24 พ.ย. 2023 เวลา 11:00

วันหยุดญี่ปุ่น

มีหลายคนถามถามมาว่าที่ญี่ปุ่นเห็นคนทำงานกันหนักแบบนี้วันหยุดเยอะไหม วันนี้จะมาเล่าให้ฟัง
ในไทยเราจะรู้กันเป็นปกติแล้วว่าวันเสาร์ อาทิตย์คือวันหยุด นอกจากนี้ก็จะเป็นวันหยุดราชการ/นักขัตฤกษ์ ซึ่งแล้วแต่บริษัทว่าจะให้หยุดหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ก็หยุด สุดท้ายก็เป็นวันหยุดลาพักร้อนตามโควต้าที่เรามี
ที่ญี่ปุ่นก็คล้ายๆ กันแต่แม้จะบอกว่าเสาร์ อาทิตย์เป็นวันหยุด แต่บางเสาร์ บางอาทิตย์ก็ไม่ใช่ วันหยุดราชการ/นักขัตฤกษ์ก็แล้วแต่เช่นกัน ถ้าจะพูดให้ถูกต้อง หลักๆ จะแบ่งประเภทและคิดตามนี้
1. วันหยุดตามกำหนด 公休 (โควคิว) แม้ตัว 公 จะมีความหมายว่าราชการ/สาธารณะ ซึ่งให้ความหมายถึงวันหยุดราชการแต่วันหยุดตามกำหนดคือวันหยุดที่บริษัทกำหนดตามกฏหมายที่บังคับให้ใน 1 ปี ต้องมีวันหยุดอย่างน้อย 105 วัน วันไหนก็ได้บริษัทจะกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือวันเสาร์อาทิตย์นั่นแหละ (ที่บริษัทที่เคยทำ มีเป็นปฏิทินมาให้เลย)
ในหนึ่งปีมี 52 สัปดาห์ ทั้งปีวันเสาร์อาทิตย์มี 104 วัน แบบนี้ก็หยุดเสาร์อาทิตย์เป็นปกติหรือเปล่า ตอบตรงนี้เลยว่าใช่แล้ว แต่บริษัทที่ทำแบบนั้นจะกำหนดให้วันหยุดนักขัตฤกษ์อื่นๆ เป็นวันทำงานปกติ รวมถึงวันหยุดเทศกาล วันหยุดปีใหม่ด้วย ดังนั้นถ้าทำแบบนั้นหมายความว่าคนที่จะหยุดปีใหม่ หรือหยุดยาวตามเทศกาล ต้องใช้วันลา หลายบริษัทจึงเลือกให้หยุดยาวตามเทศกาล แล้วให้ทำงาน 6 วันในบางสัปดาห์แทน ซึ่งก็มีบริษัทจำไม่น้อยเลยที่ให้หยุดตามขั้นต่ำ 105 วัน ถือว่าวันหยุดน้อยมากเลยทีเดียว
2. วันหยุดนักขัตฤกษ์ 祝日 (ชูคุจิทสึ) ตัว 祝 มีความหมายว่าอวยพร/เฉลิมฉลอง อันนี้จะมีความหมายเป็นวันหยุดราชการมากกว่าเพราะราชการหยุดกันหมด จากที่เกริ่นไปแล้วในข้อ 1 กฏหมายไม่ได้ระบุเอาไว้ว่าบริษัทต้องหยุด ดังนั้นถ้าบริษัทไม่ได้กำหนดว่าเป็นวันหยุดแล้วอยากจะหยุด ก็ใช้วันลาไป
ส่วนวันหยุดนักขัตฤกษ์เป็นวันแบบไหน ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับประเพณี วัฒนธรรมและธรรมชาติมาก วันหยุดนักขัตฤกษ์ที่เกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรมก็เช่น
  • วันบรรลุนิติภาวะ (จันทร์ที่ 2 ของมกราคม)
  • วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระจักรพรรดิ (23 ก.พ.)
