2 พ.ย. 2023 เวลา 12:37 • การตลาด

บทเรียนจาก “คาร์ฟูร์”

เมี่อยักษ์ไฮเปอร์มาร์เก็ต พ่ายศึกในตลาดค้าปลีกไทย
ย้อนหลังไปร่วม 30 ปีที่แล้ว ตลาดค้าปลีกของบ้านเราเปิดกว้างต้อนรับกลุ่มทุนค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของโลก ให้กำเงินเข้ามาลงทุน ทำให้เราได้เห็นบริษัทค้าปลีกที่อยู่ในอันดับท็อปเทนของโลกอย่างคาร์ฟูร์ และเทสโก้ หรือแม้แต่ที่ไม่ได้อยู่ในท็อปเทนอย่างกลุ่มกาสิโนจากฝรั่งเศส ต่างก็เข้ามาลงทุนขยายธุรกิจของตัวเองในเมืองไทย
โดยในปี 2538 คาร์ฟูร์จากฝรั่งเศส ที่ในช่วงเวลานั้น เป็นค้าปลีกที่มียอดขายอันดับ 2 ของโลกรองจากวอลล์มาร์ทแห่งสหรัฐอเมริกา เข้ามาบ้ายเราด้วยการร่วมทุนกับเซ็นทรัล ตั้งบริษัท CENCAR บริหารค้าปลีกรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างเต็มตัว โดยสาขาแรกตั้งอยู่บนถนนสุขาภิบาล 3 หรือถนนรามคำแหงในปัจจุบัน
ผลกระทบจากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกของบ้านเราบางรายจำเป็นต้องขายธุรกิจบางส่วนของตัวเองทิ้งเพื่อแลกกับเงินทุนก้อนโต ทำให้ธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตเปลี่ยนไปเป็นของต่างชาติมากขึ้น
ยิ่งหลังจากที่กฎหมาย ปว.281 อนุญาตให้นักลงทุนจากต่างชาติสามารถถือหุ้นในสัดส่วนมากกว่า 50% ทำให้ผู้ลงทุนต่างชาติกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และมีสิทธิ์ในการบริหารงาน นักลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบยุโรป นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราได้เห็นยักษ์ทั้ง 3 ราย เข้ามาขยายสาขาเป็นว่าเล่น พร้อมกับสร้างให้ตลาดค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต กลายเป็นเซ็กเม้นต์ค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีการเติบโตดีและมีสัดส่วนมากที่สุด
เมื่อถึงปี 2542 กลุ่มเซ็นทรัล ขายหุ้นบริษัท Cen Car คืนให้กับคาร์ฟูร์ และในปี 2545 บิ๊กซีก็มีการร่วมทุนกับกลุ่มกาสิโน จากฝรั่งเศส เมื่อรวมเข้ากับการขายกิจการโลตัสของกลุ่มซีพีให้กับเทสโก้ จากสหราชอาณาจักร ทำให้ไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มีอยู่ทั้ง 3 ราย กลายมาเป็นของต่างชาติเกือบจะสมบูรณ์แบบ
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาหนึ่ง ตามวงล้อเศรษฐกิจ ยักษ์ใหญ่บางราย จำต้องขายธุรกิจของตัวเองทิ้งไป เหลือไว้แต่ชื่อ และบทเรียนทางการตลาด โดยราวปี 2553 มีข่าวใหญ่ที่สร้างความฮือฮาไม่เพียงแค่บ้านเรา แต่สะเทือนไปทั่วยุทธจักรค้าปลีกเอเชีย
เมื่อยักษ์ใหญ่ที่ถือเป็นเบอร์ 2 ของโลกค้าปลีกอย่างคาร์ฟูร์ ประกาศถอนการลงทุนออกจากบ้านเราซึ่งเป็นตลาดค้าปลีกที่คาร์ฟูร์เข้ามาลงหลักปักฐานมาถึง 13 ปี และมีสาขามากถึง 45 สาขา
กระแสข่าวการขายกิจการของคาร์ฟูร์ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ถูกจุดประเด็นขึ้นโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก และสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักที่อ้างแหล่งข่าววงใน และ “ตีความ” จากคำพูดของ “ลาร์ส โอลอฟสัน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของคาร์ฟูร์ในช่วงนั้น ที่ระบุไว้ก่อนหน้าว่า คาร์ฟูร์เปิดกว้างที่จะขายธุรกิจ ในตลาดที่ไม่ได้เป็นผู้นำในอันดับ 1 และ 2
ซึ่งทั้งไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ก็เข้าข่ายความหมายที่ถูกตีความที่ว่านี้ด้วย ซึ่งอะไรก็เกิดขึ้นได้ในการทำธุรกิจยุคใหม่ ที่พร้อมจะเคลื่อนย้ายทุนสู่ตลาดที่มีแนวโน้มและโอกาสในการทำกำไรมากกว่า
การเข้ามาทำตลาดในไทยนั้น คาร์ฟูร์ เปิดสาขาแรกเมื่อปี 2538 และเมื่อผ่านไป 15 ปี คาร์ฟูร์ไม่อาจฉีกตัวเองให้โดดเด่นจากคู่แข่งที่แข็งแกร่งได้ คาร์ฟูร์เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มีการขยายสาขาช้าที่สุดในบรรดาผู้เล่นทั้งหมด และมีจำนวนสาขารั้งท้าย ถือเป็นรายที่ 3 ในจำนวนผู้เล่นทั้งหมด โดยมี เทสโก้ โลตัส เป็นอันดับหนึ่ง และ บิ๊กซี เป็นอันดับสอง
ก่อนหน้านั้น คาร์ฟูร์ขับเคี่ยวกับเทสโก้และบิ๊กซีแบบน่าดูชม แต่ด้วยนโยบายการลงทุนที่ไม่ Aggressive เท่าเทสโก้ และกลุ่มกาสิโน ทำให้การขยับขยายในเรื่องของการขยายสาขามีออกมาช้ากว่าคู่แข่งขัน ซึ่งจำนวนสาขาถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำค้าปลีกในเซ็กเม้นต์ไฮเปอร์มาร์เก็ตที่ส่วนหนึ่งต้องต่อสู้กันด้วยเรื่องของวอลุ่ม เพราะเป็นตัวช่วยหนึ่งในเรื่องของการทำให้สินค้ามีราคาถูกลง จำนวนตัวเลขสาขาจึงเป็นหัวใจสำคัญ
อ่านเพิ่มเติม https://brandage.com/article/36959
#BrandAgeOnline #คาร์ฟูร์
โฆษณา