22 ต.ค. 2023 เวลา 06:00 • ธุรกิจ

‘Scent And Sense’ ผู้สร้างสรรค์เอกลักษณ์ผ่าน ‘กลิ่น’

‘กลิ่น’ เป็นศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้ทำการตลาดในปัจจุบันมากขึ้น ทั้งในแง่ของการสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับผู้บริโภค รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร ‘Scent And Sense’
เป็นหนึ่งในไม่กี่แบรนด์ ที่ปรุงกลิ่นขึ้นมาด้วย Passion นำวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับงานศิลปะ จนเกิดเป็นสินค้าและบริการที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ไม่ใช่แค่สร้างธุรกิจ แต่ยังสนับสนุนภาคเกษตรไทยด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน
เรากำลังพูดถึง คุณรุจิรา ตระกูลยิ่งเจริญ กรรมการผู้จัดการ ‘Scent And Sense’ ผู้ดูแลประสบการณ์ด้านกลิ่นครบวงจร ให้คำปรึกษาด้านกลิ่นตั้งแต่ต้นจนจบ ดูแลให้คำปรึกษา ตั้งแต่คอนเซ็ปต์การสร้างกลิ่น และผู้รับจ้างผลิตสินค้า OEM ซึ่งเธอเคยเป็นนักวิจัยโรคติดต่อ ก่อนหันมาสนใจปรุงน้ำหอมอย่างจริงจัง จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกลิ่น (Scent Expert) และอยู่เบื้องหลังแบรนด์ชั้นนำมากมาย
📌จากนักวิจัยโรคติดต่อ สู่ผู้รังสรรค์กลิ่นน้ำหอม
คุณรุจิรา ตระกูลยิ่งเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเซนท์ แอนด์ เซนส์ แลบอราทอรี่ จำกัด (Scent And Sense) บริษัทน้ำหอม ที่เป็นทั้งเจ้าของแบรนด์เครื่องหอม และรับจ้างผลิตสินค้า OEM เล่าถึงที่มาของแนวคิดว่า เธอกับคุณแบงค์ รัชพล ตันติประภากุล กรรมการและผู้ก่อตั้ง ‘Scent And Sense’ เรียนจบทางด้านวิทยาศาสตร์มาด้วยกัน และเริ่มงานเป็นนักวิจัยโรคติดต่อ ออกพื้นที่ดูแลสาธารณสุขให้ชาวเขาทางภาคเหนือ
สิ่งที่ทั้งสองคนพบเจอเหมือนกันคือ บนดอย หรือในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ มีเพียงคนแก่กับเด็กเล็กอยู่บ้าน ส่วนลูกหลานวัยทำงาน ต้องออกไปหางานทำในเมือง เพราะในพื้นที่ไม่มีงานรองรับ
“เราจึงคุยกันว่า เป็นไปได้ไหม หากจะใช้ความรู้ที่มีมาสร้างงานให้คนในพื้นที่ ซึ่งมีวัตถุดิบตั้งต้นทางการเกษตรเป็นฐานอยู่แล้ว น่าจะช่วยดึงคนกลับมาทำงานในพื้นที่บ้านเกิดของเขาได้ และยังทำให้อาชีพเกษตรเข้มแข็งขึ้นด้วย”
คุณรุจิรา เล่าถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมาสนใจธุรกิจปรุงกลิ่นน้ำหอมว่า ต้องการนำความรู้ที่เรียน มาแปรรูปสินค้าเกษตร แล้วสร้างงานให้คนในพื้นที่ จึงสร้างแบรนด์ ‘Scent And Sense’ ขึ้นมา โดยเริ่มจากการนำสมุนไพรมาแปรรูปเป็นสินค้า ตั้งแต่ สบู่สมุนไพร สครับ ผลิตภัณฑ์ สกินแคร์ รวมถึง ผลิตภัณฑ์ สปา อโรมา ด้วยความเป็นวัยรุ่น จึงอยากเปลี่ยนภาพลักษณ์สมุนไพรให้ทันสมัย ทั้งกลิ่น และแพ็กเกจจิ้ง จึงเริ่มเรียนรู้เรื่องกลิ่นอย่างจริงจัง เพื่อแปรรูปและพัฒนาสมุนไพรให้มีความหลากหลายมากขึ้น
หลังจากพัฒนางานสมุนไพรได้ระยะหนึ่ง มีลูกค้าที่เป็นแบรนด์หรือบริษัท ติดต่อให้เราดูแล ออกแบบ เรื่อง ‘กลิ่น’ ให้ จึงไปเรียนรู้เรื่องการปรุงกลิ่นน้ำหอมเพิ่มเติม จนจบ Senior Perfumer Level จาก Perfumers World และ Grasse Institue Of Perfumery มาเป็น Perfumer หรือนักปรุงน้ำหอม ซึ่งมองว่าจะช่วยส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรได้มากขึ้น จากการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เกษตรให้เป็นน้ำมันหอมระเหยที่ตลาดโลกมีความต้องการสูง
📌‘Scent And Sense’ ทำอะไรได้บ้าง?
