21 พ.ย. 2023 เวลา 11:07 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เกิดอะไรขึ้นกับ GDP ไตรมาสสาม?

เป็นอีกหนึ่งไตรมาสที่ตัวเลข GDP ของไทยออกมาแล้วมีประเด็นที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์เกาหัวกันแกรกๆ
3
GDP ไตรมาสสามออกมาโตแค่ 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสปีก่อน และโต 0.8% เทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งต่ำกว่าที่หลายคนคาดไว้ ทั้งๆ ที่เมืองก็เปิดแล้ว นักท่องเที่ยวก็เริ่มกลับมาแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าสุดๆ จนบางคนเรียกวิกฤตแล้ว
3
และถ้าดูไส้ในปกติ ก็คงบอกว่าเพราะการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐยังหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่การบริโภคภายในประเทศยังโตดีมากๆ โตถึง 8.1% เทียบกับปีก่อน! และถ้านับเอาจากฝั่งอุปสงค์หรือฝั่งการใช้จ่าย (ใครเรียนเศรษฐศาสตร์มา คงจำสมการ Y=C+I+G+X-M ได้) เศรษฐกิจโตถึง 11.7%! ส่วนหนึ่งเพราะการนำเข้าก็หดตัวไปด้วย
ตัวเลขเช่นนี้สร้างความสับสนว่า สรุปแล้ว เราจะบอกว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดีกันแน่ ซึ่งจะนำไปสู่คำถามสำคัญด้วยว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจจำเป็นหรือไม่? หากดูข้อมูลฝั่งการผลิตหรือ ‘supply’ ก็ต้องบอกว่าเศรษฐกิจ แย่กว่าที่คาด และแย่กว่าที่ควรจะเป็น แต่ถ้าดูฝั่งอุปสงค์ หรือ ‘demand’ ต้องบอกว่าดีมากๆ โดยเฉพาะการใช้จ่ายในประเทศ หากตัวเลขการใช้จ่ายเป็นเช่นนี้คำถามคือ แล้วจะกระตุ้นทำไม
4
คำอธิบายสำคัญคือตัวเลข ‘ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงคลัง’ (changes in inventories) และ ‘ส่วนเบี่ยงเบนทางสถิติ’ (statistical discrepancies)
1
📍ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงคลัง
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า GDP เป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการผลิต (production concept) คือวัดมูลค่าของสินค้าและบริการที่ “ผลิต” ขึ้นในระยะเวลาหนึ่ง ไม่ใช่มูลค่าของยอดขายหรือการใช้จ่าย ดังนั้น ‘ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงคลัง’ จึงเป็นตัวที่อธิบายส่วนต่างของตัวเลขฝั่งการใช้จ่ายและฝั่งการผลิต เช่น ถ้าปีนี้ร้านค้าขายสินค้าได้มาก แต่ยังไม่ได้ผลิตของเพิ่ม เราอาจจะเห็นยอดขายขึ้นดีขึ้น แต่การผลิตไม่เพิ่มเลย แต่สต็อกของในร้านลดลงไป
สำหรับตัวเลข GDP ไตรมาสสาม ส่วนที่น่าตกใจคือ ‘ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงคลัง’ ส่งผลถึง -7% ของ GDP growth แปลว่า GDP ที่โต 1.5% นับรวมเอาส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลังไปถึง -7% แล้ว
2
ถ้ามองในแง่ดีคือสต็อกของลดลง การผลิตก็น่าจะเพิ่มขึ้นในระยะถัดๆไป แต่มองในแง่ร้ายคือเศรษฐกิจทำท่าจะฟื้นแล้ว ทำไมยังไม่ผลิตกันอีก!
