18 พ.ย. 2023 เวลา 13:00 • ธุรกิจ

เด็กมหาลัย 5 คน บนเส้นตายหกเดือน จากไอเดียที่ล้มเหลวเป็นสตาร์ตอัปมูลค่า 14,500 ล้านบาท

การตัดสินใจเรื่องสำคัญขณะที่ร่างกายมีแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดอาจจะไม่ใช้สิ่งที่ดีสักเท่าไหร่
1
แต่สำหรับ ชอว์น เจา (Shawn Tsao) การตัดสินใจระหว่างนั่งดื่มกับเพื่อนมหาวิทยาลัยเมื่อปลายปี 2011 อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเขาเลยก็ได้
5
เพราะถ้าวันนั้นไม่ได้เปิดอกคุยกับเพื่อนๆ ที่ทำสตาร์ตอัปและล้มเหลวด้วยกันมา ในวันนี้เจาก็คงเป็นสถาปนิกในเมืองซานฟรานซิสโกไปแล้ว แต่เพราะการตัดสินใจในคืนนั้น เจาจึงกลายเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ตอัปดิลิเวอรี่อาหาร Caviar มูลค่า 14,500 ล้านบาท
3
[[ #ความล้มเหลวคือบันไดสู่ความสำเร็จ ]]
ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัย คำว่า ‘นักธุรกิจ’ หรือ ‘ผู้ประกอบการ’ ไม่เคยผ่านเข้ามาในหัวเจาเลยด้วยซ้ำ ความหลงใหลในงานศิลปะคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เจาตัดสินใจลงเรียนคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่ยั่งยืนที่ University of California, Berkeley คิดว่าจบมาแล้วจะเปิดบริษัทออกแบบของตัวเอง
2
ที่จริงก่อนจบการศึกษาในปี 2011 เจาได้ไปสัมภาษณ์งานในตำแหน่งสถาปนิกรอไว้แล้วด้วยซ้ำ
1
แต่ชีวิตมักมีเรื่องเซอร์ไพรส์เสมอ
1
เจากับเพื่อนสนิท 4 คนจากมหาวิทยาลัย (Abel Lin, Andy Zhang, Richard Din และ Jason Wang) เกิดมีไอเดียอยากลองทำสตาร์ตอัปด้วยกันขึ้นมา โอกาสที่จะได้ทำงานกับเพื่อนสนิทถือเป็นประสบการณ์ที่เจาไม่อยากพลาด จึงตัดสินใจวางความฝันการเป็นสถาปนิกเอาไว้ก่อน แล้วเริ่มทำธุรกิจที่ชื่อว่า “Munch on Me” กับเพื่อนๆ แทน
2
Munch on Me เป็นศูนย์รวมคูปองส่วนลดสำหรับร้านอาหาร คล้ายกับสตาร์ตอัป Groupon ที่รวบรวมดีลส่วนลดจากร้านค้าและธุรกิจในท้องถิ่น (ที่ครั้งหนึ่งเคยโด่งดังมาก ถึงขั้นปฏิเสธการเข้าซื้อของ Google ที่ 6,000 ล้านเหรียญ และเข้าสู่ตลาดหุ้นด้วยมูลค่ากว่า 17,800 ล้านเหรียญ แต่ตอนนี้สูญเสียมูลไปแล้วกว่า 99.4% เหลือมูลค่าทางตลาดเพียงแค่ 103 ล้านเหรียญเท่านั้น)
6
ธุรกิจของพวกเขาได้รับความสนใจจากนักลงทุนไม่น้อยและมีโอกาสเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัปที่มีชื่อเสียงอย่าง Y Combinator แถมยังได้ทุนทำธุรกิจกว่า 180,000 เหรียญ (ประมาณ 6.3 ล้านบาท) อีกด้วย
1
แต่ปัญหาก็คือโมเดลธุรกิจแบบ Groupon กลับเผชิญปัญหาอย่างหนัก เข้าตลาดหุ้นแล้วรายได้ไม่เป็นไปตามเป้า ทำให้นักลงทุนไม่สนใจโมเดล/ธุรกิจแบบนี้อีกต่อไป
1
“มันมีสัญญาณบ่งบอกเลยว่าน่าจะไปไม่รอด เรามารู้ตัวก็ตอนเหลือเงินในบัญชี 10 เหรียญนั่นแหละ”
1
แม่ของเจาถึงขั้นแนะนำให้กลับไปเรียนต่อปริญญาโท MBA แล้วออกมาหางานทำดีกว่าที่จะฝืนทำสตาร์ตอัปแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อนในกลุ่มทั้ง 5 คนก็เริ่มคิดถึงอนาคตของตัวเองว่าต่อไปจะทำยังไง จะไปหางานทำกันไหม แยกกันตรงนี้ก่อนจะเจ็บตัวเจ็บใจมากกว่านี้ดีกว่ารึเปล่า เพราะไอเดียใหม่ๆ ก็ไม่มี เงินทุนก็หมดแล้ว