ปัจจุบัน ‘Scent And Sense’ เป็นผู้ดูแลประสบการณ์ด้านกลิ่นครบวงจร ให้คำปรึกษาด้านกลิ่นตั้งแต่ต้นจนจบ ดูแลให้คำปรึกษาตั้งแต่คอนเซปต์การสร้างกลิ่น ไปจนถึงแพ็กเกจจิ้งพร้อมผลิตในโรงงานที่ได้รับมาตรฐาน GHP (Good Hygiene Practices)
โดยปีหนึ่งเราดูแลลูกค้า 130 แบรนด์ ที่ผ่านมาเรามีลูกค้าที่ดูแลกว่า 500 แบรนด์ มีกลิ่นที่สร้างไม่ต่ำกว่า 4,000 กลิ่น สำหรับบริการหลัก คือบริการออกแบบกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ สะท้อน “ตัวตน” หรือ “คอนเซ็ปต์” สำหรับลูกค้าธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ
แบ่งเป็น 3 ส่วน คือส่วนแรกบริการรับผลิตน้ำหอม สกินแคร์ และเครื่องหอม ส่วนที่สองบริการระบบกระจายกลิ่นสำหรับอาคาร ร้านค้า และอีเวนต์ ส่วนสุดท้ายจำหน่ายหัวน้ำหอมสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อได้กลิ่นเป็นเอกลักษณ์และควบคุมบริหารต้นทุนการผลิตได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“เราดูแลตั้งแต่งาน OEM น้ำหอมที่เป็นแบรนด์ทั้ง Niche และแฟชั่น เครื่องหอมอโรมา กลิ่นของสถานที่ เช่น โรงแรมหรือห้างต่าง ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ใช้ในบ้าน อย่างกลิ่นที่ใช้ในทิชชูเปียก น้ำยาซักผ้า หรืออะไรก็ตามที่มีกลิ่นหอมทั้งหมด ถ้าลูกค้ามาหาเรา เขาสามารถโฟกัสไปที่การขายของเขาได้เต็มที่ ส่วนงานหลังบ้าน เราดูแลให้ทั้งหมดจนเสร็จเป็น Finishing Product เลย”
📌‘กลิ่น’ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เกษตรไทย เติบโตไปด้วยกัน
คุณรุจิรา เล่าเพิ่มเติมว่า กลิ่นจากผลผลิตภาคเกษตรไทยสามารถนำมาทำเป็น Essential Oil ได้มากกว่า 30 ชนิด เช่น กลิ่นมะลิ กลิ่นกุหลาบมอญ กระดังงา มะนาว ส้มโอ ซึ่งซัพพอร์ตตลาดเกษตรให้ยั่งยืน และเพิ่มมูลค่าผลผลิต
โดยนำมาทำเป็นน้ำหอม จะช่วยกำจัดของเสียได้มากขึ้น ยกตัวอย่าง กลุ่มสวนมะนาวที่นอกจากคั้นน้ำไปขายเพิ่มมูลค่าแล้ว เปลือกมะนาวยังนำมาทำ Essential Oil หรือสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ราคาสูงถึง 7,000 บาท เป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรมีความมั่นคงมากขึ้น เพราะมีรายได้จากการแปรรูปอีกทางหนึ่ง
“จริง ๆ แล้ว อุตสาหกรรมน้ำหอมเป็นตัวแปรรูปที่ให้มูลค่าสูง สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรไทยได้อย่างมาก เช่น สมุนไพรอายุจะสั้น ถ้าเรานำมาแปรรูปเป็นสมุนไพรผง จะยืดอายุได้นาน 1 ปี แต่พอสกัดเป็นน้ำหอมสามารถอยู่ได้ถึง 3 ปี เมื่อสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น ส่งผลให้สินค้าสามารถส่งออกได้โดยไม่เสียหาย และเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตสูงขึ้นอีกด้วย”
