12 พ.ย. 2023 เวลา 19:22 • ประวัติศาสตร์

พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา รัชกาลที่ 9 ในบันทึกของพระยากัลยาณไมตรี (ดร.ฟรานซิส บี.แซร์)

หากถ้าใครศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมาเป็นอย่างดี จะรู้จักฝรั่งชาวอเมริกันท่านนี้อยู่แล้ว เขาคือ ดร.ฟรานซิส บี.แซร์ หรือบรรดาศักดิ์ "พระยากัลยาณไมตรี" เขาเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการแก้ไขสนธิสัญญาที่สยามเคยทำไว้กับชาติตะวันตกในช่วงล่าอาณานิคม (สมัยรัชกาลที่ 3-รัชกาลที่ 5) ด้วยผลพวงจากการที่สยามเข้าไปมีบทบาทในสงครามโลกครั้งที่ 1 อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยอีกด้วย
พระยากัลยาณไมตรี (ดร.ฟรานซิส บี.แซร์)
อีกทั้งพระยากัลยาณไมตรี ยังเป็นพระสหายสนิทของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อครั้งเสด็จมาประทับในสหรัฐอเมริกา ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขา นอกจากเขาได้เล่าเรื่องราวของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ มหิดลแล้ว เขายังได้กล่าวถึงเรื่องที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ มหิดลและพระชายา (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ทรงพระประสูติกาลพระราชโอรสองค์ที่สาม (พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9) เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2470 ความว่า
พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช (ราชฐานันดรในขณะนั้น) ก็ได้ประสูติที่โรงพยาบาลในแคมบริช ใกล้ๆ บ้านของข้าพเจ้า ทั้งนี้เพราะว่าพระองค์ทรงพระประสงค์จะได้ประทับอยู่ใกล้ข้าพเจ้าและเจสซี่ด้วย เมื่อโอรสผ่านประสูติกาลมาแล้ว ทั้งสองพระองค์ก็ทรงเฝ้าคอยพระราชโทรเลขจากกรุงเทพฯ ที่จะพระราชทานนามให้พระโอรสองค์น้อยนั้น
โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น ที่เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเป็นสถานที่พระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 9 ยังใกล้กับบ้านพักของพระยากัลยาณไมตรีอีกด้วย เขายังบันทึกอีกว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ มหิดล และพระชายา ทรงใช้ชีวิตแบบสามัญชนในห้องเช่าที่บอสตันโดยไม่มีข้าหลวงรับใช้เลยสักคน
ในปี พ.ศ.2496 พระยากัลยาณไมตรี ยังได้รับเชิญเข้าร่วมพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ 9 ในฐานะแขกพิเศษของรัฐบาล เป็นการกลับมาเมืองไทยครั้งแรกในรอบ 30 ปี นับตั้งแต่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 ในระหว่างนี้เขาดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ หลายอย่าง เช่น ข้าหลวงใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำฟิลิปปินส์ (พ.ศ.2482) ผู้แทนสหรัฐอเมริกาในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 2 (พ.ศ.2490) ฯลฯ ทั้งนี้ เขาก็ยังคงให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลไทยและยังคงเป็นที่เคารพนับถือของรัฐบาลไทย
ดังที่มีรายงานจากข่าวกรองอเมริกัน อ้างว่าช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เวลาทูตไทยจะเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ก็มักจะได้รับคำสั่งให้แวะคารวะพระยากัลยาณไมตรีที่ฟิลิปปินส์อยู่เสมอ
พระยากัลยาณไมตรี (ดร.ฟรานซิส บี.แซร์) บันทึกเรื่องที่เขาได้เข้าร่วมพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา รัชกาลที่ 9 ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาเอง ดังนี้