1
Munch on Me ถูกขายให้กับสตาร์ตอัปอีกแห่งหนึ่ง ได้เงินมานิดหน่อยเท่านั้น
4
คืนหนึ่งช่วงปลายปี 2011 ทีมมารวมตัวกันที่ผับแห่งหนึ่งแถวมหาวิทยาลัย เปิดใจคุยกันว่าจะเอายังไงกับชีวิตกันต่อดี จะไปต่อรึเปล่า หรือจบแยกย้ายกันแค่นี้ ต่างคนก็ไปหางานของตัวเองทำดีกว่าไหม
“หลังจากดื่มเบียร์เข้าไปสองสามแก้ว เราทุกคนตัดสินใจร่วมกันว่าจะไปต่อและลองหาไอเดียใหม่ทำกันดู​“
3
แต่พวกเขาก็ขีดเส้นตายให้กับความฝันครั้งใหม่นี้ด้วย หาก 6 เดือนแล้วยังไม่เจอไอเดียใหม่ที่ดี ต่างคนก็แยกย้ายกันไปตามทางของตัวเอง
[[#Caviar ]]
1
ทั้ง 5 คนก็เริ่มโยนไอเดียกันมาเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีอะไรที่ทุกคนรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ใช่
1
จนกระทั่งวันหนึ่งที่กำลังระดมสมองกันอยู่ที่ออฟฟิศ เจาเริ่มรู้สึกหิวและสิ่งที่เขาอยากกินคือแซนด์วิชจากร้านที่ชื่อว่า Ike’s Place ซึ่งอยู่อีกฟากของเมือง ขับรถไปเป็นชั่วโมง เลยรู้สึกว่าถ้ามีคนเอามาส่งให้ถึงบ้านก็คงดีสินะ
3
“ผมเลยคิดว่า โอเคนะ เราน่าจะทำได้แหละ ลองมาทำ ‘Uber สำหรับอาหาร’ (Uber for Food) กัน’
หลายคนอาจจะบอกว่า มันไม่ได้เป็นไอเดียอะไรใหม่เลยนี้หน่า เพราะเราคุ้นเคยกับการสั่งอาหารออนไลน์ให้มาส่งที่บ้านกันอยู่แล้วทุกวันในเวลานี้ แอปฯ มีให้เลือกมากมายหลายสี แต่เราต้องเข้าใจบริบทในช่วงเวลานั้นด้วยว่าปี 2012 ตลาดสตาร์ตอัปดิลิเวอรี่อาหารนั้นยังไม่ได้มีการแข่งขันกันเยอะขนาดนั้น ในตลาดก็มี GrubHub และ Seamless ที่ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น ส่วนเจ้าใหญ่ๆ อย่าง DoorDash และ Uber Eats ก็มาทีหลัง
5
สตาร์ตอัปนั้นชื่อว่า ‘Caviar’ (คาเวียร์) และถึงแม้ว่ามันเป็นบริการดิลิเวอรี่อาหาร แต่โมเดลของคาเวียร์ก็มีเอกลักษณ์ส่วนตัวไม่น้อย เพราะพวกเขาเริ่มต้นด้วยการโฟกัสไปที่ร้านที่มีชื่อเสียง มีฐานแฟนคลับเยอะ ร้านที่คนอยากไปทาน แต่ไม่มีบริการส่งถึงบ้าน คาเวียร์ก็จะมีคนขับของตัวเองเพื่อไปรับอาหารมาส่งให้กับลูกค้า
4
หน้าที่ของเจาในตอนนั้นคือ ‘หัวหน้าฝั่งปฏิบัติการ’ โดยหลักๆ คือติดต่อร้านอาหาร โทรไปหา ไปเยี่ยม นัดอธิบาย แสดงเดโมให้กับเจ้าของร้าน
“เรารู้ว่าหากได้ร้านเบอร์เกอร์ที่ดีที่สุดหรือร้านทาโก้ที่ดีที่สุดในพื้นที่มาอยู่กับเรา ทันทีเลยคนก็พูดถึงเรา”
2
ลูกค้าจะพูดต่อๆ กันว่า ‘เฮ้ย ร้าน xxx ตอนนี้มีส่งแล้วนะ’ คนก็จะเข้าไปที่เว็บของร้านซึ่งจะลิงก์กลับมาหาเราเพื่อสั่งอาหาร ซึ่งข้อดีของวิธีการทำการตลาดแบบนี้คือมันสร้างการรับรู้ของธุรกิจโดยไม่ต้องอาศัยเงินโฆษณาเยอะ
5
“แทบไม่ได้ใช้เงินเลยเพราะการตลาดเกือบทั้งหมดถูกทำโดยร้านอาหารอยู่แล้ว”
2
และแน่นอนครับเมื่อทุกอย่างมันลงตัว เจาบอกว่า “เราดังระเบิดเลย”
ออเดอร์ลูกค้าเยอะจนคนขับไม่พอ เจาต้องขับรถไปส่งอาหารเองเกือบทุกวันเลยในตอนแรก
2
“เราทำงานทุกวัน 7 วันต่อสัปดาห์ ดูออเดอร์ เพิ่มร้านเข้าระบบ บริการลูกค้า และบางทีก็ไปเป็นคนส่งอาหารเอง จะบอกว่าบางทีก็ไม่ได้ เพราะไปแทบทุกวันเลย”
