7 พ.ย. 2023 เวลา 11:21 • ท่องเที่ยว

ระบบขนส่งมวลชนในต่างจังหวัดของญี่ปุ่น

เวลาคนญี่ปุ่นแนะนำตัว สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือการบอกว่าบ้านเกิดอยู่จังหวัดอะไร(出身 ชุชชิน)สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นบ่อยๆ คือหาก 2 คนมาจากจังหวัดเดียวกันจะสนิทกันได้เร็วขึ้นเหมือนมีจุดร่วม คนญี่ปุ่นมีความรู้สึกรักเมืองเกิดมาก ทุกครั้งที่ถามว่าจังหวัด/เมืองเกิดคุณมีอะไรน่าเที่ยวหรือของขึ้นชื่ออะไรบ้าง เขาก็มักจะตอบด้วยความภาคภูมิใจอยากให้เราได้ลองไปดูทุกครั้ง
ด้วยความที่เป็นคนชอบท่องเที่ยว มีเป้าหมายว่าจะไปเที่ยวให้ครบทุกจังหวัดในญี่ปุ่น จนถึงตอนนี้ไปมาแล้ว 36 จาก 47 จังหวัด และส่วนใหญ่ก็ไปคนเดียวด้วยรถไฟ รถบัสเป็นหลัก ทำให้ได้มีโอกาสสัมผัสกับระบบขนส่งมวลชนในต่างจังหวัด เลยอยากจะมาเล่าให้ฟัง
หลักๆ รถไฟข้ามจังหวัดจะเป็นของ JR (Japan Railways Group) รวมถึงชินคันเซ็นด้วย ทำให้หลายๆ คนที่มาญี่ปุ่นแล้วใช้ JR Pass สามารถนั่งได้ทั้งรถไฟปกติและชินคันเซ็น ซึ่งบริษัท JR เป็นกลุ่มบริษัทที่แบ่งการบริหารให้บริษัทลูกตามภูมิภาคเช่น JR East, JR West, JR Central ทำให้บางที JR Pass บางประเภทก็ครอบคลุมแค่เฉพาะภูมิภาคนั้นๆ
นอกจากรถไฟก็จะมีรถบัสออกไปเมืองใหญ่ (จุดรับหลายจุดภายในเมือง/จังหวัด จุดส่งมีแค่เมืองใหญ่ๆ สนามบิน รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว เช่น Disneyland, USJ) ส่วนใหญ่จะออกรถตอนดึกๆ ประมาณ 4-5 ทุ่ม ถึงจุดหมายในตอนเช้า ซึ่งก็สามารถนอนบนรถบัสได้เลย ใช้เวลาหน่อยแต่ถูกกว่ามาก เพิ่มเติมตรงนี้ว่ารสบัสบางประเภทที่ขึ้นทางด่วน จะมีจุดรับส่งบนทางด่วนด้วย ทำให้สามารถขึ้นลงระหว่างทางได้
ต่อมาภายในจังหวัดก็จะมีขนส่งมวลชนเช่นกัน อย่างน้อยๆ ก็ต้องมีสายรถบัสวิ่งให้บริการ บางจังหวัดเป็นรถราง หรือบางจังหวัดคนเยอะหน่อยก็จะมีรถไฟ ยกตัวอย่างจากที่ไปมาคือ ฮิโระชิม่ามีรถราง เซ็นไดมีรสไฟฟ้าใต้ดิน วากายาม่ามีรถบัส ฮะมามะทสึมีทั้งรถบัสและรถไฟ (รางเดี่ยว)
แต่ก็จะมีแค่เฉพาะในระแวกตัวเมืองที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง และเป็นพื้นที่ที่เจริญสุดในจังหวัด (เจริญในระดับที่ก็พอมีโซนร้านค้า ห้างสรรพสินค้า สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน) สายรถบัสบางจังหวัดจะมีการกระจายจากในเมืองออกนอกตัวเมืองเช่นกัน แต่จะไม่เยอะและไม่บ่อย ซึ่งคนที่อยู่ในที่ห่างไกลออกไปก็ต้องพึ่งรถกันซะส่วนใหญ่