" .... เมื่อเช้าวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา เราเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง เวลา 10.00 น. ไปลงนามถวายพระพรในสมุดหลวง แล้วก็ได้เข้าในที่ซึ่งจัดไว้สำหรับเฝ้าในพระราชพิธีมณฑล มีข้าราชการและบุคคลผู้สูงศักดิ์เฝ้าอยู่เนืองแน่น ผู้เข้าเฝ้าฝ่ายหน้าแต่งเครื่องแบบขาวติดเหรียญตรา ส่วนฝ่ายในแต่งชุดไหมไทยงามสง่าด้วยสีสรรเป็นผ้าดิ้นยกเงินยกทอง มีเครื่องเพชรประดับแพรวพราวตระการตาไปหมด
ข้าพเจ้าสารภาพได้ทีเดียวว่า ทั้งที่ในความสำนึกและในจิตใจข้าพเจ้าก็เหมือนกับคนอื่นที่มาเฝ้าอยู่ ณ ทีนี้ แต่สำหรับเครื่องแต่งกายภายนอกแล้วผิดกับเขาอย่างสิ้นเชิง เมื่อข้าพเจ้ามาถึงกรุงเทพฯ ก็มีคนบอกว่าเครื่องแต่งเข้าเฝ้าจะต้องเป็นเสื้อราตรีหางยาวสีดำผูกไทหูกระต่ายขาว แต่เมื่อหลายๆ ปี มาแล้วแต่ครั้งก่อนมา ราชสำนักไทยยอมรับรองชาวต่างประเทศในชุดงานพิธีแบบตะวันตกคือ เสื้อราตรีดำหางยาว ไทหูกระต่ายขาว
ส่วนสำหรับชาวไทยเองนั้น เพราะว่ากรุงเทพฯ ร้อนมาก ทางราชสำนักก็รับให้เข้าเฝ้าได้สำหรับผู้ที่แต่งเครื่องเสื้อนอกขาวและผ้าม่วง ดังนั้นในเวลามีงานพระราชพิธีในราชสำนักจึงเป็นของธรรมดาที่ชาวต่างประเทศแต่งชุดสีดำ และชาวไทยในชุดเสื้อสีขาว แล้วก็โดยเฉพาะ ณ โอกาสแห่งงานพิธีคราวที่กล่าวนี้ ข้าพเจ้าจึงเป็นคนเดียวที่มิใช่คนไทยมาร่วมกับเขาในชุดสีดำแล้ว ที่ร้ายก็คือ ชุดนี้ข้าพเจ้าก็ไม่มีติดมาด้วยซ้ำ
เมื่อนึกถึงตอนที่ไปหาเอกอัครราชทูตอเมริกันคราวนั้นก็รู้สึกอายขึ้นมาทันที ข้าพเจ้าได้ไปขอให้นายพล วิลเลียม โคโนแวน เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำไทยให้ช่วยหน่อย รูปร่างของเขาสูงต่ำอ้วนผอมเท่ากับข้าพเจ้าพอดี จึงได้ยืมเสื้อราตรีเขามาใส่อย่างสบาย ในการเดินทางมาคราวนี้เหรียญตราและเครื่องประดับอย่างอื่น ก็ไม่ได้เอามาด้วย แต่จำต้องใช้ในการเข้าเฝ้าครั้งนี้แน่
ข้าพเจ้าจึงวิ่งไปขอยืมจากกระทรวงการต่างประเทศไทย เอาเฉพาะที่เป็นอันเดียวกับที่ข้าพเจ้าได้รับพระราชทาน รวมทั้งสายสะพายอันงามระยับของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือกอีกด้วย ในเวลาแต่งเครื่องเข้าเฝ้าคราวนี้ต้องใช้ภรรยาข้าพเจ้ากับนายทหารประจำตัวอีก 2 คนช่วยจนเรียบร้อย ข้าพเจ้าจึงได้ไปปรากฎตัวกับเขาด้วยความสง่างามที่ขอยืมเขามาด้วยประการฉะนี้ เพราะเกิดเป็นคนที่แต่งตัวดำมืดอยู่คนเดียวเด่นอยู่ทั้งท้องพระโรง ....
พออีกไม่กี่นาทีล่วงมา ทุกคนก็เงียบ เราได้ยินเสียงปืนใหญ่ยิงสลุตถวายสนั่นลั่นก้องไปทั่วทิศ แล้วเจ้าพนักงานก็ไขพระวิสูตรเหลืองอร่ามออก มองเข้าไปเห็นพระแท่นทองที่ประทับภายใต้พระมหาเศวตรฉัตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี (รัชกาลที่ 9 กับสมเด็จฯ พระพันปีหลวง) ประทับอยู่เหนือพระราชบัลลังก์ทอง องค์พระมหากษัตริย์ทรงยืดพระวรกายตรงเป็นสง่าและสำรวม องค์พระราชินีทรงโฉมสิริโสภาคย์และแย้มพระสรวลอยู่เสมอนั้น ดูราวจุติกับปางจุติของเทพีแห่งความน่ารักทั้งมวลก็ไม่ปาน
ผู้เฝ้าทุกคนนิ่งเงียบในหน้าที่ตามพิธีการ มีหลายคนหมอบเฝ้าอยู่ด้วย แล้วก็มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี นายกรัฐมนตรี (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) ผู้เฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ก็ได้อ่านคำกราบบังคมทูลถวายพระพรเนื่องในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ในนามของพสกนิกรชาวไทยผู้จงรักภักดีในยุคลบาท มีข้าราชการและเสนาข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ ผู้มีตำแหน่งเฝ้าห้อมล้อมอยู่ข้างๆ นายกรัฐมนตรีเป็นจำนวนมากมาย ....