แม้ว่าจำนวนร้านค้าและลูกค้าจะเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ต้นทุนธุรกิจดิลิเวอรีอาหารนั้นสูงมากๆ เช่นเดียวกัน โชคดีที่การเติบโตนำมาซึ่งทุนจากบริษัทลงทุนหลายแห่ง ซึ่งได้เงินมาก็นำมาพัฒนาและต่อยอดธุรกิจให้โตมากขึ้นเรื่อยๆ
ผ่านมา 3 ปี แจ็ค ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) ผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter ก็โทรมาหา พร้อมกับข้อเสนอซื้อหุ้นของคาเวียร์ทั้งหมดมูลค่าสูงถึง 100 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 3,500 ล้านบาท โดยจะเข้ามาเป็นบริษัทลูกของ Square ที่ดอร์ซีย์ดูแลอยู่
3
[[ #ทางออกที่ดีที่สุดของบริษัท ]]
มันเป็นข้อเสนอที่ปฏิเสธได้ยาก และแม้ว่าทุกคนจะเชื่อว่าควรจะขาย แต่ก็ไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายเช่นกัน
2
หลังจากที่เอาข้อดีข้อเสียมาเปรียบเทียบกันแล้ว พวกเขาเชื่อว่า Square มีศักยภาพมากพอที่จะทำให้คาเวียร์เติบโตขึ้นได้มากกว่าเดิม
“คำสัญญาหนึ่งที่ Square บอกกับเราคือพวกเขาจะเอาวิศวกรที่ดีที่สุดของบริษัท 20 คนมาร่วมทีมกับคาเวียร์ตั้งแต่วันแรกเลย มันเป็นข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธ เพราะเรารู้ดีว่านี่คือทางที่ดีที่สุดของบริษัท​“
3
ผ่านไป 6 เดือนหลังจากที่เข้าไปอยู่กับ Square คาเวียร์ขยายออกไปอีก 8 เมือง และภายในสองปีจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
2
กลุ่มเพื่อนทั้ง 5 คนก็ทยอยตัดสินใจแยกย้ายกันไปตามเส้นทางของตัวเองหลังจากนั้น และถึงแม้จะไม่มีการเปิดเผยว่าแต่ละคนได้เงินเท่าไหร่จากดีลนี้ แต่ตอนที่ Square เข้ามาซื้อ หุ้นของทุกคนรวมกันในตอนนั้นก็มีมากกว่า 50%
3
ในปี 2019 ประมาณ 5 ปีหลังจากที่ Square เข้าซื้อคาเวียร์ DoorDash (หนึ่งในบริษัทดิลิเวอรี่อาหารเจ้าใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกเวลานี้ มูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท) ก็เข้ามาซื้อคาเวียร์ต่อด้วยเงินกว่า 410 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 14,500 ล้านบาท ถึงแม้ว่าเงินตรงนี้จะไม่ไปถึงเจาและเพื่อนๆ แต่เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากที่ผับวันนั้นพวกเขาตัดสินใจแยกย้ายทางใครทางมัน
4
ตอนนี้เจาใช้เงินที่ได้รับจากการขายคาเวียร์เพื่อลงทุนในธุรกิจต่างๆ ในอุตสาหกรรมอาหารและเทคโนโลยี ยังมีร้านอาหารของตัวเองที่เริ่มทยอยเปิดในซานฟรานซิสโก “ผมยังมีแพสชันเรื่องอาหารอยู่นั่นแหละ”
และถึงแม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ มีธุรกิจ เป็นนักลงทุนต่างๆนานา และเวลาผ่านมาเป็นสิบปีแล้วตั้งแต่เรียนจบ แม่ของเจาก็ยังคงบอกให้เขากลับไปเรียน MBA ต่ออยู่เสมอเลย
7
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
ปล. ในภาพ ชอว์น เจา คือคนที่สองทางขวาที่ใส่เสื้อลายตาราง (จากซ้ายมาขวาคือ Andy, Jason, Shawn และ Richard แต่ขาด Abel Lin ครับ) หน้าตาก็ดูกำลังได้ที่เลยทีเดียว
#aomMONEY #MoneyStorytelling #Startup #สตาร์ตอัป #ดิลืเวอรี่ #ความล้มเหลว #ธุรกิจ
โฆษณา