Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ทนายน้อยหน่า
•
ติดตาม
23 ต.ค. 2023 เวลา 07:23 • ไลฟ์สไตล์
"ความสามารถในการทำนิติกรรมของผู้สูงอายุ"
วันก่อนที่ไปบรรยายเรื่องกฎหมายมรดกและการจัดทำพินัยกรรมให้วัยเก๋าฟัง (วัยเก๋าที่เข้าฟังคือมีอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป) ได้มีผู้สอบถามกันมากเกี่ยวกับเรื่องผู้อนุบาลเพื่อดูแลการจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุ วันนี้เลยจะมาเล่าให้ฟัง
“ผู้สูงอายุ” ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๔๖ หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุเกินกว่า
หกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่ควบคุมเรื่องการทำนิติกรรมของผู้สูงอายุโดยตรง
อย่างไรก็ตามในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้มีการบัญญัติถึงความสามารถในการทำนิติกรรมของบุคคลผู้ไร้ความสามารถว่าจะต้องดำเนินการโดยผู้อนุบาล
ดังนั้นหากผู้สูงอายุแม้ว่าจะอายุเกิน ๖๐ ปีขึ้นไปแต่หากยังมีความสามารถในการตัดสินใจ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แม้ว่าจะเสื่อมถอยไปบ้างตามสภาพของอายุ ญาติใกล้ชิดเช่นคู่สมรส บุตร หรือบิดามารดา ก็ไม่สามารถร้องขอต่อศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนไร้ความสามารถเพื่อตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาลได้เพราะการสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลศาลจึงต้องไต่สวนให้ได้หลักฐานเพียงพอ
ในทางปฏิบัติผู้สูงอายุที่มีอายุมากประมาณ ๗๐-๘๐ ปี ความจำจะถดถอย การตัดสินใจจะช้าลง กล้ามเนื้อขาไม่แข็งแรงไปไหนมาไหนเองโดยลำพังไม่ได้ต้องมีคนดูแลช่วยพยุงไม่ให้ล้ม
แต่หากแพทย์ไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ หรือ เป็นโรคสมองเสื่อมก็จะยังไม่ถึงขั้นที่ศาลจะสั่งเป็นคนไร้ความสามารถที่ผู้อนุบาลจะทำนิติกรรมแทนได้ แต่ศาลอาจจะสั่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถที่อยู่ในความดูแลของผู้พิทักษ์ซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถสามารถทำนิติกรรมเองได้แต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ โดยผู้พิทักษ์ไม่สามารถทำนิติกรรมแทนได้ซึ่งจะต่างกับกรณีผู้อนุบาล
การร้องขอต่อศาลมีคำสั่งให้บุคคลเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ สามารถร้องขอต่อศาลเยาวชนและครอบครัวที่ภูมิลำเนาของบุคคลนั้นหรือผู้ร้องที่จะเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์อยู่ในเขตอำนาจศาล โดยผู้ร้องจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับบุคคลนั้นเช่นเป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นมารดาหรือบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากเป็นโสดที่บิดามารดาเสียชีวิตแล้ว พี่น้องก็สามารถเป็นผู้ร้องได้ โดยให้ทนายความดำเนินการให้ นอกจากนี้ยังสามารถขอให้อัยการดำเนินการร้องศาลแทนได้ด้วย
ผู้อนุบาลเมื่อได้รับคำสั่งจากศาลแล้วจะไม่ได้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินตามอำเภอใจแต่เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ เช่น มาตรา ๑๕๗๔(๑) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิ์จำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ ผู้อนุบาลจะกระทำไม่ได้เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
นั่นคือแม้จะเป็นผู้อนุบาลแล้วแต่หากต้องการขายที่ดินของคนไร้ความสามารถ ผู้อนุบาลก็ต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขออนุญาตขายที่ดินนั้นเสียก่อน ซึ่งศาลจะนัดไต่สวนว่ามีเหตุสมควรหรือไม่เพื่อช่วยปกป้องไม่ให้ผู้อนุบาลจัดการทรัพย์สินเองตามใจชอบ
ไม่ว่าอย่างไรการดูแลสุขภาพตัวเองให้ยังคงช่วยเหลือตัวเองได้จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตก็คือสิ่งที่ผู้สูงอายุทุกคนคาดหวัง
อ้างอิงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๘-๓๖
#ทนายน้อยหน่า
๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๖
ภาพ: ทนายน้อยหน่าที่ตั้งใจรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อจะได้เป็นผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองได้จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
บันทึก
1
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย