27 พ.ย. 2023 เวลา 15:25 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

นักวิทย์ไขปริศนาโมนาลิซาด้วยแสงซินโครตรอน

นักวิทย์ไขปริศนาโมนาลิซา
ด้วยแสงซินโครตรอน
(เรียบเรียงโดย สัมโมทิก สวิชญาน)
3
สารเคมีที่มีชื่อว่า “ตะกั่ว (II) ออกไซด์” (PbO) ถูกใช้ในการเขียนภาพสีน้ำมัน อย่างน้อยตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 17 แต่เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานใหม่ว่า อันที่จริงศิลปินใช้กันมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 15–16 แล้ว เพราะไปพบในภาพเขียนของเลโอนาร์โด ดาวินชี
เจอหลักฐานที่ว่าได้อย่างไร?
นักวิทยาศาสตร์นำตัวอย่างเศษชั้นสีชิ้นเล็กมากๆ (microsample) ตรงมุมขวาบนของภาพโมนาลิซาไปวิเคราะห์ด้วยวิธีการหลายอย่างร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (scanning electron microscope) การดูว่าเศษชั้นสีมีปฏิสัมพันธ์กับแสงอินฟราเรดอย่างไร (infrared spectroscopy) และกับรังสีเอกซ์อย่างไร (X-ray diffraction) โดยรังสีเอกซ์ที่ใช้ เป็นรังสีเอกซ์พลังงานสูง ซึ่งผลิตจากเครื่องซินโครตรอน (synchrotron)
เครื่องซินโครตรอน (synchrotron) ที่มา : wikipedia.org
เครื่องซินโครตรอนที่ใช้ ตั้งอยู่ที่ European Synchrotron Radiation Facility ในเมืองเกรอนอบล์ (Grenoble) ประเทศฝรั่งเศส ประเทศไทยเองก็มีอยู่เครื่องหนึ่งเช่นกัน ตั้งอยู่ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จังหวัดนครราชสีมา
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ที่มา : siri.or.th
สิ่งหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบจากการวิเคราะห์คือ ชั้นสีที่อยู่ล่างสุด มีโมเลกุลของสารชื่อ plumbonacrite (Pb₅(CO₃)₃O(OH)₂) ซึ่งเสถียรเฉพาะในสภาวะที่เป็นด่าง ดังนั้นจึงอนุมานได้ว่า สารนี้เกิดมาจากปฏิกิริยาระหว่างน้ำมันผสมสี กับ PbO
plumbonacrite ที่มา : wikipedia.org
ผลวิเคราะห์ไม่ได้เจอ PbO ตรงๆ ในภาพโมนาลิซา ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจมากขึ้นว่าอนุมานไม่น่าผิด นักวิทยาศาสตร์ก็ไปวิเคราะห์เศษชั้นสีของภาพ “อาหารค่ำมื้อสุดท้าย” (The Last Supper) ของดาวินชีด้วย แล้วก็เจอ PbO จริงๆ
ภาพอาหารค่ำมื้อสุดท้าย (The Last Supper) ที่มา : wikipedia.org
ภาพโมนาลิซา เป็นภาพที่วาดลงบนแผ่นไม้จากต้น “พอปลาร์ดำ“ (black poplar) ผลการทดลองนี้จึงทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะสันนิษฐานได้อย่างมั่นใจมากขึ้นว่า ดาวินชีใช้ผง PbO ซึ่งมีสีส้ม ผสมน้ำมันวอลนัต หรือไม่ก็น้ำมันลินซีด (linseed) แล้วเอาไปอุ่นเพื่อทำเป็นสีรองพื้น ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ภาพที่วาดลงไป แห้งเร็วขึ้น
1
ต้นพอปลาร์ดำ (black poplar) ที่มา : wikipedia.org
เทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่จิตรกรสมัยนั้นยังไม่ใช้กัน แต่นักประวัติศาสตร์ศิลปะก็ไม่แปลกใจ เพราะดาวินชีเป็นสายชอบทดลองอยู่แล้ว ดังนั้นดาวินชีคงอยู่ในช่วงกำลังลอง และเมื่อเห็นว่าเวิร์ก ก็ส่งต่อสูตรพิเศษนี้กันไปเรื่อยๆ จากจิตรกรรมยุค “Italian Renaissance” (จิตรกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี) ข้ามแดนไปถึงยุค “Dutch Golden Age” (จิตรกรรมยุคทองของเนเธอร์แลนด์) เช่น ภาพเขียน “การเฝ้ายามกลางคืน” (The Night Watch) ของ Rembrandt ซึ่งพบ PbO รองพื้นอยู่เช่นกัน เป็นต้น
1
ภาพการเฝ้ายามกลางคืน (The Night Watch) ที่มา : wikipedia.org
การรู้องค์ประกอบของสีและวิธีการที่จิตรกรในยุคต่างๆ ใช้ นอกจากจะเพิ่มองค์ความรู้ในแง่ประวัติศาสตร์ศิลปะแล้ว ยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนซ่อมแซมภาพเขียนได้อย่างเหมาะสมที่สุดด้วย
โฆษณา