9 พ.ย. 2023 เวลา 14:30 • ความคิดเห็น

5 ครั้งในรอบ 20 ปีที่ Howard Marks เอาชนะตลาด

กับ 3 บทเรียนการลงทุนจากชายที่ Warren Buffett ยังต้องฟัง
โฮเวิร์ด มาร์กส์ (Howard Marks) ผู้ก่อตั้งและประธานร่วมของ ‘โอ๊คทรี แคปิตอล แมเนจเมนท์’(Oaktree Capital Management) บริษัทลงทุนในหลักทรัพย์ ที่ทำผลตอบแทนสูงกว่า 19% ติดต่อกันยาวนานถึง 20 ปี โดยนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ระบุว่า เขามีความมั่งคั่งรวมกว่า 78,400 ล้านบาทหรือราว 2,200 ล้านดอลลาร์
สิ่งหนึ่งที่สร้างชื่อให้มาร์กส์ คือการเขียน #เมโม (Memo) ถึงนักลงทุน ที่เขาลงบนเว็บไซต์มานานกว่า 40 ปี คล้ายกับ #จดหมายถึงผู้ถือหุ้น ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ซีอีโอของ เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ (Berkshire Hathaway)
1
เมโมของเขานี้จะเต็มไปด้วยแนวคิด ทิศทาง แนวโน้มของสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงการแบ่งปันเคล็ดลับในการลงทุนของเขาด้วย บัฟเฟตต์ยังเคยบอกว่าด้วยว่าเมื่อไหร่ที่เห็นเมโมของมาร์กส์เขาจะเลือกอ่านมันก่อนเพราะมักจะมีประเด็นอะไรให้เรียนรู้เสมอ
วันนี้ aomMONEY จะพาไปรู้จัก โฮเวิร์ด มาร์กส์ ผ่านเมโม “Taking the Temperature” ของเขาที่กล่าวถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญ 5 ครั้งในเหตุการณ์ทางการเงินใหญ่ๆ ในช่วงปี 2000-2020 ที่กลายมาเป็นบทเรียนทางด้านการเงินที่มีค่าอีก 3 ข้อ
1. [[ ฟองสบู่ดอตคอม ปี 2000 ]]
มาร์กส์ เล่าว่า เขาอ่านหนังสือ “Devil Take the Hindmost” ของ เอ็ดเวิร์ด แชนเซลเลอร์ (Edward Chancellor) นักประวัติศาสตร์การเงินชาวอังกฤษ ที่รวมเรื่องการเก็งกำไรตั้งแต่ยุคโรมโบราณมาถึงยุคใหม่ เมื่ออ่านจบ เขาแจ้งเตือนนักลงทุนว่า สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นเทคโนโลยีในขณะนั้น มีความคล้ายคลึงกับการเก็งกำไรที่ไร้เหตุผลในอดีต
เขาบันทึกเรื่องนี้ในเมโม “Bubble.com” ปี 2000 ใจความว่า มีการเก็งกำไรในหุ้นเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคมมากเกินไป หลังจากนั้นเพียง 2 เดือน ฟองสบู่ในธุรกิจดอตคอมก็แตก ส่งผลให้ S&P 500 ร่วงลงไป 46% ในขณะที่ตลาดหุ้น NASDAQ ที่เน้นหนักในบริษัทเทคโนโลยี ก็มีมูลค่าลดลงไปกว่า 80%
2. [[ วิกฤตการเงินโลก (Global Financial Crisis (GFC)) หรือ วิกฤตซับไพรม์ (Subprime) 2004-2007 ]]
ระหว่างปี 2004 - 2007 มาร์กส์เขียนเตือนอยู่เสมอว่า “หายนะที่ก่อตัวอย่างช้าๆ” กำลังจะเกิดขึ้น
เมโมปี 2004 ที่ชื่อ “Risk and Return Today” ของมาร์กส์ มีการตั้งข้อสังเกตว่า ธนาคารกลางสหรัฐได้หันมาใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายภายหลังฟองสบู่ดอตคอมแตก ส่งผลให้ทรัพย์สินปลอดภัยต่าง ๆ ให้ผลตอบแทนต่ำ ผลักนักลงทุนให้นำเงินไปวางในทรัพย์สินเสี่ยงสูง จนสร้างความเชื่อที่ว่า ราคาบ้านมีแต่ขึ้นกับขึ้น และเกิดการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์กันทั้งตลาด
และในเมโมปี 2007 ที่ชื่อ “It’s All Good” (ตั้งชื่อแบบจิกกัดตลาด) มาร์กส์ระบุว่า นักลงทุนเพิกเฉยต่อความเสี่ยง และมองตลาดในแง่ดีมากเกินไป ซึ่งหมายความว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังจะเกิดขึ้น และอีก 5 เดือนต่อมา ก็เกิดวิกฤตซับไพรม์ ส่งผลให้ธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงินระดับโลกอย่าง Bear Stearns และ Lehman Brothers ล่มสลาย ฉุด S&P 500 ร่วงลงไป 53%
