18 พ.ย. 2023 เวลา 14:25 • ประวัติศาสตร์

34 ปี โศกนาฏกรรมในอ่าวไทยของเรือ Drillship Seacrest

34 ปี โศกนาฏกรรมในอ่าวไทยของเรือ Drillship Seacrest
เรือ Drillship Seacrest อับปางลงที่แหล่งปลาทอง ของ เชฟรอน (ยูโนแคล ขณะนั้น) เมื่อวันที่​ 3 พฤศจิกายน ปี 2532 จากผลของ ไต้ฝุ่นเกย์ ที่ผ่าเข้ามากลางแหล่งปลาทองเลย โดยที่ยังไม่มีการอพยพคน
ภาพถ่ายทางอากาศของพายุไต้ฝุ่นเกย์ปี 2532 ก่อนขึ้นฝั่งที่จังหวัดชุมพรด้วยความเร็วลม 185 กม/ชม
โดยไต้ฝุ่นเกย์​ก่อตัวในอ่าวไทยแล้วขึ้นฝั่งเลย เทียบเฮอริเคนระดับ 5 ความเร็วลมที่ 260 กม/ชม (ความเร็วเฉลี่ย​ 1 นาที) แต่ตอนเข้าถึงเขตไทยลดความเร็วลมเหลือ 190 กม/ชม (ความเร็วเฉลี่ย​ 1 นาที) เทียบเท่าเฮอริเคนระดับ 3 ถือเป็นพายุลูกเดียวที่มีการบันทึกว่าขึ้นฝั่งบ้านเราขณะที่ยังเป็นไต้ฝุ่นอยู่ ทำคนตายไป 1060 คน
เรือ Drillship Seacrest
ในจำนวนนั้น คือโศกนาฏกรรมของเรือขุดเจาะน้ำมัน Seacrest สัญชาติสิงคโปร์ เจ้าของคือ เชพรอน (ตอนนั้นคือ ยูโนแคล) ที่มีลูกเรือปฏิบัติ​งานอยู่​ 97 คน ขุดเจาะอยู่ที่แหล่งปลาทองเกิดพลิกคว่ำ ทำให้คนตายไป 91 คน รอดเพียง 6 คน
โดยพายุเคลื่อนตัวผ่ากลางแหล่งปลาทอง ที่มีคนอยู่ใน Platong LQ (แท่นพักอาศัย) จำนวนมาก ไม่ได้มีการอพยพเหมือนในปัจจุบัน แถมเรือ Seacrest นั้นยังปฏิบัติ​งานขุดเจาะ​อยู่ด้วยขณะที่ไต้ฝุ่นเกย์วิ่งผ่าน มีท่อขุดเจาะคาอยู่ที่หลุมต่อมาถึงบนเรือ และมีท่อเตรียมขุดส่งขึ้นไปรอบน Drilling Tower คาอยู่ ทำให้ จุดศูนย์ถ่วงมันอยู่​สูงมาก หรือ อีกนัยหนึ่ง​คือ มันมีเสถียรภาพ​ต่ำพลิกคว่ำได้ง่ายช่วงที่พายุโจมตี ซึ่งน่าแปลกใจที่ยังยอมให้มีการปฏิบัติ​งานในสภาพอากาศ​แบบนั้น
ตำแหน่งการล่มของเรือ DS Seacrest
อย่างไรก็ดีหลังเหตุการณ์​มีการฟ้องร้องบริษัท​เชฟรอน (ยูโนแคล) เรื่อง การละเลยต่อรายงานพยากรณ์อากาศ​และการออกคำสั่งให้ปฏิบัติ​งานต่อไปแทนที่จะสั่งอพยพคน โดยทางเชฟรอนสู้คดีว่า ข้อมูลการพยากรณ์นั้นไม่ได้ระบุถึงความรุนแรงและตำแหน่งของพายุลูกนี้ ดังนั้น จึงไม่มีเวลาอย่างเพียงพอในการเตรียมขั้นตอนฉุกเฉินและการอพยพเรือ (สรุปใครชนะคดี ผมก็ยังไม่ทราบ)
ทิศทางการเคลื่อนที่ของพายุไต้ฝุ่นเกย์ปี 2532
ไต้ฝุ่นเกย์ ปี 2532 ถือว่าแหกทุกตำราที่เคยมีมา จากที่เคยเชื่อกันว่าพายุไต้ฝุ่น​ก่อตัวในอ่าวไทยไม่ได้ ต้องก่อตัวจากที่อื่นแล้ววิ่งเข้ามาในอ่าวไทย ทำให้เกิดความชะล่าใจ เนื่องจากกว่าพายุจะมาถึง ก็มีข่าวจากประเทศส่งมาให้เตรียมตัว​แล้ว จึงไม่มีสถานีตรวจวัดความเร็วลมในอ่าวไทย
พอมันเกิดในบ้านเราเอง เราไม่มีสถานีตรวจจับเราเลยรู้ช้า กว่าจะรู้พายุบุกมาถึงกลางแหล่งผลิตปลาทองแล้ว ทำให้อพยพไม่ทัน และคนส่วนใหญ่ไม่คิดว่ามันจะรุนแรงด้วย เพราะไม่เคยมีพายุใหญ่ขนาดนี้ในอ่าวไทยมาก่อน ทำให้ประมาทกัน
จากบันทึกมีเพียงพายุ 2 ลูกที่เข้ามาถึงในอ่าวไทย ขณะที่ยังมีความเร็วลมเป็นไต้ฝุ่นอยู่ (> 118 กม/ชม) คือ เกย์ (2532) และ ลินดา (2540)
ความเร็วลม เฉลี่ย 1 นาที เรียงตามนี้
พายุไต้ฝุ่น​เกย์ (2532) 260 กม/ชม
พายุไต้ฝุ่น​ลินดา (2540) 120 กม/ชม
พายุโซนร้อนปาบึก (2562)​ 95 กม/ชม
พายุไต้ฝุ่น​ลินดา ขณะขึ้นฝั่งกลายเป็น​พายุโซนร้อน​แล้ว
ดังนั้นแท่นในอ่าวไทย ผ่านการทำ Full Scale Storm Test มาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะ​แหล่งปลาทอง ผ่านมาทั้งไต้ฝุ่นเกย์​ปี 2532 และ ปาปึก ปี 2562 ส่วนลินดา เข้าใจว่าโดนแค่หางมัน เพราะผ่านไปทางเหนือของอ่าวไทย​
โฆษณา