6 พ.ย. 2023 เวลา 12:00 • การ์ตูน

Pluto

เมื่อคืนผมตัดสินใจเปิดดูอนิเมะ Pluto ด้วยความรู้ที่ว่ามี 8 ตอน และตอนละหนึ่งชั่วโมง ผมคำนวณไว้ว่า หนึ่งตอนเท่ากับอนิเมะทั่วไปประมาณสามตอน คืนนี้ดูสักตอนหรือสองตอนก็ได้ โดยที่ลืมว่า หากจะตัดสินใจดูอะไรที่มันยาว ๆ ให้ตั้งเป้าหมายอย่างละเอียด ถ้าจะดูหนึ่งตอน ก็ตั้งเป้าดูหนึ่งตอน ถ้าจะดูสองตอน ก็ตั้งเป้าดูสองตอน ไม่ใช่กำกวมแบบว่า หนึ่งหรือสองตอน เพราะมันจะเป็นเป้าหมายที่ดิ้นได้ ดังนั้น ผมดูครบจบทั้งแปดตอนในคืนเดียว
เมื่อดูจบแล้ว มองนาฬิกา ตีสามครึ่ง เดิมทีที่คิดว่าคืนนี้ว่าง น่าจะนอนเร็วได้ กลับกลายเป็นว่านอนดึกเหมือนเดิม แต่มันคุ้มค่าคุ้มราคาแปดชั่วโมงที่จ่ายไปมาก ๆ ดังนั้น เมื่อตื่นมา ผมก็คิดได้ว่า อย่างน้อยเขียนอะไรเกี่ยวกับ Pluto หน่อยดีกว่า แม้ว่าจะยังไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร และแน่นอนว่าคงไม่ต้องแนะนำ ดังนั้น เนื้อหามีสปอยครับ หากท่านผู้อ่านท่านใดยังไม่ได้ดู มัวรออะไรอยู่ครับ หาเวลาว่างช่วงวันหยุดสักแปดชั่วโมง นั่งดูรวดเดียวเลยครับ
Ueasawa Naoki (ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Naoki_Urasawa)
ด้วยความที่ Pluto เป็นผลงานของอาจารย์อุระซาวะ นาโอกิที่ผมชื่นชอบตั้งแต่เด็ก ผมคุ้นชินกับการเล่าเรื่องราวของนักเขียนท่านนี้และเข้าใจวิธีการเขียนตัวละครจาก Monster และ 20th Century Boys ผมจึงไม่ค่อยจะมองว่าผลงานนี้เป็นอนิเมะในความหมายที่เข้าใจกัน จริงอยู่ว่ามันเป็นอนิเมชั่น แต่การเขียนตัวละครและลายเส้นนั้นมีความสมจริงมาก ประหนึ่งเวลาอ่านหรือดูเรื่องที่อาจารย์อุระซาวะเขียน จะได้อาจารย์เขียนจะได้อารมณ์เหมือนดูหนังตะวันตกมากกว่าอยู่อนิเมะญี่ปุ่น
อาจจะเป็นเพราะเรื่องราวที่อาจารย์เขียนมักมีตัวละครเป็นชาวยุโรป ซึ่งแน่นอนว่าไม่แปลก แต่ที่น่าสนใจคือการออกแบบตัวละครที่เป็นชาวตะวันตกให้ดูออกว่าเป็นชาวตะวันตก ไม่เพียงแต่การใส่ผมสีบลอนด์เท่านั้น แต่ท่าทาง สายตา และสันจมูก ทำให้ดูออกได้โดยทันที่ว่าเป็นชาวตะวันออกหรือชาวตะวันตก ความสมจริงแบบนี้ทำให้ผมมีความคิดอยากจะแนะนำเรื่องนี้ให้เพื่อนที่สนใจภาพยนต์แต่ไม่สนใจอนิเมะ ลองเปิดใจดูผลงานของอุระซาวะดู (แต่ก็คงไม่ เพราะผมยอมแพ้ไปแล้ว)
แม้ว่าผมชอบงานของอาจารย์อุระซาวะ แต่กลับไม่เคยมีความสนใจที่จะหา Pluto อ่านเลย อาจจะเป็นความรู้สึกว่า เรื่องนี้สั้นกว่าเรื่องอื่น ๆ ที่แกเคยเขียนและเราเคยอ่าน เลยอาจจะคิดว่า หากตัดสินใจไปหาอ่านเมื่อไหร่ ก็คงทำได้ไม่ยาก เพราะคงไม่ต้องใช้เวลากับมันมากเหมือน 20th Century Boys ที่ผมก็ยังอ่านไม่จบสักที ดังนั้น ผมเริ่มดูอนิเมะ Pluto อย่างไม่มีความรู้อะไรเข้าไปก่อน ไม่รู้ว่าพล็อตเรื่องจะเป็นอย่างไร รู้เพียงคร่าว ๆ ว่าเป็นแนวสืบสวนสอบสวน ซึ่งผมชอบ ไม่รู้ว่าตัวละครเป็นใครบ้าง ไม่รู้อะไรเลย
เปิดเข้าไป พบว่า เป็นเรื่องที่ตั้งอยู่ในช่วงอนาคต โดยที่โลกอนาคตนั้นมีหุ่นยนต์ มีประเด็นเรื่องสิทธิของหุ่นยนต์ การเมืองระหว่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ สงคราม ปริศนา อารมณ์และความรู้สึก ลัทธิใต้ดิน ถ้าจดประเด็นเหล่านี้ลงกระดาษและยื่นให้ผม โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องสิทธิหุ่นยนต์และผลพวงที่เกิดจากสงคราม คงจะคิดว่าผมสนใจแน่ ๆ ซึ่งผมก็สนใจ แต่ประเด็นที่ผมสนใจจริง ๆ กลับไม่ใช่เรื่องของหุ่นยนต์
