6 พ.ย. 2023 เวลา 11:33

การหางาน การจ้างงานและการเลื่อนขั้นของบริษัทญี่ปุ่น

หากคุณเคยไปประเทศญี่ปุ่น คุณคงเคยเห็นฝูงชนในชุดสูทเดินไปมาในเมืองใหญ่ ญี่ปุ่นเป็นประเทศนึงที่มีค่านิยมในการเป็นมนุษย์เงินเดือน สำหรับหัวข้อนี้ผมจะมาเล่าเกี่ยวกับการหางาน การจ้างงานและการเลื่อนขั้นของบริษัทญี่ปุ่น
1. การหางานของเด็กจบใหม่
เริ่มต้นด้วยการเริ่มต้นชีวิตการเป็น 社会人 คำแรก 社会 แปลว่าสังคม ส่วน 人 แปลว่าคน เรียกง่ายๆ ว่า "คนในสังคม" โดยจะหมายถึงคนที่ออกมาใช้ชีวิตในสังคม ทำงานจ่ายภาษี ปฏิบัติตัวตามกฏระเบียบและหน้าที่ในสังคม เด็กมหาลัยจะเริ่มหางาน(就職活動 ชูโชคุคัทสึโด)ในช่วงจบปี 3 ขึ้น ปี 4
ใช่แล้ว ขั้นตอนการหางาน/รับเข้าทำงานสำหรับเด็กจบใหม่จะกินเวลาเกือบ 1 ปี การหางานเริ่มตั้งแต่หาบริษัท ไปฟังสัมมนา/แนะนำบริษัท เขียนใบสมัคร (Entry Sheet) “เขียน” Resume -- Resume ของญี่ปุ่น(履歴書 ริเรคิโช)จะเป็นแบบฟอร์มเป็นทางการ ทุกคนจะเขียนเหมือนๆ กันหมด คนญี่ปุ่นนิยมเขียนมือเพราะเชื่อว่าแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการสมัครเข้าทำงาน ยื่นใบสมัคร ในขั้นตอนยื่นในสมัครโดยเฉลี่ยคนญี่ปุ่นจะยื่นกันประมาณ 20 บริษัท ซึ่งจำนวนนี้ไม่ได้ถือว่าเยอะอะไร เพราะบริษัทที่จะตอบกลับมาอาจจะมีแค่ 2 หรือ 3 บริษัทเท่านั้น
จากนั้นก็เข้าสู่ช่วงสัมภาษณ์ โดยสัมภาษณ์ขั้นต่ำ 3 ครั้ง
1. สัมภาษณ์กับ HR ทั่วไปที่รับใบสมัครมา
2. สัมภาษณ์กับหัวหน้าฝ่าย/หัวหน้าแผนกที่เขาสนใจ
3. สัมภาษณ์กับหัวหน้าแผนก HR + ผู้บริหารระดับสูง หรือแม้กระทั่ง CEO ก็มานั่งสัมภาษณ์เองด้วย
บางที่อาจจะมีให้ไปทำกิจกรรม หรือ Workshop เพิ่มเติมด้วย
หลังจากสัมภาษณ์ผ่านทั้งหมด บริษัทก็จะยื่น Offer ถ้าตอบรับ Offer ก็จะเข้าสู่การเป็นพนักงานอย่างไม่เป็นทางการ ระยะเวลาตั้งแต่ยื่นใบสมัครถึงการตอบรับ Offer กินเวลาประมาณ 6-8 เดือน ตั้งแต่ปิดเทอมใหญ่ตอนปี 3 ล่วงเลยจนจบเทอมแรกของปี 4
เวลาที่เหลือก่อนจบมหาลัยก็จะมีให้ไปเข้าพิธีรับ Offer เอย ไปทำความรู้จักเพื่อนร่วมรุ่นที่จะเข้าทำงานพร้อมกันเอย มีทั้ง Training มี Party สังสรรค์ มีกิจกรรม ประปรายไปจนก่อนจบปริญญา คนญี่ปุ่นจะจบมหาลัย รับปริญญากันต้นเดือน-กลางเดือนมีนาของทุกปี และเริ่มทำงานพร้อมกันในวันที่ 1 เมษาของทุกปี (และเป็นอย่างงี้แทบทุกบริษัท)
2. ทำงานแผนกไหน หน้าที่ไหนอยู่ที่บริษัท
เอกลักษณ์ของระบบภายในองค์กรญี่ปุ่นอยู่ตรงที่ในบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่เด็กจบใหม่เข้าทำงานในตำแหน่ง 総合職 (โซโกโชคุ) ความหมายตรงตัวคืองานประสานงานธุรกิจ หรือก็คือการทำงานที่ข้องเกี่ยวกับการดูแล บริหารธุรกิจ เป็นพนักงานออฟฟิศทั่วไป แต่ถ้าถามว่าแผนกไหน งานไหนนั้น ขึ้นอยู่กับบริษัทหรือ HR จะเลือก จริงๆ แล้ว HR จะถามความประสงค์ก่อนว่าอยากไปทำแผนกไหน งานไหน ทั้งตอนก่อนเข้างาน และก่อนโดนย้าย แต่สุดท้ายคนที่ตัดสินใจเลือกก็เป็นบริษัทและ HR อยู่ดี