เราอยากขยายจำนวนพืช และจำนวนกลุ่มเกษตรกรชุมชนตามความตั้งใจแรก โดยการสกัดเกิดขึ้นที่หน้าฟาร์มเพื่อให้ได้กลิ่นที่ดีที่สุด และบทบาทของธุรกิจเราคือการรวบรวม Demand ที่มากพอ
เพื่อให้ในฝั่งการสกัดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อทำออกมาแล้วต้องมีคนเอาไปใช้ต่อ ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่สามารถลงทุนต่อได้ เหมือนเราเป็นตัวกลางกระจายของ นำมาใช้เพื่อให้เกิดเป็น Volume ใหญ่
ปีหนึ่งเราเลยรับงานแมสค่อนข้างเยอะ เพื่อที่จะบาลานซ์ปริมาณการใช้งานวัตถุดิบเหล่านี้ เพราะอยากให้ชุมชนเติบโตไปพร้อม ๆ กับเรา โดยหวังว่าทุกโอกาส จะส่งกลับไปสู่ชุมชนด้วย
📌ทุกประสบการณ์ เล่าผ่าน ‘กลิ่น’ ได้
คุณรุจิรา มองว่า ทุกประสบการณ์สามารถเล่าผ่านกลิ่นได้ ฉะนั้นการสร้างกลิ่นของ ‘Scent And Sense’ จึงเป็นการสร้างประสบการณ์ควบคู่ไปด้วย เช่น เราเคยออกแบบกลิ่น ให้กับตัวละครในนิยาย ถ่ายทอดคาแร็กเตอร์ของตัวละคร ที่เป็นอมตะ เป็นฆาตกร มนุษย์ที่มีหลายมิติ ด้านหนึ่งเป็นนักฆ่า อีกด้านหนึ่งเป็นนักสู้ แต่อีกด้านกลับเป็นผู้หญิงอ่อนแอ ทั้งหมดนี้สามารถรวมเข้าไปไว้ใน 1 กลิ่นได้
ดังนั้น ถ้าถามว่า ทำไมกลิ่นถึงทรงพลัง ก็ตอบได้ว่า กลิ่นเป็นเหมือน ภาษาสากล (Universal Language) ที่สามารถสื่อสารได้ตรงกันทั่วโลก และอีกข้อที่สำคัญ คือสามารถระลึกถึงความทรงจำได้ (Memory Recall) คือปกติถ้าเราเห็นภาพผ่านตา จะต้องให้สมองตีความกลับมา
แต่จมูกสามารถรับประสาทสัมผัสได้ทันที จึงไม่แปลกที่เราจะรู้สึกได้ทันทีที่ได้กลิ่น เช่น กลิ่นนี้เหมือนตอนเราอยู่อนุบาล กลิ่นนี้หอมเหมือนกลิ่นแม่ กลิ่นนี้รู้สึกสบายจัง การสร้าง Scent Marketing คือ กลยุทธ์การใช้กลิ่นที่ผ่านการเลือกสรร เพื่อให้กระจายไปตามทุกจุดสัมผัสของลูกค้า สร้างการจดจำแบรนด์ให้ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
📌‘กลิ่น’ ช่วยเพิ่มยอดขายได้
หลายคนเข้าใจว่ากลิ่นเป็นเรื่องของน้ำหอมอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้ว มีรายละเอียดซับซ้อนกว่าที่คิด คุณรุจิรา สะท้อนมุมมองว่า 1 กลิ่น ที่เราดม หลังบ้านคือคนปรุง จะมีองค์ประกอบประมาณ 40 - 80 ตัว ซึ่งทั้งหมดคือ message ที่ร้อยเรื่องราวเข้าไป ทำให้คนเห็นภาพเดียวกันได้
คุณรุจิรา อธิบายถึงกระบวนการสร้าง Scent Marketing ว่า เวลาจะสร้างกลิ่นขึ้นมา เราเริ่มที่ตัวตนของแบรนด์ เน้นให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โฟกัสที่ผู้บริโภคของแต่ละรายว่าเป็นใคร ซึ่งเรามีการทำ Marketing Research ไว้แล้ว ว่า Target ลูกค้ากลุ่มนี้เขาจะตอบรับกลิ่นในช่วงไหน