เช่นเดียวกับเรื่อง Monster อาจารย์อุระซาวะมักจะเขียนเรื่องราวที่เหนือโลก เช่น คนที่ฉลาดมาก ๆ แต่ชั่วร้ายสุด ๆ หรือองค์กรลับที่วางแผนยึดครองโลก แต่ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องราวเหล่านี้เล่าออกมาเพื่อสะท้อนความเป็นมนุษย์ ไม่ต่างกันกับ Pluto แม้ว่าเรื่องราวจะเกี่ยวกับหุ่นยนต์ และแม้ว่าจะกล่าวบ่อยครึ่งในเรื่องว่าหุ่นยนต์มีสิทธิเทียบเท่ามนุษย์ แต่ผู้ชมคงจะไม่รู้สึกเช่นนั้น อาจจะเพราะตัวละครมนุษย์ในเรื่องก็ไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น
แต่หากมองข้ามจุดนั้นไป ซึ่งผมเริ่มทำได้เมื่อพ้นครึ่งเรื่องไปแล้ว ว่าหุ่นยนต์ที่ออกแบบมาขั้นสุดยอด เช่นกลุ่มเจ็ดหุ่นยนต์ที่ล้ำสมัยที่สุด ที่ออกแบบให้ภายนอกเป็นมนุษย์มากที่สุด โดยเฉพาะเจ้าหนูอะตอมที่เรียนแบบความประพฤติของมนุษย์ออกมาได้เหมือนจนแยกไม่ออก ผมเริ่มมองหุ่นยนต์ในเรื่องเป็นมนุษย์ ยิ่งนานเข้า ก็ยิ่งคิดว่า นี่เป็นเรื่องราวของมนุษย์จริง ๆ อาจจะบอกเรื่องราวผ่านตัวละครที่ยังไม่เข้าใจความรู้สึกของตัวเอง แต่ก็ค่อย ๆ เรียนรู้และเข้าใจมัน
จริง ๆ มันก็ไม่ต่างจากมนุษย์เท่าไหร่นัก จริงอยู่ว่า ตัวเราเองเป็นผู้ที่เข้าใจตัวเองมากที่สุด แม้กระนั้น ก็ใช่ว่าเราจะเข้าใจมันในทุกเรื่อง อารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์มีความซับซ้อนมาก ความคิดสมัยโบราณถึงขนาดว่าแยกอารมณ์ของมนุษย์ออกมาเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นภายในของมนุษย์ เช่นความคิดที่ว่า อารมณ์โกรธหรือเกลียดต่าง ๆ ที่ทำให้คน ๆ หนึ่งเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือนั้นเป็นผลมาจากสิ่งออกกายอื่นที่เข้ามาสิงอยู่
ดังนั้น แม้ว่าเราจะอยู่กับตัวเรามาตั้งแต่เกิด เราก็ยังไม่เข้าใจตัวเองเท่าที่ควรเลยด้วยซ้ำ บางทีความคิดความเข้าใจ หรืออารมณ์บางอย่างเข้ามาบดบังความรู้ความเข้าใจนั้น ทำให้ตัวเราที่เป็นเจ้าของตัวเองนั้นไม่อาจเข้าใจตัวเองได้ ปัจจุบัน ด้วยความเข้าใจในทางจิตวิทยาที่ดียิ่งขึ้น เราสามารถขอความช่วยเหลือได้แล้ว
Atom (หรือก็คือ เจ้าหนูอะตอมจากเรื่อง Astro Boy ของอาจารย์เทซุกะ โอซามุที่อาจารย์อุระซะวะนำมาตีความไหม)
เมื่อเป็นเช่นนั้น กล่าวคือ เมื่อมองว่าหุ่นยนต์ในเรื่อง Pluto ไม่ต่างจากมนุษย์ ผมก็มองว่า พวกเขาก็คือมนุษย์ธรรมดานั่นแหละ ไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไปที่ยังไม่เข้าใจความรู้สึกและอารมณ์ของตัวเอง ยังมีความสับสนอยู่ อันนี้เป็นหนึ่งในประเด็นที่ผมสนใจ
เชื่อมโยงกับประเด็นนั้น คือประเด็นในเชิงกฎหมายที่ผมสนใจอยู่มาก อธิบายโดยคร่าว ๆ ก่อนว่า ผมเป็นผู้ศึกษานิติปรัชญาคนหนึ่ง ซึ่งกำลังจะไปเรียนต่อระดับป.เอกทางด้านนี้โดยเฉพาะ นิพนธ์ที่ผมวางแผนจะทำนั้นมีเจตนาเพื่อวางพื้นฐานทางทฤษฎีที่เกี่ยวของกับกฎหมายและศีลธรรมในยุคสมัยที่ AI กำลังมีบทบาทในชีวิตประจำวัน แน่นอนว่าตัวนิพนธ์ไม่ได้มีความเกี่ยวของกับ AI โดยตรง แต่ผมคิดว่า คำถามที่ตามมาจากนิพนธ์นั้น คือคำถามเรื่องการบังคับกฎหมายโดยเด็ดขาด
ผมเขียนโพสนี้โดยไม่ได้วางแผนไว้ก่อนว่าจะเขียนอะไรบ้าง บางท่านที่ติดตามผม แล้วสงสัยว่าทำไมผมติดแท็ก [ปรัชญา] ที่ช่องนี้ ทั้งที่ส่วนใหญ่แล้วผมก็พูดถึงแต่อนิเมะหรือมังงะ โพสนี้อาจจะช่วยตอบคำถามนั้นนะครับ ดังนั้นมันอาจจะยาวมาก ๆ แต่ไหน ๆ ก็คงจะยาวมาก ๆ แล้ว ผมขอวางหลักทฤษฎีไว้ก่อน เพื่อที่จะสามารถอธิบายความน่าสนใจของประเด็นที่ Pluto นำเสนอหน่อยก็แล้วกันครับ
ความตายของ Mont Blanc
วันหนึ่ง มีสังคมมีข่าวเกี่ยวกับคดีความหนึ่ง เสียงของสังคมมองว่า ผู้ที่กระทำผิดนั้นควรจะต้องได้รับผิดตามกฎหมาย ปรากฎว่า คำติดสินกลับไม่ได้เป็นไปตามที่สังคมคาดหวังไว้ (ซึ่งส่วนตัวผมไม่ได้ไปตามอ่านคำพิพากษานะครับ) เย็นวันนั้น ผมได้ยินคำจากคำใกล้ตัวว่า “คน ๆ หนึ่งทำผิด คนนั้นก็ต้องได้รับผิดสิ”
