1 พ.ย. 2023 เวลา 22:36 • หุ้น & เศรษฐกิจ

⚠️ เฟดคงอัตราดอกเบี้ยตามคาด ไม่มั่นใจเอาไงต่อดี 🏦

ธนาคารกลางสหรัฐฯส่งสัญญาณว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวที่ปรับตัวขึ้นจะช่วยลดความจำเป็นที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกครั้ง แม้ว่าประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ จะยังเปิดประตูทิ้งไว้สำหรับการปรับขึ้นอีกครั้งเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อก็ตาม
1
ขณะที่พาวเวลล์ระบุว่าผู้กำหนดนโยบายสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เมื่อพบกันในเดือนหน้า แต่ก็เขายังบอกว่าเจ้าหน้าที่เฟดอาจสิ้นสุดการดำเนินนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้เขากล่าวว่าเขายังไม่มั่นใจที่จะตัดสินว่านโยบายการเงินนั้นตึงตัวพียงพอที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาสู่เป้าหมาย 2% ของเฟดหรือไม่
1
เมื่อถูกถามว่าผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่ยังคงคาดหวังว่าจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้หรือไม่ พาวเวลล์กล่าวว่า “เป็นเรื่องแฟร์ที่จะบอกว่านั่นเป็นคำถามที่เราถามตัวเองเหมือนกันคือ เราควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่านี้หรือไม่’”
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงสุดในรอบ 22 ปีเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกันในวันพุธ คณะกรรมการกล่าวในแถลงการณ์หลังการประชุมว่า “สภาวะทางการเงินและสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับครัวเรือนและธุรกิจมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อ”
โดยถ้อยแถลงมีการเพิ่มคำว่า “การเงิน” เข้ามาเพิ่มเติม โดยก่อนหน้านี้จะกล่าวถึงเฉพาะภาวะสินเชื่อเท่านั้น ทั้งนี้เฟดยังระบุว่า “ขอบเขตของผลกระทบเหล่านี้ยังคงไม่แน่นอน” พร้อมย้ำอีกว่า “ยังคงให้ความใส่ใจอย่างมากต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ”
ดัชนี S&P500 และพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น ในขณะที่ดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังการประกาศ นอกจากนี้ตลาดยังได้ปรับลดโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงหลายเดือนข้างหน้าลงอีกเช่นกัน
ในการแถลงข่าว พาวเวลล์กล่าวว่าสภาวะทางการเงิน “ตึงตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางปัจจัยอื่นๆ” นอกจากนี้ประธานเฟดกล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนหน้านี้กำลังกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อให้ลดลง และเรายังไม่ได้รับรู้ผลกระทบทั้งหมดจากการเข้มงวดขึ้น
“เมื่อพิจารณาถึงความไม่แน่นอนและความเสี่ยง และการขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมาแล้ว คณะกรรมการกำลังดำเนินการอย่างระมัดระวัง” พาวเวลล์กล่าว “เราจะตัดสินใจต่อไปทีละการประชุม” นอกจากนี้เขายังกล่าวอีกว่าหลักฐานเพิ่มเติมของการเติบโตที่ยังดีว่าเทรนด์อย่างต่อเนื่อง หรือการที่ความตึงตัวของตลาดแรงงานไม่ผ่อนคลายลงอีกต่อไป อาจทำให้เกิดความคืบหน้าต่ออัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยง และอาจทำให้เฟดต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก
📌 มติเป็นเอกฉันท์
การตัดสินใจที่เป็นเอกฉันท์ทำให้กรอบเป้าหมายสำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ในระดับเดิมที่ 5.25% ถึง 5.5% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2001 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในขณะที่ธนาคารกลางใกล้จะสิ้นสุดการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงถ้อยแถลงเพียงเล็กน้อย โดยการแก้ไขประการหนึ่งคือ การอัพเกรดคำอธิบายเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็น "แข็งแกร่ง" จาก “มั่นคง” เพื่อสะท้อนข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีขึ้นนับตั้งแต่การประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกันยายน
ผู้กำหนดนโยบายยังย้ำว่าในการพิจารณา “ขอบเขตของการเข้มงวดนโยบายการเงินเพิ่มเติมที่อาจเหมาะสมในการควบคุมให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่ 2% เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาจะต้องคำนึงถึงการเข้มงวดนโยบายการเงินสะสม รวมถึงผลกระทบที่ล่าช้าต่อเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ”
💸 โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยต่อ
ก่อนการประชุมครั้งนี้ ตลาดมองเห็นโอกาส 1 ใน 3 ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ภายในสิ้นเดือนมกราคม ขณะที่อัตราต่อรองได้ปรับลดลงหลังจากการประชุม ทั้งนี้ประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 12-13 ธันวาคม และในวันที่ 30-31 มกราคม
หลังจากเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมอย่างรวดเร็วจากระดับใกล้ 0 ในเดือนมีนาคม 2022 เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ เจ้าหน้าที่กำลังใช้เวลาในการประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในอดีต โดยยังไม่ปิดโอกาสที่จะเข้มงวดนโยบายการเงินขึ้นอีก
