
พื้นที่ที่ด้านล่างเป็นหุบเขากว้างๆ .. ภาพของนาสีเหลืองทองและชาวนาหลายคนกำลังช่วยกันเกี่ยวข้าว ดูเป็นวิถีชีวิตที่คนในพื้นที่อาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ พื้นๆ ที่เจนตาอยู่ทุกวัน .. แต่สำหรับพวกเรามันเป็นความสวยงามที่เราผู้มาจากเมืองใหญ่ ห่างหาย ไม่คุ้นเคย
ฤดูกาล … สำหรับใครบางคนอาจจะเป็นแค่วันธรรมดาๆวันหนึ่ง แต่กับใครอีกหลายคน อาจจะสำคัญต่อการรอคอยทั้งชีวิต … ฤดูเกี่ยวข้าวที่ลูกหลานจะกลับมาช่วยกันลงแขกร้องเพลงเกี่ยวข้าวตามประสา ..
“ถนนเปิดแล้วครับ เราจะเดินทางต่อ ..” คำบอกกล่าวของไกด์ เหมือนจะยกความกังวลออกไปจากใจของหลายคน รวมถึงเป็นการสิ้นสุดของการรอคอย
.. การเดินทางช่วงต่อมา ยังเป็นการนั่งรถยาวๆมาตามถนนบนเขา
“ถนนปิดอีกแล้ว ..” เพื่อนร่วมทางคนหนึ่งกระซิบบอก เมื่อเห็นสิ่งกีดขวางบนถนนที่เรากำลังจะผ่าน และมีเจ้าหน้าที่โบกมือเป็นสัญญานให้ใช้เส้นทางอื่น
เราต้องใช้ถนนที่เป็น Alternate Route ซึ่งเดาว่าคงเป็นเส้นทางเก่าที่ผ่านหมู่บ้าน ก่อนที่จะมีการตัดถนนเป็นทางที่เลี่ยงชุมชนและทำให้การเดินทางสะดวก ปลอดภัยกว่า ในระยะทางที่สั้นลง
ขณะอยู่ยนรถ ผ่านถนนดินแคบๆในหมู่บ้านชาวเขา .. มีวิถีชีวิตของชาวบ้านที่คงเหมือนบ้านนอกของเมืองไทยเมื่อ 60-70 ปีที่แล้ว - บ้านไม้ขนาดเล็กมาก ใต้ถุนใช้เป็นที่อาศัยของวัว หมู ไก่
.. มีพื้นที่นา ..
สักพักเราขับรถทะลุขึ้นมายังถนนสายเดิม แล้วการเดินทางก็เริ่มจะเรียบร้อยอย่างที่ควรจะเป็น .. เพียงแต่ตอนนี้เราคงจะไปถึง บัคฮา ไม่ทันตามเวลาและแผนที่เราวางเอาไว้
แผนการท่องเที่ยว ต้องถูกปรับตามสถานการณ์ โดยแวะทำธึระส่วนตัว และไหว้พระที่วัดที่สำคัญในรายทาง
Den Bao Ha Temple
วัดเปาฮา (วัดอ่าวนายฮว่าง) เป็นโบราณวัตถุทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมระดับชาติที่โด่งดังไปทั่วประเทศ สร้างขึ้นในช่วงปลายรัชสมัยของ Le Canh Hung เพื่อบูชาแม่ทัพผู้มีชื่อเสียง ผู้มีบุญคุณในการปกป้องและสร้างปิตุภูมิที่ประตูชายแดน Lao Cai
ในตอนท้ายของราชวงศ์ Le (พ.ศ. 2283 - 2329) จังหวัด Thuy Vi, Van Ban และสถานที่อื่น ๆ อีกมากมายในรัฐบาลของ Quy Hoa มักถูกรุกรานและปล้นสะดม เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว ทางการจึงส่งนายพลผู้มีชื่อเสียงแห่งตระกูลเหงียนนำกองทัพไปตามแม่น้ำแดงเพื่อต่อสู้กับศัตรู ปลดปล่อยชาวบ้าน และสร้างเบาฮาให้เป็นฐานที่มั่นขนาดใหญ่
ที่นี่นายพลฮว่างเบย์ผู้มีชื่อเสียงได้จัดกองทัพ แล้วสั่งการให้กองทัพเรือและกองทัพไปต่อสู้กับศัตรูที่เมืองลาวกาย และปลดปล่อยจังหวัดกวีฮวา .. ในการต่อสู้กับศัตรู ด้วยกำลังพลที่น้อยกว่ามาก จึงเป็นการต่อสู้ที่ไม่เท่ากัน นายพล Hoang Bay ผู้โด่งดังก็เสียชีวิตอย่างกล้าหาญ ศัตรูทิ้งร่างของเขาลงในแม่น้ำแดง ร่างของเขาลอยไปที่เบาฮาถูกคนในพื้นที่หยิบขึ้นมาฝังและสร้างวัด เพื่อรำลึกถึงความดีความชอบของเขา