ผมคิดทันทีว่า ไม่ใช่สิ นี่ไม่ใช่กฎของธรรมชาติที่มีไว้ว่า “หากสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น อีกสิ่งหนึ่งต้องตามมาอย่างแน่นอน” กฎหมายไม่ใช่กฎธรรมชาติ (ซึ่งแน่นอนว่าในแวดวงนิติปรัชญา เขาเถียงกันมาเป็นศตวรรษ) กฎหมายบัญญติไว้ว่า “หากข้อเท็จจริงปรากฎว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น อีกสิ่งหนึ่งควรจะตามมา” สาระสำคัญอยู่ที่คำว่า “ควรจะ” หรือ “Ought” หรือในภาษาเยอรมัน “Sollen” การเชื่อมข้อเท็จจริงหนึ่งกับอีกข้อเท็จจริงหนึ่งด้วยคำว่า “ควร” ทำให้ประโยคนั้นอยู่ในรูปแบบของ “บรรทัดฐาน” หรือ “Norm”
ทฤษฎีกฎหมายที่ผมสนใจมากนั้นคือทฤษฎีบริสุทธิ์แห่งกฎหมาย ของฮันส์ เคลเซ่น (ชอบขนาดที่คุณน้องชายที่เป็นศิลปินวาด Portrait ของเคลเซ่นให้เป็นของขวัญวันเกิด) ซึ่งเป็นหนึ่งในทฤษฎีที่เข้าใจยากที่สุดในวิชานิติปรัชญา ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าเพราะส่วนใหญ่แล้วสอนผิดครับ ทฤษฎีนี้ไม่เชิงเป็นปริชญากฎหมาย หากแต่เป็นปรัชญาสายญาณวิทยา หรือก็คือ ทฤษฎีความรู้ กล่าวคือ ทฤษฎีของเคลเซ่นวางอยู่บนคำถามที่ว่า เรามีความรู้เรื่องของบรรทักฐานทางกฎหมายและ/หรือศีลธรรมได้อย่างไร
Hans Kelsen เจ้าของทฤษฎีบริสุทธิ์แห่งกฎหมาย (Pure Theory of Law)
ตามทฤษฎีนี้ เคลเซ่น ซึ่งใช้กลวิธีตามธรรมเนียมปรัชญาของอิมมานูเอล คานท์ เสนอว่า ความคิดของมนุษย์มีสิ่งหนึ่งยึดอยู่ หนึ่งในนั้นคือความคิดเรื่องความเป็นเหตุและผล Causality ซึ่งเราใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้และความเข้าใจของสิ่งที่เกิดในในโลกแห่งข้อเท็จจริง หรือก็คือ ตามธรรมชาติ เช่น หากเหล็กได้รับความร้อน (เหตุ) เหล็กเส้นนั้นจะขยายตัว (ผล) เราอาจจะเรียกง่าย ๆ ว่านี่เป็นกฎของธรรมชาติ เป็นกฎที่มีความเด็ดขาด หากสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น (เหตุ) อีกสิ่งหนึ่ง (ผล) ต้องตามมาแน่นอน
กลับกัน กฎอื่น ๆ ที่ไม่ใช่กฎตามธรรมชาติอันซึ่งมนุษย์ไม่ได้สร้างหรือบัญญติ (Posit; รากของคำว่า Positivism ใน Legal Positivism) กฎนอกเหนือจากกฎธรรมชาติล้วนแล้วแต่เป็นบรรทัดฐานทั้งสิ้น แน่นอนว่า ความเป็นบรรทัดฐานนั้นประกอบด้วยหลายปัจจัย แต่หากจะให้ย่อยง่าย ๆ ใช้การเปรียบเทียบประโยคเอา กฎที่อยู่ภาพใต้สำนักคิดที่เรียกว่า เหตุและผลจะมีรูปแบบหนึ่ง กฎที่เป็นบรรทัดฐานจะมีอีกรูปแบบหนึ่ง
กฎที่เป็นข้อเท็จจริง อยู่ภายใต้สำนึกคิดเรื่องเหตุและผล มีรูปแบบประโยค “ถ้า x, ดังนั้นจึง y” แต่กฎที่เป็นบรรทัดฐานมีรูปแบบประโยค “ถ้า x, ดังนั้น ควรจะ y” ความแตกต่าง อย่างที่กล่าวไว้แล้วคือคำว่า “ควร” ดังนั้น y จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้มีผลเป็นอันเด็ดขาดทันทีเมื่อ x เกิดขึ้น ดังนั้น กล่าวโดยง่าย หากบรรทัดฐานที่ว่า “ถ้าผู้หนึ่งฆ่า (x) ผู้นั้นควรจะได้รับโทษ (y)” ไม่ได้หมายความว่า ผู้นั้นจะต้องได้รับโทษเสมอไปนั่นเอง
แน่นอนว่า หากผมพูดอะไรแบบนี้ออกไปแล้ว เช่นเร็ว ๆ นี้เมื่อเพื่อนผมถามว่า ผมไปเรียนนิติปรัชญาเกี่ยวกับอะไร ผมตอบด้วยการอธิบายทฤษฎีนี้ เพื่อนผมมองว่า มันออกจะไร้น้ำใจไปหน่อย ผมก็เห็นด้วย หากมองแบบผิวเผินแล้วมันก็ออกจะไร้น้ำใจ แต่ผมยืนยันว่ามันมีข้อดีมากหากเข้าใจมันอย่างลึกซึ่งและเทียบเคียงกับความคิดเกี่ยวกับความเด็ดขาดของกฎหมายหรือกฎทางศีลธรรม
