13 ต.ค. 2023 เวลา 20:09 • ศิลปะ & ออกแบบ

“สวนสุขีโลกิยะ” โลกอันน่าประหลาดใจของเฮียโรนิมัส บอช

The Garden of Earthly Delights (1490–1500), Hieronymus Bosch
***บทความนี้มีเนื้อหาค่อนข้างยาว
Hieronymus Bosch, The Garden of Earthly Delights, oil on oak panels, 205.5 cm × 384.9 cm (81 in × 152 in), Museo del Prado, Madrid ที่มาภาพ: https://en.m.wikipedia.org/wiki/The_Garden_of_Earthly_Delights
ภาพ “สวนสุขีโลกิยะ” พรรณนาถึงความดี ความชั่ว คุณธรรม บาป สวรรค์และ นรก จึงถูกตีความว่าเป็นภาพที่สร้างมาเพื่อตักเตือนมนุษย์ให้ตระหนักรู้ และละจากเรื่องทางโลก ผ่านมุมมองของศิลปินที่มีต่อศาสนา และนำมุมมองนั้นมาสร้างโลกแฟนตาซี เราจึงสามารถพูดได้ว่าผลงานชิ้นนี้เปรียบเสมือนศิลปะลัทธิเหนือจริงที่เกิดในยุคเรอเนซองส์ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่าภาพนี้มีสัญลักษณ์ที่มีความหมายซ่อนเร้นมากมายจนไม่อาจสามารถหาข้อสรุปได้อย่างแน่ชัดจนปัจจุบัน
ภาพ “สวนสุขีโลกิยะ” (The Garden of Earthly Delights) วาดโดยเฮียโรนิมัส บอช หรือ เยโรเอน อันโธนิสซูน ฟาน อาเคน (Jheronimus Anthonissen van Aken) ศิลปินชาวดัตช์ เขาเกิดประมาณปี 1450 ในครอบครัวศิลปิน เขาเป็นหนึ่งในศิลปินที่น่าสนใจที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะ ด้วยผลงานชิ้นเอกชิ้นนี้ที่มีความพิเศษกว่าใคร โดยปกติแล้วบอชมักจะวาดภาพที่ได้รับมอบหมายจากสถาบันต่างๆ เช่นโบสถ์ หรือเหล่าเจ้าขุนมูลนายทั้งหลาย ผลงานส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับศาสนาซึ่งเป็นเนื้อหาเดียวที่ยอมรับได้ในยุคนั้น
แนวคิดในการสร้างผลงานชิ้นพิเศษนี้น่าจะมีต้นเหตุมาจากบริบททางสังคมในขณะนั้น เนื่องจากคริสต์ทศวรรษ 1400 ของยุโรปเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากยุคกอธิคตอนปลายซึ่งเป็นยุคที่ศาสนจักรรุ่งเรือง เข้าสู่ยุคแห่งการพื้นฟูศิลปะวิทยา หรือยุคเรเนซองส์ตอนต้น บอชจึงได้เติบโตขึ้นมาภายในช่วงเวลาที่เกิดความเสื่อมถอยทางศาสนาในยุโรปรวมไปถึงประเทศเนเธอร์แลนด์ด้วย
ในช่วงนี้ผู้คนต่างวิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักร ทั้งยังมีการนับถือลัทธินอกรีต ซึ่งนี่เองจึงทำให้เกิดการคานอำนาจกันทางความเชื่อ คริสตจักรคาทอลิกจึงมุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนใจคนส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนานอกรีตให้หันกลับมาสู่ศาสนาเดิม มีการใช้ระบบที่ซับซ้อนเพื่อรักษาความเชื่อทางศาสนาในหมู่มวลชน โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์
