23 พ.ย. 2023 เวลา 13:59 • ประวัติศาสตร์

"โครงการรังสิต เมกะโปรเจ็คท์สมัยรัชกาลที่5 เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญเพื่อการส่งออก"

ประวัติและที่มาของคลองรังสิต และ คลองที่ตัดเชื่อม คลอง1-คลอง16
หลังจากสยามทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ ทำให้สยามต้องเปลี่ยนบทบาททางการเกษตรอันเป็นรายได้หลักของประเทศใหม่ จากที่เคยปลูกข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศ เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นครั้งแรก และ “โครงการรังสิต”
เพื่อมีการพัฒนาแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศสยาม” จึงเป็นที่มาของเมกะโปรเจ็คท์เพื่อการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ อันมีนามว่า “โครงการรังสิต”
รังสิต นั้นเดิมมีชื่อว่าทุ่งหลวง รัชกาลที่ 5พระองค์ทรงตั้งพระทัยที่จะให้ทุ่งหลวงเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพื่อการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และนวัตกรรมที่จะมาแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและช่วยนำพาความเจริญมาสู่ท้องที่ก็คือ “เส้นทางคลอง” ดังที่ทรงเคยมีพระราชดำริไว้ว่า
“การขุดคลอง เพื่อที่จะให้เป็นที่มหาชนทั้งปวงได้ไปมาอาศัย แลเป็นทางที่จะให้สินค้าได้บรรทุกไปมาโดยสะดวก ซึ่งให้ผลแก่การเรือกสวนไร่นา ซึ่งจะได้เกิดทวีขึ้นในพระราชอาณาจักร เป็นการอุดหนุนการเพาะปลูกในบ้านเมืองให้วัฒนาเจริญยิ่งขึ้น”
ทุ่งหลวง มี สภาพภูมิประเทศที่เป็น หนองน้ำลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่ทั่วไป ชาวบ้านจึงมักตั้งชื่อท้องถิ่นตามสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่นั้น ๆ เช่น ลำลูกกา คูคต ลาดเป็ด ลาดสวาย บึงยี่โถ บึงทองหลาง บึงคอไห เป็นต้น ในหน้าน้ำหลาก พื้นที่ทุ่งหลวงแห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติ
ในอดีต ช้างป่าเป็นสัตว์ใหญ่ที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่ทุ่งหลวง โดยเฉพาะทางตอนเหนือ บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดปทุมธานีกับพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน โดยช้างมักลงจากป่าเขาใหญ่มาหากินในบริเวณนี้ ธรรมชาติของช้างป่าจะเดินกันเป็นโขลง ก่อให้เกิดร่องน้ำน้อยใหญ่มากมายในพื้นที่ อันเป็นที่มาของชื่อ “ท่าโขลง” และ “ช้างลาก” ซึ่งต่อมาเพี้ยนเป็น “เชียงราก” ในปัจจุบันนั่นเอง
นอกจากช้างป่าแล้ว ยังพบสัตว์ป่าอื่น ๆ ในพื้นที่ทุ่งหลวงอีก เช่น จระเข้ เสือโคร่ง ควายป่า กระทิง และสมัน ดังจะเห็นได้จากตราสัญลักษณ์เทศบาลนครรังสิต ด้านล่างจะเห็นเงาลาง ๆ ของสัตว์ป่าที่เคยปรากฎในพื้นที่ทุ่งหลวงรังสิตในอดีต
สมัน กวางสมัน เนื้อสมัน หรือกวางเขาสุ่ม จัดเป็นสัตว์หายากชนิดหนึ่งที่มีเขาที่สวยงามที่สุดในโลก ถือเป็นสัตว์ประจำถิ่นซึ่งพบได้ทั่วไปในท้องทุ่งหลวงแห่งนี้ และพื้นที่ใกล้เคียงในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เช่น ดอนเมือง บางเขน แต่ปัจจุบันน่าเสียดายที่สมันได้สูญพันธุ์จากโลกใบนี้ไปแล้ว
“ทุ่งหลวง” เป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งขาดแคลนน้ำ แทบไม่พบทางน้ำหรือลำธารตามธรรมชาติใด ๆ ในพื้นที่ท้องทุ่งแห่งนี้เลย แม้ทางทิศใต้บริเวณตำบลคูคตจะเคยปรากฎร่องรอยของทางน้ำเก่าก็ตาม ปัจจุบันหากใครเคยไปสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ของกองทัพอากาศใกล้ ๆ ปากทางลำลูกกา จะพบคูน้ำเล็ก ๆ ไหลโอบล้อมสนามกอล์ฟด้านทิศเหนือ ใกล้ ๆ กับวัดลาดสนุ่น นั่นแหละครับ คือร่องรอยของทางน้ำธรรมชาติโบราณ
หากนับความแห้งแล้งเป็นความโชคร้าย ในความโชคร้ายนั้น พื้นที่ท้องทุ่งแห่งนี้ยังมีความโชคดีอย่างหนึ่งที่ทำให้ทุ่งหลวงเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล นั่นคือ “ดินดี” ครับ
รัชกาลที่ 5 จึงทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ทำสัญญากับ “บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม” บริษัทเอกชนรายแรกของประเทศ ที่มีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร่วมกับนักลงทุนฝรั่ง เพื่อดำเนินการขุด “คลองชลประทานแห่งแรกของประเทศสยาม” ขึ้น มีสัมปทาน 25 ปี โดยคลองสายหลักเริ่มขุดในปีพุทธศักราช 2433