กษัตริย์ Minh Mang, Thieu Tri (ราชวงศ์เหงียน) มอบตำแหน่ง "Tran An Vien Liet" ให้กับเขา และวัดของเขาได้รับแต่งตั้งจากกษัตริย์แห่งราชวงศ์ Nguyen ให้เป็น "เทพเจ้าแห่งการป้องกันประเทศ" (เสด็จเข้าสู่โลกวิญญาณ ครบรอบวันมรณะภาพ คือ ขึ้น 17 ค่ำ เดือน 7 ตามจันทรคติ); และคนในท้องถิ่นบูชาพระองค์เหมือนเทพเจ้า
เทศกาลวัดเปาฮาจัดขึ้นทุกปีในวันที่ 17 เดือน 7 ตามจันทรคติ .. เป็นเทศกาลที่ได้รับการยอมรับจากกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชาติในปี 2559 และเป็นโอกาสที่จะแนะนำนักท่องเที่ยวให้รู้จักกับความงามทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่น ส่งเสริมศักยภาพ จุดแข็ง และดึงดูดการลงทุนด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและจิตวิญญาณในเมืองเบาฮา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบาเอียน และเมืองลาวกาย
ระหว่างเทศกาลบ่าฮา มีการแสดงเชิดสิงโต มังกร และการแสดงดนตรี รวมถึงมหากาพย์ Cheo "นายพล Hoang Bay ปกป้องชายแดน" และการแสดงกลอง "Bao Ha Echoes" .. ผู้คนและผู้มาเยือนสามารถเข้าร่วมในเทศกาลด้วยกิจกรรมสนุกสนานมากมาย
บางสิ่งที่น่าสนใจมากเมื่อคนผ่านทางอย่างพวกเราได้ไปเยี่ยมชมวัดแห่งนี้ คือ พิธีกรรม “การบูชาเจ้าแม่”
ในประเทศเวียดนาม ประชาชนมีเสรีในการเลือกนับถือศาสนา .. ในอดีต เมื่อจีนเข้ามาปกครองเวียดนาม (4 ช่วง คือ พ.ศ. 432-483 พ.ศ. 586-1087 พ.ศ. 1145- 1481 และ พ.ศ. 1950-70) (เหวียน คักเวียน, 2552) รวมเวลา 1,008 ปี ได้นำเอาลัทธิเต๋าและขงจื๊อเข้ามาเผยแผ่ นอกจากยอมรับนับถือลิทธิทั้งสองนี้ ยังรับเอาประเพณีการเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเวียดนาม ตามธรรมเนียมจีนเข้าไว้ด้วย
“ประเพณีบูชาเจ้าแม่” .. เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่โบราณ ที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมในเวียดนาม ให้ความสำคัญกับเพศหญิง โดยเริ่มจากการบูชาบรรดาเทพธิดาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์
ชนพื้นเมืองเวียดนามที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่อาศัยธรรมชาติในการเพาะปลูก จึงมีการนับถือบูชา เกิดพิธีกรรมบูชาธรรมชาติต่างๆ เช่น พิธีกรรมการขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งเป็นแนวทางความเชื่อของลัทธิเต๋า ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความสมดุลของธรรมชาติ โดยลัทธิเต๋า เชื่อว่า การบูชาเทพธิดาต่างๆ ก็เพื่อที่จะใหเจ้าแม่ให้ความคุ้มครองแก่มนุษย์ ซึ่งบรรดาเทพธิดาเหล่านี้ถือเป็นตัวแทนของธรรมชาติเช่น เจ้าแม่ธรณี เจ้าแม่คงคา เจ้าแม่โพสพ
ส่วนลัทธิขงจื๊อ ให้ความสำคัญต่อการนับถือบรรพบุรุษ .. ทำให้ชาวเวียดนามให้ความสำคัญกับการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