3
📍‘ส่วนเบี่ยงเบนทางสถิติ’ (statistical discrepancies)
เป็นอีกหนึ่งตัวเลขที่น่าสนใจ ถ้าคิดแบบเดียวกันจะเห็นว่า ส่วนเบี่ยงเบนทางสถิติมีส่วนถึง 4% ซึ่งใหญ่กว่า GDP growth เสียอีก และนี่ไม่ใข่ไตรมาสแรก แต่ส่วนเบี่ยงเบนนี้มีขนาดใหญ่และไปทิศทางเดียวกันมาหลายไตรมาสแล้ว
ตัวเลขเช่นนี้ทำให้งงเอาง่ายๆ ว่าที่เรานั่งวิเคราะห์กันอยู่นั้นคืออะไรกันแน่ หรือต่อไปนี้เราต้องประมาณ residuals กันด้วย
📍เกิดอะไรขึ้น
1
ก่อนจะเข้าใจปัญหาต้องเข้าใจก่อนว่า การทำตัวเลข GDP ที่แท้จริง (real GDP) ของไทยใช้วิธี chain volume measure ซึ่งมีข้อจำกัดสำคัญในทางเทคนิคคือ การคำนวน contribution to growth อาจจะใช้ไม่ได้ดีนัก เพราะตัวเลขแต่ละกลุ่มไม่ถูกบวกเพิ่มแบบเป๊ะๆ
2
โดยเฉพาะถ้าเราถอยห่างจากปีฐานมากขึ้นเรื่อยๆ และตัวเลขที่เราดูกันอยู่ซึ่งต้องถือว่าเป็นตัวเลขชี้วัดที่ดีที่สุดที่เรามี ใช้ปีฐานตั้งแต่ปี 2002 หรือเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว! ปัจจุบัน ตัว residual หรือผลต่างของการคิดจากสองฝั่งคือประมาณ 3.3% ซึ่งถือว่าใหญ่มาก เหมือนสร้างสะพานจากสองฝั่งแม่น้ำ แต่ไม่เจอกันกลางแม่น้ำ
2
การคำนวณ GDP เป็นตัวเลขจากการสำรวจทั้งสิ้น จึงอาจมีความคลาดเคลื่อนได้อยู่แล้ว แต่คำถามคือทำไมส่วนต่างมันใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะหลังโควิด
นอกเหนือจากประเด็นปีฐาน ผมมีความสงสัยว่าอาจจะเกิดจากอีกสามประเด็น ซึ่งต้องออกตัวว่ายังเป็นสมมติฐานอยู่
1
1. (เป็นไปได้หรือไม่ที่) โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้การสำรวจข้อมูลแบบเดิม มีความคลาดเคลื่อนเพิ่มมากขึ้น เช่น เศรษฐกิจและการบริโภคที่ลดลงและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ธุรกิจภาคบริการที่หายไปและกลับมาใหม่ และธุรกรรมออนไลน์ที่มีมากขึ้นอาจทำให้การสุ่มสำรวจรูปแบบเดิม ไม่สะท้อนโครงสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่
1
2. (เป็นไปได้หรือไม่ที่) อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็วมีผลต่อการคำนวณตัวเลขที่แท้จริง
1
3. (เป็นไปได้หรือไม่ที่) การบันทึกธุรกรรมบางประเภท โดยเฉพาะการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว และการนำเข้าสินค้า ไม่สอดคล้องกับความจริง เช่น อาจจะบันทึกการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่ำไป หรือบันทึกการนำเข้าบางประเภทน้อยไป (เช่น การนำเข้าชายแดน หรือธุรกรรม e-commerce ที่ไม่ต้องชำระภาษี หรือเรื่องการนำเข้าหมูเถื่อนที่คนพูดถึงกันเยอะๆก็อาจจะส่งผลแบบนี้ได้เช่นกัน)
3
📍ตัวเลขเศรษฐกิจกับปัญหาการใช้นโยบาย
ปัญหาสำคัญเวลาเราเจอตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่ขัดกันแบบนี้ อาจจะนำไปสู่การประเมินภาพเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกัน และข้อสรุปเชิงนโยบายที่น่าปวดหัว
แต่ถ้าเราดูตัวเลขอื่นๆประกอบไปด้วย เช่น ผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลงต่อเนื่อง คุณภาพหนี้สินเชื่อรายย่อย และอัตราเพิ่มของสินเชื่อธนาคาร น่าจะเป็นการบ่งบอกว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะอยู่ในภาวะชะลอตัว และมีโอกาสจะชะลอตัวต่อไปด้วย แม้ว่าเครื่องส่งอย่างการส่งออกและการท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงส่งที่สำคัญ
เราทำแบบเดิมไปเรื่อยๆไม่ได้
แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือ นี่น่าจะเป็นอีกหนี่งชุดข้อมูลที่ยืนยันว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่กำลังติดหล่ม และเราอยู่แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆไม่ได้ เราต้องคุยกันเรื่องนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง ที่จะยกศักยภาพของเศรษฐกิจท่ามกลางความท้าทายทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายที่อาจจะยังไม่เห็นผลในระยะสั้น
แต่มีความจำเป็นในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น เรื่องนโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะ การปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง การปฏิรูปนโยบายการแข่งขันเพื่อลดการผูกขาดและส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ การลดข้อจำกัดของกฎระเบียบ การลดการคอร์รัปชั่น การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ฯลฯ
2
ไม่เช่นนั้นเราอาจจะกำลังเดินลงไปสู่เส้นทางที่เราไม่อยากจะไป
โฆษณา