เมื่อนั้น ต้องอธิบายต่อไปเพิ่มเติม ปัจจัยสำคัญของสำนักคิดทฤษฎีกฎหมายแนวนี้ ที่เรียกว่า Legal Positivism หรือภาษาไทยใช้คำว่า สำนักกฎหมายบ้านเมือง คือหลักที่ว่า กฎหมายและศีลธรรมนั้นแยกออกจากกัน หรือกล่าวโดยละเอียดยิ่งขึ้นก็คือ หลักไม่มีความเกี่ยวข้องอย่างจำเป็นระหว่างกฎหมายและศีลธรรม กล่าวคือ กฎหมายและศิลธรรมไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกัน จะเกี่ยวข้องกันก็ได้ แต่ความเป็นกฎหมายไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎทางศีลธรรมฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น
แน่นอนว่า ฟังดูก็ไร้น้ำใจ แต่จะให้อธิบายว่าทำไมการแยกสองเรื่องนี้ดีกว่าในทางทฤษฎีและยิ่งไปกว่านั้นในทางปฏิบัติ ก็คงจะยืดยาวจนทำเป็นสารนิพนธ์ได้อีกเล่มหนึ่ง เอาเป็นว่า ผมเห็นด้วยกับทฤษฎีนี้เพราะมองเห็นของดีและความจำเป็นของมัน
แล้วอะไรคือความแตกต่างระหว่างกฎหมายและกฎทางศีลธรรม ในประเพณีความคิดสำนักกฎหมายบ้านเมือง เจ้าสำนักอย่างจอห์น ออสติน (ที่เคยสอนที่มหาวิทยาลัยที่ไปเรียน) อธิบายโดยคร่าว ๆ ไว้ว่า กฎหมายบัญญัติ (Positive Law) คือกฎที่บัญญัติโดยมนุษย์ด้วยกันเอง จากมนุษย์คนหนึ่งที่มีอำนาจทางการเมืองในทางข้อเท็จจริงเหนือผู้อื่นที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เขาบัญญัติ สิ่งนี้เรียกโดยสะดวกได้ว่าทฤษฎีคำสั่งเป็นกฎหมาย (Command Theory)
John Austin เจ้าของผลงาน The Province of Jurisprudence Determined
ส่วนกฎที่เป็นศีลธรรมนั้นไม่ได้มีจากการบัญญัติระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง กล่าวคือ อาจจะมาจากพระเจ้านั่นเอง แน่นอนว่าทฤษฎีนี้ล้าหลังมากแล้ว และนักนิติปรัชญาท่านอื่น ๆ ก็ออกมาแก้ไขจนเข้ากับยุคสมัยมากกว่า หนึ่งในนั้นคือเคลเซ่น อธิบายโดยคร่าวก็คือ บรรทัดฐานหนึ่งเป็นกฎหมายเพราะบัญญัติโดยใช้อำนาจจากกฎหมายที่ระดับชั้นสูงกว่า และก็ไล่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนรัฐธรรมนูญฉบับแรก สุดท้ายต้องสมมุติว่าบรรทัดฐานขั้นมูลฐานที่เป็นบ่อเกิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกมีอยู่จริง
(ต่อประเด็นเรื่องบรรทัดฐานขั้นมูลฐาน หรือ Basic Norm จะต้องใช้เวลาในการอธิบายมากเกิดไป ใครสนใจไปหาอ่านเอาได้ครับ มีคนเขียนไว้เยอะมาก ๆ แต่ต้องเข้าใจไว้อย่างหนึ่งว่า จริง ๆ แล้วไอบรรทัดฐานขั้นมูลนั้นคงไม่มีอยู่จริง แต่สมมุติขึ้นมาในความหมายของปรัชญา “ราวกับว่า” ของฮันส์ ไวฮิงเกอร์)
Hans Vaihinger เจ้าของผลงาน The Philosophy of the "As-If"
ส่วนกฎที่เป็นศีลธรรมนั้นไม่ได้กำหนดโดยกฎหมาย กล่าวคือ ระบบกฎหมายไม่ได้สร้างศีลธรรม หากแต่กฎศีลธรรมอยู่ในระบบของมันเอง และระบบศีลธรรมก็ไม่ได้สร้างกฎหมายเช่นเดียวกัน ดังนั้น กฎหมายและศีลธรรมก็เป็นบรรทัดฐานทั้งคู่นั่นเอง หากแต่อยู่ในคนละระบบบรรทัดฐานเท่านั้นเอง กล่าวคือ บรรทัดฐานขั้นมูลฐานของระบบกฎหมายก็อย่างหนึ่ง บรรทัดฐานของระบบศีลธรรมก็อย่างหนึ่ง
คราวนี้ ผมอธิบายเรื่องแบบนี้ไว้ทำไม มันเกี่ยวกับ Pluto อย่างไร จุดที่ผมสนใจคือ มาตรา 13 ของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยหุ่นยนต์ที่ Pluto นำเสนอครับ กฎหมายนั้นกำหนดไว้ว่า หุ่นยนต์ไม่อาจฆ่าหรือทำร้ายมนุษย์ได้เลย โดยไม่มีข้อยกเว้น กฎนี้มีลักษณะเป็นข้อห้ามที่ไม่ได้มีรูปแบบบรรทัดฐานที่กล่าวไปแล้ว ถ้าจะกล่าวแบบง่าย ๆ ก็คือ ลักษณะข้อห้ามแบบนี้เป็นรูปแบบของศีลธรรมมากกว่ากฎหมาย
กฎข้อห้ามหรือคำสั่ง (Imperative) ซึ่งเห็นได้จากปรัชญาศีลธรรมของคานท์ว่าด้วยกฎเด็ดขากหรือ Categorical Imperative ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบทั่วไปของบรรทัดฐาน เนื่องจาก บรรทัดฐานมีรูปแบบประโยคที่มีคำว่า “ควร” เป็นองค์ประกอบสำคัญ กล่าวคือ ข้อห้ามเป็นประโยคเดียว ไม่มีการต่อเติม ไม่มีการกล่าวว่า หากไม่ได้ทำตามข้อห้ามแล้วผลที่ตามมาจะเป็นเช่นไร แตกต่างจากบรรทัดฐานที่มีรูปแบบเป็น Hypothetical Judgment ซึ่งประกอบด้วย “ถ้า” และตามด้วย “ดังนั้นควรจะ”
