28 พ.ย. 2023 เวลา 21:44 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำไมไทย “ตกขบวน” วีซ่าฟรีของจีน

สอบถามกันมามากว่าทำไมจีนให้สถานะวีซ่าฟรีแก่ 5 ประเทศในยุโรป และมาเลเซีย แต่ไร้ชื่อไทย!!!
ผมขอไล่ไปเป็นส่วนๆ ดังนี้ …
1. ในกรณีของยุโรป
ในเชิงเศรษฐกิจ จีนอยากได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว และสานต่อรวมไปถึงด้านการค้าและการลงทุนจากยุโรป
เราต้องเข้าใจว่า วิกฤติโควิดทำเอาจีน “เสียศูนย์” เอามาก แม้ว่าเศรษฐกิจของยุโรปจะอ่อนแรงลงไปมาก แต่ก็ยังเต็มไปด้วยพลัง
ทั้งในด้านเงินทุน เทคนิคด้านการจัดการ เครือข่ายธุรกิจ และเทคโนโลยีชั้นสูงที่จีนต้องการนำไปบูรณาการกับสิ่งที่มีอยู่เพื่อก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง
จีนต้องการสิ่งเหล่านี้จากทุกภาคส่วนของทุกประเทศทั่วโลก เราจึงเห็นจีนเร่ง “เปิดประเทศ” และ ”ดึงดูด“ การลงทุนจากต่างประเทศอย่างจริงจังในช่วงหลายเดือนหลัง
เหนือสิ่งอื่นใด การสานสัมพันธ์กับยุโรป ยังจะเป็นการดึง “แกนหลัก” ของยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนีและฝรั่งเศส ไว้ใกล้ตัว
และยังต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์เพื่อรักษา “สมดุล” ในภูมิภาคยุโรปหลังจากที่ “เสียหน้า” ไม่น้อยที่ปล่อยให้อิตาลีหลุดมือจากความร่วมมือในเวที BRI Summit
และหากเป็นไปได้ จีนก็คงอยากดึงออกจากอ้อมอกของสหรัฐฯ เพื่อหวังผลในเวทีการเมืองระหว่างประเทศในสนามใหญ่ในระยะยาว
2. ในกรณีของมาเลเซีย
ในทางการเมือง ปี 2024 จะเป็นปีครบรอบ 50 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับมาเลเซีย
ดังนั้น จีนจึงปูพื้นฐานเพื่ออยากเห็นการ “ไปมาหาสู่“ ของภาคประชาชนระหว่างกันที่พัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง
ในทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจีนก็ถือโอกาส “มอบของขวัญ” ชิ้นใหญ่ที่สมเกียรติเพื่อฉลองครึ่งศตวรรษแห่งความสัมพันธ์จีน-มาเลเซีย
โดยที่มาตรการนี้จะมีผลราวหนึ่งปี ยาวไปถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2024
เราจึงน่าจะเห็นคนจีนและมาเลเซียเดินทางระหว่างกันเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติในขวบปีนี้เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีของความสัมพันธ์ฯ
และหากพูดอย่างเป็นธรรม เราต้องยอมรับว่า นักท่องเที่ยวมาเลเซียอาจสู่ไทยไม่ได้ในเชิง “ปริมาณ” แต่ก็น่าจะมี “คุณภาพ” ดีกว่าไทย
ปัจจุบัน รายได้เฉลี่ยต่อหัวของมาเลเซียทะลุ 10,000 เหรียญสหรัฐฯ ไปแล้ว ขณะที่ไทยยังไม่อาจทะลุหลัก 7,000 เหรียญสหรัฐฯ ได้
และยัง “ดูท่า” ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะไปถึงจุดนั้น!!! เราต้อง “ตั้งหลัก” ให้ดี และ “พยายาม” ให้มากขึ้นกว่าเดิม
ขณะเดียวกัน คนไทยก็ควรทำ “ใจกว้าง” ในเรื่องนี้ อย่า “ตีอกชกตัว” ว่าจีนให้วีซ่าฟรีแก่มาเลเซีย แต่ไม่ให้ไทยทั้งที่เป็นเหมือน “พี่น้อง” กัน
อีกประการหนึ่ง มาเลเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเรา และที่ผ่านมาก็ถือเป็นนักท่องเที่ยวรายใหญ่ของไทยที่เราควรใส่ใจ
การเห็นประเทศเพื่อนบ้านมีฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นสิ่งที่ไทยควรแสดงความยินดีด้วยและทุ่มเทความพยายามในการพัฒนา รวมทั้งแสวงหาลู่ทางและโอกาสในการ “เอาประโยชน์” จากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นดังกล่าว
เพราะคนมาเลเซียที่รวยขึ้น ก็จะใช้เงินที่เพิ่มพูนเหล่านั้นส่วนหนึ่งเพื่อท่องเที่ยว และจับจ่ายหาซื้อสินค้าและบริการของไทยมากขึ้นเช่นกัน
3. ในกรณีของไทย
ในทางการเมือง ปี 2025 จะเป็นปีครบรอบ 50 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน
ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้อง “ชิงสุกก่อนห่าม” ผมเชื่อมั่นว่า การประกาศมาตรการ “วีซ่าฟรี” ระลอกถัดไปจะมีไทยอยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว
สิ่งที่ควรคิดและทำมากกว่าก็คือ รัฐบาลไทยจะล้อบบี้ขออะไรเป็น ”ของขวัญชิ้นที่โตกว่า“ จากรัฐบาลจีนเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ผมอยากให้ไทยใช้โอกาสนี้ให้ดี ”อย่าเสียของ“ ไม่อย่างนั้นแล้ว เราอาจต้องรออีกถึง 50 ปี
ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็น “ครัวของจีน” อาทิ การเพิ่มบัญชีรายการสินค้าผักและผลไม้สดแบบชุดใหญ่ และการขยายขอบข่ายการส่งออก “โปรตีน”
ไล่ไปถีงการเพิ่มโควต้าภาพยนตร์และละครไทย และอำนวยความสะดวกการทำงานแก่คนไทยเพื่อขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องในจีน
การเซ็นเซอร์คลิปและภาพยนตร์ที่สื่อจนนำไปสู่ความคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ “ความไม่ปลอดภัย” ในการท่องเที่ยวไทย
และการให้ความช่วยเหลือการพัฒนาระบบนิเวศน์อุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น BCG และการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของ SMEs และ Startup ไทย
รวมถึงการขยายการลงทุนโดยตรงของจีนในไทย ในระเบียงเศรษฐกิจเป้าหมาย อาทิ ภาคตะวันออก (EEC) และภาคอีสาน (NEEC)
ในประเด็นหลังนี้ อาจรวมถึงโครงการเชิงยุทธศาสตร์ของไทย อาทิ โครงการแลนด์บริดจ์
จีนจะกล้าประกาศลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยหรือไม่ อย่างไร
แน่นอนว่า การประกาศ “ไฟเขียว” โครงการนี้ในขณะนี้ ก็อาจจะเร็วเกินไป
และอาจเป็นเสมือนการ “โยนระเบิด” ใส่สิงคโปร์และมาเลเซีย หลังจากที่เพิ่งให้ “วีซ่าฟรี” เมื่อกลางปีและปลายเดือนพฤศจิกายน ตามลำดับ
สิ่งนี้ทำให้ผมจินตนาการต่อได้ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่การเดินทางระหว่างจีน-อาเซียนจะสะดวก คล่องตัว และเปิดกว้างมากขึ้น
ทั้งจากความพร้อมทางกายภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านกฎระเบียบ โดยจะพัฒนาเป็นระบบ “วีซ่าฟรี” ในวงกว้างในระยะยาว
ในทางกลับกัน รัฐบาลไทยก็ควรคิดหา “ของขวัญ“ ชิ้นพิเศษที่จะมอบแก่รัฐบาลจีนอย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน
เราน่าจะทบทวนการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศและอื่นๆ ในหลายส่วนของเราเพื่อปูพื้นไปสู่การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน
การส่งสัญญาณขยับเข้าใกล้ หรือตกเป็น “เครื่องมือ” ของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรไม่ใช่สิ่งที่เราควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง
รัฐบาลไทยต้อง “ขีดเส้นขีดวง” และ “ระมัดระวัง“ อย่างมากกับการให้ข่าวและตีข่าวที่อาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
เสรีภาพในการสื่อสารของทุกระดับควรอยู่บนพื้นฐานของความเป็น “มืออาชีพ” ไม่ใช่การหวังผลทางการเมืองจนอาจนำไปสู่การ “ชักศึกเข้าบ้าน”
ผมเห็นโครงการใหญ่ที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง กทม-หนองคายที่จีนสร้างท่อนจีน-ลาวมาจ่อรอเชื่อมกับอีสานของเราระยะหนึ่งแล้ว
เราจะคิดเดินหน้าพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายใหม่ กทม-เชียงราย และ กทม-สงขลา
การยกระดับ “ทีมเศรษฐกิจ” ที่มีความรู้ความเข้าใจจีนอย่างจริงจัง
รัฐมนตรีของเราหลายคนไม่รู้จักจีน ไม่เข้าใจในศักยภาพทางเศรษฐกิจของจีนในภาพรวม หรือแม้กระทั่งระดับมณฑลที่หลายแห่งใหญ่กว่าไทยทั้งประเทศเสียอีก
การ “ล้างบ้าน” อาทิ ปัญหาการรีดไถนักท่องเที่ยว ทัวร์ศูนย์เหรียญ ทุนสีเทา และความไม่ปลอดภัย เป็นสิ่งที่เราควรดำเนินการอย่างจริงจัง
การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในบางส่วนเป็นเรื่องภายใน แต่ในหลายส่วนก็ต้องอาศัยความร่วมมือและการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างไทย-จีน
นี่ไม่เพียงจะเป็น ”ของขวัญชิ้นใหญ่“ แก่จีนเท่านั่น แต่จะเป็น “ของขวัญชิ้นพิเศษสุด” แก่ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติอีกด้วย
ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า ผลที่เป็นรูปธรรมจะแปรเปลี่ยนเป็น “คำชม” จากทุกหมู่เหล่าอย่างไม่ต้องสงสัย
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ไทยจะเอาจริงเอาจัง “ปรับปรุงบ้าน“ ของเราให้เป็น “เมืองน่าอยู่” พร้อมสำหรับเค้กก้อนใหญ่ตรงหน้าและงานใหญ่ที่รออยู่อีกมากในระยะยาว …
#วีซ่าฟรี #ไทยน้อยใจ #50 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน
จีนมอบ “วีซ่าฟรี” แก่มาเลเซีย ไม่มีอะไรในกอไผ่มากไปกว่าการมอบ “ของขวัญ” ฉลอง 50 ปีของความสัมพันธ์จีน-มาเลเซีย
ดร. ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
โฆษณา