1
มาร์กส์บอกว่าเขาไม่มีข้อมูลภายในอะไรที่บอกว่าตลาดกำลังจะเกิดหายนะ เพียงแต่เขาดูจาก ‘อุณหภูมิของตลาด’ แล้วรู้สึกว่านักลงทุน ‘เริงร่าแบบไร้เหตุผล’ (irrationally exuberant) คือสัญญาณเตือนที่ต้องระวัง
3. [[ ทำกำไรหลังตลาดร่วงจากวิกฤตซับไพรม์ (Buying the GFC dip) ปี 2008 ]]
หลังวิกฤตซับไพรม์ ตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐพังทลาย นักลงทุนมากมายต่างไม่กล้าเสี่ยง แต่โอ๊คทรีแคปิทัลกลับตั้งกองทุนสำรองมูลค่า 400,000 ล้านบาท (11,000 ล้านดอลลาร์) ระหว่างเดือนมกราคม 2007 - มีนาคม 2008 เพื่อกว้านซื้อทรัพย์สินคุณภาพที่กำลังมีปัญหาในเดือนกันยายน 2008
มาร์กส์คิดว่า ควรมองตลาดในแง่ดีเมื่อคนทั้งโลกต่างมองตลาดในแง่ร้าย เขาเชื่อว่าตลาดหมีกำลังจะสิ้นสุดและความเสี่ยงมากที่สุดตอนนั้นคือการไม่ลงทุน
โอ๊คทรีแคปิทัล ทำกำไรหลายหมื่นล้านบาทจากการซื้อทรัพย์สินที่มีคุณภาพในราคาถูก S&P 500 พุ่งสูงขึ้นประมาณ 500% นับตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ เขาบันทึกเรื่องนี้ลงเมโมที่ชื่อว่า “The Limits to Negativism” ปี 2008
“ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต้องมองไม่ขาวก็ดำ : โลกจะแตกหรือไม่แตก? เราจะลงทุนในความคาดหวังที่ว่ามันจะไปต่อ บริษัทจะยังคงทำเงินได้ ยังมีมูลค่า และการซื้อในราคาถูกจะส่งผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว มันยังมีทางเลือกอื่นอีกเหรอ?”
4. [[ ตลาดกำลังจะล่มสลายและมีแต่ความกลัว ในปี 2012 ]]
หลังเหตุการณ์วิกฤตการเงินโลก นักลงทุนและตลาดค่อย ๆ ฟื้นตัว แต่เมื่อมีการยื่นฟ้องล้มละลายของ “Lehman Brothers” ดูเหมือนตลาดการลงทุนจะตื่นตระหนกอีกครั้ง
แต่มาร์กส์กลับนึกถึงบทความ “The Death of Equities” ของ Businessweek ที่เขียนขึ้นเมื่อ 1979 โดยระบุถึงสถานการณ์ย่ำแย่ของเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อต่อเนื่อง อาจทำให้ตลาดการลงทุนล่มสลาย
แต่สิ่งที่เกิดตรงกันข้าม เพราะนับจากปี 1979 จนถึงปี 2012 S&P 500 ก็เติบโตได้อย่างสวยงาม
สถานการณ์ในปี 2012 ก็คล้ายกัน โฮเวิร์ด มาร์กส์คิดว่า นักลงทุนมองตลาดในแง่ร้ายมากเกินไป เขาจึงเขียนบทความที่ชื่อว่า “Déjà Vu All Over Again” (‘เหมือนเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว’) เพื่ออธิบายรายละเอียดแนวคิด รวมถึงความเชื่อของเขาที่ว่า สถานการณ์กำลังจะเป็นบวก มากกว่าที่จะเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
แน่นอน การวิเคราะห์ของมาร์กส์ถูกต้อง เหมือน ‘เดจาวู’ เกิดขึ้นอีกครั้ง ตลาดเงินและการลงทุนไม่ได้ล่มสลาย S&P 500 กลับมาให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 16.5% ต่อปี ระหว่างปี 2012 - 2021
5. [[ ทำกำไรจากภาวะตลาดขาลงช่วงโควิด ในปี 2020]]
การตัดสินใจเรื่องสุดท้ายที่มาร์กส์เล่าคือ การคาดเดาสถานการณ์การลงทุนในภาวะ โควิด-19 เขาบอกว่าเป็นเรื่องยากมากเพราะไม่มีสถานการณ์ใดที่เทียบเคียงได้ ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จะไม่ทำอะไรเลย
มาร์กส์อธิบายถึงเหตุผลในการตัดสินใจลงทุนในตอนนั้นว่า เมื่อพิจารณาถึงการซื้อขายที่ผ่านมา รวมถึงราคาของสินทรัพย์ที่ลดลงในตอนนั้นแล้ว ก็น่าเป็นช่วงเวลาที่น่าลงทุน ในขณะที่บริษัทต่าง ๆ ถูกบังคับขายพันธบัตรเพราะต้องการถือเงินสดเพื่อความอยู่รอดในช่วงล็อกดาวน์ แต่สำหรับมาร์กส์ นี่เป็นสัญญาณการเข้าซื้อและเรื่องเลวร้ายกำลังจะจบลง
