23 พ.ย. 2023 เวลา 11:00

หนึ่งเขตหนึ่งโรงเรียน

มีอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเรื่องที่ดินและบ้านก็คือเขตโรงเรียน ที่ญี่ปุ่นจะกำหนดเลยว่าคนอยู่เขตนี้จะต้องให้ลูกหลานเข้าโรงเรียนนี้ คนที่อยู่ที่อีกเขตก็ต้องไปเรียนที่อีกโรงเรียน สิ่งนี้เรียกว่า (学区 กักคุ) หรือ School District ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแผนที่ที่แบ่งเป็นเขตๆเอาไว้
โดยทั่วไปแล้วแต่ละเขตจะมีโรงเรียนประถมและโรงเรียนมัธยมต้นเพียงแค่แห่งเดียว (ตามภาพประกอบ) และการแบ่งเขตสำหรับโรงเรียนประถมและโรงเรียนมัธยมต้นก็แตกต่างกันอีก โดยเขตโรงเรียนมัธยมต้นจะกว้างกว่า
ด้วยหลักการแบ่งเขตนี้ทำให้เด็กนักเรียนไม่จำเป็นต้องสอบเข้าโรงเรียนเพื่อเข้าเรียน เพราะได้ถูกกำหนดไว้ตามที่อยู่อาศัยไว้แล้ว และแน่นอนว่าถ้าพ่อแม่ย้ายบ้าน ลูกก็ต้องย้ายโรงเรียนตามไปด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่เราเห็นการย้ายโรงเรียนอยู่ในพล็อตของอนิเมะหรือซีรีย์ญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ
รวมถึงเรื่องที่การแบ่งเขตของโรงเรียนประถมและมัธยมต้นนั้นไม่เหมือนกัน ทำให้เด็กประถมบางคนที่อยู่โรงเรียนเดียวกัน พอเข้ามัธยมกลับต้องย้ายไปเรียนคนละโรงเรียนเพราะบ้านอยู่คนเขตนั่นเอง
เหตุผลหลักของการแบ่งเขตแบบนี้คือการจำกัดระยะทางการเดินทางของนักเรียน เนื่องจากไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะไปรับไปส่งลูกหลานได้ อันที่จริงเด็กจำนวนมากแม้แต่เด็กประถมเดินไปโรงเรียนเอง (แบบโคนัน) บางส่วนก็อาศัยรถโรงเรียน (แบบชินจัง) ซึ่งการแบ่งเขตแบบนี้ก็เพื่อให้เด็กไม่ต้องเดินทางไกลจนเกินไปนั่นเอง
โดยพื้นฐานแล้วคุณภาพการศึกษาของแต่ละโรงเรียนมีมาตรฐานตามกระทรวงฯ แต่ในความเป็นจริงนั้นก็มีบางโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนดัง มีสิ่งอำนวยความที่ดี ฯลฯ และเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเหล่าพ่อแม่ที่รักและหวังดีต่อลูกอยากให้ได้เรียนในโรงเรียนที่ดี ในตอนเลือกซื้อบ้าน ซื้อคอนโด เหล่าพ่อแม่ก็จะเลือกซื้อในเขตโรงเรียนนั้นๆ
สิ่งที่ตามมาก็คือราคาที่อยู่อาศัยของแต่ละเขตก็จะต่างกัน แม้จะเป็นบ้านแบบเดียวกันอยู่ห่างกันเพียงแค่มีถนนมากั้นก็มีราคาแต่ต่างกันมากๆได้อย่างน่าอัศจรรย์
นอกจากโรงเรียนรัฐ ผู้ปกครองสามารถส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนเอกชนได้โดยไม่ต้องสนใจเขตโรงเรียน แต่ค่าใช้จ่ายก็จะแพงตามกันไป
โฆษณา