Job Rotation ของที่นี่เป็นแกมบังคับ บางครั้งเป็นการย้ายเพื่อนลดตำแหน่ง บางครั้งเป็นการย้ายเพื่อเพิ่มแรงงานของบางแผนก ซึ่งการย้ายแผนกหมายถึงย้ายไปในส่วนที่เราอาจจะไม่มีทักษะหรือความรู้อยู่เลยก็ได้ เรียกว่าให้ไปเริ่มนับ 1 ใหม่
ตัวอย่างการย้ายแผนก จากตอนเริ่มต้นเข้ามาทำในสายการตลาด หลังจากนั้น 2-3 ปี ก็โดนย้ายไปทำในแผนก HR หลังจากนั้น 2-3 ปีก็โดนย้ายไปทำด้านบัญชี หลังจากนั้นก็โดนย้ายไปแผนกวางแผนธุรกิจเป็นต้น โดยเฉลี่ยจะโดนย้ายหนึ่งครั้งภายใน 4 ปี
1
ถ้าโชคร้ายก็อาจจะโดนย้ายไปสาขาในที่ที่ห่างไกล ต่างจังหวัด ยิ่งกว่านั้นในบริษัทที่มีบริษัทในเครือ/กรุ๊ป (Zaibatsu) พนักงานอาจจะโดนย้ายไปบริษัทอื่นเช่น ตอนแรกอยู่ในแผนกการตลาดในบริษัทยานยนตร์ แต่โดนย้ายไปแผนก HR ในบริษัทอสังหาฯ ตรงนี้เกี่ยวพันกับหัวข้อที่ 3 คือการเลื่อนขั้น เพราะเมื่อถึงเวลาที่พนักงานจะต้องเลื่อนต่ำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่าย/หัวหน้าแผนก แต่หัวหน้าคนเดิมยังไม่เกษียณ บริษัทก็จะเลือกส่งคนๆ นั้นไปเป็นหัวหน้าที่สาขาอื่น หรือบริษัทอื่นแทน
ย้อนกลับไปเรื่องการเป็นคนในสังคม งานคือหน้าที่ แม้จะเป็นหน้าที่ที่ไม่อยากทำ ไม่ชอบ ไม่ถนัด ก็จำเป็นต้องยอมรับและทำตามเท่านั้น บางคนที่มองโลกในแง่ดี ก็จะดีหน่อยตรงที่พร้อมเรียนรู้อะไรใหม่ๆ มีไฟเสมอ แต่สำหรับบางคนก็มองแค่ว่าเป็นหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
แน่นอนว่าการถูกย้ายสร้างผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก บางคนมีครอบครัว มีบ้าน มีรถ พอถูกย้ายก็ต้องย้ายที่อยู่ บ้านก็ต้องขาย ลูกต้องย้ายโรงเรียน ภรรยาต้องไปหาสังคมใหม่ แต่ทำไมคนญี่ปุ่นไม่ลาออกแล้วไปหางานใหม่ในที่เดิมหล่ะ? อันนี้ก็เป็นระบบ (วัฒนธรรม) แบบหนึ่งเช่นกัน
3. ระบบจ้างงานตลอดชีพและระบบอาวุโสเลื่อนขั้น
ระบบจ้างงานตลอดชีพ (終身雇用制度 ชูชินโคะโยเซโดะ) เรียกว่าเป็นวัฒนธรรมของบริษัทญี่ปุ่นสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยก็ว่าได้ ย้อนกลับไปที่เด็กจบใหม่เข้าทำงานที่บริษัทพร้อมกันในช่วงอายุประมาณ 22-23 ปี คนเหล่านั้นจะทำงานในบริษัทเดิมไปตลอดจนกระทั่งเกษียณ
เหตุผลหนึ่งคือบริษัทมักจะไม่ไล่พนักงานออก แม้จะผลลัพธ์การทำงานที่ออกมาจะไม่ดีแค่ไหนก็ตาม อย่างร้ายแรงก็แค่ย้ายไปแผนกที่เป็นงานที่ไม่ได้ท้าทาย ได้งานที่ผลงานของพนักงานไม่ได้ส่งผลต่อบริษัท และบริษัทเองก็มักจะไม่รับพนักงานกลางคันสักเท่าไร ถึงรับมาก็ไม่ได้เพิ่มเงินเดือนเหมือนอย่างประเทศอื่นๆ บางทีได้น้อยกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ เนื่องจากระบบอาวุโสเลื่อนขั้น
ระบบอาวุโสเลื่อนขั้น (年功序列制度 เนงโคโจเร็ทสึเซโดะ) บริษัทญี่ปุ่นให้ค่ากับคนที่อยู่กับบริษัทมานาน สมการก็คือ
1. ทำงานมานาน = มีส่วนช่วยเหลือบริษัทมาก
