12 พ.ย. 2023 เวลา 11:30 • การศึกษา

หย่ากันแล้วทรัพย์นี้เป็นของใคร ?!

⁉️พอดีว่าทายาทที่อยู่ทางฝั่งผมในคดีนี้มีค่อนข้างหลายคน ประมาณ 6-7 คนได้เลยครับ แล้วทายาทแต่ละคนก็มีคำถามมากมายมายังผมซึ่งเป็นทนายความในคดี แล้วแต่ละคำถามเป็นคำถามที่เขาไปหาข้อมูลและค้นคว้าหาฎีกามาแล้วทั้งนั้น การตอบคำถามจึงต้องรัดกุมและมั่นใจ เพื่อให้ลูกความมั่นใจครับ โดยผมก็ตอบเขาไปเรื่อย ๆจนมีคำถามอยู่คำถามหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจ และน่าจะเป็นประโยชน์กับใครหลาย ๆคนที่อาจจะต้องเสิร์ชหาไม่เจอ ต้องค้นคว้าหลาย ๆที่มาประกอบการหาคำตอบครับ💡
💭ข้อเท็จจริงคร่าว ๆก็คือ💭
สามีภริยาจดทะเบียนสมรสกัน โดยก่อนจดทะเบียนสมรสสามีมีที่ดินอยู่แปลงหนึ่ง ต่อมาภายหลังจดทะเบียนสมรสกันแล้ว สามีก็นำเงินที่ได้มาระหว่างสมรสไปซื้อดินมาถมที่ดิน(ก่อนสมรส) ของตนเอง จากนั้นก็นำเงินที่ได้มาระหว่างมรสสร้างบ้านบนที่ดินแปลงดังกล่าวอีกด้วยครับ
❔️คำถามหลักๆที่ตัวลูกความถาม คือ ดินที่นำมาถม เป็นส่วนควบไหม แต่ถ้าให้จำแนกคำถามจากข้อเท็จจริงข้างต้น เพื่อให้เคลียร์ไปเลยก็ มีคำถามดังนี้ครับ
1.ดินที่นำมาถมจะเป็นส่วนควบกับที่ดินไหม และจะเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส
2.บ้านที่ปลูกบนสินส่วนตัวเป็นส่วนควบกับที่ดินไหม และจะเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส
1️⃣ตอบคำถามข้อแรก💡
ดินที่นำมาถมนั้น ได้มาจากการนำเงินอันเป็นสินสมรสไปซื้อดินเพื่อนำมาถมบนที่ดินอันเป็นสินส่วนตัว ถึงตรงนี้เราสามารถแยกได้ 2 อย่าง คือ 1).เงินที่ซื้อดิน กับ 2.)ดินที่นำมาถมที่ดิน
ต่อมาเมื่อพิจารณาต่อไปลักษณะชองดินที่นำมาถมลงบนที่ดินนั้น ดินมีลักษณะที่เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของที่ดิน และไม่อาจแยกจากกันได้ เมื่อนำดินมาถมลงบนที่ดิน ดินจึงเป็นส่วนควบกับที่ดิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 ทำให้ดินจึงเป็นสินส่วนตัวของสามีผู้เป็นเจ้าของที่ดิน เพราะหลักเรื่องส่วนควบนั้นผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ประธาน ย่อมมีกรรมสิทธิในส่วนควบด้วย
แต่มีข้อที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ เงินที่ใช้ซื้อดิน เมื่อเงินที่ใช้ในการซื้อดิน เป็นสินสมรส ทำให้สามีภริยาย่อมมีสิทธิในเงินในฝ่ายละกึ่งหนึ่ง หากต่อมาสามีภริยาเกิดหย่าขาดจากกัน กรณีต้องนำเงินดังกล่าวมารวมเป็นสินสมรสเพื่อแบ่งกันตามสัดส่วนระหว่างสามีภริยาด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1534
2️⃣ตอบคำถามข้อสอง💡
บ้านที่ปลูกนั้น จากข้อเท็จจริงข้างต้นเงินที่นำมาใช้ปลูกบ้าน เป็นเงินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรส ถึงแม้จะปลูกบ้านลงบนที่ดินที่เป็นสินส่วนตัวก็ตาม ทำให้เกิดคำถามว่าบ้านจะเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือไม่
แต่ตามป.พ.พ. มาตรา 146 เป็นบทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้นของหลักเรื่องส่วนควบ เพราะมาตรา 146 ได้ยกเว้นไว้ว่า "ให้โรงเรือนซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่น ใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้น ไม่ถือเป็นส่วนควบกับที่ดิน"
ด้วยการที่บ้าน มีลักษณะเป็นโรงเรือน และการที่นำเงินอันเป็นสินสมรสมาสร้างบ้าน เงินนั้นเป็นเงินที่ทั้งสามีภริยามีส่วนในเงินนั้น ทำให้พฤติการณ์แสดงได้ว่าสามียินยอมให้ภริยาปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตน จึงเข้าข้อข้อยกเว้นในมาตรา 146 ทำให้บ้านไม่ได้เป็นส่วนควบกับที่ดิน และบ้านนั้นนจึงเป็นสินสมรสนั่นเอง
สรุป
การจะพิจารณาว่าทรัพย์ใดเป็นสินสมรส หรือสินส่วนตัว หรือทรัพย์นี้จะเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอย่างละเอียด ถึงเงินที่ซื้อทรัพย์นั้น ลักษณะของทรัพย์ที่ซื้อ และพฤติการณ์ระหว่างคู่สมรสว่ามีเจตนาเช่นไร เพื่อจะได้แยกอย่างถูกต้อง
โฆษณา