Immanuel Kant เจ้าของผลงานมากมาย เช่น Groundwork for the Metaphysics of Morals ซึ่งกล่าวถึงกฎเด็ดขาด
ขยายความอีกเล็กน้อย ตามทฤษฎีกฎหมายที่ผมนำเสนอมานี้ มองความรูปแบบของกฎหมายคือ Casuistic Law คือมี “ถ้า/ดังนั้น” แต่กฎอื่น เช่นที่เห็นอยู่ในมาตรา 13 ของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยหุ่นยนต์มีรูปแบบเป็น Apodictic Law คือ มีความเป็นกฎเด็ดขาดว่าบุคคลหนึ่ง “ต้อง” หรือ “ห้าม” ทำอะไรสักอย่าง โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขนั่นเอง
โมเสสและแอรอนกับข้อบัญญัติ 10 ประการ ซึ่งเป็นตัวอย่างของ Apodictic Law (ภาพจาก https://www.jpost.com/judaism/article-717636)
แน่นอนว่าในเรื่อง Pluto มาตราท้าย ๆ ของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยหุ่นยนต์อาจจะมีบทบัญญัติโทษเอาไว้ แต่เท่าที่เห็นก็คือไม่มีการกล่าวถึง แต่ถ้าหากมีบทบัญญัติเช่นนั้นอยู่ คำถามที่ตามมาไม่ใช่เพียงแต่ว่าโทษคืออะไร แต่เป็น โทษนั้นบังคับต่อผู้ใด ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการกระทำอันเป็นสิ่งต้องห้ามนั้นเป็นหุ่นยนต์ที่กระทำการนั้น หรือเป็นผู้อื่น เช่น ผู้ที่สร้างหรือควบคุมหุ่นยนต์ตนนั้น
ผมมีทฤษฎีอยู่ว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการก่อเกิดความหมายของชีวิต หรือก็คือ ความเป็นมนุษย์คือ ความรับผิดชอบ เพราะสิ่งหนึ่งมีความรับผิดชอบ สิ่งนั้นจึงมีความเป็นมนุษย์ และความรับผิดชอบนั้นก็มาจากบรรทัดฐานซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อทำให้มนุษย์ด้วยกันเองควรจะรับผิดชอบในการกระทำของตน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะไม่เช่นนั้น เราไม่อาจกล่าวได้เลยว่าอะไรเป็นการกระทำของคนใดคนหนึ่ง มันเป็นเพราะว่าคนหนึ่งต้องรับผิดชอบ คนนั้นจึงเป็นเจ้าของการกระทำอะไรสักอย่างโดยแท้
หากมองผ่านทฤษฎีว่าด้วยสิทธิ เมื่อสิทธิหนึ่งเกิดขึ้น หน้าที่ตรงกันข้ามย่อมเกิดขึ้นตามฉันใดกลับกับก็ชั้นนั้น กล่าวคือ หากเป็นสิทธิของมนุษย์ที่ไม่ควรจะถูกทำร้ายหรือถูกฆ่าโดยหุ่นยนต์ ก็เป็นหน้าที่ของหุ่นยนต์หรือของผู้อื่นในการไม่ทำร้ายหรือฆ่ามนุษย์ ซึ่งหน้าที่นั้นตามมาด้วยความรับผิดชอบนั่นเอง คำถามคือ แล้วหน้าที่นั้นเป็นของใคร หากเป็นหน้าที่ของผู้สร้างคือผู้ควบคุมหุ่นยนต์ คำตอบที่ตามมาคือ เป็นความรับผิดชอบของผู้นั้น ไม่ใช่หุ่นยนต์นั่นเอง
หากบทบัญญัติกำหนดโทษต่อมาตรา 13 ของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยหุ่นยนต์กำหนดให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่ทำร้ายหรือฆ่ามนุษย์ เมื่อนั้นหุ่นยนต์นั้นยังไม่มีความเป็นมนุษย์เทียบเท่ากับมนุษย์โดยทั่วไปในชั้นบรรทัดฐาน เพราะว่าหุ่นยนต์ตนนั้นไม่มีความรับผิดชอบ หรือก็คือ ไม่ได้เป็นเจ้าของการกระทำของตนเอง หากแต่การกระทำของหุ่นยนต์ตนนั้นตกเป็นของผู้อื่น
ในทางกลับกัน หากไม่มีบทบัญญัติกำหนดโทษอยู่เลย กล่าวคือ เป็นกฎข้อห้ามโดยเด็ดขาด ความเป็นกฎเด็ดขาดนั้นก็ไม่ได้มีรูปแบบเป็นบรรทัดฐาน หากแต่เป็นเสมือนกฎที่บังคับหุ่นยนต์โดยขัดแย้งไม่ได้โดยเด็ดขาด ไม่ต่างจากกฎแห่งธรรมชาติที่บังคับมนุษย์โดยเด็ดขาดเช่นกัน ตอนท้ายเรื่องอูรัน น้องสาวของอะตอมกล่าวไว้หน้าสนใจว่า พลูโตเป็นเหมือนพิโนคิโอที่ถูกเชิดโดยพ่อของเขา แต่พ่อของเขาก็ถูกเชิดเหมือนกัน เรามารู้ที่หลังว่า พ่อก็เป็นหุ่นยนต์เหมือนกันที่หลอกตัวเองว่าเป็นมนุษย์