2. มีส่วนช่วยเหลือให้กับบริษัทมาก = สมควรได้เลื่อนตำแหน่ง ได้เงินเดือนเพิ่ม
ตามตรรกะนี้แล้ว หมายความว่าระบบนี้การันตีการเลื่อนขั้น ขึ้นเงินเดือน หากพนักงานอยู่กับบริษัทไปเรื่อยๆ
ทั่วไปแล้วพนักงานจะมีฐานเงินเดือนตามขั้น ในแต่ละปีก็จะมีการขึ้นเงินเดือนตามผลงานกับจำนวนปีที่ทำงาน ในบางบริษัทอาจจะมีอายุด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ เป็นเงินไทยคือ ฐานเงินเดือน 30000 บาท ในปีนี้ทำผลงานได้ดีมาก +2% = 600 บาท ระยะเวลาทำงานเพิ่มจาก 2 ปี เป็น 3 ปี +1.5% 450 บาท เงินเดือนเพิ่มเป็น 31050 บาท เป็นต้น ซึ่งพอแบ่งแบบนี้แล้วต่อให้ KPI ออกมาไม่ดีแต่ระยะเวลาทำงานนานก็ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเยอะ บวกกับฐานเงินเดือนที่เยอะ เงินเดือนก็เพิ่มเยอะตาม ดังนั้นแรงจูงใจของพนักงานคืออยู่ไปเรื่อยๆ จนเกษียณ
การเลื่อนขั้นก็เช่นกัน โอกาสในการเลื่อนขั้นขึ้นตามผลงานและจำนวนปีที่ทำงาน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมพนักงานถึงไม่ลาออกกัน เพราะถ้าลาออกก็ต้องไปนับ 1 ใหม่ที่อีกบริษัท การลาออกไปทำที่ใหม่ โอกาสที่จะได้เลื่อนเป็นหัวหน้าฝ่าย หัวหน้าแผนกนั้นย่อมน้อยกว่าคนที่อยู่มาตั้งแต่เรียนจบ
ระบบนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ด้านหนึ่งระบบนี้การันตีความภักดีต่อองค์กร ข้อเสียคือมันเป็นเหมือนข้อผูกมัดที่บริษัทจะต้องเลื่อนขั้นและแต่งตั้งคนที่ทำงานมานานตามกำหนด โดยไม่สนความสามารถเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เองบางครั้งบริษัทก็เลื่อนขั้นและย้ายคนแบบมั่วๆ เช่นคนที่ไม่เคยข้องเกี่ยวกับแผนกบัญชีเลย โดนย้ายไปเป็นรองหัวหน้าแผนกบัญชี (แล้วก็ต้องให้ลูกน้องมาสอนงาน ซึ่งแน่นอนว่าระบบอาวุโสผู้น้อยก็ต้องเคารพผู้ใหญ่อยู่แล้ว) จะเห็นได้ว่าระบบนี้มันเกี่ยวโยงกันไปหมด
(แถม) ความไม่เท่าเทียมทางเพศกับการเลี่ยงบาลี
เพิ่มเติมในเรื่องของตำแหน่งโซโกโชคุ ในหลายบริษัทเด็กจบใหม่ที่เป็นผู้หญิงจะไม่ได้งานในตำแหน่ง โซโกโชคุ(総合職) แต่เป็นอิปปังโชคุ( 一般職)
一般 แปลว่าทั่วไป แปลตรงตัวคืองานทั่วไป งานเอกสาร งานเบ๊ งานต้อนรับลูกค้า
เรื่องราวนั้นเกิดเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นออกกฏหมายความเท่าเทียมในการจ้างงานระหว่างเพศชายกับหญิง ไม่ให้แบ่งว่าผู้ชายทำงานด้านนี้ ผู้หญิงทำด้านนี้ บริษัทเลยเลี่ยงบาลีไปใช้ตำแหน่งแทน ตอนรับผู้หญิงเข้าทำงานก็ให้ อิปปังโชคุ 一般職 ส่วนผู้ชายก็ให้ตำแหน่ง โซโกโชคุ 総合職 ไป นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งว่าเราไม่ค่อยได้เห็นผู้หญิงนั่งในตำแหน่งบริหารในบริษัทสักเท่าไร
เบื้องลึกของสังคมชายเป็นใหญ่ก็คือผู้ชายญี่ปุ่นมีความคิดฝังหัวว่า เดี๋ยวผู้หญิงก็ต้องออกไปแต่งงาน มีลูก เลี้ยงลูก ดูแลครอบครัว ดังนั้นให้ทำงานเอกสารไป ออกเมื่อไรก็หาคนมาแทนได้ไม่ยาก ซึ่งในปัจจุบันหลายบริษัทก็เลิกวัฒนธรรมเหล่านี้ไปเยอะแล้ว
โฆษณา