31 ต.ค. 2023 เวลา 02:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สูตรหา PE ที่เหมาะสมของหุ้น สไตล์เซียนมี่ ทิวา ชินธาดาพงศ์

หนึ่งในการหามูลค่าหุ้นแบบง่าย ๆ ที่เห็นกันได้บ่อย ก็คือ การนำ PE ของหุ้น ไปคูณกับ กำไรต่อหุ้นในอนาคต
2
ซึ่งวิธีนี้เป็นการดูว่า มูลค่าหุ้นตัวนั้น ควรจะเป็นกี่เท่าของกำไรที่บริษัททำได้
หรือในอีกแง่หนึ่งคือ เป็นการดูว่า ถ้าลงทุนในหุ้นตัวนั้น ควรจะคืนทุนภายในกี่ปี
ถึงแม้ว่า สูตรนี้มีตัวแปรเพียง 2 ตัวเท่านั้น คือ
1. กำไรต่อหุ้น
2. PE
แต่ก็ยังถือเป็นวิธีที่น่าปวดหัวอยู่ไม่น้อย
เพราะนอกจากเราจะต้องคาดการณ์กำไรต่อหุ้นในอนาคตให้ถูกต้องแล้ว เราก็ยังต้องประเมินตัวเลข PE ได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย
สำหรับกำไรต่อหุ้นในอนาคต เราอาจคาดการณ์ได้จากแนวโน้มเศรษฐกิจ, บทวิเคราะห์จากนักวิเคราะห์การลงทุน หรือจากบทสัมภาษณ์ของผู้บริหาร
แล้วในส่วนของ ค่า PE ที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัว ควรเป็นเท่าไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
หนึ่งในแนวคิดการหาค่า PE ที่เหมาะสมของหุ้น มาจากคุณมี่ ทิวา ชินธาดาพงศ์ นักลงทุนสาย VI ที่มีประสบการณ์การลงทุนมาหลายสิบปี
1
ซึ่งคุณมี่เคยเปิดเผยเอาไว้เมื่อ 2 ปีก่อน ในรายการ Money Chat ตอนวัดมูลค่าหุ้น อย่างง่าย
แรกเริ่ม คุณมี่จะมีการตั้งต้นด้วยค่ากลาง PE ซึ่งอ้างอิงจาก ค่าเฉลี่ยระยะยาวของบริษัทในตลาดหุ้นไทย
โดยจะอยู่ที่ราว 18 เท่า ซึ่งสะท้อนถึงบริษัททั่วไปที่มีคุณภาพกลาง ๆ
ดังนั้น PE ของบริษัทที่มีคุณภาพที่ดีกว่าบริษัททั่วไป ก็ควรมากกว่า 18 เท่า ในทางกลับกันบริษัทที่มีคุณภาพน้อยกว่า ก็ควรมี PE น้อยกว่านั้น
2
หลายคนอาจสงสัย แล้วคุณภาพของบริษัทจะวัดได้จากอะไร ?
ซึ่งคุณมี่ได้แบ่งเกณฑ์คุณภาพของบริษัทไว้ 5 ข้อ
1. การแข่งขันในอุตสาหกรรม
2. คุณภาพของรายได้
3. การเติบโตของกำไร
4. ผลตอบแทนของส่วนผู้ถือหุ้น หรือ ROE
5. หนี้สินต่อทุนของบริษัท หรือ DE
 
โดยแต่ละข้อ จะมีคะแนนมากสุดคือ +2 และลดหลั่นไปจนถึงต่ำสุดคือ -2 ตามคุณภาพของบริษัท เพื่อนำไปปรับเพิ่มหรือลดจากค่า PE เฉลี่ยที่ 18 เท่า อีกที
2
ทีนี้เราลองมาเจาะแต่ละข้อกัน โดยไล่เรียงจากภาพใหญ่
1
1. การแข่งขันในอุตสาหกรรม
- ถ้าบริษัทเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมแบบทิ้งห่างคู่แข่งมาก ได้ +2 คะแนน
ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมร้านสะดวกซื้อ อย่าง 7-Eleven ที่ทิ้งห่างคู่แข่งอันดับ 2 แบบนี้ก็ควรได้ +2 คะแนน
- แต่ถ้าบริษัทเป็นอันดับ 1 แบบทิ้งห่างคู่แข่งไม่ได้มาก ได้ +1 คะแนน
- บริษัทเป็นอันดับ 2 หรือ 3 ในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ไม่ค่อยโดดเด่น หรือบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ผู้เล่นไม่ได้มีความได้เปรียบเสียเปรียบกัน ได้ 0 คะแนน
- บริษัทอันดับเป็นรองกว่านี้ลงไป ได้ -2 คะแนน
2. คุณภาพของรายได้
1
- รายได้มีความสม่ำเสมอมาก ได้ +2 คะแนน
ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงอย่าง Netflix ที่ลูกค้าต้องจ่ายค่าบริการรายเดือนเพื่อรับชม
หรือธุรกิจให้บริการเก็บข้อมูลบน Cloud ที่ลูกค้าต้องจ่ายค่าบริการตลอดเพื่อรักษาข้อมูลเอาไว้
3
- รายได้มีความสม่ำเสมอระดับหนึ่ง ได้ +1 คะแนน
ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจสินค้าที่ลูกค้ามีการซื้อซ้ำ แต่ก็ไม่ได้มีสัญญาผูกพันซื้อซ้ำระยะยาว อย่างเช่น พวกอาหารและเครื่องดื่ม โรงพยาบาล เป็นต้น
1
- รายได้มีความสม่ำเสมอกลาง ๆ ได้ +0 คะแนน
- รายได้มีความสม่ำเสมอเป็นครั้งคราว ได้ -2 คะแนน
ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง หรือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่รายได้อาจขึ้นหรือลงตามจำนวนโครงการ และมีรายได้จากมูลค่าโครงการที่แตกต่างกัน
1
3. การเติบโตของกำไร
โดยเกณฑ์ข้อนี้ คุณมี่จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ซึ่งปกติแล้ว บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จะมีการเติบโตของกำไร
5-6% ต่อปี
- หากบริษัทที่เราประเมินมีการเติบโตในระดับนี้ หรือเท่า ๆ กับบริษัททั่วไปในตลาด จะได้คะแนนเท่ากับ 0
1
- ถ้ากำไรเติบโตมากกว่าตลาด 3 เท่า
คือประมาณ 15-20% ต่อปี ได้ +2 คะแนน
- ถ้ากำไรเติบโตมากกว่าตลาด 2 เท่า
คือประมาณ 10-12% ต่อปี ได้ +1 คะแนน
- ถ้ากำไรเติบโตน้อยกว่าตลาด ได้ -1 คะแนน
- ถ้ากำไรหดตัวหรือติดลบ ได้ -2 คะแนน
4. ผลตอบแทนของส่วนผู้ถือหุ้น หรือ ROE
ROE เป็นอัตราส่วนที่บ่งบอกความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ซึ่งค่านี้ยิ่งสูงจะยิ่งดี
- บริษัทมี ROE มากกว่า 20% ได้ +2 คะแนน
- บริษัทมี ROE 15-20% ได้ +1 คะแนน
- บริษัทมี ROE 10-15% ได้ 0 คะแนน
- บริษัทมี ROE ต่ำกว่า 10% ได้ -2 คะแนน
5. หนี้สินต่อทุนของบริษัท หรือ DE
DE เป็นอัตราส่วนที่บอกว่า บริษัทมีหนี้สินเป็นกี่เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งสะท้อนถึงฐานะทางการเงินของบริษัท โดยค่า DE ยิ่งน้อย ก็จะยิ่งได้คะแนนมาก
- บริษัทมี DE น้อยกว่า 1 เท่า ได้ +2 คะแนน
- บริษัทมี DE 1-1.5 เท่า ได้ +1 คะแนน
- บริษัทมี DE 1.5-2 เท่า ได้ 0 คะแนน
- บริษัทมี DE มากกว่า 2 เท่าขึ้นไป ได้ -2 คะแนน
1
ซึ่งหากเราลองนำค่า PE เฉลี่ยระยะยาว มาปรับเพิ่มหรือลดด้วยคะแนนของทั้ง 5 เกณฑ์นี้ จะเท่ากับว่า บริษัทที่ได้ PE มากสุด คือ 28 เท่า และบริษัทที่มี PE น้อยสุด คือ 8 เท่า
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ขอยกตัวอย่างบริษัท A ที่มีเกณฑ์คุณภาพ ดังนี้
- อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด ซึ่งแต่ละผู้เล่นครองส่วนแบ่งตลาดไม่ต่างกัน ได้ -2 คะแนน
- บริษัทมีรายได้สม่ำเสมอระดับหนึ่ง ได้ +1 คะแนน
- การเติบโตของกำไร 10% ต่อปี ได้ +1 คะแนน
- บริษัทมี ROE 16% ได้ +1 คะแนน
- DE ของบริษัทอยู่ที่ 1.7 เท่า ได้ 0 คะแนน
ดังนั้น PE ที่ควรจะเป็นของบริษัท A อยู่ที่ 18 - 2 + 1 + 1 + 1 + 0 = 19 เท่า
ทั้งนี้ต้องหมายเหตุด้วยว่า ค่า PE ของหุ้นที่เหมาะสมอาจไม่ได้มีเพียงค่าเดียวตลอดเวลา ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยหลายอย่าง เช่น วัฏจักรของธุรกิจ ดอกเบี้ยนโยบาย เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ ถ้าให้สรุปแนวคิดการวัดมูลค่าหุ้นผ่าน PE สไตล์คุณมี่แบบสั้น ๆ ก็คงเป็น “ยิ่งหุ้นที่มีคุณภาพดี มีความแข็งแกร่ง ก็ควรมี PE สูงขึ้นตามไปด้วย”
2
เมื่อเราได้แนวคิดในการหาค่า PE ที่เหมาะสม รวมกับการคาดการณ์กำไรต่อหุ้นในอนาคตได้ใกล้เคียง
ก็จะช่วยเป็นแนวทางให้เราวัดมูลค่าหุ้นได้แม่นยำมากขึ้นนั่นเอง..
Reference
-คุยกับมี่ ลงทุนวันนี้มีอะไร EP8 : วัดมูลค่าหุ้น อย่างง่าย โดย Money Chat Thailand
โฆษณา