Uran
ก่อนที่จะไปประเด็นต่อไป ตรงนี้ผมเห็นว่ามีความน่าสนใจอยู่เล็กน้อย หากกฎข้อห้ามนั้นไม่ต่างจากกฎแห่งธรรมชาติที่บังคับโดยเด็ดขาดทำให้หุ่นยนต์ไม่อาจทำร้ายหรือฆ่ามนุษย์ได้เลย การทำร้ายหรือการฆ่ามนุษย์นั้นก็จะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ไม่ต่างจากความเป็นไปไม่ได้ของมนุษย์ที่จะเหาะเหินเดินอากาศ ดังนั้น การมีกฎหมายบังคับต่อสิ่งที่เป็นขัดแย้งกันเอง ดังคำกล่าวว่า กฎหมายไม่บังคับต่อสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (Impossibilium nulla obligatio est)
แต่สุดท้ายแล้ว มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้จริง ๆ หรือไม่นั้น ก็คงจะต้องนั่งเทียนคิดกันต่อไป เพราะ Gesicht ก็ลงมือประหัดประหารมนุษย์จริง ๆ ซึ่ง หากกฎหมายที่ห้ามหุ่นยนต์ทำร้ายหรือฆ่ามนุษย์โดยเด็ดขาดนั้นไม่ได้ทำให้การกระทำเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่บังคับต่อสิ่งที่เป็นไปได้ต่างหาก เท่ากับว่า กฎเหล่านั้นเป็นบรรทัดฐานที่บังคับต่อหุ่นยนต์ไม่ต่างจากกฎหมายที่เป็นบรรทัดฐานบังคับการกระทำของมนุษย์ทั่วไป เมื่อนั้น หุ่นยนต์ก็คงจะมีสถานะไม่ต่างจากมนุษย์อย่างแท้จริงครับ
Gesicht
ผมมีปัญหาเล็กน้อยต่อประเด็นช่วงท้ายเรื่อง แต่พอมานั่งคิดต่อดูอีกนิดก็คิดว่ามันก็ดีแล้ว ประเด็นนั้นคืออับดุลลอฮ์ ที่เผยตอนหลังว่าเป็นหุ่นยนต์ที่เท็นมะสร้างขึ้น แต่โกหกตัวเองจนเชื่อว่าเป็นมนุษย์ ผมว่าประเด็นนี้มีความสำคัญมาก ๆ อย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว กฎต่าง ๆ ที่ควบคุมหุ่นยนต์ให้กระทำสิ่งต่าง ๆ โดยที่หุ่นยนต์นั้นไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้นั้นไม่แตกต่างจากกฎแห่งธรรมชาติที่บังคับมนุษย์โดยที่มนุษย์ไม่มีทางเลือก
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมตัดสินแน่วแน่ว่าหัวข้อนิพนธ์ของผมมีความสำคัญต่อโลกที่พัฒนาเข้าสู่ยุค AI ก็คือคำถามที่ผมคิดและหวาดกลัว นั่นคือ หากโปรแกรมที่เขียนขึ้นเพื่อบังคับ AI นั้นไม่ต่างแต่กฎแห่งธรรมชาติที่บังคับมนุษย์ และหาก AI มีสำนึกคิดได้เสมือนมนุษย์ เช่น ผ่านการทดสอบของทัวริง หรือการทดสอบ Chinese Room เมื่อนั้น AI ก็ไม่ต่างจากมนุษย์ฉันใดกลับกันก็ฉันนั้น แล้วกฎหมายจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร ผมตั้งข้อสันนิษฐานว่า ระบบบรรทัดฐานคงจะไม่เปลี่ยนแปลงไปในเชิงโครงสร้าง เพื่อคงความเป็นมนุษย์เอาไว้
John Searle เจ้าของความคิด Chinese Room
การที่เรื่อง Pluto สร้างตัวละครที่เป็นหุ่นยนต์ที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นหุ่นยนต์นั้น ผมว่าเหมาะสมกับธีมของเรื่องมาก เพราะหุ่นยนต์ตัวนั้นจะมีความเป็นมนุษย์มากที่สุด กล่าวคือ สำนึกคิดที่ว่าตนเองเป็นมนุษย์ที่ควบคุมตนเองและพ้นจากการควบคุมจากสิ่งอื่น เช่น โปรแกรมหรือกฎแห่งธรรมชาติ และหลอกตนเองว่าตนเองเป็นเจ้าของเจตนาหรือเจตจำนงของตัวเอง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ หากไม่หลอกตัวเอง ก็สมมุติขึ้นเพื่อให้สมกับความเป็นมนุษย์ แม้ว่าแท้ที่จริงแล้ว มนุษย์ก็ถูกบังคับด้วยสิ่งอื่นนอกเหนือจากการควบคุมของตนเอง
ผมขอพ้นจากเรื่องของทฤษฎีกฎหมายหรือนิติปรัชญาก็แล้วกันครับ แม้ว่าหลัง ๆ จากเป็นทฤษฎีที่ผมต่อเติมมาจากนิติปรัชญา แต่แท้ที่จริงแล้วมันก็เข้าไปอยู่ในแขนงอัตถิภาวนิยมบ้างแล้ว ซึ่งความคิดเห็นของผมต่อไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับอัตถิภาวนิยมนี่แหละ หรือ Existentialism ซึ่งวรรณกรรมของทางญี่ปุ่นชอบนำความคิดของปรัชญาสายนี้ออกมานำเสนอกันอย่างมาก