ความหอมหรือเหม็น ของแต่ละTarget เป็นเรื่องเฉพาะมาก ๆ เช่น เอากลิ่น Luxury ไปใช้ในตลาดแมส หลายคนอาจจะมองว่าเป็นไอเดียที่ดี แต่ผู้บริโภคตลาดแมสไม่เข้าใจ อาจรู้สึกว่าความหอมนั้นเหม็น เพราะไม่ได้หอมในมุมของเขา
เราจึงต้องโฟกัสไปที่ผู้บริโภคของแบรนด์นั้น แล้วเอาอินไซต์จากผู้บริโภคมารวมกับตัวตนของแบรนด์ที่จะถ่ายทอด วิธีนี้จะช่วยให้การสื่อสารและการออกแบบสินค้าแม่นยำขึ้น และลดความเสี่ยงของลูกค้าด้วย
เพราะฉะนั้น หน้าที่นอกเหนือจากการดีไซน์ คือการเล็งเป้าให้แม่นยำเพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จให้ลูกค้า เช่น ลูกค้าต้องการนำสินค้าไปขาย เราจะทำ Marketing Research ว่าลูกค้าอยู่ประเทศไหน อายุเท่าไหร่ รายได้เท่าไหร่ มีไลฟ์สไตล์อย่างไร
เพราะในแต่ละช่วงประสบการณ์ของลูกค้า จะมีการระลึกถึงความทรงจำ (Memory Recall) ไม่เหมือนกัน ลูกค้าคนไทย ที่ไปเรียนเมืองนอกกลับมา ไม่ว่าจะใช้กลิ่นที่มีความเป็นไทยมากแค่ไหน เราต้องใส่กลิ่นอายความเป็นตะวันตกลงไปนิดหนึ่ง เพื่อให้เขาได้ Recall ถึงความเป็นเมืองหนาวอยู่บ้าง การปรุงกลิ่นจึงมีเรื่องราวประสบการณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ
“จุดแข็งของเรา คือ ความเข้าใจในลูกค้าของลูกค้า เป็นเหตุผลว่าทำไม ‘Scent And Sense’ จึงยืนอยู่เบื้องหลัง แบรนด์ชั้นนำหลาย ๆ แบรนด์”
📌ความสนุกและท้าทาย กับการร่วมงานพาร์ตเนอร์แบรนด์ต่าง ๆ
คุณรุจิรา เผยมุมมองในการทำงานกลิ่นกับทุกบริษัทว่า ทุกครั้งที่ได้เริ่มงานใหม่กับลูกค้า เหมือนเราได้เข้าไปอยู่ในโลกใบใหม่ ๆ ตลอดเวลา แบรนด์แฟชั่นที่เราร่วมงาน อย่าง DAPPER, SMILEYHOUND GREYHOUND เพื่อร่วมสร้างสรรค์กลิ่นและสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค
จนได้รับรางวัลชนะเลิศ The Beauty Shortlist Award 2022 จากอังกฤษ และได้รับการคัดเลือกน้ำหอมเข้า Finalist 6 กลิ่น และติด Top 5 Popular Vote 3 กลิ่นแล้ว ผลงานภายใต้แบรนด์ Artepole ยังได้รางวัลชนะเลิศสาขา Thai Enhancement ด้วย
ซึ่งการที่เรามีโอกาสได้ร่วมงานกับ Creative Director และ CEO ทำให้ได้เห็นวิธีการมองแบรนด์ มองสินค้าของเขาหลาย ๆ ด้าน เช่น Emotional, Functional หรือ User Experience มีข้อมูลและมีการใส่ใจรายละเอียดในตัวตนของแบรนด์ค่อนข้างสูง รวมถึงความเคารพในความชอบของลูกค้าของแบรนด์สูงมาก
หรืออย่างงาน วิสาหกิจชุมชนในเครือ บริษัทพลังงานชั้นนำของไทย เราเข้าไปดูแลการออกแบบกลิ่นและพัฒนาสูตรสำหรับนวัตกรรมใหม่ของเขา เป็นประสบการณ์ที่ได้ไปอยู่กับทีมนักวิทยาศาสตร์ ร่วมวิจัยพัฒนา และได้เห็นอีกด้านหนึ่งของวิสาหกิจชุมชน ที่เขาตั้งใจผลักดันให้ปลูกพืชท้องถิ่นไปพร้อม ๆ กับการสร้างมูลค่าด้วย
