15 พ.ย. 2023 เวลา 06:24 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เข้าใจ TESG กองทุนลดหย่อนภาษีอันใหม่ ในโพสต์เดียว

เมื่อวานนี้ กระทรวงการคลัง ได้ออกมาประกาศว่า จะตั้งกองทุนใหม่ ที่มีชื่อว่า TESG ซึ่งจะเน้นลงทุนในหุ้นไทย หรือตราสารหนี้ ที่มีแนวคิดด้านความยั่งยืน
3
คือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม, สังคม และธรรมภิบาล หรือที่เรียกว่า ESG
โดยเป้าหมายของกองทุนนี้ก็คือ การสนับสนุนให้คนไทยเก็บออม และกองทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ พร้อมทั้งเป็นการสนับสนุน กลุ่มธุรกิจในตลาดหุ้นไทย ที่มี ESG ด้วย
2
ที่สำคัญคือ เรายังสามารถซื้อกองทุนนี้ เพื่อลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมจากการซื้อ SSF และ RMF ปกติ ได้อีก 1 แสนบาทด้วย
แล้วกองทุนนี้มีเงื่อนไขและประโยชน์กับคนทั่วไปอย่างไร?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
รายละเอียดของกองทุน TESG สามารถสรุปออกมาได้ดังนี้
1. บุคคลธรรมดา สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้
1
ทางกระทรวงการคลังอนุญาตให้ ผู้ลงทุนสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อกองทุนไปลดหย่อนภาษีได้ สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
1
แต่ผู้ลงทุนจะไม่สามารถถอนเงินลงทุนออกไปได้ จนกว่าจะครบกำหนดอายุการลงทุน 8 ปี นับแบบวันชนวัน
1
2. เป็นการออมเงินเพื่อลงทุนในธุรกิจที่มีความยั่งยืน
จากเป้าหมายการลงทุนของกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้น หรือตราสารหนี้ ที่ออกโดยบริษัทที่ได้รับการประเมินจากตลาดหลักทรัพย์ว่า เป็นธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม, สังคม และมีธรรมาภิบาลที่ดี
นักลงทุนจะได้รับความมั่นใจว่า เงินลงทุนที่ลงทุนไป จะเข้าไปลงทุนเฉพาะในบริษัทที่ทำธุรกิจอย่างยั่งยืน
ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ออกกองทุนนี้ได้ เราก็น่าจะสามารถลงทุนในกองทุนนี้ได้ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งก็จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีของปี 2566 ได้เลย
แล้วกองทุนนี้ต่างกับกองทุน RMF หรือ SSF ที่มีอยู่แล้วอย่างไร?
1. นโยบายในการลงทุน
โดยทั้ง RMF และ SSF จะสามารถลงทุนในหุ้น ทั้งในและต่างประเทศได้ ในขณะที่ TESG นั้น จะเน้นไปที่หุ้นในประเทศ และต้องเป็นหุ้นกลุ่มที่ได้รับการประเมิน ESG Rating จากทางตลาดหลักทรัพย์ด้วย
 
2. ระยะเวลาในการถือ
- SSF จะต้องถืออย่างน้อย 10 ปี
- RMF จะต้องถือไปจนอายุ 55 ปี แต่ถ้าซื้อหลังอายุ 51 ปี ก็จะต้องถือไปอีกอย่างน้อย 5 ปี
ในขณะที่ TESG กำหนดระยะเวลาในการถือไว้อยู่ที่ 8 ปี
จะเห็นได้ว่า TESG จะมีระยะเวลาในการถือขั้นต่ำ สั้นกว่าทั้ง 2 กองทุน ทำให้กองทุน TESG มีความยืดหยุ่นมากกว่า
3. การลดหย่อนภาษีรายได้
แม้ทั้ง 3 กองทุน จะลดหย่อนภาษีได้ที่ 30% ของรายได้เหมือนกันก็จริง แต่ว่าจำนวนเงินที่ลดหย่อนสูงสุด ของแต่ละกองทุน ก็แตกต่างกัน ได้แก่
2
- RMF ลดหย่อนได้สูงสุด 500,000 บาท
- SSF ลดหย่อนได้สูงสุด 200,000 บาท
- TESG ลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท
แต่กองทุน SSF และ RMF จะะมีเงื่อนไขอยู่ด้วยว่า
จำนวนเงินของทั้ง SSF และ RMF เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนออมแห่งชาติ ประกันหรือกองทุนบำนาญอื่น ๆ แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากเราลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน RMF ไป 400,000 บาทแล้ว เราก็จะได้เงินลดหย่อนจาก SSF เพียงแค่ 100,000 บาท รวมลดหย่อนภาษีทั้งหมดเป็น 500,000 บาท เท่านั้น
ในขณะที่ TESG อ้างอิงจากประกาศในตอนนี้ก็คือ แม้จะลดหย่อนได้สูงสุดแค่ 100,000 บาทก็จริง แต่ไม่ได้จำกัดเงื่อนไขการลงทุนรวมกับกองทุนลดหย่อนภาษีอื่น ๆ
ทำให้ถ้าหากเราลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน SSF และ RMF ไปเต็มสิทธิ์แล้ว ที่ 500,000 บาท
เราก็จะสามารถลดหย่อนด้วย TESG เพิ่มได้อีก 100,000 บาท รวมแล้วเป็น 600,000 บาท
สรุปแล้วกองทุน TESG กับกองทุน SSF เหมาะกับใคร ?
สำหรับคนที่หากองทุนลดหย่อนภาษี ที่สามารถลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ แต่ก็ยอมรับการลงทุนที่มีระยะเวลานานกว่า ก็เหมาะกับการลงทุนในกองทุน SSF หรือ RMF
สำหรับคนที่มองหาการลงทุนในประเทศ ในธุรกิจที่มีความยั่งยืน และมีระยะเวลาการลงทุนที่สั้นกว่า SSF หรือ RMF
การลงทุนในกองทุน TESG ก็น่าจะตอบโจทย์มากกว่า
ส่วนคนที่ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี จากการซื้อกองทุน SSF และ RMF จนเต็มสิทธิ์แล้ว
การซื้อกองทุน TESG เพิ่มก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจทีเดียว..
1
โฆษณา