เจ้าหน้าที่บางคนยังกล่าวด้วยว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอาจช่วยลดความจำเป็นในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม
📊 การเติบโตของจีดีพี
เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวที่ 4.9% ต่อปีในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นการเติบที่ดีที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี เนื่องจากผู้บริโภคใช้จ่ายไปกับการซื้อเฟอร์นิเจอร์ การเดินทาง และสินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆ นอกจากนี้มาตรวัดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เจ้าหน้าที่ Fed จับตาอย่างใกล้ชิดก็เร่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนในเดือนกันยายน ขณะที่การจ้างงานใหม่ก็ออกมาเกินคาดเช่นกัน โดยผู้กำหนดนโยบายจะได้รับข้อมูลอัปเดตอีกครั้งเกี่ยวกับการจ้างงานในวันศุกร์นี้
ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจจะยังคงอยู่หรือชะลอตัวลงเป็นหนึ่งในคำถามที่ใหญ่ที่สุดที่ผู้กำหนดนโยบายต้องเผชิญ และคำตอบจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้การคาดการณ์ที่เผยแพร่ในการประชุมของเฟดเมื่อเดือนกันยายนแสดงให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่ในขณะนั้นยังสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ และพวกเขายังเห็นอีกว่าต้นทุนการกู้ยืมจะยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน
📈 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล
แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่การประชุมครั้งล่าสุดได้กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่เฟดบางคน รวมถึง ลอรี โลแกน ประธานเฟดสาขาดัลลัส และผู้กำหนดนโยบายสาย Hawkish คนอื่นๆ ส่งสัญญาณสนับสนุนให้มีการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมสัปดาห์นี้
ทั้งนี้นักวิเคราะห์หลายคนคาดว่าการใช้จ่ายและการเติบโตจะชะลอตัวลงในไตรมาสนี้ เนื่องจากการชำระหนี้ที่มากขึ้น รายได้ที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง และเงินสดที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อครัวเรือน แม้ว่าข้อตกลงเบื้องต้นระหว่างสหภาพ United Auto Workers และผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดทั้ง 3 แห่งของดีทรอยต์ช่วยขจัดอุปสรรคทางเศรษฐกิจออกไปอย่างหนึ่ง
แต่เจ้าหน้าที่เฟดจะต้องจับตาดูปัญหาอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองที่สูงเกือบ 8% ที่จะกีดกันผู้ซื้อบ้าน การปิดตัวของรัฐบาลสหรัฐฯที่อาจเกิดขึ้น และสงครามที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างอิสราเอลและฮามาส
อย่างไรก็ตาม ผู้กำหนดนโยบายคนอื่นๆกล่าวว่า พวกเขากังวลว่าเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งอย่างน่าประหลาดใจอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงค้างอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่เจ้าหน้าที่ต้องการ
🎯 ความเห็นส่วนตัวของนิคกี้
เฟดน่าจะสิ้นสุดรอบการขึ้นดอกเบี้ยเป็นที่เรียบร้อยแล้วค่ะ โดยตัวเลขเศรษฐกิจกับเงินเฟ้อที่ดีดตัวขึ้นมาในเดือนล่าสุดนั้นน่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราวมากกว่า และจะหายไปในไตรมาส 4/23 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลงค่อนข้างเยอะ ซึ่งเฟดเองก็รู้เรื่องนี้ดีเช่นกันค่ะ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ปรับตัวขึ้นมาจะช่วยทำงานแทนเฟดอีกส่วนนึง และน่าจะช่วยไปตลอดทั้งปีนี้ เนื่องจากอุปทานพันธบัตรจะมีออกมาเยอะมากๆในไตรมาสนี้ ส่งผลให้ bond yield จะยังคงค้างอยู่ในระดับสูงต่อไปค่ะ
มองไปในปีหน้า ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลงต่อเนื่อง เฟดจะถูกกดดันให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในที่สุดค่ะ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อหุ้นกลุ่มเติบโตต่อไป แต่เศรษฐกิจที่แย่จะเป็นผลเสียต่อหุ้นกลุ่ม value และหุ้นกลุ่มขนาดกลางกับเล็กค่ะ ดังนั้นในปีหน้าเราอาจต้องหันไปให้น้ำหนักกับหุ้น Growth Big Cap กับหุ้น Defensive มากขึ้น
ขณะที่เมื่อเฟดจะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ และอาจปรับดอกเบี้ยลง จะส่งผลให้ yield ค่อยๆปรับตัวลงค่ะ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตราสารหนี้ในภาพรวม อย่างไรก็ตามการเติบโตที่อยู่ในระดับต่ำจะไม่ดีต่อตราสารหนี้ในกลุ่ม High Yield ค่ะ ส่วนราคาน้ำมันก็มีโอกาสปรับตัวลงต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจชะลอตัวลงทั่วโลก (ถ้าสงครามไม่บานปลาย) ค่ะ
Source: Bloomberg
✅ ทั้งนี้ อย่าลืมติดตามนิคกี้เพิ่มเติมได้ทาง
#เศรษฐกิจ #การเงิน #ลงทุน #กองทุน #มือใหม่ #ข่าวเศรษฐกิจทั่วโลก #ข่าวทั่วโลก #หุ้น #กองทุนรวม #ดอกเบี้ย #นักลงทุน #GDP #Recession #เศรษฐกิจถดถอย #วิกฤติเศรษฐกิจ #วิกฤติ #inflation #เงินเฟ้อ #น้ำมัน #ราคาน้ำมัน #FED #เฟด #สหรัฐฯ
โฆษณา