เริ่มต้นจากบริเวณหน้าวัดเทียนถวาย ตำบลบ้านใหม่ แขวงเมืองประทุมธานี เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมกับแม่น้ำนครนายกที่ตำบลปลากดหัวควาย แขวงเมืองนครนายก กว้าง 8วา ลึก 5 ศอกหรือ 3เมตร จึงมีชื่อในระยะแรกว่า “คลองแปดวา” หรือ “คลองเจ้าสาย” ตามพระนามของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์
ต่อมาคลองสายหลักนี้ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “คลองรังสิตประยูรศักดิ์” ตามพระนามของพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ต้นราชสกุลรังสิต อันเป็นพระราชโอรสของพระองค์กับเจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง แห่งราชสกุลสนิทวงศ์
ต่อมามีการขุดคลองเป็นเส้นขนานกับคลองรังสิตทางทิศเหนือ คือ “คลองหกวาสายบน” ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “คลองระพีพัฒน์” เส้นแบ่งเขตระหว่างจังหวัดปทุมธานีกับพระนครศรีอยุธยา ส่วนทางทิศใต้ของคลองรังสิตบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดปทุมธานีกับกรุงเทพมานครคือ “คลองหกวาสายล่าง”
และในที่สุดก็มีการขุดคลองตัดเชื่อมระหว่างคลองหลัก 3 สายนี้ในแนวเหนือ-ใต้อีก 16สาย คือ คลอง 1 ถึงคลอง 16
หลังขุดคลอง มีการสร้างประตูน้ำในคลองรังสิต 2 แห่ง ได้แก่ “ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์” ใกล้ทางออกแม่น้ำเจ้าพระยา และ “ประตูน้ำเสาวภาผ่องศรี” ทางฝั่งแม่น้ำนครนายกในเขตอำเภอองครักษ์ปัจจุบัน ซึ่งทั้ง 2แห่ง ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จมาเปิดด้วยพระองค์เอง
ชื่อประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ เป็นชื่อพระราชทาน ปัจจุบันมีเพียงชื่อประตูน้ำกับสถานีตำรวจภูธรในท้องที่เท่านั้นที่ใช้ชื่อนี้
คลองรังสิต นอกจากจะเป็นคลองเพื่อการชลประทานแห่งแรกของประเทศแล้ว ยังเป็นคลองแห่งแรกที่ขุดโดยบริษัทเอกชน และมีการนำเครื่องจักรอันทันสมัยจากต่างประเทศมาใช้ขุด โดยมี “เอนยิเนีย” หรือวิศวกรควบคุมงาน
อย่างไรก็ตามในช่วงแรก ๆ คลองรังสิตเองก็เคยใช้แรงงานชาวจีนขุดเหมือนกัน ปัจจุบันจึงพบศาลเจ้าและชุมชนคนจีนเก่าแก่ ตั้งรกรากบริเวณคลองรังสิตอยู่มากมาย โดยเฉพาะบริเวณคลอง 1ถึงคลอง 3 ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่ของเทศบาลนครรังสิต และที่แห่งนี้เองคือจุดกำเนิดของ “ก๋วยเตี๋ยวเรือรังสิต” นั่นเอง
และทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของ “โครงการรังสิต” ครอบคลุมพื้นที่ 5จังหวัดในปัจจุบัน คือ จังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก และกรุงเทพตอนเหนือ
และในที่สุดท้องทุ่งหลวงแห่งนี้จึงถูกขนามนามใหม่ว่า “ทุ่งรังสิต” ตั้งแต่นั้นมา
ในสัญญาพระบรมราชานุญาตขุดคลอง ระบุไว้ชัดเจนว่า พื้นที่สองฝั่งคลองที่ขุดไปนั้นจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม โดยบริษัทสามารถจัดสรรที่ดินขายให้ผู้ที่ต้องการที่ดินได้อย่างเสรี
ส่งผลให้มีราษฎรจากพื้นที่ใกล้เคียงพากันอพยพมาจับจองพื้นที่ทุ่งหลวงรังสิตแห่งนี้เป็นจำนวนมาก เพื่อมาทำนาปลูกข้าวตามพระราชประสงค์ ซึ่งแน่นอนครับว่า มีทั้งผู้ที่เข้ามาอย่างสุจริตและไม่สุจริต จึงเกิดปัญหาการแย่งชิงที่ดิน ปล้นสะดม และเป็นที่ซ่องสุมของโจรผู้ร้าย นอกจากนี้ยังมีนักเลงขัดขวางการขุดคลองของบริษัท ทำร้ายคนงานและทรัพย์สินของบริษัทด้วย จนเกิดคดีฟ้องร้องถึงขั้นฎีกา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงประกาศให้ใช้โฉนดที่ดินที่นี่เป็นครั้งแรก
อย่างไรก็ตามปัญหาโจรผู้ร้ายชุกชุมก็ยังคงอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล อันเป็นที่มาของชื่อ “หนองเสือ” ในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรด ฯ ให้จัดตั้งศาลจังหวัดบริเวณคลอง 6 เพื่อจัดระเบียบการปกครองให้สงบเรียบร้อย และในที่สุดในปีพุทธศักราช 2444 พื้นที่ท้องทุ่งหลวงรังสิตทั้งหมดก็ถูกยกขึ้นเป็นเมืองใหม่ ได้รับพระราชทานนามให้ว่า “เมืองธัญญบูรี” อันมีความหมายว่า “เมืองข้าว”
โดย หนานซัน เมืองเชลียง
Cr พิพิธประวัติศาสตร์ มนุษย์ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง
Posted by Onnie
โฆษณา