5 พ.ย. 2023 เวลา 05:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ประวัติศาสตร์การค้นพบไดโนเสาร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประวัติศาสตร์การค้นพบไดโนเสาร์
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(เรียบเรียงโดย ดร.ศิตะ มานิตกุล)
ในวันที่ 2 พฤศจิกายน วารสารวิชาการ Fossils ได้เผยแพร่งานวิจัยการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ชิ้นแรกของประเทศกัมพูชาจนกลายเป็นข่าวใหญ่ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็เป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการศึกษาบรรพชีวินวิทยาของโลก และมีประวัติการค้นพบเกือบร้อยปีแล้ว
ย้อนกลับไปราวปี ค.ศ. 1930 ทีมนักบรรพชีวินวิทยาชาวฝรั่งเศส นำโดยคุณอุฟเฟต์ (J.H. Hoffet)ได้เข้ามาสำรวจในพื้นที่เมืองผาเลน ตอนใต้ของประเทศลาว และแล้วการค้นพบไดโนเสาร์ในดินแดนเอเชียอุษาคเนย์ก็เปิดฉากขึ้น ไดโนเสาร์ตัวแรกของลาวคือไดโนเสาร์กินพืชสะโพกคล้ายนกชื่อ แมนจูโรซอรัส ลาวเอนซิส (Mandschurosaurus laosensis)
แมนจูโรซอรัส ลาวเอนซิส (Mandschurosaurus laosensis) ที่มา : dinosaurpictures.org
อุฟเฟต์คิดว่ามันน่าจะเป็นไดโนเสาร์ปากเป็ดจากยุคครีเทเชียสตอนปลายสกุลเดียวกันที่เคยพบในประเทศจีน แต่ด้วยสภาพกระดูกที่ไม่สมบูรณ์นัก ชนิดพันธุ์ของมันจึงถูกถกเถียงกันอยู่
3
จนถึงตอนนี้ ลาวมีไดโนเสาร์ที่ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการอีก 2 ชนิดคือไดโนเสาร์กินปลาสันหลังแหว่ง อิกธิโอเวเนเตอร์ (Ichthyovenator laosensis) และไดโนเสาร์คอยาว ตั่งหวายโยซอรัส (Tangvayosaurus hoffeti) นอกจากนี้ยังมีไดโนเสาร์ปากนกแก้ว กับไดโนเสาร์อิกัวโนดอนเทียนที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษา
1
อิกธิโอเวเนเตอร์ (Ichthyovenator laosensis) ที่มา : prehistoric-wiki.fandom.com
การค้นพบไดโนเสาร์ครั้งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นโดยบังเอิญในปี ค.ศ. 1976 โดยคุณสุธรรม แย้มนิยม จากโครงการสำรวจแร่ยูเรเนียมโดยกรมทรัพยากรธรณี ที่อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น เป็นท่อนกระดูกต้นขาหลังขนาดใหญ่ของไดโนเสาร์กลุ่มซอโรพอด ซึ่งเป็นพวกกินพืชขนาดใหญ่ เดิน 4 ขา คอยาว หางยาว หลังจากนั้นอีก 2 ปี คุณนเรศ สัตยารักษ์ และคุณวราวุธ สุธีธร หัวหน้าหน่วยสำรวจธรณีวิทยารากฐานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบกระดูกไดโนเสาร์จากหลายพื้นที่
1
นเรศ สัตยารักษ์ ที่มา : iok2u.com
ข่าวการค้นพบดังกล่าวดังไปถึงผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฝรั่งเศส ก่อเกิดความร่วมมือสำรวจและวิจัยร่วมกับนักธรณีวิทยาไทย ในปี ค.ศ. 1980 คณะสำรวจ ไทย-ฝรั่งเศส ได้ออกปฏิบัติการสำรวจครั้งแรก จวบจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วไทยกลายเป็นผู้นำด้านการศึกษาฟอสซิลไดโนเสาร์และเหล่ามีกระดูกสันหลังที่มีความหลากหลายและจำนวนมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน มีไดโนเสาร์สายพันธุ์ไทยซึ่งเป็นชนิดใหม่ของโลกแล้วถึง 13สายพันธุ์ และมีอีกจำนวนมากที่อยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย
การค้นพบที่ทั่วโลกต่างจับตาในช่วงสิบปีมานี้อยู่ที่ประเทศเมียนมาร์ เมื่อบรรดาอำพันยุคโนเสาร์จากรัฐกะฉิ่น ทางตอนเหนือของประเทศยางไม้โบราณเหล่านี้ได้พอกโครงสร้างอ่อนนุ่มของสัตว์ต่าง ๆ ไว้เป็นอย่างดี นอกจากบรรดาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอย่างแมลง กิ้งกือแล้ว ยังมีกิ้งก่า งู ลูกนกโบราณ รวมถึงปลายหางของไดโนเสาร์กินเนื้อที่รักษาสภาพขนไว้ อย่างไรก็ตาม พื้นที่เหมืองอำพันนี้อยู่ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้ง และการการสู้รบของกองทัพเมียนมาร์กับกองทัพกะฉิ่นอิสระ ด้วยเหตุนี้ อำพันคะฉิ่นถึงถูกขนานนามว่า “อำพันเลือด”
อำพันคะฉิ่น ที่มา : hmong.in.th
มาเลเซียเองก็มีการค้นพบไดโนเสาร์ด้วยเช่นกัน บริเวณรัฐปะหัง แต่ด้วยความเป็นภูมิประเทศป่าฝน การมีพืชปกคลุมชั้นดินหน้าแน่นจึงเป็นอุปสรรคในการสำรวจซากดึกดำบรรพ์ เบื้องต้นมีรายงานการค้นพบแค่ฟันของไดโนเสาร์กินปลากลุ่มสไปโนซอร์ ฟันอิกัวโนดอนเทียน และฟันไดโนเสาร์หุ้มเกราะกลุ่มแองคีโลซอร์เท่านั้
ล่าสุด ประเทศกัมพูชาพบกระดูกน่องข้างซ้ายของไดโนเสาร์ซอโรพอด ที่จังหวัดเกาะกง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ตัวอย่างถูกพบตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 และเพิ่งจะได้รับการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการในปีนี้ นับเป็นประเทศที่สี่ของอาเซียนที่มีรายงานการค้นพบไดโนเสาร์
อ้างอิง
Lim, V.; Buffetaut, E.; Tong, H.; Cavin, L.; Pann, K.; Ngoeun, P.P. The First Dinosaur from the Kingdom of Cambodia: A Sauropod Fibula from the Lower Cretaceous of Koh Kong Province, South-Western Cambodia. Fossils 2023, 1, 49–59.
1
โฆษณา