15 พ.ย. 2023 เวลา 02:00 • หนังสือ

รวมภาพวาดไอเดียของผมในครึ่งปีแรก 2566

1. จิตใจสงบหรือฟุ้งซ่าน
ถ้าจิตใจฟุ้งซ่าน มีความคิดมากมายสับสน จะคิดในเรื่องที่ต้องการ ก็ยากยิ่ง
ถ้าจิตใจสงบ เหลือเพียงความคิดเดียวที่ต้องการ ก็คิดได้กระจ่าง ชัดเจนครับ
ภาพจากผู้เขียนบทความ
2. สิ่งที่เปลี่ยนกับไม่เปลี่ยน
เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้ง Amazon เคยกล่าวว่า มีคนถามเขาเสมอว่า จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงในอีก 10 ปีข้างหน้า
แต่แทบไม่เคยมีใครถามเขาว่า “ อะไรบ้างที่จะไม่เปลี่ยนในอีก 10 ปีข้างหน้า”
คำถามเรื่องสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งของ Amazon ในการมองเป้าหมายระยะยาว
เราลองใช้คำถามนี้กับตัวเองว่า “มีอะไรบ้างในอนาคตที่จะไม่เปลี่ยนแปลงในงาน อาชีพ หรือวงการของเรา”
ภาพจากผู้เขียนบทความ
3. Passion มากหรือน้อย
ไม่ว่าจะมี passion มากแค่ไหน ถ้าไม่ลงมือทำ ก็ยังเป็นฝันเลื่อนลอย ผลลัพธ์ไม่เกิด
ในทางตรงข้าม ถึงแม้ว่ามี passion น้อย แต่ลงมือทำอย่างต่อเนื่อง ก็มีโอกาสบรรลุผลลัพธ์มากกว่าครับ
ภาพจากผู้เขียนบทความ
4. ชอบก่อนเก่งหรือเก่งก่อนชอบ
“ชอบก่อนแล้วจึงเก่ง หรือ เก่งก่อนแล้วจึงชอบ”
บางคนมีความชอบหรือ passion เรื่องหนึ่งมาก แล้วพัฒนาทักษะในเรื่องนั้นจนเก่ง ก็ยิ่งชอบมากขึ้น ทำให้ฝึกฝนจนเก่งมากขึ้น
บางคนไม่มีความชอบมาก่อน แต่เก่งเรื่องหนึ่ง จนเริ่มชอบเรื่องนั้นขึ้นมา จึงพัฒนาตัวเองจนเก่งขึ้นไปอีก แล้วก็ยิ่งชอบเรื่องนั้นมากขึ้น
ใครที่ไม่ทราบว่าตัวเองชอบเรื่องอะไร ก็ลองดูว่าตัวเองเก่งด้านไหน แล้วความชอบหรือ passion จะมาหาเองครับ
ภาพจากผู้เขียนบทความ
5. การเพิ่ม Productivity
วิธีง่ายที่สุดในการเพิ่ม productivity ของผมอย่างก้าวกระโดดครับ
ภาพจากผู้เขียนบทความ
6. ข้อจำกัด 2 แบบ
ในมุมมองด้านความคิดสร้างสรรค์ ข้อจำกัดมี 2 อย่างคือ ข้อจำกัดที่แท้จริง เช่น กฎธรรมชาติหรือเทคโนโลยียุคนี้ กับข้อจำกัดที่เราคิดขึ้นมาเอง
การยอมรับว่า เรามีข้อจำกัดแบบไหน จะช่วยให้คิดได้อย่างกระจ่าง
บางเรื่องเป็นข้อจำกัดทางเทคโนโลยีที่ขณะนี้ยังทำไม่ได้ ก็อย่าไปฝืนทำ
เข่น อลิซาเบธ โฮล์ม ผู้ก่อตั้ง Theranos ที่ฝันจะสร้างเครื่องตรวจ 200 โรคจากเลือดหยดเดียว ตั้งชื่อว่า เอดิสัน ทั้ง ๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่า เทคโนโลยียุคนี้ยังสร้างไม่ได้
อลิซาเบธจึงหลอกลวง แต่งเรื่องว่า สร้างเครื่องเอดิสันสำเร็จแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังทำไม่ได้เลย จนเรื่องปูดฉาว กลายเป็นสตาร์ทอัพอื้อฉาวครั้งใหญ่
ในขณะที่หลายเรื่องเกิดจากข้อจำกัดทางความคิดของเราเอง ซึ่งที่จริงแล้ว เราทำได้มากกว่าที่คิด
ก่อนบอกว่า ติดขัด ลองถามตัวเองว่า ทำไม่ได้เพราะข้อจำกัดแบบไหน
ภาพจากผู้เขียนบทความ
7. ระดับพลังงานของตัวเอง
ผมสังเกตตัวเองว่า มีงาน 2 แบบที่ทำให้เกิดความรู้สึกต่างกันมาก
งานแบบแรก ผมทำแล้ว รู้สึกมีพลังงานเหลือเฟือ เวลาผ่านไปโดยไม่รู้ตัว เช่น
- การทำสไลด์คอร์สหรือวิชาที่ชอบสอน
- การเขียนบทความออนไลน์
- การเตรียมสอนวิชา Innovative Thinking
- การวาดภาพไอเดียและคิด caption
ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นตรงกับสภาวะที่เรียกว่า Flow หรือ ลื่นไหล
งานอีกแบบ ทำแล้ว รู้สึกหดหู่ เสียพลัง เหนื่อยล้า ในกรณีของผมคือ การเข้าไปอ่านโพสต์โซเชียลมีเดียบางเรื่อง การดูข่าวหรืออ่านข่าวที่ทำให้รู้สึกเศร้าหมอง เป็นต้น
ผมวาดรูปนี้เพื่อเตือนตัวเองว่า ทำงานที่ทำให้เกิดสภาวะ Flow บ่อย ๆ ดีกว่า
อย่าไปยุ่งเรื่องดราม่าของคนอื่น !
