13 พ.ย. 2023 เวลา 04:00 • ธุรกิจ

3 สัญญาณเตือน ในงบการเงิน ว่าบริษัทจะมี ปัญหาสภาพคล่อง

ก่อนเลือกเข้าไปลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่งนั้น สิ่งหนึ่งที่ละเลยไม่ได้เลยก็คือ สภาพคล่องของบริษัท
เพราะถ้าหากบริษัทมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ก็อาจนำไปสู่การล้มละลายเลยทีเดียว
แต่บางครั้ง กว่าที่เราจะรู้ว่าบริษัทเกิดปัญหานี้ ก็สายเกินไปเสียแล้ว
รู้ไหมว่า เราสามารถจับสัญญาณเตือนได้ก่อน อย่างง่าย ๆ ในงบการเงิน
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
3 สัญญาณที่พอจะบอกได้ว่า ในอนาคตบริษัทอาจมีปัญหาสภาพคล่อง ก็คือ
1. หนี้สินเพิ่มสูงขึ้น
การที่ธุรกิจก่อหนี้ ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป ถ้าหากบริษัทนำไปลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าต้นทุนจากการก่อหนี้
อย่างไรก็ตาม หนี้สินที่เพิ่มขึ้นมากจนเกินไป ก็ตามมาด้วยภาระดอกเบี้ย ที่บริษัทจะต้องจ่ายไปฟรี ๆ
และย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงที่บริษัทจะมีสภาพคล่องไม่เพียงพอ จนอาจนำไปสู่ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้
2. ลูกหนี้การค้าเพิ่มสูงขึ้น
โดยทั่วไปแล้ว เมื่อธุรกิจขายสินค้าหรือบริการออกไป จะเรียกเก็บเงินได้ 2 แบบด้วยกันคือ
- รับเงินสดทันที เช่น ธุรกิจค้าปลีก, ธุรกิจสาธารณูปโภค อย่างทางด่วน หรือรถไฟฟ้า เป็นต้น
- รับเงินเป็นเงินเชื่อ หรือให้เครดิตเทอมกับลูกค้า
ซึ่งก็คือการขายสินค้าและบริการให้กับลูกค้าไปก่อน แล้วค่อยเรียกเก็บเงินทีหลัง
ส่วนใหญ่การให้เครดิตเทอม เรามักจะเจอในธุรกิจ B2B หรือการค้าขายระหว่างธุรกิจและธุรกิจด้วยกัน เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง หรือธุรกิจรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น
ด้วยความที่ยังไม่ได้รับเงินทันที ส่งผลให้ต้องบันทึกรายได้จากการขายเป็น “ลูกหนี้การค้า” ทำให้บริษัทมีความเสี่ยง ที่อาจไม่สามารถเก็บเงินจากลูกหนี้ได้ครบตามจำนวน หรือตามเวลาที่กำหนดไว้
โดยการที่ลูกหนี้การค้ามากขึ้นนั้น แปลว่า ขายของได้ แต่ยังเรียกเก็บเงินไม่ได้ ซึ่งหากเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ กิจการก็จะไม่มีกระแสเงินสดไหลเข้า
แต่กลับมีกระแสเงินสดไหลออกอย่างต่อเนื่อง เพื่อซื้อสินค้า, ซื้อวัตถุดิบ, จ่ายเงินเดือนพนักงาน และค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ
 
ทำให้สุดท้ายเงินทุนหมุนเวียนของกิจการจะเริ่มติดลบ ส่งผลให้สภาพคล่องเริ่มหดหาย และต้องหาแหล่งเงินกู้เพื่อมาเสริมสภาพคล่อง จนนำไปสู่ภาระทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
หรือถ้าเลวร้ายกว่านั้น ถ้าหาเงินทุนมาเติมไม่ได้ ก็จะนำไปสู่การล้มละลายได้เช่นกัน
1
3. สินค้าคงเหลือเพิ่มสูงขึ้น
สินค้าคงเหลือ รวมตั้งแต่วัตถุดิบ, สินค้าที่อยู่ระหว่างการผลิต และสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้ว
โดยปกติเมื่อธุรกิจเติบโตขยายตัวมากขึ้น สินค้าคงเหลือก็มักจะเพิ่มขึ้น
ประเด็นคือ ถ้าสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้นมาก ไม่สอดคล้องกับยอดขาย ก็อาจเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทขาดสภาพคล่อง เพราะเงินไปจมอยู่ที่สินค้าคงเหลือมากเกินไปนั่นเอง
นอกจากนี้ สินค้าคงเหลือบางประเภท ถ้ายิ่งเก็บไว้นาน ก็ยิ่งทำให้มูลค่าลดลง เช่น วัตถุดิบอาหารที่เสียง่าย, สินค้าเทคโนโลยีที่ล้าสมัยเร็ว
ซึ่งสินค้าคงเหลือเหล่านี้ ถ้าเกิดการด้อยค่า กิจการก็ต้องไปบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าในงบกำไรขาดทุนด้วย
ถึงตรงนี้ก็ต้องหมายเหตุไว้ว่า แม้ว่าบริษัทจะมีสัญญาณดังกล่าวครบทั้ง 3 ข้อ ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทนั้นจะต้องเกิดปัญหาเสมอไป
แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นสัญญาณเตือน ให้เราระมัดระวังในการลงทุนในบริษัทนั้น ๆ ได้มากขึ้น..
โฆษณา