เป็นอีกครั้งที่ โอ๊คทรีแคปิทัล และโฮเวิร์ด มาร์กส์ทำกำไรจากการตัดสินใจลงทุนที่เฉียบขาด S&P 500 เพิ่มขึ้นมากกว่า 90% จากระดับต่ำสุดในช่วงโควิด เดือนมีนาคม 2020
[[ 3 บทเรียนสำคัญโฮเวิร์ด มาร์กส์เรียนรู้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา]]
ในตอนท้ายของบันทึก มาร์กส์แจกแจงประสบการณ์การลงทุนที่ผ่านมาของเขาออกมาเป็น 3 บทเรียนสำคัญ ดังนี้
1. [[ #เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ]]
นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษาประวัติศาสตร์ จึงสามารถใช้ประโยชน์จากการสังเกตรูปแบบของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น (Pattern Recognition) โดยวงจรธุรกิจมักจะคาดเดาได้จาก “อุณหภูมิของตลาด” (temperature of the market)
อารมณ์คือสิ่งที่ขับเคลื่อนนักลงทุนส่วนใหญ่มากกว่าเหตุผล หลายครั้งที่พวกเขามองว่าตลาดกำลังไปได้ดี แต่พอมีการปรับฐาน ความคิดของนักลงทุนจะแปลเปลี่ยนเป็นความกลัว จนเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับสิ่งที่ควรจะเป็น
2. [[ #ต้องสามารถควบคุมอารมณ์ของตนให้ได้ ]]
มาร์กส์กล่าวว่า เรื่องไร้เหตุผลมักเกิดขึ้นเมื่อผู้คนเริ่มคิดว่า “ไม่มีสินทรัพย์ราคาสูงเกินไป” หรือ “ไม่มีใครสนใจลงทุนอีกแล้ว” ซึ่งมักจะเกิดจากแรงกดดันของคนอื่นรอบข้าง
เมื่อเป็นแบบนี้ นักลงทุนจำเป็นต้องควบคุมอารมณ์ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากแรงกดดันของผู้คนในตลาด ต้องใช้เหตุผลและเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา
“จำไว้ว่าในช่วงเวลาที่เกิดความผันผวนที่สุด เคล็ดลับในการหาเงินมาจากการทำตรงกันข้ามไม่ใช่การทำเหมือนกับคนอื่น” มาร์กส์กล่าว
3. [[ #อย่าทำนายอนาคต ]]
บทเรียนนี้อาจจะดูขัดแย้งสักหน่อย แต่ มาร์กส์ เน้นย้ำอยู่เสมอในเมโมของเขาว่า อย่าพยายามทำนายอนาคตของเศรษฐกิจโลก เพราะมันเป็นไปไม่ได้และไม่ควรทำบ่อย ๆ แม้คุณจะเป็นผู้จัดการกองทุนที่เก่งที่สุดในโลกก็ตาม
แต่มาร์กส์ก็บอกว่า ทุกการคาดการณ์ของโอ๊คทรีแคปิทัลนั้น เป็นสิ่งที่ทำแบบแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่ใช่สิ่งที่ทำอยู่เป็นประจำและถ้ามีทางเลือกก็จะไม่ทำ
นี่เป็นบทเรียนและเหตุการณ์สำคัญจากประสบการณ์ของ โฮเวิร์ด มาร์กส์ ชายที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในแวดวงการลงทุนระดับโลก ด้วยแนวคิดการลงทุนที่แตกต่าง มีความเข้าใจวัฏจักรของตลาดทุนและประวัติศาสตร์ เข้าใจความไม่แน่นอน เน้นหนักไปที่การควบคุมความเสี่ยง ถ่อมตน และคอยมองหาโอกาสท่ามกลางความผันผวนอยู่เสมอ
มีแนวคิดของโฮเวิร์ด มาร์กส์อีกมากมายที่ถูกเขียนผ่านเมโมของเขาบนเว็บไซต์ของโอ๊คทรีแคปิทัล และตีพิมพ์เป็นหนังสือหลายเล่ม
บัฟเฟตต์เคยกล่าวว่า “เวลาผมเห็นเมโมของมาร์กส์ในกล่องจดหมาย จะรีบเปิดอ่านทันที และผมก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ จากเขาเสมอ”
หวังว่าบทความนี้จะช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้ทุกคนเช่นกันครับ
เรียบเรียงโดย อติพงษ์ ศรนารา
#aomMONEY #ออมมันนี #HowardMarks #Invester #การลงทุน #Memo #WarrenBuffett #Oaktree #ความมั่งคั่ง #บทเรียน #MoneyStoryTelling
โฆษณา