ภาพจากผู้เขียนบทความ
8. ความกล้าสำคัญกว่าข้อมูล
“ส่วนใหญ่แล้ว คนไม่ต้องการข้อมูลมากขึ้น แค่ต้องการความกล้ามากขึ้น”
เจมส์ เคลียร์ ผู้เขียนหนังสือขายดี Atomic Habits
ภาพจากผู้เขียนบทความ
9. ตัดข้อมูลไม่จำเป็นทิ้ง
“ข้อมูลส่วนใหญ่ไม่จำเป็น
การทราบว่า ส่วนไหนตัดทิ้งได้ ช่วยประหยัดเวลา ลดความเครียด และทำให้ตัดสินใจดีขึ้น” จากข้อความในทวิตเตอร์ของ @farnamstreet
ภาพจากผู้เขียนบทความ
10. การใช้ชีวิตและการสร้างผลงาน
“ใช้ชีวิตอย่างธรรมดาสามัญ เพื่อที่ผลงานคุณจะได้โดดเด่นและแหวกแนว”
Gustave Flaubert นักเขียนนิยาย
ภาพจากผู้เขียนบทความ
11. อย่ากลัวที่จะชอบสีม่วง ถึงแม้ว่าทุกคนชอบสีฟ้า
Ozan Varol ผู้เขียนหนังสือดัง “คิดอย่างนักสร้างจรวด” เล่าในหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเขา “Awaken Your Genius” ว่า สมัยเด็ก เขาชอบสีม่วงในขณะที่เพื่อนผู้ชายเกือบทุกคนชอบสีฟ้า
การทำตัวแปลกแยกหลายเรื่องของ Ozan ทำให้เขาเริ่มค่อย ๆ ปรับตัวให้เหมือนคนอื่น ถึงแม้ว่าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเขา
ในที่สุด เขาตระหนักได้ว่า ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนคนอื่นทุกเรื่อง การเป็นตัวเองบ้างก็ไม่ใช่เสียหายอะไร
แฟนของเขาชื่อ Kathy ซึ่งตอนนี้เป็นภรรยา เคยถาม Ozan ว่า เขาชอบสีอะไร
Ozan เกือบตอบว่า ชอบสีฟ้า แต่ในที่สุด ตอบว่า ชอบสีม่วงตามความชอบที่แท้จริง
Kathy ยิ้มแล้วพูดว่า “ตั้งแต่ฉันเป็นเด็ก ฉันอยากแต่งงานกับผู้ชายที่ชอบสีม่วง”
ภาพจากผู้เขียนบทความ
12. หาโดมิโนตัวใหญ่ของชีวิตให้เจอ
Khe Hy ผู้เชี่ยวชาญด้าน Productivity แนะนำเทคนิคสำหรับผู้ที่อยากทำงานให้เกิดผลลัพธ์มากขึ้น คือ
หา “โดมิโนตัวใหญ่ของชีวิต” ให้พบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเรื่องอื่นของชีวิต เช่น การเขียนคล่องทำให้เกิดผลงานด้านอื่นตามมา
เมื่อพบโดมิโนตัวใหญ่ของชีวิตแล้ว ก็ทำงานโดมิโนชิ้นนั้นทุกวัน
ในช่วงแรกจะไม่ค่อยเห็นผลลัพธ์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ จะสะสม กลายเป็นการเติบโดครั้งใหญ่ครับ
ภาพจากผู้เขียนบทความ
13. โฟกัสที่ผลงาน ไม่ใช่แอป
ในยุคนี้ที่มีแอป เครื่องมือ ซอฟต์แวร์ใหม่เกิดขึ้นทุกวัน เช่น แอปจดบันทึก โปรแกรมเอไอ
สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผลลัพธ์หรือผลงาน ไม่ใช่แอป เพราะแอปเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น
อย่าเสียเวลาทดลองหรือเรียนรู้แอปใหม่มากเกินไป จนลืมสร้างสรรค์ผลงาน
ใช้งานแอปตัวเดียวจนเกิดความเชี่ยวชาญ เพื่อสร้างผลงานดีกว่าครับ
ภาพจากผู้เขียนบทความ
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่
โฆษณา