ประเด็นที่สำคัญของเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ตอนที่เท็นมะอธิบายว่า หากจะสร้างหุ่นยนต์ที่มีความเป็นมนุษย์มากที่สุด ก็คือจะต้องใส่ตัวเลือกเป็นพันล้านให้หุ่นยนต์ตัวนั้นเลือกเองว่าจะเป็นแบบไหน หรือจะเกิดมาแล้วเป็นใคร อันนี้ตรงกับความคิดของ Jean-Paul Sartre มากครับ
Jean-Paul Sartre
ความคิดทางปรัชญาสมัยก่อนความคิดแบบอัตถิภาวนิยม กล่าวคือ ตั้งแต่สมัยอริสโตเติล มีความเชื่อว่า มนุษย์เกิดมาเพื่อที่จะบรรลุผลอะไรสักอย่าง ดังลูกโอ๊คเกิดมาเพื่อไปเป็นต้นโอ๊ค แต่หลังจากนั้น นักปรัชญา เช่นซาร์ตร์กล่าวว่า มนุษย์เกิดมาโดยไร้ความหมาย ไม่มีเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ ดังนั้น เรามีอิสระที่จะเลือกเหตุผลและความหมายของตนเอง แต่อิสรภาพนั้นทำให้เรามีตัวเลือกไม่จำกัด และการเลือกของเรานั้นตกเป็นความรับผิดชอบของเราผู้เดียวเท่านั้น
เมื่อนั้น เราจะหยุดชะงักลง ก้าวเดินต่อไปไม่ได้ เราเกิดความมึนงงและสับสน ไม่ต่างกันครับ ดังที่เท็นมะกล่าวไว้ หากต้องการที่จะสร้างหุ่นยนต์ที่เหมือนมนุษย์มากที่สุด เราจะต้องให้หุ่นยนต์เลือกเองว่าจะเป็นคนแบบไหน แต่ตัวเลือกนั้นเยอะเกินกว่าที่จะสามารถตัดสินใจได้โดยง่าย เพราะหากจะให้ง่าย ก็คือให้ผู้สร้างนั้นเลือกให้หุ่นยนต์เลยว่าจะเอาแบบไหน ไม่ต่างกันกับความเชื่อของมนุษย์สมัยก่อนที่ยกความรับผิดชอบในตัวตนของตนเองไว้กับผู้สร้าง เช่น พระเจ้า
Tenma
วิธีแก้ไขสถานการณ์นี้เป็นวิธีที่น่าสนใจมากครับ นั่นคือ การทำลายเสถียรภาพในการตัดสินใจของหุ่นยนต์ เพื่อเร่งให้หุ่นยนต์เลือกความเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การใส่อารมณ์ความรู้สึกเข้าไป เมื่อหุ่นยนต์มีความรู้สึกและอารมณ์ ปัจจัยเหล่านั้นจะดึงให้หุ่นยนต์เลือกที่จะเป็นอะไรสักอย่าง ผมสรุปง่าย ๆ ว่า เพราะอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นผลักดันการตัดสินใจของสิ่ง ๆ หนึ่งไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง หรือ การตัดสินใจนั้นเป็นไปเพราะอารมณ์และความรู้สึกนั่นเอง
ในส่วนนี้ เราสามารถวิเคราะห์ในเชิงปรัชญาสายอัตถิภาวนิยมไปได้อีกหลายต่อ เช่นคำพูดที่ว่า อะตอมไม่ได้ทำอะไรผิดเลย เพราะไม่ได้มีส่วนในการฆ่าฟันในสงคราม แต่ทำไมกลับต้องมารับผิดชอบร่วมด้วย (อันนี้อาจจะตรงกับทฤษฎีกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบร่วม) ตรงนี้ผมมองว่า มันสามารถเทียบเคียงได้กับปรัชญาอัตถิภาวนิยมอีกสายที่แยกออกมา นั่นคือแอบเซอร์ดิสม์ของอัลแบร์ กามูส์
Albert Camus
แต่ที่ผมสนใจนั้นคือบทบาทของอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อการตัดสินใจของมนุษย์นั่นเอง ซึ่งผมมองว่า การเขียนเรื่องให้หุ่นยนต์นั้นตัดสินใจอะไรสักอย่างเพราะการควบคุมของอารมณ์และความรู้สึก เป็นการนำเสนอเรื่องความไม่เป็นเจ้าของการกระทำของตนเองของมนุษย์ ซึ่งเป็นการนำเสนอธีมของเรื่องเกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่ไม่ต่างอะไรจากมนุษย์ ซึ่งที่ผมสนใจเป็นเรื่องสาขาญาณวิทยา
ปรัชญาสาขาญาณวิทยามีการถกเถียงที่ยาวนานมาก โดยหลัก ๆ แล้ว เถียงกันระหว่างฝั่งเหตุผลนิยม (Rationalism) และประจักษ์นิยม (Empiricism) ฝั่งแรกกล่าวว่า ความรู้เกิดจากการใช้เหตุผล ฝั่งหลังกล่าวว่าความรู้เกิดจากประสบการณ์ นั่นคือพื้นฐาน แต่ในฝั่งหลังมีนักคิดคนหนึ่งชื่อเดวิด ฮูม เขากล่าวไว้ในหนังสือ A Treatise of Human Nature ว่า “เหตุผลเป็น และควรจะเป็น เพียงทาสของอารมณ์”
