7 พ.ย. 2023 เวลา 15:05 • หุ้น & เศรษฐกิจ

SCB ตั้งเป้า เป็นที่ 1 ด้าน Wealth Management

ถ้าให้นึกถึงกลุ่มลูกค้าที่ชัดของธนาคารแต่ละสี
- ถ้าธนาคารสีน้ำเงิน เราอาจนึกถึงลูกค้าที่เป็นบริษัทใหญ่
- ถ้าธนาคารสีเขียว เราอาจนึกถึงกลุ่มลูกค้า SMEs
- ถ้าธนาคารสีเหลือง เราอาจนึกถึง Consumer Finance ที่เป็นบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล
คำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วธนาคารสีม่วงอย่าง SCB ใครเป็นกลุ่มลูกค้าที่ชัดที่สุดของ SCB ?
คำตอบนี้ได้ถูกเฉลยโดย คุณ กฤษณ์ จันทโนทก CEO คนแรกของ SCB ในยุคหลังการปรับโครงสร้างบริษัทให้ SCB อยู่ภายใต้ SCBX
คำตอบของทิศทาง SCB ก็คือ
SCB ต้องเป็นที่ 1 ในธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management)
ภาพจำแรกที่ทุกคนนึกถึงเมื่อเห็น SCB ต่อไปจะต้องเป็นเรื่อง Wealth Management
1
SCB คิดอะไรอยู่ ทำไมต้องเป็นแบบนั้น ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
คำตอบแรกก็คงเป็นเพราะ ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่เหมาะกับตลาดประเทศไทยในยุคถัดไป..
ถ้าให้ไปดูทั่วโลก ในช่วงหลัง ธนาคารระดับโลกที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่ P/BV Ratio และ ROE ที่สูงกว่าธนาคารอื่น ส่วนใหญ่ธนาคารเหล่านั้นจะให้ความสำคัญกับเรื่องธุรกิจ Wealth Management แทบทั้งนั้น
เรื่องสำคัญที่สุด คือ ด้วยโครงสร้างสังคมทั่วโลกกำลังเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ คนทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับการบริหารความมั่งคั่งมากขึ้น
1
เพราะคนส่วนใหญ่เหล่านั้นไม่มั่นใจว่าประกันสังคมที่รัฐจัดหาให้มันเพียงพอต่อการใช้ชีวิตของเขาได้อย่างมีคุณภาพหรือไม่
และนอกจากนั้น ถ้ามองในเรื่องของอัตรากำไร ธุรกิจ Wealth Management จะมีอัตรากำไรที่ดีกว่า การปล่อยสินเชื่อเพื่อหาส่วนต่างดอกเบี้ย ในธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิม
จากข้อเท็จจริงที่ว่า SCB เพิ่งทําธุรกิจ Wealth Management อย่างจริงจังกันเมื่อ 4-5 ปีนี้ ปัจจุบันรายได้ของธุรกิจ Wealth Management ทั้ง Investment และ Insurance รวมกันเพิ่มขึ้นมาเป็น 20% จาก ปี 2017 ที่มีเพียง 7% ของรายได้ธนาคาร..
1
ตัวเลขที่เติบโตสูงขนาดนี้ จึงอาจเป็นสาเหตุให้ SCB อยากโฟกัสกับธุรกิจนี้มาก ๆ
แล้วใน 4-5 ปีที่แล้ว SCB ทำอะไรไปบ้าง ?
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว SCB ร่วมมือกับ จูเลียส แบร์ (Julius Baer) ธนาคารจากสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งธนาคารนี้จะเน้นแต่ ธุรกิจด้าน Wealth Management โดยเฉพาะ Private Banking เท่านั้น
แล้ว Private Banking คืออะไร ? ทำไม SCB มีประสบการณ์ในภาคธนาคารมายาวนานขนาดนี้ ยังต้องพึ่งพาธนาคารต่างประเทศอีก
คำตอบก็คือ ธุรกิจ Private Banking เป็นการให้คำปรึกษาในเรื่องการวางแผนความมั่งคั่งแก่ลูกค้า โดยจะครอบคลุมไปถึง
1
1. การเพิ่มความมั่งคั่งแก่ลูกค้า
2. การรักษาความมั่งคั่งของลูกค้าไม่ให้เสียไป
3. การส่งมอบความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่นให้แก่ลูกค้า
ดังนั้น มันเกินขอบเขตไปจากที่หลายคนคิดในตอนแรก การบริหารความมั่งคั่งไม่ใช่แค่การแนะนำการลงทุน
แต่มันจะครอบคลุมไปถึงการทำความรู้จักครอบครัวลูกค้า การวางแผนการบริหารความมั่งคั่งในองค์รวมให้แก่ลูกค้า การแนะนำเครื่องมือทางการเงินแบบที่คิดมาโดยเฉพาะให้แก่ลูกค้า ซึ่งเสมือนเป็น Family Office ให้แก่ลูกค้ารายใหญ่
1
ดังนั้นประสบการณ์ในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และในหลายครั้งต้องการความเชี่ยวชาญระดับโลกที่จะมาให้คำปรึกษาให้
ซึ่งธนาคารอื่นอาจจะใช้โมเดลการเป็นตัวแทนของธนาคารต่างประเทศ แต่ SCB เลือกโมเดลแบบไม่เหมือนใคร โดยเป็นการดึง Julius Baer เข้ามาร่วมทำธุรกิจด้วยซะเลย
การร่วมมือครั้งนี้เป็นการร่วมทุนแบบขอ License ตั้งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ใหม่ในไทย โดย SCB ถือหุ้นบริษัทนี้ 60% และ Julius Baer ถือหุ้น 40%
ดังนั้นการโฟกัสของธนาคารต่างประเทศก็จะแตกต่างกัน และสามารถออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าได้
ผลิตภัณฑ์ที่เราอาจนึกไม่ถึง อย่างเช่น สินเชื่อเพื่อการลงทุน (Lombard Loan) โดยเอาหลักทรัพย์เช่น หุ้น มาค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อไปลงทุน ซึ่งโดยปกติแล้วธนาคารแบบดั้งเดิมจะไม่ได้เสนอสินเชื่อลักษณะนี้กัน
ถ้าถามว่า SCB ตอนนี้มีธุรกิจ Wealth Management ใหญ่ขนาดไหน ?
จริง ๆ แล้ว SCB ในตอนนี้เป็นอันดับ 1 ในเรื่องฐานลูกค้าด้าน Wealth ที่มีปริมาณมากที่สุดอยู่แล้ว แต่การมีเป้าหมายว่าต้องเป็นอันดับ 1 ในธุรกิจ Wealth Management ในทุก ๆ ด้าน ก็อาจทำให้ภาพของธนาคารชัดขึ้น
โดยปัจจุบัน SCB มีลูกค้าตั้งแต่ระดับ PRIME (2 ล้านบาทขึ้นไป) รวมกันกว่า 500,000 ราย และรวมสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการ (AUM) กว่า 1,600,000 ล้านบาท
จากข้อเท็จจริงที่ว่า GDP ของประเทศไทยล่าสุด อยู่ที่ 17,000,000 ล้านบาท
จากข้อมูล ก็คงไม่ผิดที่จะบอกว่า
SCB กำลังมีเป้าหมายที่สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง ในการโฟกัสที่จะบริหารความมั่งคั่ง ให้ทรัพย์สินจำนวนมาก
มากขนาดที่คิดเป็นประมาณ 10% ของ GDP ไทยเลยทีเดียว..
โฆษณา