“พิธีกรรมการเข้าทรง” "เลินด่ง" หรือ การทรงเจ้า เป็นพิธีกรรมหนึ่งที่สำคัญใน “ศาสนาเจ้าแม่” .. เป็นกิจกรรมความเชื่อโบราณที่แฝงไว้ด้วยคุณค่าวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณของชาวเวียดนาม โดยผ่านร่างทรงของเทพเจ้าในประวัติศาสตร์ บรรดาบรรพบุรุษที่มีคุณความดีต่อชาติบ้านเมืองที่ได้รับการเคารพบูชา เป็นต้น .. ซึ่งการเข้าทรงถือเป็นศิลปะการแสดงที่สมบูรณ์อย่างหนึ่ง เพราะมีทั้งการเล่นดนตรีการร้องเพลงและฟ้อนรำ
.. ซึ่งสะท้อนเอกลักษณ์วัฒนธรรม ศิลปะพื้นเมืองของชาวเวียดนาม ทั้งที่ได้รับการพัฒนา และสืบทอดกันมาจากอดีต จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับแพร่หลายในประเทศเวียดนาม
ในอดีต พิธีการเข้าทรงจะมีผู้เข้าทรงเป็นผู้หญิง ในเวลาต่อมาก็มีผู้เข้าทรงเป็นผู้ชายเพิ่มขึ้นด้วย แต่ยังคงเอกลักษณ์ ลักษณะการเป็นผู้หญิง แต่งองค์ทรงเครื่องเป็นหญิงโดยการแต่งหน้า และแต่งกาย
คนทรงเหล่านี้ต้องฝึกหัดการร่ายรำ เช่นเดียวกับผู้หญิงที่เป็นผู้เข้าทรงด้วย ในแต่ละพื้นที่ .. พิธีกรรมบูชาเจ้าแม่ พิธีกรรมการเข้าทรงนั้น ก็จะแตกต่างกันไปตามความเชื่อของแต่ละชุมชนด้วย
แม้ว่า ปัจจุบันความเชื่อเรื่องการบูชาเจ้าแม่นี้จะหลงเหลือน้อยกว่าอดีต ด้วยเหตุผลจากกการได้รับอิทธิพลทั้งการตกเป็นเมืองอาณานิคมของต่างชาติ ในช่วงรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเวียดนาม ได้ทำลายความเชื่อและศาสนาส่วนหนึ่งในช่วงปฏิวัติระบบการปกครอง ห้ามมิให้ทำพิธีกรรม เพราะถือว่าผิดกฎหมาย รวมถึงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ .. แต่ปัจจุบันอนุญาตให้ทำพิธีนี้ได้
ความเชื่อนี้ก็ยังคงฝังลึกอยู่ในใจของคนเวียดนามพื้นเมืองไม่น้อยและกลายเป็นวัฒนธรรม ความเลื่อมใสที่ได้รับการยกย่องระดับโลก องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกได้ประกาศรับรองความเลื่อมใสบูชาเจ้าแม่ของชาวเวียดนาม เป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 1ธันวาคม 2560 (VOVWorld,2559) เนื่องด้วยเป็นประเพณีพื้นบ้านทรงคุณค่าสะท้อนศรัทธาผู้คนผ่านพิธีกรรมที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณและศิลปะ
แสดงให้เห็นถึงการยืนหยัดถึงคุณค่าของพลังชีวิตที่ยั่งยืนของความเลื่อมใสรูปแบบหนึ่งที่ปรากฏในชีวิตวัฒนธรรมของชาวเวียดนามที่มีมาแต่โบราณ .. รวมถึงเป็นที่ยอมรับว่า การเข้าทรงมีคุณค่าสูงในทางศิลปะวัฒนธรรม คือ มีทั้งดนตรีประกอบ ศิลปะการร่ายรำ การแต่งกาย ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ดั้งเดิม และยังเป็นการส่งเสริมรายได้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหนึ่งที่สำคัญของเวียดนาม นับเป็นความภาคภูมิใจของคนเวียดนาม
Ref : เนื้อความบางส่วนจาก http://isas.arts.su.ac.th/wp-content/uploads/2560/philosophy/05570653.pdf
โฆษณา