📌อนาคตของ ‘Scent And Sense’
ปัจจุบัน ‘Scent And Sense’ มีการเติบโตค่อนข้างสูง ปัจจัยหนึ่งเกิดจากการที่ธุรกิจของเรามีความเฉพาะตัว ในไทยอาจจะมีคนทำไม่เยอะ และความต้องการของตลาดค่อนข้างดี เราจึงมุ่งมั่นเป็น One Stop Service ด้านนี้เต็มตัว เพราะมองว่าอุตสาหกรรมนี้ยังเติบโตไปได้อีกมาก
สำหรับแผนงานปีนี้และปีหน้า คุณรุจิรา มีแผนจะขยายฐานงานวิจัยน้ำมันหอมระเหยไทยเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงงานวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพความคงทนของกลิ่นในผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยให้การทำงานของ ‘Scent And Sense’ แข็งแรงขึ้น โดยอาจเพิ่มเรื่องจิตวิทยาในการใช้กลิ่นอโรมาโคโลจี สุคนธบำบัด รวมถึงการหาโปรดักต์ใหม่ ๆ ให้ลูกค้า
‘เราไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นผู้ผลิตหรือผู้ออกแบบน้ำหอม แต่เป็นผู้ออกแบบประสบการณ์’ ที่ไปตอบรับกับ Target จึงเป็นที่มาของการร่วมงานกับ Agency หลายราย เช่น “ธูปกลิ่นไก่ทอด KFC” เป็นงานที่เราสร้างขึ้นมาร่วมกับ Wunderman Thompson Thailand
เป็นการผสมผสานกลิ่นจาก 11 สมุนไพรสูตรลับ พร้อมเทกซ์เจอร์สุดแปลก ที่ให้ผิวสัมผัสเหมือนไก่เพิ่งทอดใหม่ ๆ ความท้าทาย คือการใช้กลิ่นผสมอาหารเป็นกลิ่นของธูป โดยครีเอทให้เป็นธูปออร์แกนิกด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากมาก ที่จะทำให้กลิ่นออกมาหอม สมจริง ทั้งกลิ่นไก่และรูปลักษณ์
ส่วนเป้าหมายสำคัญในอนาคตของ ‘Scent And Sense’ หลังโควิด เราจะขยายตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มลูกค้าแบรนด์ต่างประเทศ ได้ลองใช้ผลิตภัณฑ์ของเราแล้ว อาทิ มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น และอเมริกา ทำให้อีกหลาย ๆ แบรนด์กำลังไหลเข้ามา
จึงมองว่าแผนในระยะสั้น เราจะสร้างฐานให้แข็งแรงก่อน โดยส่วนที่เราพยายามทำมาตลอดคือ R&D ด้านคุณสมบัติตัวสินค้า การลดต้นทุนให้แบรนด์ลูกค้าของเรามีจุดแข็งในการขายมากขึ้น
“เป้าหมาย ไม่ได้มองแค่เป้าของบริษัทอย่างเดียว แต่มองเป็น 3 ส่วน คือ การเติบโตของแบรนด์ลูกค้าเรา ตัวเราเอง และชุมชน นั่นหมายถึง เราต้องการเป็นเบื้องหลังการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งให้กับลูกค้า ส่วนในมิติของชุมชน เราพยายามช่วยเกษตรกรไทยแข็งแรง มีรายได้ที่มั่นคงยิ่งขึ้น รวมถึงมิติของนักปรุงกลิ่น เราต้องการเป็น HUB ให้นักออกแบบอิสระเติบโตไปด้วยกันทั้งอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันให้วงการน้ำหอมและเกษตรกรเติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน”
ติดตามเพิ่มเติมที่ :
โฆษณา