4 พ.ย. 2023 เวลา 05:00 • การตลาด

ผู้ว่าธปท.ชี้สงครามอิสราเอล ความเสี่ยงใหม่เศรษฐกิจไทย

ผู้ว่าธปท.ชี้ การสู้รบในอิสราเอล เป็นความท้าทายใหม่ของเศรษฐกิจโลก ที่คาดเดาผลกระทบและผลข้างเคียงยาก ย้ำเศรษฐกิจยืดหยุ่นจะเป็นกันชนที่ดี เพื่อรับความเสี่ยงใหม่และบริบทโลกที่เปลี่ยนไป
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Thailand Next Move 2024 จัดโดยวารสารการเงินการธนาคารว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ที่คาดการณ์ผลที่จะตามมาได้ยากกว่าความเสี่ยงแบบเดิม อย่างการสู้รบในอิสราเอล ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ประเมินผลกระทบได้ยากมาก เพราะอาจมีผลข้างเคียงที่เราคำนึงไม่ถึง (Unintended Consequences) เกิดขึ้นหลายประการ
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
ยกตัวอย่าง กรณีเหตุการณ์ 9/11 ที่ในช่วงแรกคนประเมินว่า จะเกิดผลกระทบกับการท่องเที่ยวในสหรัฐอเมริการุนแรง แต่ก็ไม่เกิดขึ้น แต่กลายเป็นว่า สหรัฐฯไปบุกอิรักแล้วนำไปสู่เหตุการณ์อะไรหลายอย่างตามมาเป็นลูกโซ่
ดังนั้น การดูแลเศรษฐกิจไทยให้มีความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนในภาวะที่มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้ หัวใจสำคัญคือการมี Resilience ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่เสถียรภาพ (Stability) แต่ครอบคลุมถึงความทนทาน ความยืดหยุ่น และความสามารถในการลุกได้เร็วเมื่อสะดุดล้ม
ทั้งนี้การที่เศรษฐกิจจะ Resilient ได้นั้นจะต้องมี 3 องค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่
  • เสถียรภาพ (Stability) เช่น การดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตระดับหนึ่งสอดคล้องกับศักยภาพการเติบโตระยะยาว ซึ่งของไทยคือ 3-4%ต่อปี การดูแลเงินเฟ้อให้พอเหมาะคือ 1-3% ระบบสถาบันการเงินมีความสมดุล ไม่เปราะบาง ซึ่งในปัจจุบันเสถียรภาพโดยรวมของไทยยังถือว่าโอเค โอกาสเกิดวิกฤตต่ำ แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ
ขณะที่เสถียรภาพในมิติต่างประเทศของไทยค่อนข้างโอเค ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มเกินดุล ทุนสำรองทางการระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง หนี้ต่างประเทศที่ต่ำและงบดุลของธนาคารและธุรกิจขนาดใหญ่ที่ดูดี
นอกจากนั้น ปัจจัยที่อาจมองว่า มีเสถียรภาพ แต่ต้องจับตามมองคือ หนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 91% ต่อ GDP แม้ว่าจะลดลงจากระดับสูงสุดที่ 94% แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง และระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 62% ต่อ GDP แม้ว่าหากเทียบกับต่างประเทศแล้วยังสูงกว่าไทยมาก แต่กก็ถือว่า เป็นตัวเลขสูงที่สุดที่ไทยเคยมีมา แม้แต่ช่วงวิกฤตปี 2540 ก็ยังสูงสุดที่ 60% ดังนั้นจึงต้องใส่ใจและระมัดระวัง
1
อย่างไรก็ตาม แม้ความเสี่ยงในการเกิดวิกฤตของไทยยังต่ำ แต่ก็เริ่มมีสัญญาณบางอย่างที่สะท้อนความกังวลของตลาดคือ ตัวเลขเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกสุทธิ 8.4 พันล้านดอลลาร์นับจากต้นปี สวนทางกับประเทศอื่นในภูมิภาคที่มีเงินทุนไหลเข้าเป็นบวกอย่าง เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และอินเดีย และค่าเงินบาทที่ผันผวนมากถึง 8-9% สูงเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค และ Credit Default Swap หรือ CDS ของไทยที่วิ่งจากระดับ 50 bps ไปอยู่ที่ 70 bps
  • ภูมิคุ้มกันทางการเงิน (Buffer) ที่จะคอยกันชนที่ช่วยลดแรงกระแทกเมื่อเกิดช็อกทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาวะที่เราไม่รู้แน่ชัดว่า ช็อกจะมาในรูปแบบใด การมีภูมิคุ้มกันไว้เยอะๆ จะยิ่งมีความจำเป็น ซึ่งภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจที่สำคัญล้วนเป็นเรื่องพื้นฐาน เช่น การมีงบดุลที่แข็งแรงทั้งภาครัฐและภาคธนาคาร ขณะที่ภาคธุรกิจก็ไม่ควรมีสัดส่วนหนี้ต่อทุนที่สูงเกินไป เช่นเดียวกับภาคครัวเรือนที่ต้องระมัดระวังการก่อหนี้
อีกหนึ่งเรื่องที่มีความสำคัญคือ การมีพื้นที่ว่างทางนโยบายหรือ Policy Space ที่เพียงพอไว้รองรับเมื่อเกิดวิกฤต โดยกระสุนในฝั่งทางเงินคือ ดอกเบี้ย ขณะที่ฝั่งการคลังก็ต้องเตรียมกระสุนไว้สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจในยามจำเป็น
  • การเติบโตจากโอกาสใหม่ (Digital & Transition) เมื่อเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ๆ ประเทศก็ต้องสร้างทางเลือกและโอกาสในการเติบโตใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากบริบทของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะพบว่าการเติบโตค่อนข้างนิ่ง ไม่สามารถสร้างโอกาสที่เป็นความหวังให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจได้มากพอ
“เราคงโตแบบเดิมไม่ได้แล้วหากดูจากบริบทโลกที่เปลี่ยนไป เช่น เรื่องกระแสความยั่งยืน ปัจจุบัน 1 ใน 3 ของแรงงานไทยอยู่ในภาคเกษตรและ 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมก็เป็นอุตสาหกรรมสำหรับโลกเก่า เช่น ปิโตรเคมี ยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีเก่า การโตแบบเดิมจะไม่ช่วยให้เรากระจายผลประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง” เศรษฐพุฒิกล่าว
สะท้อนจากช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP) ที่ยังไม่หักเงินเฟ้อของไทยโตขึ้นมาเกือบ 3 เท่า แต่เมื่อเจาะลไปดู จะเห็นว่า รายได้ของภาครัฐเพิ่มขึ้น 2.7 เท่า รายได้ของแรงงานเพิ่มขึ้น 2.7 เท่า ขณะที่กำไรของธุรกิจโตขึ้นเกือบ 5 เท่า ซึ่งแน่นอนว่า ส่วนใหญ่เป็นกำไรที่กระจุกอยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่
โฆษณา