  • วันโชวะ (29 เม.ษ.)
  • วันเด็ก (5 พ.ค.)
  • วันวัฒนธรรม (3 พ.ย.)
และวันที่เกี่ยวกับธรรมชาติเช่น
  • วันเริ่มฤดูใบไม้ผลิ (20/21 มีนา)
  • วันธรรมชาติ (4 พ.ค.)
  • วันทะเล (22 ก.ค.)
  • วันภูเขา (8 ส.ค.)
  • วันเริ่มฤดูใบไม้ร่วง (22/23 ก.ย.)
วันหยุดตามวัฒนธรรมคนญี่ปุ่นก็จะมีกิจกรรมตามประเพณีและความเชื่อ เช่น เทศกาลปาถั่วไล่ยักษ์ในวันเริ่มฤดูใบไม้ผลิ หรือการตกแต่งธงปลาคาร์ฟในวันเด็ก รวมถึงการโปรโมทการท่องเที่ยวสำหรับวันหยุดที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น ชวนให้ออกไปเดินเขา ออกไปทะเล เป็นต้น
3. วันหยุดพิเศษ 特休 (โท็คคิว) ตัว 特 มีความหมายว่าพิเศษ วันหยุดพิเศษคือวันที่กฏหมายไม่ได้กำหนด แต่บริษัทใจดีแจก ซึ่งบางบริษัทอาจจะไม่มีวันหยุดพิเศษแต่ให้วันหยุดตามกำหนดเยอะแทน ความหมายไม่ได้ต่างกัน ในบริษัทที่เคยทำมานั้นให้วันหยุดพิเศษตอนปีใหม่ให้เป็นหยุดยาว 6 วัน
4. วันลาพักร้อน 有休 (ยูคิว) พนักงานต้องได้วันลาพักร้อนหลังจากเข้าทำงาน 6 เดือนเป็นอย่างช้า บางบริษัทใจดีเข้าทำงานแล้วก็ให้เลย แต่ส่วนใหญ่แล้วให้หลังจาก 6 เดือน เริ่มต้นต้องให้ 10 วันใน 1 ปี เป็นอย่างน้อย ปีที่ 2 ถึง 7 จะได้ 11 12 14 16 18 20 วัน
แล้วลาป่วยหล่ะ? ลาป่วยไม่ได้อยู่ในกฏหมาย บริษัทที่ไม่ได้ให้วันลาป่วยแล้วป่วยมีตัวเลือกแค่ ใช้วันลา ไม่ก็ leave without pay (欠勤 เค็คคิง) คิดว่าส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ เพราะบริษัทที่เคยทำก็ไม่มีวันลาให้
สุดท้ายนี้บางคนอาจจะเคยให้ยินเรื่องลาคลอด ลาเลี้ยงบุตร 産休・育休 (ซังคิว อิคุคัว) ยังดีที่กฏหมายกำหนดให้สามารถลาคลอดหรือลาไปเลี้ยงลูกได้โดยไม่ต้องลาออก แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องจ่ายเงินเดือน (ส่วนใหญ่ไม่จ่าย) แต่สามารถรับเงินเดือนบางส่วนได้จากประกันจ้างงาน/ประกันสุขภาพ 雇用保険・健康保険 (โคะโยโฮะเค็น/เค็งโคโฮะเค็น)
ลาคลอดนานขนาดไหน ลาได้ตั้งแต่เมื่อไร: ลาได้ 6 สัปดาห์ก่อนวันกำหนดคลอดถึง 8 สัปดาห์หลังคลอด ส่วนลาเลี้ยงลูกหยุดได้ตั้งแต่หลังคลอดถึงลูก 1 ขวบ ซึ่งสิ่งที่ดีสำหรับกฏหมายนี้คือการลาเลี้ยงลูกนั้นผู้ชายก็ลาได้
โฆษณา