28 ต.ค. 2023 เวลา 12:00 • สิ่งแวดล้อม

โมเดลธุรกิจ ESG ของไทย สู่ SDGs ความยั่งยืนระดับโลก

(บทความจาก :กรุงไทย SME FOCUS Issue 40 คอลัมน์ SME Go Green)
แนวโน้มในโลกปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่เรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
ในภาคธุรกิจก็เช่นกัน
สังเกตได้จากหลายบริษัทหันมาปรับนโยบายให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดำเนินงานโดยเน้นสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กรซึ่งจะส่งผลต่อโลกใบนี้ด้วย
ทำไมต้อง SDGs?
ภาคธุรกิจคงคุ้นเคยกับหลักการ ESG: Environmental, Social, and Corporate Governance (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) หรือหลักคิดของธุรกิจที่ไม่ได้แสวงหากำไรอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนด้วยไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างงาน ชั่วโมงการทำงาน การจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติ
ในขณะที่ Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นแผนพัฒนาของโลกที่สหประชาชาติ (UN) สร้างขึ้น หรือที่เรียกว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก 17 ข้อ แบ่งเป็น 5 มิติ ได้แก่
มิติสังคม (People) มิติเศรษฐกิจ (Prosperity) มิติสิ่งแวดล้อม (Planet) มิติสันติภาพและสถาบัน (Peace) และมิติหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership)
จากตรงนี้จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ ESG และ SDGs มีเหมือนกันนั่นคือ
มิติด้านสังคม (People) และมิติสิ่งแวดล้อม (Planet) ESG เป็นเพียงไม่กี่มิติของ SDGs เท่านั้น การนำเอาเป้าหมาย ของ SDGs เข้ามาเติมเต็มนั้นก็เพื่อให้การดำเนินการขององค์กรสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นนั่นเอง
หลักการ ESG ที่สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs มีอะไรบ้างมาดูกัน
  • เริ่มจาก “มิติด้านสิ่งแวดล้อม” หรือ E (Environment) ซึ่งครอบคลุมเป้าหมาย SDGs ในข้อที่ 6 และข้อที่ 12 - 15
ครอบคลุมตั้งแต่เรื่อง การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ลดการใช้พลังงานเกินความจำเป็น หรือ อาจจะหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทน รวมถึงการอนุรักษ์ และ ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทั้งทางบกและทางทะเลอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และ การสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป็นต้น
สำหรับธุรกิจไหนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้องให้ความสำคัญกับตัว E เป็นหลักเลย เช่น ถ้าคุณขายกาแฟ ก็ต้องรู้ว่าเมล็ดกาแฟมาจากการทำไร่ที่ยั่งยืนหรือเปล่า
ตัดไม้ทำลายป่าไหม การประหยัดไฟในร้านทำได้อย่างไร และ ขยะที่เกิดขึ้นควรจัดการอย่างไร เป็นต้น
  • สำหรับมิติด้าน “เศรษฐกิจที่เป็นธรรม” และ “การกำกับดูแล” หรือ G (Governance) ก็ตรงตัวเลย พูดถึงการส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีการจ้างงานที่เหมาะสมกับทุกคนและจ่ายค่าแรงอย่างเป็นธรรม เรียกว่าไม่ใช่แค่ธุรกิจเราจะเติบโตแค่คนเดียว แต่ว่าลูกจ้างก็ต้องมีชีวิตที่ดีด้วย
รวมถึงการลงทุนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่ลงทุนกับหน่วยงานหรือองค์กรที่สนับสนุนการตัดไม้ทำลายป่า
การทำประมงอย่างผิดกฎหมาย เอาเปรียบมนุษย์ด้วยกัน และสุดท้ายคือ การไม่เอารัดเอาเปรียบลูกค้าหรือคู่ค้า ต้องดำเนินธุรกิจอย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส ไม่อย่างนั้นจะผิดทั้งกฎหมายและจิตใต้สำนึกด้วย
  • สุดท้ายมิติด้าน “สังคม” หรือ S (Social) ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหลักประกันให้ผู้คนในสังคมมีความเป็นอยู่ที่ดี มีงานทำ มีเงินใช้ เช่น สวัสดิการการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมทั้งสุขภาพกายและจิตที่ดี
เคารพสิทธิของแต่ละบุคคล ส่งเสริมความหลากหลายและความเท่าเทียมภายในองค์กร ไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ หรือศาสนา รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้องค์กรของเรายั่งยืนขึ้น แถมยังมีภาพลักษณ์ที่ดีด้วยเช่นกัน ทั้งในด้านการศึกษาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ทำไมธุรกิจจะต้องปรับใช้ ESG และ SDGs?
จากการวิเคราะห์ของหลาย ๆ สื่อบอกไว้ว่าการเข้าถึงเงินทุนในอนาคตเป็นไปได้ว่า
บริษัทที่มีความสอดคล้องกับ SDGs นั้นจะดึงดูดเงินทุนจากนักลงทุนที่กำลังมองหาการลงทุนที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นง่ายกว่า
รวมถึงการกีดกันทางการค้าที่นำเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นตัวแปร หรือ ที่เรียกว่าภาษีคาร์บอน หรือ Carbon Tax หากอุตสาหกรรมหรือสินค้าใดที่มีการปล่อยปริมาณคาร์บอนสูงก็จำเป็นที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายนั่นเอง
การปรับหลักการ ESG ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ถือเป็นกรอบการทำงานที่มีประสิทธิภาพสำหรับธุรกิจและนักลงทุนในการมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนระดับโลกจะสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้ ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาความก้าวหน้าไปสู่เป้าหมาย SDGs ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจโลกที่ยั่งยืนและครอบคลุมมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นแนวทางแบบ Win-win ไปเลย
โฆษณา