23 พ.ย. 2023 เวลา 00:00 • หนังสือ

วาบิ-ซาบิ ความงามของความไม่สมบูรณ์

อารยธรรมกรีกถือกำเนิดในโลกตะวันตก เน้นเรื่องความสมบูรณ์แบบ สัดส่วนอาคาร เสา ต้องลงตัวสวยงาม พวกเขาคิดค้นสัดส่วนทางคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า Golden Section เป็นสัดส่วนที่งดงามสมบูรณ์ที่สุดในจักรวาล
1
ความเชื่อและวิธีคิดแบบนี้สืบทอดมาในโลกตะวันตกจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นค่านิยมและมาตรวัดคุณค่าเรื่องต่าง ๆ โลกวันนี้เน้นและปลูกฝังคนว่า เราต้องแสวงหาความสมบูรณ์แบบ “In search of perfection” กลายเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์
โฆษณาและค่านิยมของสังคมนำทางเราว่า เราต้องมีเรือนร่างที่เพอร์เฟกต์ เส้นผมเพอร์เฟกต์ คิ้วเพอร์เฟกต์ ผิวขาวเพอร์เฟกต์ ตาสองชั้นเพอร์เฟกต์ ฯลฯ เพื่อให้คนอื่นยอมรับเรา
แม้แต่รูปถ่าย ก็ต้องแต่งด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ลบริ้วรอยทั้งหลายทิ้งสิ้น
ดิ้นรนทุกทาง จนมันกลายเป็นบ่วงรัดเรา และบางครั้งก็เป็นการหลอกตัวเอง
แต่การใช้ชีวิตให้เพอร์เฟกต์แบบนี้ทำได้ยาก และมักไม่เป็นธรรมชาติ เพราะมันสวนทางกับธรรมชาติ ธรรมชาติมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงคือคุณลักษณ์ของสรรพสิ่ง
คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ ธรรมชาติมีความสมบูรณ์แบบหรือไม่
ปราชญ์ญี่ปุ่นโบราณเชื่อว่าไม่มี เราเองต่างหากเป็นคนติดป้าย ‘perfection’
วิถีโลกเคลื่อนไปอย่างนั้นเอง วิวัฒนาการทำงานของมันไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดหย่อน ธรรมชาติไม่เคยบอกว่านี่คือความงามที่สมบูรณ์ นี่คือสัดส่วนที่เพอร์เฟ็กท์ มันยังวิวัฒนาการต่อไปเรื่อย ๆ
3
ปราชญ์ญี่ปุ่นโบราณเห็นว่าในเมื่อมันไม่มีความสมบูรณ์ในธรรมชาติ ทำไมเราต้องแสวงหาความงามของความสมบูรณ์ด้วยเล่า? อยู่กับสิ่งที่มีไม่ดีกว่าหรือ? มิใช่ความงามหรือ?
1
นี่ก็คือความคิดเรื่อง วาบิ-ซาบิ
ความงามของความไม่จีรัง ความไม่สมบูรณ์
2
เดิมคำว่าวาบิ-ซาบิมีความหมายในเชิงลบ แต่ต่อมามันพัฒนาเป็นด้านบวก เหตุผลหนึ่งเพราะแนวคิดทางพุทธที่สอนให้เข้าใจสัจธรรมของความเปลี่ยนแปลงและความไม่จีรัง
คำว่า วาบิ (侘) เดิมหมายถึงความหดหู่เดียวดายของการอยู่ในธรรมชาติ ห่างจากผู้คน แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 14 คำนี้ก็เริ่มมีความหมายดีขึ้น ความหมายเปลี่ยนไปทางความเศร้าอมสุขของการอยู่สันโดษคนเดียว
2
ส่วนคำว่า ซาบิ (寂) เดิมหมายถึงเหี่ยวแห้ง เสื่อมสลาย กลายเป็นความหมายนัยใหม่ว่า การมีอายุ ความเสื่อมทางกายภาพ เป็นสัญลักษณ์ของเวลา และคุณค่าของการผ่านเวลา
4
วิถีเซนมองว่าธรรมชาติคือการเปลี่ยนแปลง เป็นวงจร ไม่มีความสมบูรณ์และความไม่สมบูรณ์ มันเป็นเช่นนั้นเอง การเข้าใจว่าโลกว่างเปล่าและไม่สมบูรณ์ เป็นประตูสู่ซาโตริ นี่ก็คือวิธีคิดแบบพุทธในเรื่องอนิจจังและความไม่เที่ยงอย่างเป็นรูปธรรม
เซนยอมรับว่าโลกเป็นอย่างนั้นเอง ทั้งส่วนสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์เกี่ยวร้อยกันและกัน หรือพูดใหม่ได้ว่า โลกไม่มีทั้งความสมบูรณ์และความไม่สมบูรณ์ เซนจึงเป็นรากฐานของวาบิ-ซาบิ และมันกลายเป็นรากคุณค่าความงามของญี่ปุ่น
2
วาบิ-ซาบิ เป็นมุมมองเกี่ยวกับการยอมรับการดำรงอยู่สั้น ๆ เช่น ดอกไม้มีอายุไม่กี่วัน ความไม่สมบูรณ์ ความไม่ยั่งยืนถาวรของธรรมชาติ แต่อะไรที่มีอายุ มีการเลื่อนผ่านของเวลา ก็มีความงามได้
3
วาบิ-ซาบิเห็นว่าความงามมาจากการยอมรับว่าไม่มีอะไรถาวร ไม่มีอะไรสำเร็จเรียบร้อย ไม่มีอะไรสมบูรณ์
ทำไมเราต้องใช้ชามสวยงามสมมาตรสมบูรณ์? เราใช้ชามผิวหยาบ สัดส่วนไม่สมมาตรไม่ได้หรือ? มันทำให้กินข้าวไม่อร่อยหรือ? เรากำลังเน้นที่เปลือกนอกหรือเนื้อในกันแน่? บางทีชามหยาบก็มีความงามได้ เพียงแต่เป็นความงามอีกแบบหนึ่ง และอาจลึกกว่าความงามที่สมบูรณ์ เพราะมันแฝงปรัชญาชีวิตในความไม่สมบูรณ์ มันทำให้เข้าใจแก่นของธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอน
6
สิ่งที่เราพบเห็นในงานศิลปะของวาบิ-ซาบิ เช่น ความไม่สมดุล ความหยาบ ความเรียบง่าย ความน้อยที่สุด ใช้วัตถุตามธรรมชาติโดยไม่เสแสร้งปั้นแต่ง
วาบิ-ซาบิจึงเป็นมากกว่าแค่ความไม่สมบูรณ์ แต่เป็นปรัชญาชีวิตด้วย มันยังเป็นหลักในศิลปะและหลักธรรมในญี่ปุ่น
2
ท่อนหนึ่งจากหนังสือ หิน 15 ก้อนของ สตีฟ จ๊อบส์ หนังสือเกี่ยวปรัชญา วิธีการมองชีวิต เพื่อความสุขของเรา มีจำหน่ายในงานหนังสือ บูธ L-35 และเว็บไซต์ winbookclub.com (คลิกตรง "ซื้อหนังสือ")
หรือสั่งซื้อทาง Shopee คลิกลิงก์ตามนี้ (ชุด 3 เล่ม S10) ชีวิตที่ดี + หิน 15 ก้อนฯ + เป่ย (ปก 660.- เหลือ 590.- พร้อมลายเซ็นนักเขียน) https://shope.ee/LL9SCqyRl?share_channel_code=6
โฆษณา