16 พ.ย. 2023 เวลา 06:29 • ปรัชญา
ระยอง

ความดีที่ไม่หวังผล

คำนิยามของ"ความดี"นั้น แปรเปลี่ยนไปตามแต่ละยุคสมัยและสถานที่ โดยขึ้นอยู่กับความเชื่อและค่านิยมของประชาชนในชุมชนนั้นๆ
ตัวอย่างเช่น ยุคปัจจุบันที่ผู้ชายมีเมียน้อยอาจจะถูกมองเป็นคนไม่ดี
แต่ในอดีตที่สังคมชายเป็นใหญ่จะถูกมองเป็นเรื่องปกติ คนใหญ่คนโตมักจะมีภรรยาหลายๆคนเพื่อแสดงถึงอำนาจและบารมี
หรือเรื่องการมีทาสที่ปัจจุบันถือว่าผิด แต่อดีตก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
ในปัจจุบัน รัฐไทยมีค่านิยมเรื่อง "รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์" ถูกมองว่าเป็นความดี ใครปฏิบัติตามก็เป็นคนดี น่ายกย่องชื่นชม
ขณะที่รัฐส่วนใหญ่ทั่วโลกไม่มีสถาบันกษัตริย์ ค่านิยมเรื่องการเป็นคนดีคือ ปฏิบัติตามกฏหมาย จ่ายภาษี เคารพสิทธิเสรีภาพผู้อื่น
อีกทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว คนส่วนใหญ่ก็ไม่นับถือศาสนา
ถ้าจะให้นิยามคำว่า "ความดีความชั่ว"
ผมคิดว่า ความดี คือ อะไรก็ตามที่มนุษยชาติต้องการ และสิ่งที่มนุษยชาติรังเกียจก็คือความชั่ว
หรือถ้าพูดให้ถูกกว่า ความดีก็คือ อะไรก็ตามที่มีคนทำแล้วเราเชื่อว่าเราได้ผลประโยชน์ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม
ส่วนความชั่วก็ตรงข้ามกัน คือ อะไรก็ตามที่เราไม่อยากให้คนอื่นทำกับเรา
ตัวอย่างเช่น คนโกหกเป็นคนไม่ดี เพราะเราไม่อยากให้ใครโกหกเรา
ฆาตกรปล้นฆ่า ก็เป็นคนไม่ดี เพราะทำให้ชีวิตเรามีความเสี่ยง ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวาดระแวง ถือเป็นภัยคุกคามที่ต้องกำจัด
ทหารรักษาชายแดนเป็นคนดี เพราะรักษาความปลอดภัยให้ประชาชน
คนบริจาคเงินสร้างโรงพยาบาล ก็ถือเป็นคนดี เพราะทำให้มีเรามีทางเลือกในการรักษาเวลาเจ็บป่วยมากขึ้น
แต่การตีความเรื่องนี้ก็ยังไม่ง่ายนัก
เช่น ชนกลุ่มน้อยคนหนึ่งในพม่าสามารถลอบสังหารผู้นำรัฐบาลพม่าได้ อาจจะได้รับการยกย่องเป็นคนดี เป็นวีรบุรุษของชนเผ่า แต่ก็เป็นคนชั่วในสายตารัฐบาลทหารพม่า
หรือกรณีคนหัวรุนแรงคลั่งศาสนา ระเบิดพลีชีพสังหารผู้นำอีกศาสนาได้ อาจจะเป็นคนดีของศาสนาหนึ่ง แต่เป็นคนชั่วของอีกศาสนา
หรือกรณีความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน, ปาเลสไตน์-อิสราเอล ที่คนดีและคนชั่วของ2ฝ่ายย่อมต่างกัน
นอกจากเรื่องการตีความ ปัญหาที่สำคัญของการทำความดี คือ ความคาดหวัง
มนุษย์กระทำกรรมใดๆย่อมมีเหตุผล คือ มีสาเหตุที่ต้องทำ และมีการคาดหวังในผลลัพธ์ของการกระทำ
นั่นคือ เราทำความดีเพราะคาดหวังผลลัพธ์ที่ดี
เราไม่เบียดเบียนผู้อื่น เพราะหวังว่า ผู้อื่นจะไม่เบียดเบียนเราด้วย
[แต่ถ้าว่ากันแบบตรงไปตรงมา ข้อตกลงนี้จะยังเป็นจริงต่อไป ตราบเท่าที่สังคมยังคงรักษากฏระเบียบร่วมกันภายใต้บรรทัดฐานกระบวนการยุติธรรมที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมา นั่นคือ ถ้าใครไปเบียดเบียนคนอื่น อย่างน้อยที่สุดก็ต้องถูกกฎหมายลงโทษ]
เราทำบุญ เพราะหวังได้บุญ จะได้ไปเกิดในสวรรค์ ไม่ตกนรก เกิดชาติหน้าร่ำรวยเป็นเจ้าคนนายคน
[แต่ถ้ามองแบบกลางๆ เราทำบุญล้านคน จะมีคนรวยสักร้อยคน แต่เราก็คาดหวังผลลัพธ์อื่นจากการทำบุญด้วย เช่น การหักล้างบาปที่อยู่ภายในจิตใจ]