ตามข้อมูลยังพบว่าบอชมีความเกี่ยวข้องกับลัทธินอกรีต ที่เรียกว่า “Homines Intelligentiae” เป็นนิกายหนึ่งของศาสนาคริสต์แพร่กะจายอยู่ทางยุโรปตอนล่าง พวกเขาเชื่อว่าการติดต่อใกล้ชิดกับพระเจ้าสามารถทำได้โดยการกลับคืนสู่ธรรมชาติ ที่ซึ่งร่างกาย และราคะนั้นคือเจตจำนงค์อันบริสุทธิ์ กามวิสัยซึ่งเป็นการกระทำตามธรรมชาตินั้นไม่เป็นบาป เพราะบาปทางร่างกายไม่สามารถทำให้จิตวิญญาณเป็นมลทินได้ ซึ่งนี่เองอาจเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งในการสร้างผลงานของเขา
นอกจากลัทธินอกรีตอย่าง Homines Intelligentiae แล้ว ยังเชื่อว่าบอชนั้นมีความรู้เกี่ยวกับเมืองแอตแลนติสที่สูญหายไป ซึ่งหาอ่านได้จากตำรากรีกโรมันที่กำลังได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาในยุคเรอเนซองส์ และยังเชื่อกันว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจจาก Cyriacus แห่ง Ancona นักสำรวจชาวอิตาลี และผู้บุกเบิกด้านโบราณคดีในยุคแรกอีกด้วย
ภาพนี้เป็นภาพที่วาดบนแผ่นไม้ที่ประกอบกันคล้ายบานประตู จึงมีภาพที่วาดไว้ที่บานพับด้านหน้า 1 ภาพ และด้านในประกอบไปด้วยภาพ 3 ส่วน ภาพจะเล่าเรื่องจากด้านซ้ายไปทางขวา ตั้งแต่การกำเนิดของอาดัม และเอวาที่สวนเอเดน การล่มสลายของมนุษยชาติ สุดท้ายคือภาพการลงโทษในนรก
ภาพจากบานพับด้านหน้า ที่มาภาพ: https://en.m.wikipedia.org/wiki/The_Garden_of_Earthly_Delights#cite_note-von33-5
ภาพจากบานพับด้านหน้า
ด้านหน้าเป็นภาพวัตถุทรงกลมคล้ายภาชนะแก้วใส ตีความได้ว่านี่อาจเป็นโลกของเราที่บรรจุน้ำครึ่งหนึ่ง มีสัตว์ และบ้านเรือนลอยอยู่ในน้ำ พบร่างเล็ก ๆ ของพระเจ้าถือหนังสืออยู่ด้านบนที่มุมซ้ายสุด และมีข้อความเขียนไว้ที่บานพับทั้งสองข้างสามารถแปลได้ว่า "เพราะพระองค์ตรัส และมันก็เกิดขึ้น; พระองค์ทรงบัญชาและมันก็มั่นคง” ซึ่งมาจากสดุดี 33.9 ในพระคัมภีร์
ภาพนี้ก็อาจแปลได้ว่าเป็นภาพน้ำท่วมโลกหลังจากที่โลกถูกทำลายโดยความชั่วร้ายของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม คำจารึกภาษาละตินมีนัยบ่งบอกถึงการสร้างโลก ไม่ใช่การทำลายโลกอย่างที่เข้าใจ นี่จึงเป็นปริศนาที่ 1 ที่สร้างความฉงนให้กับผู้ชม
ส่วนที่ 1 “สวนเอเดน” ที่มาภาพ: https://en.m.wikipedia.org/wiki/The_Garden_of_Earthly_Delights
ส่วนที่ 1 “สวนเอเดน”
พระเจ้ากำลังถวายเอวาให้แก่อาดัมที่สวนเอเดน อดัมกำลังนั่งเหยียดขาอยู่บนพื้นหญ้า เอวาคุกเข่าลงครึ่งหนึ่งตรงข้ามกับอดัม พระเจ้ายืนอยู่ระหว่างทั้งสองโดยจับข้อมือขวาของเอวาไว้ พระหัตถ์ขวาของพระเจ้าชูขึ้นในสัญลักษณ์แห่งการเบเนดิกต์ ซึ่งเป็นท่าทางแห่งการอวยพร นักวิชาการ พอล แวนเดนโบรเอค ได้กล่าวว่านี่คือการอ้างอิงถึงการแต่งงานเพื่อให้ทั้งสองสืบเผ่าพันธ์ุตามคำสั่งในพันธสัญญาเดิม รอบ ๆ จึงมีต้นไม้ ผลไม้อุดมสมบูรณ์ พร้อมกับสิ่งมีชีวิตอีกมากมายที่บ่งบอกถึงการแพร่ขยายประชากรของมนุษย์และสัตว์โลก