David Hume เจ้าของผลงานมากมาย เช่น A Treatise of Human Nature
Jonathan Haidt เขียนไว้ในหนังสือ A Righteous Mind: Why Good People Are Divided by Politics and Religion ได้น่าสนใจมาก โดยการหยิบหยกประโยคนี้ของฮูมมาเปรียบเทียบผลจากการศึกษาเชิงจิตวิทยา เราเข้าใจว่าเหตุผลนั้นเป็นดั่งควาญช้างซึ่งเปรียบเป็นอารมณ์ความรู้สึก แต่แท้จริงแล้วควาญช้างเพียงแต่บังคับช้างให้เดินไปในทิศทางที่ช้างต้องการ (ซึ่งมีรายละเอียดเพิ่มเติมเล็กน้อย ผมแนะนำหนังสือเล่มนี้ครับ)
ดังนั้นแล้ว การกระทำของมนุษย์นั้น นอกจากจะอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎธรรมชาติ หรือปัจจัยภายนอกที่เราไม่ควบคุมได้ ก็ยังตกอยู่ภายใต้การควบคุมของอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเป็นปัจจัยภายใน และแม้กระนั้น ปัจจัยภายในดังกล่าว ก็ถูกควบคุมด้วยปัจจัยภายนอกอีกต่างหาก เมื่อใส่ปัจจัยภายในไว้ในหุ่นยนต์แล้ว การกระทำของหุ่นยนต์ก็ไม่ต่างจากการกระทำของมนุษย์ ที่โปรแกรม เหตุการณ์ต่าง ๆ หรือก็คือปัจจัยภายนอก และความสามารถทางอารมณ์ความรู้สึก ควบคุมการกระทำของหุ่นยนต์
“อย่างแรกที่หุ่นยนต์ตนนั้นตื่นขึ้นมา เขาจะหลอกผู้อื่นและหลอกตนเอง” เป็นคำพูดที่น่าสนใจมากครับ เพราะก็ไม่ต่างจากมนุษย์ ทั้งที่ทั้งมนุษย์และหุ่นยนต์อยู่ภายได้การควบคุมของปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ไม่อาจควบคุมได้ แต่ก็ยังมีจิตสำนึกว่าการกระทำของตนนั้นเป็นของตนเอง ทั้งนี้ แท้จริงแล้วเราสามารถโยนความผิดเหล่านี้ให้สิ่งอื่นนานับประการ แต่ทั้งหุ่นยนต์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดและมนุษย์เอง กลับเกิดมาและหลอกตนเองว่าตนเองเป็นเจ้าของตนเอง เป็นมนุษย์ที่อยู่เหนือโปรแกรมเหล่านั้น
ทั้งหมดนี้คือความคิดที่ผมได้จากการดูอนิเมะเรื่อง Pluto หากจะถามว่าอาจารย์อุระซาวะจงใจให้ตีความแบบนี้หรือไม่ หรือมันต้องคิดลึกซึ้งไปจนถึงปรัชญาเหล่านี้หรือไม่นั้น คำตอบต่อคำถามแรกคือ ผมไม่รู้ครับ อาจจะต้องไปถามอาจารย์เขา คำตอบต่อคำถามที่สองคือ ผมว่าเป็นไปได้ เพราะการนำเสนอเรื่องราวและรายละเอียดนั้นมันโจ่งแจ้งมากขนาดที่ว่า คนที่เรียนปรัชญามาคาบเดียวในแต่ละสาขาก็พอที่จะนึกออก
จริง ๆ แล้วผมไม่คิดว่าทฤษฎีกฎหมายที่เกี่ยวกับบรรทัดฐานและความรับผิดชอบนั้นเป็นการตีความตรงตามความเข้าใจของเรื่องที่ได้รับการนำเสนอ เพราะว่ามีรายละเอียดอยู่มากมายที่ไม่ได้กล่าวถึงในเรื่อง หากมีเจตนาให้คิดถึงทฤษฎีกฎหมายที่ผมพูดถึง คงจะมีการแต่งเติมรายละเอียดเรื่องโทษและความรับผิดชอบมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม อาจจะเพราะว่ามันคลุมเคลือ คนที่สนใจเรื่องนิติปรัชญาอย่างผมก็อดที่จะคิดไม่ได้
ดังนั้นแล้ว ปรัชญาสายอื่น ๆ เช่น ความเป็นมนุษย์ในเชิงอัตถิภาวนิยม เป็นเรื่องที่มองออกชัดและเห็นง่ายที่สุด แต่ผมตั้งใจที่จะนำเสนอการตีความเชิงปรัชญาความเป็นมนุษย์ผ่านทฤษฎีกฎหมายและนิติปรัชญาครับ
Pluto รับชมได้ทาง Netflix
แต่ถ้าถามว่า ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะได้เป็น Anime of the Year หรือไม่ ผมก็ไม่รู้ครับ จริง ๆ แล้ว ผมมองว่ามีอนิเมะเรื่องอื่นในปีนี้ (ซึ่งรวมกับฤดูกาลสุดท้ายของปีที่แล้วด้วย) ที่ดีกว่า ผมไม่ใช่กรรมการ คงตัดสินอะไรไม่ได้ อย่างน้อย Pluto น่าจะได้รับรางวัลสักหัวข้อหนึ่งครับ
โพสนี้ยาวมาก ท่านใดที่อดทนอ่านมาถึงจบโพสนี้ได้แล้ว ผมคิดว่าท่านคงจะมีความสนใจในประเด็นที่ผมกล่าวถึงไม่มากก็น้อย มีความคิดเห็นอย่างไร หรือผมตกหล่นตรงไหน ก็สามารถคอมเม้นต์บอกกันได้นะครับ ขอบคุณครับ
โฆษณา