ในเวลาบ่ายวันนั้น เป็นพระราชพิธีสงฆ์ซึ่งทำต่อเนื่องกันกับพระราชพิธีตอนเช้า เมื่อเราเข้ามาอีกครั้ง ตอนนี้เราเห็นในท้องพระโรงราชพิธีอันมีประกายทองแพรวพราวทางด้านซ้ายของเรา มีพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์สูงสุดของประเทศราวห้าสิบรูปหรือกว่านั้น ปลงผมเกลี้ยงเกลา ห่มจีวรสีเหลืองเข้ม นั่งขัดสมาธิเรียวแถวอยู่อาสนะกว้างทางด้านขวามือของเรา เป็นที่เฝ้าของพระบรมวงศานุวงศ์ ตรงกลางท้องพระโรงที่เรานั่งเป็นที่ของข้าราชการและบุคคลผู้มีฐานันดรสูงสุดของราชอาณาจักร ตอนนี้พระแท่นราชบัลลังก์เลื่อนไปทางซ้ายของพระแท่นบูชาองค์สูง
เมื่อถึงเวลาเริ่มพิธีซึ่งทุกคนเงียบหมดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีผู้ทรงโฉมสคราญของพระองค์ก็เสด็จออก สมเด็จฯ ทรงแย้มพระสรวลกับคุณหญิงกัลยากับข้าพเจ้าขณะเสด็จผ่านเข้ามา ทั้งสองพระองค์เสด็จประทับยังพระที่บนโต๊ะใหญ่เบื้องหน้าพระพักตร์มีเครื่องปัจจัยไทยทานเพื่อถวายพระเรียงรายอยู่เต็ม มีผ้าไตรเป็นชุด สัญญาบัตรสมณศักดิ์วางเป็นม้วนๆ พัดยศด้ามงาปักดิ้นเงินสวยงาม
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ทรงถวายเครื่องจตุปัจจัยแด่พระสงฆ์และสัญญาบัตรพัดยศแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาตามลำดับ ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ณ พระแท่นบูชา พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เป็นการถวายพระพรแด่ทั้งสองพระองค์
ขณะที่กำลังสวดอยู่นั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าก็ผ่านด้ายสายสิญจน์ไปทั่วทุกองค์ การทำพิธีส่วนนี้คือการแสดงถึงการตั้งสติสำรวมในบทสวดมนต์ ครั้นเมื่อสวดมนต์จบแล้ว แต่ละองค์คู่สวดก็คืนสายสิญจน์ผ่านไปยังสมเด็จพระสังฆราชเจ้าซึ่งประทับอยู่หัวแถว พอเสร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานบำเหน็จสูงสุดแก่ผู้รับพระมหากรุณาสองราย
ซึ่งในทันทีนั้นเอง ข้าพเจ้าก็ได้ยินขานนามบรรดาศักดิ์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงได้ไปคุกเข่าถวายบังคมเบื้องหน้าพระพักตร์ พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานเหรียญพระบรมนามาภิไธยย่อ ซึ่งเป็นบำเหน็จความชอบชั้นสูงสุดสำหรับพระราชทานแก่ชาวต่างประเทศที่ประกอบคุณงามความดีแก่ประเทศไทย มีจารึกพระบรมนามาภิไธยไว้และมีเพชรประดับรอบ
นับเป็นราชอิสริยาภรณ์ที่เป็นเครื่องหมายเทอดเกียรติคุณที่ไม่ได้พระราชทานให้แก่ใครมากนัก เป็นที่ประจักษ์ว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชประสงค์จะพระราชทานเกียรติแก่พระสหายของสมเด็จพระราชบิดาของพระองค์ ..... "
เหรียญพระบรมนามาภิไธยย่อที่พระยากัลยาณไมตรีกล่าวถึงนั้น คือ "เหรียญรัตนภรณ์" เป็นเหรียญที่พระราชทานบำเหน็จความชอบในองค์พระมหากษัตริย์ ทั้งส่วนราชการและส่วนพระองค์ พระมหากษัตริย์จะทรงพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย โดยพระยากัลยาณไมตรีได้รับพระราชทานเป็นเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1
เมื่อเสร็จการพระราชพิธีฯ รัฐบาลได้จัดงานเลี้ยงรับรองเพื่อเป็นเกียรติแด่พระยากัลยาณไมตรี จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ ทำเนียบรัฐบาล อันเป็นการเสร็จสิ้นภารกิจการเยือนประเทศไทยของเขาในฐานะแขกคนสำคัญของรัฐบาล ในฐานะที่เขาได้สร้างคุณูปการอันใหญ่หลวงแก่ชาติไทย ต่อมาในปี พ.ศ.2505 เขาได้เดินทางมาประเทศไทยอีกครั้ง และเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตของเขา ก่อนที่เขาจะถึงแก่อนิจกรรมลงเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2515 สิริอายุได้ 86 ปี
ในโอกาสนี้เขาได้ไปเยี่ยมจังหวัดสงขลา เพื่อเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคาร “กัลยาณไมตรี” ที่โรงเรียนสงขลาวัฒนา ซึ่งมูลนิธิพนมชนารักษ์อนุสรณ์ได้แปลหนังสือชีวประวัติของเขา เรื่อง “Glad Adventure” เป็นภาษาไทยออกจำหน่าย เขาก็ได้ส่งเงินมาร่วมสมทบทุนมูลนิธินี้ด้วยเงินจำนวน 5,000 ดอลลาร์
แหล่งที่มาและเรียบเรียง
โฆษณา