ที่มุมขวาล่างมีบ่อน้ำเล็ก ๆ จากสีที่เข้มจึงสามารถอนุมานได้ว่าเป็นบ่อน้ำที่ลึกอยู่พอสมควร บ่อน้ำนี้เป็นแหล่งกำเนิดซึ่งมีสิ่งมีชีวิตแปลกๆ มากมาย บ้างก็อยู่ในน้ำ บ้างก็กระจัดกระจายไปตามพื้น ไกลออกไปยังพื้นที่ตรงกลางมีทะเลสาบขนาดใหญ่ที่มีสถาปัตยกรรมสีชมพูสูงตระหง่าน ยังมีสิ่งมีชีวิต และสัตว์ลักษณะผสมอื่นๆ อีกมากมาย
ส่วนที่ 2 “สวนสุขีโลกิยะ” ที่มาภาพ: https://en.m.wikipedia.org/wiki/The_Garden_of_Earthly_Delights
ส่วนที่ 2 “สวนสุขีโลกิยะ”
นี่คือภาพส่วนที่เป็นที่มาของชื่อ “สวนสุขีโลกิยะ” (Garden of Earthly Delights) มนุษย์หลายร้อยคนในภาพส่วนที่ 2 นี้เป็นลูกหลานของอาดัม และเอวา พวกเขาเปลือยกายล่อนจ้อนใช้ชีวิตอย่างอิสระในสวนสวรรค์อันเหนือจริง บ้าคลั่ง และแปลกประหลาด มนุษย์บางส่วนเป็นชาวยุโรป และบางส่วนเป็นชาวแอฟริกันพวกเขาอาศัยอยู่ร่วมกันโดยไม่สนเรื่องชนชั้นวรรณะ หรือเชื้อชาติ และไม่กังวลเรื่องบาปเลยแม้แต่น้อย ผู้คนเหล่านี้อาจเป็นข้อพิสูจน์ว่าศิลปินนั้นมีความเกี่ยวข้องกับลัทธินอกรีต Homines Intelligentiae ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ภูมิทัศน์ที่ทอดยาวกว้างขวางเต็มไปด้วยผู้คนที่เปลือยร่างของตนนี้ ดูเหมือนพวกเขาเหล่านั้นจะเต็มไปด้วยตัณหา และราคะ พวกเขาพูดคุย วิ่งเล่น และกินกันอย่างสนุกสนาน บ้างก็ทำท่าทางแปลก ๆ สตรีหลายคนกำลังตั้งท้อง หลายคนก็ได้ให้กำเนิดบุตร บนพื้นตรงกลางมีแอ่งน้ำขนาดย่อมมีผู้หญิงจากหลากหลายเชื้อชาติอยู่ในอ่าง รอบ ๆ อ่างมีผู้ชายหลายร้อยคนขี่ม้า วัว หมี และสัตว์ที่มีลักษณะผสมอื่น ๆ มากมายล้อมแอ่งน้ำไว้
กิ๊บสัน นักวิจารณ์ศิลปะ ได้เขียนอธิบายในรายงานที่ชื่อ “The Garden of Earthly Delights โดย Hieronymus Bosch: The Iconography of the Central Panel” ว่า บอชน่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณคดีเรื่อง “Romance of the Rose” หรือ สวนแห่งความรัก ซึ่งเป็นวรรคดีที่โด่งดังที่สุดในตะวันตกขณะนั้น วรรณคดีนี้แต่งขึ้นในศตวรรษที่ 13 และได้รับการแปลไปหลายภาษา รวมถึงภาษาดัตช์ด้วย
ตามความหมายจากวรรณคดีการเด็ดผลไม้มากินของคนในภาพจึงเป็นสัญลักษณ์ของการมีเพศสัมพันธ์ และการว่ายน้ำในแอ่งของหญิงสาวยังตรงกับสำนวนสุภาษิตของชาวดัตช์ในศตวรรษที่ 16 ที่ว่า "ว่ายน้ำในอ่างดาวศุกร์" ซึ่งหมายถึงการมีความรัก ฝูงสัตว์ที่เหล่าชายหนุ่มขี่หลังอยู่สื่อถึงสัญชาตญาณดิบของพวกเขา นกฮูกหมายถึงความชั่วร้าย นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์อีกอย่างที่กระจายอยู่ทั่วภาพ นั่นคือลูกแก้วทรงกลมซึ่งเกี่ยวข้องกับสุภาษิตของชาวดัตช์ที่ว่า “ความสุขก็เหมือนแก้ว เดี๋ยวเดียวก็แตก”