สิ่งที่สำคัญคือ ความดีนั้นมีกับดัก กับดักที่น่ากลัว คือ คนทำความดีเกิดภาวะยึดติดกับคำว่า "ความดี"
นั่นคือ เราทำความดี เพื่อคาดหวังได้ตั๋วการเป็นคนดี แล้วใช้ตั๋วใบนี้เพื่อใช้เป็นใบเบิกทางทำอะไรสักอย่าง มีการสะสมแต้มความดีเพื่อไว้ใช้งาน
ตั๋วคนดี มีประโยชน์คร่าวๆ ดังนี้
1.ได้รับความเคารพ เป็นที่น่าเชื่อถือ เมื่อเป็นคนดีพูดอะไรผู้คนก็เชื่อ ทำให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น
2.สิทธิพิเศษอื่นๆจากสังคมในฐานะคนดี เช่น เอกสารลดหย่อนภาษี, ก่อม็อบขับไล่คนที่เราไม่ชอบขี้หน้า
3.ไถ่บาป ชดเชยความชั่วที่ได้ทำไป เช่น สั่งฆ่าประชาชนจึงบริจาคเงินสร้างวัด, ได้เงินจากการคอรัปชั่นจึงแบ่งไปบริจาค
สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ การทำความดีที่ยึดมั่นถือมั่น จน"หลง"ไปว่าตัวเองเป็นคนดี สูงส่งกว่าคนอื่น ซึ่งก็อาจจะไม่มีปัญหาอะไรถ้ายังควบคุมตัวเองได้ แต่ถ้าปล่อยความหลงเข้าครอบงำจิตใจเมื่อใด จะเกิดการละเมิดต่อคนอื่นที่ตัวเองคิดว่าต่ำกว่าได้
เช่น เพราะเรารักษาศีล5 จึงเป็นคนดี ดังนั้นเราสามารถดูถูกเหยียดหยามคนที่กินเหล้าเมายาแล้วขี่มอเตอร์ไซค์ขาหักได้เพราะเขาเป็นคนไม่ดีแล้วยังทำให้คนอื่นต้องเดือดร้อนอีก
เราทำบุญสร้างโรงเรียนจึงเป็นคนดี ดังนั้นครูและนักเรียนต้องสำนึกบุญคุณเรา ต้องเอาอกเอาใจและให้สิทธิพิเศษต่างๆแก่เรา ไม่ใช่เพราะว่าเราบริจาคนะ แต่เพราะเราเป็นคนดีต่างหาก
ผลลัพธ์ดังกล่าว อาจจะทำให้ความดีที่ทำลงไปไม่ช่วยยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นอย่างแท้จริง แถมอาจจะตกต่ำยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ ความคาดหวังยังอาจส่งผลเสียอีกข้อ คือ ความผิดหวัง
การทำดี ไม่ได้แปลว่าจะต้องได้ความดีในระดับที่เท่ากันเป็นการตอบแทน
อย่างเช่น เราใจดีกับเพื่อนบ้าน แบ่งปันสิ่งของและอาหาร อดทนกับเรื่องแย่ๆของเพื่อนบ้าน เช่น เสียงดัง, ความสกปรก, จอดรถขวาง ฯลฯ ก็ไม่ได้หมายความว่าเพื่อนบ้านจะดีกับเราเท่าๆกัน
ถ้าโชคดีอาจจะได้กลับคืนมาเท่าๆกัน แต่ถ้าโชคร้ายก็อาจจะไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย
และถ้าเราไปโวยวายเรียกร้องทวงบุญคุณ ก็อาจจะทะเลาะกันให้ขุ่นข้องหมองใจด้วยซ้ำ
ผมคิดว่า การทำความดีที่แท้จริง นอกจากจะต้องไม่คาดหวังผลตอบแทนแล้ว ยังต้องไม่คิดว่ามันคือความดีอีกด้วย แต่มันคือสิ่งธรรมดาสามัญที่คนปกติทั่วไปกระทำกัน
ความดีบางอย่างต้องทำ แต่ความดีบางอย่างถ้าทำได้ก็ดี แต่ถ้าทำไม่ไหวไม่ต้องฝืนทำก็ได้
โลกมันก็เป็นเช่นนี้แล..
ปล. ผมคิดว่า ความดีก็เหมือนบ้าน คือ เป็นเซฟโซนที่ปลอดภัย เป็นเสาหลักที่พักพิงของใจ
เราทุกคนควรจะมีบ้าน มันไม่สำคัญว่าจะใหญ่หรือเล็ก มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากน้อยแค่ไหน แต่สำคัญว่าต้องอยู่แล้วปลอดภัยและสบายใจ
บ้านของร่างกายคือสิ่งปลูกสร้าง ส่วนบ้านของใจคือความดีที่ปลูกฝังเป็นตัวเรา
เราไม่จำเป็นต้องทำความดีให้เท่ากับคนอื่น เช่นเดียวกับที่ไม่ต้องมีบ้านใหญ่เท่าคนอื่น เราแค่ต้องรู้ว่าเราเป็นใคร และอะไรที่สำคัญกับเราจริงๆ
โฆษณา