17 พ.ย. 2023 เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

กรณีศึกษา ตกแต่งงบกระแสเงินสด กลโกงที่นักลงทุน ต้องระวัง

เราน่าจะเคยได้ยินเรื่องการตกแต่งงบการเงิน จากหลายกรณี ยกตัวอย่างเช่น บางบริษัทมีการสร้างตัวเลขยอดขายปลอม ในงบกำไรขาดทุน
2
แต่ถ้าเราไปตรวจสอบเพิ่มในงบกระแสเงินสด ก็อาจจะพบว่า บริษัทไม่ได้มีเงินสดจากการดำเนินงานเข้ามาจริง
อย่างเช่นในกรณีของ STARK ที่เป็นข่าวใหญ่ในปีนี้ ที่เราจะสามารถเห็นสัญญาณวิกฤติของบริษัท ได้จากงบกระแสเงินสด
งบกระแสเงินสด จึงเป็นดั่งเครื่องมือสำคัญของนักลงทุน ที่ใช้ตรวจสอบสภาพคล่องของบริษัท นั่นเอง
แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากว่าบริษัท ที่ตั้งใจจะโกงเงินนักลงทุน มีกระแสเงินสดไหลเข้ามาในบริษัทจริง ๆ
แล้วเราจะจับผิดบริษัทประเภทนี้ เพื่อไม่ให้ไปติดกับดัก ได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
มีความเชื่อกันว่า งบกระแสเงินสดไม่สามารถตกแต่งได้ และเป็นตัวช่วยชั้นดี ในการจับผิดว่า งบการเงินของบริษัทใสสะอาดจริงหรือเปล่า
ซึ่งงบกระแสเงินสด จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ
1. กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (CFO)
2. กระแสเงินสดจากการลงทุน (CFI)
3. กระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน (CFF)
4
นอกจากนั้น เรายังสามารถใช้ข้อมูลจากงบกระแสเงินสด เพื่อมาคำนวณหา “กระแสเงินสดอิสระ” หรือ FCF ได้
1
โดย กระแสเงินสดอิสระ มาจากการนำกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ลบด้วย ค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อทำธุรกิจ
หากกระแสเงินสดอิสระเป็นบวกอย่างสม่ำเสมอ หมายความว่า บริษัทมีสุขภาพทางการเงินที่ดี ได้รับเงินสดกลับเข้ามาในบริษัท มากกว่าค่าใช้จ่ายที่บริษัทลงทุนไป
แต่รู้หรือไม่ว่า ถ้าผู้บริหารของบริษัทตั้งใจจะโกงจริง ๆ ก็สามารถตกแต่งงบกระแสเงินสด ทั้ง 3 ส่วน
และทำให้กระแสเงินสดอิสระออกมาดูดี อย่างแนบเนียนได้เช่นกัน
ขอยกตัวอย่างเป็นบริษัท A ดังนี้
บริษัท A ทำธุรกิจที่ขายสินค้าและบริการได้ดีประมาณหนึ่ง จากกลุ่มลูกค้าที่ชอบสินค้าของบริษัท
แต่บริษัทยังไม่ถึงกับเป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตได้สูงในระยะยาว
เพราะว่าสินค้าของบริษัทอาจจะยังไม่ได้โดดเด่น และยังไม่มีแบรนด์ของสินค้าที่แข็งแกร่ง จนสามารถดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ ได้มากนัก
มูลค่าของบริษัท A ในช่วงแรก ๆ จึงยังไม่สูงมาก
เจ้าของบริษัท A ซึ่งเป็นผู้บริหารด้วย จึงอาจใช้วิธีการดังต่อไปนี้ เพื่อดันมูลค่าของบริษัท A ให้เพิ่มสูงขึ้น
1. สร้างบริษัทปลอม ที่อยู่ในต่างประเทศ
เจ้าของบริษัท A เลือกไปตั้งบริษัทปลอมขึ้นมาในต่างประเทศ สมมติให้ชื่อบริษัท B
จากนั้นก็ยอมลงทุนใส่เงินเข้าไปในบริษัท B จริง ๆ
เช่น เจ้าของเลือกใส่เงินเข้าไป 3,000-5,000 ล้านบาท
2. ให้บริษัท B มาเป็นลูกค้าของบริษัท A
บริษัท B จะเริ่มทยอยสั่งซื้อสินค้าจากบริษัท A ในทุก ๆ ปี และมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการจ่ายเงินทำธุรกรรมจริง ๆ
ส่งผลให้บริษัท A มีรายได้และกำไร เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พอเป็นแบบนี้ กระแสเงินสดก็จะเข้าบริษัท A และกระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัท A ก็เป็นบวก
ในขณะที่บริษัท A อาจทำธุรกิจที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก เช่น ขายสินค้าอุปโภคบริโภค ของกินของใช้ทั่วไป
ทำให้เมื่อคำนวณออกมาแล้ว บริษัท A ก็จะมีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวก และเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ตามผลประกอบการของรายได้และกำไร
เราลองสมมติให้บริษัท A มีผลประกอบการ ดังนี้
ปี 2561
รายได้ 1,000 ล้านบาท
กำไร 200 ล้านบาท
กระแสเงินสดอิสระ 100 ล้านบาท
1
ปี 2563
รายได้ 2,000 ล้านบาท
กำไร 400 ล้านบาท
กระแสเงินสดอิสระ 400 ล้านบาท
1
ปี 2565
รายได้ 4,000 ล้านบาท
กำไร 1,000 ล้านบาท
กระแสเงินสดอิสระ 1,000 ล้านบาท
จากตัวอย่างนี้ จะเห็นว่า ภายในระยะเวลา 4 ปี
บริษัท A มีรายได้เติบโตเป็น 4 เท่า
กำไรเติบโตเป็น 5 เท่า
และกระแสเงินสดอิสระเติบโตเป็น 10 เท่า
3. หุ้นของบริษัท A เริ่มเป็นที่สนใจของนักลงทุน
1
เป็นเรื่องธรรมดา ที่บริษัทที่มีงบการเงินแข็งแกร่ง มีรายได้, กำไร และกระแสเงินสดอิสระที่เติบโต จะเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุน
1
เพราะหุ้นของบริษัทประเภทนี้ จะถูกมองว่าเป็น หุ้นของบริษัทเติบโต หรือ Growth Stock
รวมถึงเราอาจจะเริ่มได้ข่าวว่า สินค้าหรือบริการของบริษัท A เริ่มติดตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีลูกค้าอยู่ในหลายประเทศ
1
เมื่อเป็นแบบนี้ ก็ทำให้มีนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายเล็ก เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทจำนวนมากขึ้น
ส่งผลให้ ราคาของหุ้น, มูลค่าบริษัท รวมถึง P/E ของหุ้น เพิ่มสูงขึ้น
2
แล้วเจ้าของบริษัทได้อะไร จากการทำแบบนี้ ?
ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้
ปี 2561
บริษัท A มีกำไร 200 ล้านบาท
ในขณะนั้น หุ้นของบริษัทซื้อขายกันที่ P/E 20 เท่า
แปลว่า มูลค่าของบริษัท A จะเท่ากับ 4,000 ล้านบาท
เมื่อเวลาผ่านไปถึงปี 2565
บริษัท A มีกำไร 1,000 ล้านบาท
แต่ด้วยความเป็นหุ้นเติบโต ทำให้มีความคาดหวังจากนักลงทุน หุ้นของบริษัท A จึงซื้อขายกันที่ P/E 40 เท่า
แปลว่า ตอนนี้มูลค่าบริษัท จะเท่ากับ 40,000 ล้านบาท
หรือกลายเป็นหุ้น 10 เด้งทันที
ถ้าหากสมมติให้ เจ้าของบริษัทถือหุ้นอยู่ 50%
ก็หมายความว่า ทรัพย์สินของเจ้าของบริษัทนี้ จะเพิ่มขึ้น 18,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 4 ปี
3
เมื่อเทียบกับจำนวนเงิน ที่เคยใส่เข้าไปในบริษัท B ตอนแรก 3,000-5,000 ล้านบาท
ก็น่าจะทำให้เจ้าของบริษัท A ทำกำไรจากกลโกงครั้งนี้ได้หลักหมื่นล้านบาท..
1
ลำดับต่อไป ก็คงเดาได้ไม่ยาก นั่นก็คือ
4. ผู้บริหารเริ่มขายหุ้นออกมา และผลประกอบการก็แย่ลงเรื่อย ๆ
1
เมื่อราคาหุ้นของบริษัท A ถูกดันขึ้นไปสูงมาก ผู้บริหารก็เริ่มที่จะทยอยขายหุ้นออกมาเรื่อย ๆ
พอได้กำไรกลับเข้ากระเป๋าสตางค์ของผู้บริหารมากขนาดนี้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องลงทุนลงแรง ในการทำธุรกิจ ให้เหนื่อยยากลำบากอีกต่อไป
ผลประกอบการของบริษัท A ที่เคยเติบโตได้ดี ก็เริ่มตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และอาจกลายเป็นขาดทุน
ราคาหุ้นของบริษัท A ที่เคยขึ้นไปสูงมาก ก็กลับตกต่ำลงมา จนทำให้นักลงทุนหลายคนที่เข้ามาซื้อ ขาดทุนไปตาม ๆ กัน
หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น นักลงทุนที่ดูแค่งบการเงินเป็นหลัก จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า บริษัททำธุรกิจอย่างไม่โปร่งใส
จนกว่าจะถึงวันที่ นักลงทุนได้ขาดทุนเป็นเงินจำนวนมากไปแล้ว
1
แล้วเราจะมีวิธีการในการรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร ?
อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยเราได้มาก คือการทำ “Scuttlebutt”
ซึ่งเป็นการตรวจสอบคุณภาพของบริษัทในทุกด้าน แบบลึกซึ้ง
โดยเราสามารถทำได้ด้วยการไปพูดคุยกับลูกค้า ซัปพลายเออร์ คู่แข่ง พนักงาน และดิสทริบิวเตอร์ ว่ามีความเห็นเกี่ยวกับบริษัทที่เราสนใจจะลงทุนอย่างไร
นอกจากนี้ เราก็ควรสังเกตพฤติกรรมการใช้ชีวิต และบุคลิกของผู้บริหารว่า เป็นคนอย่างไร ประหยัดหรือฟุ่มเฟือย ทำธุรกิจเก่งจริงหรือไม่ด้วย
ที่สำคัญ ถ้าเป็นไปได้ เราก็ควรหมั่นไปสังเกตหน้าร้านของบริษัทในหลาย ๆ สาขาว่า ในแต่ละวันมีลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากน้อยแค่ไหน
1
และยอดขายสินค้ารวมที่อยู่ในงบการเงิน เมื่อนำมาหารจำนวนสินค้าที่ขายได้ต่อสาขาแล้ว มันดูมีความสมเหตุสมผล เมื่อเทียบกับสภาพบรรยากาศของร้านสาขาหรือไม่
ถ้าหากเราทำได้แบบนี้ ก็จะช่วยให้เรารู้จักบริษัทที่เราสนใจจะลงทุนได้ดีขึ้นมาก
และยังช่วยปกป้องเรา จากความเสี่ยงในการลงทุน ไม่ให้โดนผู้บริหารขี้โกง ที่จะคอยมาหลอกเอาเงินจากนักลงทุน ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย..
1
โฆษณา