ตอกย้ำด้วยคำอธิบายที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่งเขียนโดยนักประวัติศาสตร์ และนักศาสนศาสตร์ Fray José Sigüenza ในปี 1605 เขาได้เรียกภาพวาดนี้ว่า "ต้นสตรอเบอร์รี่" จากจำนวนสตรอเบอร์รี่ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของภาพ ซึ่งมีความหมายโดยนัยว่า "ความไร้สาระ ความไม่จีรังยั่งยืน" เปรียบเสมือนความสุขที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็หายวับไป
ส่วนที่ 3 "นรก" ที่มาภาพ: https://en.m.wikipedia.org/wiki/The_Garden_of_Earthly_Delights
ส่วนที่ 3 "นรก"
ท่ามกลางความมืดมิด มนุษย์รวมกันอยู่เป็นกลุ่มเพื่อเข้ารับการทรมานอย่างแปลกประหลาดด้วยผู้ประหารชีวิต และสัตว์ปีศาจ มีเครื่องดนตรีหลายชิ้นที่ไม่ได้ใช้เพื่อความบันเทิงแต่อย่างใด แต่เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ทรมาน นอกจากนี้ยังมีเกมกระดาน ลูกเต๋า แขนขา ร่างที่ถูกเสียบ และร่างที่ถูกสัตว์คล้ายสุนัขสองตัวแทะกิน
โดยรวมแล้วภาพนี้ได้เน้นย้ำอย่างชัดเจนว่าเครื่องดนตรีเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งล่อลวงจิตใจที่ เป็นสิ่งชั่วร้าย อีกทั้งสัญลักษณ์ และการทรมานหลายอย่างยังคล้ายคลึงกับเรื่องบาป 7 ประการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผัสสะของมนุษย์
Hans Belting นักประวัติศาสตร์ศิลปะคิดว่าร่างของชายหนุ่มที่แตกสลายเหลืออยู่เพียงท่อนบนกลางภาพนี่เป็นภาพเหมือนตนเองของศิลปินเอง แม้จะมีผู้คนมากมายเห็นด้วยกับแนวคิดของเขา แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าเป็นบอชหรือไม่
หากเรามองอย่างใกล้ชิด สิ่งเดียวที่เชื่อมโยงสวรรค์กับนรกก็คือบาป
ปิลาร์ ซิลวา มาโรโต (ภัณฑารักษ์)
ข้อความข้างต้นก็น่าจะเป็นประโยคที่สรุปเนื้อหาเรื่องสวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก ของภาพนี้ได้อย่างชัดเจนที่สุด นอกจากนั้นผลงานของบอชยังแสดงให้เห็นว่าจิตของมนุษย์นั้นเป็นศูนย์กลางของจินตนาการที่สร้างทั้งความสุข และความทุกข์ขึ้น ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์อันแปลกประหลาดของเขาเอง ทำให้สัญลักษ์ที่ปรากฏในภาพนั้นน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง
และแม้ว่าจะมีแหล่งข้อมูลอื่น ๆ อีกมากมายที่ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับภาพอันมีค่าของบอช แต่ภาพวาดชิ้นนี้ยังคงเป็นปริศนานับตั้งแต่มีการสร้างสรรค์มา บางคนเชื่อว่าภาพนี้วาดขึ้นเพื่อความบันเทิง หรือไม่ก็มีจุดประสงค์ทางศาสนา แม้จะมีการนำมาตีความตามทฤษฎีต่าง ๆ แล้วก็ตาม ก็ยังไม่สามารถเข้าใจความหมายได้ทั้งหมด ผลงานของบอชจึงเป็นหนึ่งในผลงานที่เข้าใจยากที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะ แต่ยังเปิดกว้างสำหรับเราทุกคนในการตัดสินใจว่ามันหมายถึงอะไร
-ซับศิลป์-
โฆษณา