เนื่องจากเคยคลุกคลีกับบริษัทที่ทำสายรถบัสและรถไฟ เลยอยากจะแชร์ข้อมูลบางส่วน แน่นอนว่าระบบขนส่งมวลชนเป็นสิ่งสำคัญมากๆ มันหมายถึงนักเรียนไปโรงเรียนสะดวกขึ้น คนทั่วไปไปทำงาน ไปซื้อของ ไปทำธุระได้สะดวกขึ้น คนแก่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้สะดวกขึ้น ในราคาที่ถูกลง แต่การทำธุรกิจขนส่งมวลชนในต่างจังหวัดนั้นยากที่จะหากำไรได้ ยิ่งเมืองที่คนอยู่น้อย นั่นหมายถึงลูกค้าน้อย พอลูกค้าน้อย รายได้ก็น้อยตาม บวกกับแนวโน้มของคนรุ่นใหม่ที่มักจะย้ายเข้าไปเมืองใหญ่ ทำให้ประชาการในต่างจังหวัดลดลงไปเรื่อยๆ
สิ่งที่ตามมาคือบริษัทขนส่งมวลชนท้องถิ่นเหล่านี้จะขาดทุน เมื่อรายได้น้อยลง บริษัทก็พยายามหารายได้เพิ่มหรือลดต้นทุน เช่นการขึ้นราคา หรือลดสาย หรือจำนวนรอบ ซึ่งนำมาถึงความสะดวกสบายที่ลดลง ลูกค้าอาจจะต้องจ่ายเงินมากขึ้น หรือรอนานขึ้น เดินไปป้ายรถเมล์ที่ไกลขึ้น หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนไปนั่งรถแท็กซี่หรือไม่ก็ถึงขั้นต้องซื้อรถมาขับเอง
ขอเสริมว่าการขึ้นราคาเป็นทางเลือกสุดท้ายที่บริษัทจะทำ เพราะส่วนใหญ่บริษัทไม่ต้องการผลักภาระทางการเงินไปที่ลูกค้า บริษัทอาจจะหาโฆษณามาแปะเพิ่มรายได้ หรือไม่ก็ลดสายที่คนขึ้นน้อยเป็นอันดับแรกๆ บริษัทผมที่เคยทำนั้นจริงๆ ขาดทุนมาตั้งแต่ก่อนโควิดระบาดแล้ว แต่เพราะมีธุรกิจอื่นๆ ที่จะพอมาช่วยพยุงไม่ให้บริษัทขาดทุนได้อยู่
ในบางบริษัทที่แบกรับไม่ไหว ราชการส่วนท้องถิ่นจะยื่นมือเข้ามาช่วย มอบเงินช่วยเหลือให้ เพื่อให้บริษัทดำเนินธุรกิจ ให้บริการผู้คนในเมืองต่อไปได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเมืองและอำนวยความสะดวกให้กับผู้คน หรือบางทีท้องถื่นเองก็ลงมาให้บริการเองก็มี
เมื่อพูดถึงราชการส่วนท้องถิ่นแล้ว ก็อยากจะพูดเสริมเรื่องการจัดเก็บภาษีกันบ้าง หลังจากเริ่มทำงานที่ญี่ปุ่น ในสลิปเงินเดือน จะถูกหักเป็นภาษี 2 อย่าง คือภาษีเงินได้ (所得税 โชโทคุเซย์)และภาษีที่อยู่อาศัย(住民税 จูมินเซย์)ขอข้ามภาษีเงินได้ไปภาษีที่อยู่อาศัยเลย ภาษีที่อยู่อาศัยนี้จะจ่ายให้กับเมืองที่เรามีทะเบียนบ้านอยู่ จะถูกหักไปจากเงินเดือน เงินจะนำไปใช้จ่ายเป็นค่าสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่น การเก็บขยะ ดับเพลิง รถพยายาล (รถพยาบาลที่ญี่ปุ่นเรียกว่าฟรี จนบางคนเรียกเป็นแท็กซี่เลยก็มี) ฯลฯ
ซึ่งในบางเมืองก็จะนำภาษีเมืองมาเป็นกลยุทธ์ในคนย้ายมาอยู่ หรือไม่ก็ให้นักลงทุนมาลงทุนกับเมืองๆ นั้น นอกจากภาษีที่อยู่อาศัยแล้วก็จะมีภาษีรักบ้านเกิด ซึ่งเราสามารถเลือกเมืองที่จะจ่ายให้ได้และสามารถนำเอาลดหย่อนภาษีได้ด้วย เมืองนั้นๆ เองก็จะส่งของขึ้นชื่อกลับมาให้ด้วย (เคยซื้อแก้วจากจังหวัดอาโอโมริ และสตอเบอรี่จากซากะมา) ซึ่งตอนจ่ายสามารถเลือกได้อีกว่าจะให้เมืองนั้นเอาเงินภาษีไปใช้ด้านใด เช่นเรื่องการศึกษา ดูแลธรรมชาติ รวมถึงเขียนข้อความให้กำลังใจได้ด้วย นับเป็นไอเดียที่ดีมากๆ
โฆษณา